Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานเผยหลังมีผู้เข้ามาตัดไม้ทำลายสภาพป่า คณะทำงานฯ และชาวบ้านผู้อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองโมง-หนองกลาง จ.ร้อยเอ็ด เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับถูกกลุ่มเอกชนฟ้องคดีจำนวน 4 ราย ข้อหาร่วมกันบุกรุก โดยชาวบ้านระบุว่าทั้งที่เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน

11 ก.ย.2564 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่านายทองคูณ สงค์มา คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างชุมชนเขวาโคก-เขวาพัฒนา ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เข้ามาเก็บเห็ดร่วมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง พร้อมเข้าตรวจดูสภาพพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 มีผู้เข้าไปทำลายสภาพป่า โดยใช้รถแบ๊คโครโค่นไม้ใหญ่กว่า 500 ต้น พืชสมุนไพรเสียหายกว่าหนึ่งพันต้น ส่งผลให้แหล่งอาหาร ทรัพยากร ที่อุดมสมบูรณ์เกิดความเสียหายจำนวนกว่า 20 ไร่

ทองคูณ บอกอีกว่า หลังจากเข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบัวขาว ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อลงบันทึกประจำวันและให้เร่งสืบหาผู้กระทำผิด ต่อมากลับถูกกลุ่มเอกชนอ้างเป็นเจ้าของในที่ดินจำนวน 5 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี กล่าวหาพวกตนกระทำผิดอาญาข้อหาร่วมกันบุกรุก

“ทั้งที่พื้นที่ป่าดังกล่าว เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านในชุมชนโดยรอบป่าจำนวนกว่า 10 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ได้แก่ ต.สระบัวและ ต.โนนสวรรค์ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการใช้สอย เป็นแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพร ซึ่งตน (ทองคูณ) ตกเป็นจำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 4 คน โดยศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 1 พ.ย. 2564” ทองคูน กล่าวเสริม

ด้านนายนิวาส โคตรจันทึก ผู้ประสานงานชาวบ้านชุมชนเขวาโคก–เขวาพัฒนา (จำเลยที่ 2) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ตัวแทนชาวบ้านเขวาโคก-เขวาพัฒนา ได้เข้าพบเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นหนังสือขอคัดสำเนาเอกสารแปลงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อพิพาทพื้นที่สาธารณประโยชน์ดอนโมง-หนองกลาง เพื่อให้เกิดประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการนำมาชี้แจงในชั้นศาล ต่อไป

นิวาส กล่าวเพิ่มว่า เดิมพื้นที่ดังกล่าว เป็นข้อพิพาทเรื่อยมานับแต่ปี 2536 จากการที่มีกลุ่มเอกชนบางรายเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ดอนหนองโมง–หนองกลาง โดยอ้างว่ามีชื่อเป็นผู้ครอบครอง ทั้งที่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชน และยังไม่มีการขึ้นทะเบียน และยังไม่ออก นสล.ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มคัดค้าน ร่วมกันผลักดันและติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และในระดับนโยบายเรื่อยมา

เพราะความเป็นที่สาธารณะของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน โดยเฉพาะในเขตนิเวศน์ทุ่งกุลา ซึ่งการมีพื้นที่ป่าชุมชนทำให้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ดังนั้น การที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชนในพื้นที่ดังกล่าวจึงเสมือนการทำลายแหล่งอาหาร และอื่น ๆ ที่ชุมชนใช้สอยร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net