Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 15,191 ราย ป่วยสะสม 1,368,144 ราย รักษาหาย 18,721 ราย หายสะสม 1,216,112 ราย เสียชีวิต 253 ราย เสียชีวิตสะสม 14,173 ราย - สธ.ย้ำ รพ.แจก ATK ให้ ปชช.ตรวจโควิดเองแล้ว หากผลเป็นบวกต้องได้รับการดูแลถูกต้อง รวดเร็ว - สธ.จัดสรรวัคซีน 24 ล้านโดส ต.ค.นี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 50% ทุกจังหวัด เผยจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนเพียง 1 ราย จากที่ได้รับรายงานทั้งหมด 628 ราย

11 ก.ย. 2564 ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 15,191 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 12,647 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,812 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 726 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 6 คน ป่วยสะสม 1,368,144 ราย รักษาหาย 18,721 ราย หายสะสม 1,216,112 ราย เสียชีวิต 253 ราย เสียชีวิตสะสม 14,173 ราย ผู้รับวัคซีน (ถึง 10 ก.ย. 2564) สะสมทั้งหมด 39,631,862 โดส

องค์การเภสัชกรรม ตรวจรับ ATK 1.16 ล้านชุด พร้อมส่งเข้าคลังแล้ว

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ประธานคณะกรรมการตรวจรับ ATK 8.5 ล้านชุด กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม โดยคณะกรรมการตรวจรับ พร้อมเจ้าหน้าที่จากฝ่ายประกันคุณภาพ

ได้ทำการตรวจขั้นต้น พร้อมทำการสุ่มตัวอย่างชุดตรวจ ATK ชุดยี่ห้อ SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit ซึ่งบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ของบริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด

ในวันนี้ได้ตรวจ ATK ที่ศูนย์การกระจายสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ในขั้นต้นก่อน จำนวน 1.16 ล้านชุด และทำการสุ่มตัวอย่าง เพื่อนำไปส่งตรวจสอบคุณภาพ ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานของคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

โดยห้องปฏิบัติการนี้ได้มาตรฐานการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์หรือชันสูตรสาธารณสุข หรือ ISO 15189 หากตรวจแล้ว ATK ได้ผลตรวจคุณภาพเป็นไปตามที่กำหนด ทางองค์การเภสัชกรรมจะแจ้งผลให้โรงพยาบาลราชวิถี และบริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ ทราบ เพื่อกระจายไปยังหน่วยบริการต่าง ๆ ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

ในการจัดเก็บและกระจายนั้น ดำเนินการโดยบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการขนส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ การขนส่ง ATK มีการควบคุมอุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นไปมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการจัดเก็บ GSP (Good Storage Practice) และมาตรฐานการจัดส่ง GDP (Good Distribution Practices ) เพื่อให้ ATK มีคุณภาพจนถึงหน่วยบริการ

องค์การเภสัชกรรม ขอแจ้งประชาชนที่นำ ATK ไปใช้งานด้วยตนเอง ต้องปฏิบัติตามวิธีการใช้งาน ที่ผู้ผลิตได้ระบุไว้ในเอกสารที่กำกับมากับผลิตภัณฑ์ หากยังไม่เปิดใช้งานต้องเก็บรักษา ATK ไว้ตามอุณหภูมิที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ และเพื่อให้ ATK มีประสิทธิภาพในการทดสอบได้อย่างถูกต้อง

ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิระหว่าง 4-30 องศาเซลเซียส ไม่เก็บในที่ชื้น ไม่เก็บไว้ในรถยนต์ที่จอดกลางแจ้ง เพราะอาจทำให้ ATK เก็บในที่มีอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส

สธ.ย้ำ รพ.แจก ATK ให้ ปชช.ตรวจโควิดเองแล้ว หากผลเป็นบวกต้องได้รับการดูแลถูกต้อง-รวดเร็ว

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) เพื่อแจกประชาชน และการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ วันที่ 10 ก.ย. 2564 โดยระบุว่าขณะนี้ โหมดในการใช้ชีวิตของคนไทยคือ Living with COVID หรือการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ  

1.ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด แม้ไม่มีวัคซีนยี่ห้อใดในโลกที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้เกือบ 100% ดังนั้นต้องเร่งฉีดให้ครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสป่วยแล้วเสียชีวิตสูง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น ขณะนี้ยังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่น้อยมาก ดังนั้นขอให้หน่วยบริการดูแลให้มากขึ้น ปกติหญิงตั้งครรภ์ต้องมาคลินิกฝากครรภ์ทุกเดือนอยู่แล้ว ถ้ามาแล้วพบว่ายังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ก็ให้เจ้าหน้าที่ฉีดได้เลย ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดฉีด 

2.universal prevention ให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารกับประชาชนในเรื่องการป้องกันตัว ขอให้คิดเสมือนว่าตัวเองติดเชื้ออยู่แต่ยังไม่มีอาการ ต้องป้องกันตัวไม่ให้เอาเชื้อไปติดคนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องคิดเสมอว่าคนรอบๆตัวอาจมีเชื้อโควิดโดยที่ยังไม่แสดงอาการ เพราะฉะนั้นก็ต้องป้องกันตัวไม่ให้รับเชื้อจากคนอื่นเช่นกัน 

3.การตรวจหาเชื้อด้วย ATK เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดหนัก ในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะไม่กลับมาระบาดหนักอีก การตรวจหาเชื้อด้วย ATK จะเป็นเครื่องมือช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพราะถ้าสามารถค้นหาได้เร็ว แยกได้เร็ว แทนที่ 1 คนจะแพร่เชื้อได้ 8-9 คนก็อาจจะเหลือ 1 คนต่อ 1-2 คนหรือไม่ติดใครเพิ่มเลย 

“ต้องขอบคุณ สปสช.ที่สนับสนุนให้ประชาชนมีชุดตรวจ ATK ที่สามารถใช้เองได้ ดังนั้น ATK 8.5 ล้านชิ้นนี้ต้องฝากทุกจังหวัด ในการกระจายและให้ประชาชนได้ทำการตรวจด้วยตัวเอง โดยให้ อสม.ช่วยในการกระจายชุดตรวจและสอนวิธีการใช้” นพ.ธงชัย กล่าว 

นพ.ธงชัย เน้นย้ำด้วยว่า ขอให้หน่วยบริการที่กระจายชุดตรวจในแต่ละพื้นที่ จัดทำแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนว่าถ้าผลตรวจเป็นบวกแล้วต้องทำอย่างไร ติดต่อที่ไหน ให้มาหาที่โรงพยาบาลหรือโทรมาก่อนแล้วโรงพยาบาลไปรับ โดยให้จัดทำแนวทางตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งพิมพ์สติ๊กเกอร์พร้อมหมายเลขติดต่อหน่วยบริการติดไว้ที่กล่อง ATK หรืออาจพิมพ์แนวทางการปฏิบัติใส่ซองไปพร้อมๆกันก็ได้ 

“เมื่อกระจายชุดตรวจลงไปแล้วขอให้วางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน โดยประชาชนต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องรวดเร็วและไม่มีการปฏิเสธไม่ว่าจะตรวจด้วย ATK จากโครงการนี้หรือไปซื้อมาตรวจเองก็ตาม ถ้าอาการไม่หนักก็แนะนำให้ทำ Home Isolation แต่ถ้าจะรับเข้าโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาล ต้องทำ RT-PCR ก่อน” นพ.ธงชัย กล่าว 

นพ.ธงชัย กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า ในการแจก ATK นั้น ขอให้เจ้าหน้าที่มีการสอบถามเบื้องต้นก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ไม่ใช่ใครมาขอก็ให้หมด ขอให้เน้นกลุ่มเสี่ยงที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด คนในครอบครัวในชุมชนมีผู้ป่วย รวมทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในในตลาด โดยหากตรวจครั้งแรกแล้วไม่เจอ ให้แนะนำว่าอย่าเพิ่งวางใจ อีก 4-5 วันให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหรือตรวจทันทีที่มีอาการไม่สบาย 

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คาดว่าชุดตรวจ ATK จะกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆได้ในสัปดาห์หน้าและเริ่มลงทะเบียนรับชุดตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งในจำนวนชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด จะกระจายในเบื้องต้น 96% แบ่งเป็น กทม. 2.5 ล้านชุด เขตสุขภาพที่ 1-12 อีกประมาณ 5 ล้านชุด หน่วยบริการในสังกัดกรมอนามัยอีก 4 แสนชุด ส่วนชุดตรวจที่เหลือจะเป็นส่วนที่สำรองไว้ 

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. จะบริหารจัดการโดยสำนักอนามัยของ กทม. กระจายไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข แล้วศูนย์บริการสาธารณสุข มอบต่อให้ผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) นำไปกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเน้นชุมชนแออัด ตลาด ร้านเสริมสวย สปา โรงเรียน และกลุ่มที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะ 

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถขอรับได้ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและร้านยาที่เข้าร่วมกับโครงการของ สปสช. โดยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะกระจายชุดตรวจ ATK ไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมี อสม. และจิตอาสา กระจายชุดตรวจให้กลุ่มเสี่ยงที่บ้าน ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังขอรับชุดตรวจที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการในต่างจังหวัด ผ่านการลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตังได้เช่นกัน 

สธ.จัดสรรวัคซีน 24 ล้านโดส ต.ค.นี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 50% ทุกจังหวัด เผยจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนเพียง 1 ราย จากที่ได้รับรายงานทั้งหมด 628 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อัปเดตสถานการณ์โควิด และเปิดเผยยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ วันที่ 10 ก.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 758,503 โดส ทำให้มียอดสะสมตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 จำนวน 35,531,341 โดส ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 26,954,546 ราย หรือ ร้อยละ 37.4 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 12,063,643 ราย หรือ ร้อยละ16.7 พร้อมย้ำประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด หากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มโดยเร็ว จะช่วยป้องกันอาการป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจากโควิดได้ ทั้งนี้ไม่มีวัคซีนชนิดใดที่จะมีประสิทธิผล 100% ในการป้องกันการติดเชื้อ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส จึงยังจำเป็นต้องเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลต่อไป และจากผลการศึกษาการได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันป่วยรุนแรง (ปอดอักเสบ) อยู่ในระดับสูง รวมทั้งภายหลังการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม เกิน 14 วัน พบมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนไขว้ ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ได้เร็วขึ้นภายใน 5 สัปดาห์ ตั้งแต่เข็มแรก ฉะนั้นกลุ่ม 608 มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากโควิด จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็ว ด้วยสูตรวัคซีนไขว้

ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. พบในวัคซีนซิโนแวค มีอาการแพ้รุนแรงเพียง 24 ราย จากทั้งหมดที่ฉีดไป 15,292,644 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกา พบมีอาการแพ้รุนแรง 6 ราย จากที่ฉีดไปทั้งหมด 15,419,603 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกร็ดเลือดต่ำหลังได้รับวัคซีน มี 5 ราย วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ฉีดไปแล้ว 4,330,836 ราย อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียด วัคซีนไฟเซอร์ พบมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย จากที่ฉีดไปทั้งหมด 869,811 โดส ทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว

ขณะที่ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. พบว่า มีผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวน 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ได้พิจารณาไปแล้ว 416 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 249 ราย เช่น ติดเชื้อในระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้มีเหตุที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ อีก 32 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกในสมอง ระบบหายใจล้มเหลว และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลการชันสูตรศพอีก 9 ราย ส่วนเหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน มีเพียง 1 ราย มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ สรุปไม่ได้ 12 ราย และรอสรุปผลอีก 122 ราย

นอกจากนี้คณะผู้เชี่ยวชาญ ยังให้คำแนะนำว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีน เกิดขึ้นได้น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโควิดและป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีน ควรเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ลดการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว เพิ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการและยาสำหรับใช้รักษา สำหรับประชาชนหากมีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออก ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ลดอัตราการเสียชีวิต

ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบภายหลังได้รับวัคซีนโควิด เกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก สามารถรักษาหายได้ หากมีอาการใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกมาก หายใจหอบ เหนื่อยง่าย หลังฉีดวัคซีนโควิด กลุ่ม mRNA เช่น ไฟเซอร์ แล้ว 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ แจ้งให้ทราบว่าได้รับวัคซีนมา พร้อมเตรียมบัตรนัด หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนไปแสดงด้วย

ขณะที่แผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทย ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะมีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาอีก 24 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส มีเป้าหมายฉีดให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด อย่างน้อยร้อยละ 50 ของทุกจังหวัด เพิ่มความครอบคลุมในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้ได้มากที่สุด และขยายการฉีดไปยังกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน พร้อมฉีดเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับการฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2564 รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจและควบคุมการระบาด


ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net