COVID-19: 12 ก.ย.64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 14,029 คน เสียชีวิต 180 คน

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยใหม่ในไทยเพิ่ม 14,029 คน เสียชีวิตเพิ่ม 180 คน - ที่ปรึกษา ศบค. เตือนอย่าชะล่าใจ จับตาอีก 2 สัปดาห์ตัวเลขเพิ่มแน่ ผลจากการผ่อนคลายกิจกรรม แจงขณะนี้ปรับมาตรการทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ ต้องสมดุล จะผ่อนคลายมากกว่านี้หรือไม่ ต้องรอดูตัวเลขผู้ป่วย

12 ก.ย. 2564 12 ก.ย.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14,029 คน จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 12,224 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,525 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 276 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 4 คน 

ส่วนตัวเลขหายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 15,742 คน หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 1,204,428 คน กำลังรักษา 135,966 คน และ เสียชีวิตเพิ่ม เสียชีวิต 180 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 จำนวน 1,353,310 คน 

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด มีจำนวน 1,382,173 คน หายป่วยสะสม 1,231,854 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 14,353 คน

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers รายงานยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก เมื่อเวลา 08.00 น. มีจำนวน 225,067,690 คน หายป่วยแล้ว 201,601,853 คน และเสียชีวิต 4,637,617 คน

ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกยังเป็น สหรัฐอเมริกา 41,815,742 คน รองลงมา อินเดีย 33,232,168 คน และบราซิล 20,989,164 คน

สปสช.ปรับระบบใหม่ ตรวจก่อนจ่าย เตรียมนำ AI ตรวจสอบข้อมูลเบิกจ่ายให้ รพ. 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า การตรวจสอบเวชระเบียนเป็นกระบวนการขั้นตอนสำคัญ ในการดำเนินงานควบคู่กับการเบิกจ่ายเงินชดเชยให้หน่วยบริการต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถือเป็นระบบการตรวจสอบปกติของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในทุกประเทศ โดยในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดทำระบบตรวจสอบและดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ต้องมีระบบการตรวจสอบนี้ เพื่อความถูกต้องของข้อมูลเบิกจ่ายค่าชดเชย ซึ่งในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการต่างต้องมีระบบตรวจสอบเช่นเดียวกัน  

ที่ผ่านมา การตรวจสอบจะเป็นการตรวจสอบหลังจ่าย หรือ Post Audit มีข้อดีคือ จ่ายเงินได้เร็ว หน่วยบริการได้เงินไปใช้ได้เร็ว รักษาสภาพคล่อง แต่ข้อเสียคือ พบความไม่ถูกต้องทีหลัง ต้องเรียกเงินคืนและมีกระบวนการที่ยุ่งยากตามมาอีกหลายเรื่อง 

ในปีนี้ สปสช.ปรับระบบใหม่ จะทำการตรวจสอบก่อนจ่าย หรือ Pre Audit ตรวจสอบให้เสร็จก่อนจะจ่ายเงิน เริ่มจากการพิสูจน์ตัวตนก่อนว่า มีการรับบริการจริงหรือเปล่า เพื่อป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ โดยจะเริ่มจากรายการที่มีการกำหนดเป็นรายการเฉพาะ เช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยง ที่มีการพิสูจน์ตัวตนก่อนการฉีด รวมถึงการแจก ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดด้วยตนเอง ที่จะเริ่มในวันที่ 16 ก.ย. 2564 สปสช.ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาต่อยอดแอปเป๋าตัง ในการรับชุด ATK โดยใช้หลักการพิสูจน์ตัวตน (KYC) ของธนาคารที่เข้มงวดและมีความน่าเชื่อถือ เมื่อนำระบบนี้มาใช้ จะทำให้เป็นที่ยอมรับของหน่วยตรวจสอบ และทำให้การจ่ายเงินชดเชยมีความถูกต้อง  

วิธีนี้จะลดปัญหาการเรียกเงินคืน การเสียเวลาตรวจสอบในภายหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินด้วยว่า จะเพิ่มภาระของหน่วยบริการหรือไม่ เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชนหรือเปล่า ทำให้ล่าช้ากว่าระบบเดิมหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประกอบกับปริมาณข้อมูลการเบิกจ่ายในฐานข้อมูลของ สปสช. ที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้การเรียนรู้ของระบบ AI มีประสิทธิภาพมาก คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศ โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ขั้นต้นของรายการต้องสงสัยการเบิกจ่ายเงินชดเชยอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Pre-audit automation system) คือการนำ AI มาตรวจสอบก่อนการจ่ายเงิน  

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การนำ AI เข้ามาใช้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายมีความถูกต้องมากขึ้น สามารถตรวจจับข้อมูลต้องสงสัยทันที (real-time audit) สามารถตรวจสอบข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียงบประมาณ และทำให้เกิดการพัฒนาการส่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง 

“เมื่อเราใช้ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบ ก็จะทำให้กระบวนการเบิกจ่ายเป็นไปได้รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น อะไรก็ตามที่ไม่ผ่าน เราสามารถให้หน่วยบริการส่งมาเพิ่มได้ทันที ส่วนอะไรที่ผ่าน เราก็มั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีความสมบูรณ์พอ และสามารถจ่ายชดเชยได้” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ที่ปรึกษา ศบค. เตือนอย่าชะล่าใจ จับตาอีก 2 สัปดาห์ตัวเลขเพิ่มแน่

ศ.นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษา ศบค. กล่าวชี้แจงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบต่ำกว่า 15,000 คนนั้น เป็นผลพวงมาจาการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 20 ก.ค. และในตลอดเดือนสิงหาคม อีกทั้งการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อค่อยๆ ทยอยลดลง แต่การผ่อนคลายมาตรการกิจกรรมบางอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเปลี่ยนไปในอีก 2 สัปดาห์หน้า กราฟผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆ กลับมากเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ต้องเกิดขึ้น เหมือนกับกฎของโมเมนตัมอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevantion ) และในหน่วยงาน องค์กร หรือออฟฟิสต่างๆ ร่วมกันทำ Covid free setting สุ่มค้นหาผู้ป่วยในสถานที่ทำงานทุกสัปดาห์ ร่วมกับมาตรการส่วนบุคคลที่เคร่งครัดก็ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้แน่นอน

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่าได้มีการอธิบายสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ นายกรัฐมนตรี รับทราบและเข้าใจแล้ว จึงยังไม่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทั้งหมดในวันที่ 15 ก.ย. พร้อมย้ำว่าตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อ หลังผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เริ่มไป 1 ก.ย. จะสะท้อนในอีก 2 สัปดาห์ ดังนั้นรอให้ถึง 1 ต.ค. จึงค่อยมาดูสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ว่าสมควรที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หรือไม่ และยอมรับที่ผ่านมาคนมักมองว่าเรื่องของสุขภาพ และเศรษฐกิจมักสวนทางกัน แต่ก็ไม่ใช่ เพราะทาง ศบค. เข้าใจสถานการณ์ว่า ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจต้องเดินควบคู่กันไป เพราะโควิดไม่สามารถจบลงได้โดยเร็ว แต่ต้องบริหารจัดการอย่างไรที่ทำให้ตัวเลขการป่วยติดเชื้อไม่เป็นภาระหนักจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว และเศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ จะมาล็อกอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะเห็นว่าตอนนี้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ คนเต็มห้าง แต่ยังต้องขอให้ระมัดระวังตัวเอง เพราะการรับวัคซีน 2 เข็มครบแล้ว ก็ไม่ได้เป็นการรันตีว่าไม่ติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ก็พบการป่วยติดเชื้อในกลุ่มคนที่รับวัคซีนครบแล้วทั้งนั้น ดังนั้นการบริหารจัดการทั้งเรื่องสุขภาพ และเศรษฐกิจ ต้องสมดุล

ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า สำหรับอัตราการคนไข้ป่วยติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขรับได้ไม่เกินกำลัง ควรต่ำกว่าวันละ 5,000 คน และตายไม่เกิน 50 คน ถือว่ารับได้ไม่เหนื่อยมาก แต่หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ที่ 5,000-10,000 คนต่อวัน อันนี้จะทำให้การทำงานในระบบสาธารณสุข เรียกว่าต้องยอมเหนื่อย แต่ยังพอรับได้ เพราะหากดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อครองเตียงในขณะนี้จะเห็นว่าแม้ตัวเลขลดลง แต่เตียงใน รพ.ในผู้ป่วยสีแดงยังเต็มอยู่ แต่หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเกิน 10,000 คนต่อวัน ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสาธารณสุขเริ่มหลังแอ่น ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท