Skip to main content
sharethis

บช.น. ชี้แจงกรณีรถคว่ำ #ม็อบ10กันยา จากปากคำเจ้าของรถระบุเกิดจากหักหลบผู้ชุมนุมที่กระโดดตัดหน้า

Voice online รายงานว่าจากกรณีวานนี้ 10 ก.ย. 2564 ระหว่างการชุมนุมประท้วงที่แยกดินแดง เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรถยนต์ของประชาชนเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ บนถนนวิภาวดีขาออก คาดเกิดจากรถฉีดน้ำแรงสูงผสมสารเคมีสีม่วงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพบว่าในจุดที่รถพลิกคว่ำนั้นมีรอยน้ำสีม่วงที่ยิงมาจากรถฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจุดดังกล่าวมีเพลิงไหมจึงนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงออกมาระงับเหตุ ซึ่ง ตร. คาดว่าอุบัติเหตุนั้นเกิดจากการตกใจเสียงประทัด

ล่าสุดวันนี้ 11 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีการชี้แจงยืนยันอีกครั้งว่า กรณีมีรายงานข่าวว่ามีรถประชาชนคว่ำ เพราะถูกรถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำใส่นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะหลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วิภาวดีได้สอบถาม สันติ วงศ์พิทักษ์ อายุ 52 ปี เจ้าของรถรถยนต์ยี่ห้อ เรนจ์ โรเวอร์ ทะเบียน ฎว 966 กทม. ที่พลิกคว่ำทราบความว่า สันติได้ขับขี่รถมาทางถนนวิภาวดีขาออก ในช่องทางที่สองจาก ซ้ายกำลังจะเข้าช่องทางด่วน โดยขณะนั้นมีผู้ชุมนุมจำนวนสองคน กระโดดข้ามแบริเออร์เข้ามาในช่องทาง

ทำให้รถคันที่อยู่ข้างหน้าหยุดกระทันหัน จึงหักหลบไปทางซ้ายทำให้เกิดการพลิกคว่ำในช่องทางซ้ายสุด ทำให้รถพลิกคว่ำได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ไม่ได้เกิดจากรถจีโน่ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ทำให้รถของตนเองพลิกคว่ำแต่อย่างใด พนักงานสอบสวน สน.วิภาวดี จะได้ทำการสอบปากคำ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เพจ Police TV by UCI Media รายงานเพิ่มเติมว่าพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ANSCOP) ได้ตรวจสอบพบข้อมูลข่าวปลอม  1 กรณีคือ กรณีที่ปรากฎข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ที่บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดี ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ

ซึ่งกรณีดังกล่าวจากการตรวจสอบกับ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ 

โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 20.10 น. ผู้ประสบอุบัติเหตุได้ขับรถยนต์ยี่ห้อเรนจ์โรเวอร์สีดำ มาจากซอยพหลโยธิน 64 เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้านพักย่านสาทร โดยขับมาตามถนนวิภาวดีรังสิต(ขาเข้า) ช่องทางหลัก เมื่อมาถึงบริเวณก่อนถึงด่านเก็บเงินดินแดงประมาณ 200 เมตร ในช่องทางที่ 2 จากซ้าย รถยนต์ที่ขับอยู่ด้านหน้าประมาณ 3 คัน ได้เบรคกะทันหัน เนื่องจากมีบุคคลซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน วิ่งตัดหน้ารถ โดยวิ่งมาจากทางถนนวิภาวดีรังสิต(ขาออก) ข้ามเกาะกลางถนนมา ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุไม่สามารถเบรครถยนต์ได้ทันจึงได้ทำการหักรถหลบไปยังด้านซ้าย ทำให้รถยนต์เสียหลัก และเฉี่ยวชนกับแบริเออร์พลิกคว่ำอยู่ที่บริเวณดังกล่าวในช่องทางที่ 1 จากซ้าย จากนั้น ผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้คลานออกมาจากรถ และได้มีชายไม่ทราบชื่อ จำนวน 5 คน ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมเช่นกัน ได้พาผู้ประสบอุบัติเหตุไปยังด้านถนนวิภาวดีรังสิต(ขาออก) ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมกลุ่มกันอยู่ โดยข้ามเกาะกลางถนนไป แต่ในขณะนั้นเอง ผู้ประสบอุบัติเหตุได้เห็นว่ารถยนต์ของตนเกิดไฟไหม้ จึงได้แจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการประสานรถฉีดน้ำเข้ามาฉีดดับเพลิงให้รถยนต์คันดังกล่าว จึงทำให้ไฟดับลง จากนั้นผู้ประสบอุบัติเหตุจึงได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ซึ่งอยู่ในบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต(ขาเข้า) แล้วจึงได้รออยู่ในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. พนักงานสอบสวนจึงได้มาตรวจที่เกิดเหตุ และพาผู้ประสบอุบัติเหตุ มายังศูนย์ควบคุมจราจรวิภาวดีรังสิต/ทางพิเศษ ส่วนอาการบาดเจ็บ เบื้องต้นไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก มีเพียงรอยขีดข่วนที่ต้นแขนซ้าย ที่เกิดจากของกระจกบาด ขณะคลานออกจากตัวรถเท่านั้น

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อีกทั้งขอให้ใช้ความระมัดระวังพิจารณาและตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เผย คฝ.หลายนายรุมทำร้ายวัยรุ่น 19 ปี หน้าสนามไทย-ญี่ปุ่น ก่อนจับกุมแจ้งข้อหา ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ฝ่าเคอร์ฟิว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 หลังมีรายงานอุบัติเหตุ 2 ครั้ง บนถนนวิภาวดี หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ในช่วงค่ำ โดยชายวัยรุ่นคนหนึ่งถูกรถยนต์พุ่งชนขณะพยายามวิ่งข้ามถนน จากนั้นไม่นานรถยนต์ที่ขับผ่านมาบนถนนวิภาดีขาออก เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ โดยก่อนหน้านั้น คฝ.ซึ่งอยู่ในกรมดุริยางค์ทหหารบก ตอบโต้กลุ่ม “ทะลุแก๊ส” ซึ่งจุดประทัดปาเข้าใส่ ด้วยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ออกมาบริเวณถนน และเคลื่อนรถจีโน่ออกมาฉีดน้ำแรงสูงผสมสารเคมีสีม่วงเข้าใส่ผู้ชุมนุม 

เวลาประมาณ 21.30 น. เพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” รายงานเหตุการณ์บริเวณถนนมิตรไมตรีหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ผ่านไลฟ์ว่า กำลัง คฝ.ทั้งบนรถกระบะ และเดินมาตามถนน ได้เคลื่อนเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมกับยิงปืน โดยมีผู้ชุมนุม 1 ราย ถูก คฝ.หลายนายวิ่งไล่ทัน และเข้ารุมทำร้าย ระหว่างนั้น คฝ.ได้กันให้สื่อออก พร้อมทั้งห้ามถ่ายวีดิโอ ก่อนจับกุมตัวชายคนดังกล่าวไป หลังเหตุการณ์ แอดมินเพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” เข้าไปดูที่จุดนั้น พบรองเท้าแตะ 2 ข้าง และโล่ของ คฝ. ตกอยู่ 

กว่า 3 ชั่วโมงหลังจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้รับแจ้งว่า มีผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เมื่อทนายความเดินทางไปถึง พบว่า ผู้ถูกจับกุมชื่อ บารมี แสงน้อย อายุ 19 ปี พนักงานปั๊มน้ำมัน เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมมาจาก สน.ดินแดง แล้ว โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ทั้งยังพบว่า บารมีได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลหลายแห่ง ทั้งแผลถลอกที่ต้นคอด้านหลัง แขนซ้าย-ขวา เท้าทั้งสองข้าง ใบหน้าซีกขวามีรอยช้ำขนาดใหญ่สีม่วง จากการสอบถาม บารมีระบุว่า ถูก คฝ. รุมทำร้ายขณะจับกุม โดยเขาไม่ได้ต่อสู้ขัดขวาง เพียงแต่ยกแขนขึ้นกันไว้

บันทึกการจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม คือ คฝ.บก.น.1 ร้อย 1 ประกอบด้วย พ.ต.ท.ปวีร์ มั่นเมือง รอง ผกก.ป.สน.นางเลิ้ง, ร.ต.อ.อภิเดช คงสมคิด รอง สวป.สน.ดินแดง, ส.ต.อ.พัฒนพงศ์ คาดสุวรรณ และ ส.ต.ต.ประกิต สร้อยทอง ผบ.หมู่ ป.ดินแดง 

โดยระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตั้งแนวเพื่อจะกระชับพื้นที่ ผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมพื้นที่รักษาความสงบ และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ ก่อนตรวจยึดรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาขับขี่, โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และลูกแก้ว 4 ลูก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบอยู่ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาและซ้ายตามลำดับ ไว้เป็นวัตถุพยาน 

บันทึกจับกุมยังระบุว่า “ในการจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้ เจ้าพนักงานตํารวจผู้จับกุมได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้ทําให้ทรัพย์สินของผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย สูญหาย เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์แต่อย่างใด มิได้บังคับขู่เข็ญ หรือใช้กําลังทําร้ายร่างกายผู้ใดให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด” ทำให้บารมีปฏิเสธไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมดังกล่าว

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 25 คน และร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้ร่วมกระทําผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก และออกนอกเคหะสถานในเวลาห้าม (21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น)” อันเป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 

บารมีให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 11 ต.ค. 2564 หลังสอบปากคำเสร็จราวตีสาม พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวบารมีไว้ที่ บช.ปส. 

สายวันนี้ (11 ก.ย. 2564) พนักงานสอบสวนจึงได้ควบคุมตัวบารมีไปศาลอาญาเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน ระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ผู้ต้องหาประกอบอาชีพรับจ้าง ขณะถูกจับกุมก็ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน จึงถือว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหามีบาดแผลหลายแห่งจากการถูกทําร้ายร่างกายขณะถูกจับกุม สมควรได้รับการรักษาพยาบาล   

เวลา 13.30 น. มุขเมธิน  กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวบารมี ในวงเงินประกัน 35,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะเป็นการก่อความวุ่นวายและใช้ความรุนแรง นัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 29 ต.ค. 2564 บารมีจึงได้รับการปล่อยตัวหลังกองทุนราษฎรประสงค์ใช้เงินสดวางเป็นหลักประกันต่อศาล

พฤติการณ์การสลายการชุมนุมและเข้าจับกุมโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุของ คฝ. ทั้งต่อกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” และประชาชนทั่วไป มีให้เห็นซ้ำๆ กันแทบทุกวัน ซึ่งนอกจากจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาแล้ว ยังทวีความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุม และประชาชนยิ่งขึ้น แม้หลายฝ่ายพยายามจะตั้งข้อสังเกต แต่ สตช.เองไม่ได้ทบทวนหรือตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กลับแถลงข่าวกล่าวโทษผู้ชุมนุมทุกวัน เป็นที่น่ากังวลว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยิ่งนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net