เสนอใช้เงิน SDRs 1.4 แสนล้านบาท เยียวยาผู้ว่างงาน ลงทุนทางการศึกษา จัดซื้อวัคซีน

อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอใช้เงิน SDRs 1.4 แสนล้านบาท ที่มีข่าวว่า IMF จะจัดสรรใหม่ให้ไทย เพื่อวัตถุประสงค์ทางการคลังมุ่งเยียวยาผู้ว่างงาน ลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและลงทุนทางด้านระบบสาธารณสุข

12 ก.ย. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึงการจัดสรรเงินจากกองทุน SDRs จำนวน 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (4.56 แสนล้าน SDRs) หรือ ประมาณ 21.7 ล้านล้านบาท และขณะนี้เม็ดเงิน SDRs ได้ถูกจัดสรรไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2564 จะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินโลก สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เสริมสภาพคล่องและพยุงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฝ่าวิกกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนทุนสำรองและมีข้อจำกัดทางการคลังในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงิน SDRs จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF ให้กับประเทศสมาชิกย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้และผลกระทบที่จะติดตามอีกมากมายในอนาคต การจัดวงเงินดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตต่าง ๆ ที่จะติดตามมาในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาได้ระดับหนึ่ง และ ป้องปรามล่วงหน้าไม่ให้เกิดการแพร่ลาม (Spillover) จากประเทศที่มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจสังคมรุนแรงไปยังประเทศอื่น ๆ และลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ให้ถลำลึกกว่าที่เป็นอยู่ 

SDRs นั้นคำนวณมูลค่าจากเงินสกุลหลักห้าสกุล ตามขนาดและความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก อย่างประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของเงินสกุลหลัก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์สหรัฐฯ) กลุ่มประเทศยูโรโซน (เงินยูโร) ประเทศญี่ปุ่น (เงินเยน) ประเทศจีน (เงินหยวน) ประเทศสหราชอาณาจักร (เงินปอนด์) หากกระทรวงการคลังของประเทศเหล่านี้ต้องออกพันธบัตรเพื่อช่วยเหลือประเทศอื่น หรือ เสริมสภาพคล่องในประเทศ ก็ไม่ได้เป็นภาระต่อประชาชนมากนักเพราะจะได้รับการชดเชยจากดอกเบี้ยจากการถือครอง SDRs นั่นเอง ฉะนั้นการจัดสรรวงเงิน SDRs แจกให้ประเทศสมาชิกทั้งยากจนและร่ำรวยจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นการช่วยเหลือประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในภูมิภาคละตินอเมริกาและแอฟริกา ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนได้รับการจัดสรรโดยรวมประมาณ 2.75 แสนล้านดอลลาร์ (1.93 แสนล้าน SDRs) หากพิจารณาดูจากข้อมูล พบว่า  IMF เคยจุดสรรเงินทุน SDRs เพิ่มเติมพิเศษมาแล้วสองครั้งที่เป็น Yearly Installment คือ ในช่วง ปี ค.ศ. 1970-1972 วงเงิน 9.3 พันล้านดอลลาร์ และ ในปี ค.ศ. 1979-81 วงเงิน 12.1 พันล้านดอลลาร์ และ Special one-time allocation ประมาณ 21 พันล้านดอลลาร์ ตอนเกิดวิกฤตการเงินโลกแฮมเบอร์เกอร์ในปี ค.ศ. 2009 การจัดสรรวงเงินพิเศษแต่ละครั้งได้ช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ระดับหนึ่ง แต่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพต่อระบบการเงินโลกได้ค่อนข้างดีทีเดียว 

รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่ากรณีของไทยที่ได้รับเงินจัดสรร 1.4 แสนล้านบาทหรือ 4.4 พันล้านดอลลาร์ นั้น รัฐบาลควรหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเงิน SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาใหม่จำนวนนี้มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการคลังโดยมุ่งไปที่การเยียวยาผู้ว่างงานและลงทุนทางการศึกษา การจัดซื้อวัคซีนและการลงทุนทางด้านสาธารณสุข หาก กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินก็ไม่ได้เป็นภาระต่อประชาชนเพียงเล็กน้อยเพราะจะได้รับการชดเชยจากดอกเบี้ยจากการถือครอง SDR 

นอกจากนี้ ไทยยังสามารถแสดงความเป็นผู้นำ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยการหารือกับประเทศอาเซียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและทุนสำรองระหว่างประเทศสูง (อย่าง สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย) สามารถรับแลกเงิน SDRs กับ เงินสกุลหลักให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการเงินทุนเพื่อช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและต่อต้านการแพร่ระบาดให้กลุ่มประเทศอาเซียนยากจน เช่น เมียร์มาร์ ลาว และ เขมร เนื่องจากโลกและอาเซียนจะฝ่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และ วิกฤติสาธารณสุขจากไวรัสโควิดนั้น ต้องอาศัย ความร่วมมือกันระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและในระดับโลก โดยขณะนี้ IMF ได้ให้เครื่องมือ SDRs มาแล้วเพื่อเป็นกลไกตั้งต้นส่วนหนึ่งของการดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาสภาพคล่อง เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินโลก ฟื้นฟูสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ การดำเนินการดังกล่าว “ไทย” หรือ “สิงคโปร์” อาจเป็นผู้นำในการนำเรื่องดังกล่าวหารือกับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ การดำเนินการดังกล่าวสามารถทำผ่านกลไก Poverty Reduction and Growth Trust (PRGT) ของไอเอ็มเอฟก็ได้ แต่อาเซียนควรมีเงื่อนไขกรณีเมียร์มาร์ว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต้องหยุดใช้กำลังและหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน และ จัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา ส่วนกลไกใหม่ Resilience and Sustainability ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาวหลังการแพร่ระบาดโควิดและการต่อสู้กับภัยพิบัติธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน “ไทย” ควรแสดงบทบาทผู้นำในการหารือกับอาเซียนว่าจะใช้ประโยชน์จาก กองทุนดังกล่าว อย่างไรต่อไป 

รศ.ดร.อนุสรณ์ แสดงความเชื่อมั่นว่าการใช้เงินจัดสรรโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนคุณภาพสูงและลงทุนทางด้านระบบสาธารณสุข จะเป็นวิธีการและกลไกที่โปร่งใสกว่าการใช้เงินซื้อวัคซีนและการลงทุนด้านระบบสาธารณสุขผ่านกลไกงบประมาณของไทย นอกจากนี้ ภาระต่อสาธารณชนในรูปของหนี้สาธารณะก็น้อยกว่า จึงเห็นควรใช้ SDR ไปแลกกับเงินสกุลหลักเพื่อนำเงินสกุลหลักเหล่านั้นมาจัดซื้อวัคซีน การดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชนของประเทศของเราแล้ว ยังเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินโลกอีกด้วย 

ส่วนการตอบสนองของตลาดการเงินโลกต่อการประกาศทยอยลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยุโรปจะไม่รุนแรง เพราะเศรษฐกิจของหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินได้ และ ดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่ปรับขึ้นเร็วๆนี้ และ ความเคลื่อนไหวของไอเอ็มเอฟ ในการเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะไม่ทำให้ ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนรุนแรงเกินไป 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าทิ้งท้ายว่าสำหรับตลาดการเงินไทยนั้นมีความเปราะบางอยู่บ้าง และ อาจมีความผันผวนมากกว่าบางตลาดได้เนื่องจากโครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอลง ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% เป็นระยะเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤติหนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% ในปีหน้า จะเกิดความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในปีหน้า การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง การขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70% หรือ 80% ต้องศึกษาวิจัยถึงผลดีผลเสียอย่างรอบคอบโดยพิจารณาพลวัตเศรษฐกิจไทยและโลกด้วย และ ต้องมั่นใจว่า เงินกู้ที่เป็นภาระของประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคตและปัจจุบันจะต้องไม่รั่วไหลหรือใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท