4 ฝ่ายประสานเสียงต้องเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน

'ภาคประชาชน-นักพัฒนา-นักวิชาการ-นักการเมือง' ประสานเสียงปัญหาต้องเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชน ข้อสรุปชัดจากเวทีรับฟังความเห็นประเด็น “ปลดล็อกกฎหมายที่ดิน ให้ชุมชนร่วมกำหนด ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่สภาผู้ชมและผู้ฟังภาคใต้ไทยพีบีเอสจัดขึ้น

10 ก.ย.2564 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคใต้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเชิงสถานการณ์และตามบริบท กลุ่มประเด็นทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่อง “ปลดล็อกกฎหมายที่ดิน ให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมกำหนด ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยช่วงเช้าเน้นให้วิทยากรนำเสนอปัญหาพร้อมแลกเปลี่ยนและตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วม ส่วนภาคบ่ายเน้นแลกเปลี่ยนวามคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอจากผู้เข้าร่วม ซึ่งบางส่วนอยู่ในห้องประชุมลีลาวดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แต่เกือบทั้งหมดเข้าร่วมด้วยระบบประชุมออนไลน์ทาง Zoom Meeting

ประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และที่ปรึกษาพีมูฟ เปิดเผยว่า ปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นคือที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทั้งประเทศประมาณ 130 ล้านไร่ ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่คน แล้วอีกประเด็นคือที่ดินที่รัฐประกาศทับที่ดินชาวบ้าน พ.ร.บ.อุทยานฯ ประกาศใช้ปี 2504 ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ในปี 2532 น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ แต่ปรากฏว่ามีซุงจากการลักลอบทำไม้ไหลมาเข้ามามากมาย แล้วอีกปัญหาหลักคือรัฐเร่งประกาศเขตป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25% ทั่วประเทศ 227 แห่ง โดยไม่มีการกันที่ดินทำกินชาวบ้านออกไปก่อน ทำให้ทับที่ดินทำกินชาวบ้านมากมาย เหล่านี้คือประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาทั่วประเทศ

“ปัญหาเหล่านี้มีความไม่เป็นธรรมอย่างสูง แม้จะมีความพยายามพิสูจน์สิทธิ์กัน แต่ก็เกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านมากมาย ปัญหาเหล่านี้ยืดเยื้อมาทุกรัฐบาล แล้วในปี 2557 มีคำสั่งรัฐบาล คสช.ให้จัดการกับชาวบ้านครั้งใหญ่ ถือเป็นการเพิ่มปัญหากดทับประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก ภาคประชาชนได้ผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้ แต่รัฐบาล คสช.แม้จะดูว่าตอบสนองบ้าง แต่ปัญหาต่างๆ ก็แทบไม่ได้คลี่คลายอะไรไปมากมาย” ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวฃ

สมภา ใจกล้า เครือข่ายที่ดินภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาที่ดินหลักๆ คือการกระจุกตัวในมือคนไม่กี่คน แม้จะมีความพยายามแก้ด้วยมาตรการภาษีและธนาคารที่ดิน แต่ก็ไม่แทบไม่มีผล ต่อมาคือปัญหา พ.ร.บ.ป่าไม้และที่ดินต่างๆ ที่ทับที่ดินชาวบ้าน รัฐบาล คสช.กลับพยายามรวบอำนาจขึ้นไปอีก เครือข่ายที่ดินเราใช้กระบวนการให้ชุมชนจัดทำประวัติและข้อมูลที่ดินของชุมชนตนเอง เพื่อที่จะยืนยันว่าชุมชนไม่ได้บุกรุกป่า แต่เราต่างหากที่รักษาป่าให้คงอยู่ การเคลื่อนของเครือข่ายที่ดินภาคใต้จะช่วยให้ชี้ว่าชุมชนอยู่กับป่าได้และช่วยรักษาป่าด้วย

“หลังกฎหมายอุทยานฯ ออกมาการขับเคลื่อนกระบวนการของเราแทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะบังคับให้ชาวบ้านรับความผิดก่อนจึงจะช่วยเหลือ กฎหมายจึงละเมิดสิทธิ์ชุมชนโดยตรงเลย เราก็ยังต้องขับเคลื่อนกันต่อไป เราต้องต่อสู้กันต่อไป ปัญหาที่ดินภาคใต้เป็นประมาณนี้” สมภา กล่าว

ณัฐธยาน์ แท่น​มาก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ปัญหาที่ดินในภาคใต้เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน จะยุคไหนหรือรัฐบาลไหนปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมไว้มาตลอด ตอนนี้เครือข่ายเราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยโฉนดชุมชน มีคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาดำเนินการโดยเฉพาะ มีการกำหนดกฎกติกาของชุมชนเองว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เรามุ่งเน้นการสร้างป่ากินได้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ชาวบ้านด้วย นอกจากนี้เรายังมีการแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างชุมชนต่างๆ รวมถึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย เหล่านี้คือการบริหารจัดการแบบโฉนดชุมชน

“รัฐบาลกลับพยายามแยกคนออกจากป่า ไม่ได้เอื้ออะไรกับระบบนิเวศเลย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรเลย มันไม่ได้แก้ปัญหาออะไรให้ชาวบ้านเลย มีแต่กลับจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นให้กับชาวบ้านเสียมากกว่า มีการบีบบังคับชาวบ้านจนแทบไม่มีทางเลือก จนดูเหมือนประเทศไทยเรากำลังจะเป็นประเทศของอุทยานฯ ไปแล้ว” ณัฐธยาน์กล่าว

อาหะมะ ลีเฮ็ง เครือข่ายเทือกเขาบูโด กล่าวว่า ปัญหาอุทยานฯ สุไหงปาดี เป็นการออกกฎหมายไปละเมิดสิทธิชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 2 หมื่นครัวเรือน เราอยู่มาก่อนที่จะมีอุทยานกว่า 3 ร้อยปี ชาวบ้านถูกกดทับในวิถีชีวิตอย่างมาก คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเริ่มเบื่อหน่ายระบบการปกครอง หลายคนจึงต้องออกจากพื้นที่ไปหากินที่มาเลเซีย แต่เวลานี้กลับเจอปัญหาโควิด-19 ต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาต่อไป ชาวบ้านเราก็พยายามแก้ปัญหามาตลอด แต่รัฐบาลกลับมาทำอะไรที่สวนทางชาวบ้านตลอด

“อย่างชาวบ้านทำมาหากินอยู่ดีๆ แต่ต่อมารัฐบาลกลับมากล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกที่รัฐ เหมือนกับการบังคับให้ชาวบ้านอย่างพวกเราไปเป็นโจรอย่างไงอย่างนั้น ซึ่งปัญหาในพื้นที่เรื่องอื่นๆ ก็หนักหนาอยู่แล้ว” อาหะมะ กล่าว

 

วิทวัส เทพสง ผู้​ประสาน​งานเครือข่าย​ชนเผ่าพื้นเมือง​ภาคใต้ กล่าวว่า พวกเราแต่ก่อนถูกเรียกว่าชนกลุ่มน้อย ตอนหลังก็มาเรียกพวกเราว่าพวกชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้เรามีผลกระทบจากนโยบายด้านทรัพยากรของรัฐอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกฎหมายของรัฐออกมาทำให้เกิดปัญหากับวกเรามาตลอด ทั้งชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ตามป่าเขาและชนเผ่าที่อยู่ในทะเลหรือชาวน้ำต่างๆ รวมและจำนวนมากมายหลายพันครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ตอนนี้พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในภาคใต้ของเรากว่า 85% ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก ไม่ว่าจะมาจากกฎหมายอุทยานฯ กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เราต้องจัดเวทีพูดคุยเพื่อสื่อสารแบบนี้บ่อยๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ ต้องกระทุ้งเรื่อยๆ ประเทศไทยเรามีที่ดินที่เหมาะกับการเกษตรและมีความหลากหลายทางทรัพยากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรามีฐานวัฒนธรรมเข้มแข็งที่เป็นที่ยอมรับของโลก แต่การพัฒนาของเรากลับช้ามากเมื่อเทียบกับนานาชาติ เพราะอำนาจมันกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางคือรัฐบาล กลไกอำนาจรัฐกลายเป็นข้อจำกัด กลายเป็นปัญหาที่ไม่นำไปสู่การพัฒนา จึงทำให้รู้สึกเจ็ปวดแทนพี่น้องคนไทยอย่างมาก

เพิ่มศักดิ์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังมีความหวัง เราจึงต้องมาเริ่มกันใหม่ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในทางนโยบาย ประชาชนจะต้องมีที่ดินทำกินเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเรา เราต้องผลักดันให้รัฐประกาศนโยบายแบบนี้ ไม่ใช่ไปประกาศว่าต้องมีป่าอนุรักษ์เท่าไหร่อะไรแบบนั้น ในเชิงนโยบายและกฎหมายเราต้องช่วยกับปรับทัศนะคติผู้บริหารให้เข้าใจว่า ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย เราต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแท้จริง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีประจำสักนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นจากทุกคนและเท่าที่คลุกคลีกับปัญหาที่ดินในฐานะ ส.ส. มากว่า 30 ปี ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาใหญ่มากแล้วรัฐก็ไม่เคยตามทัน เพราะโครงสร้างมันใหญ่มาก อย่างกรณีโฉนดชุมชนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เตยรับมาทำ แต่กลับเจออุปสรรคเสียก่อน รัฐบาลเคยพยายามกระจายที่ดินแต่ก็ไม่ประสบผล ตอนหลังก็หันมาใช้แนวคิดเรื่องนโยบาย สปก. นอกจากนั้นก็มีความพยายามใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อกระจายการถือครองที่ดิน ตอนหลังก็กลายมาเป็นมาตรการโฉนดชุมชน แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก

“ในกรรมาธิการที่ดินก็พยายามแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเป็นรายๆ ไปที่ยื่นเรื่องเข้ามา แต่สุดท้ายก็ไปติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินของรัฐต่างๆ จริงๆ แล้วแนวคิดที่เขย่าโลกคือ ต้องหาทางกระจายการถือครองที่ดินไม่ให้กระจุก แต่ให้กระจายสู่ประชาชนถ้วนหน้า เรื่องมาตรการภาษีในอัตราก้าวหน้าตอนนี้ก็ต้องขับเคลื่อนกันไป เราต้องตกผลึกการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ผมอยู่ในสภามากกว่า 30 ปีไม่เคยมีกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่ดินให้กับชาวบ้านเลย เราต้องผนวกกำลังผลักดันผ่านพรรคการเมืองกันให้จริงจัง” สาทิตย์กล่าว

ทั้งนี้ วิทยากรหลายท่านมีข้อเสนอตรงกันว่าควรทบทวน พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ชุมชนสามารถมีชีวิตอยู่อย่างปกติตามวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งบนผืนดินและทะเล ตลอดจนกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท