Skip to main content
sharethis

ตำรวจใช้รถจีโน่ดับเพลิงไหม้ซุ้มทางด่วนดินแดง #ม็อบ12กันยา - 'โมกหลวงริมน้ำ' จัดกิจกรรมประณามตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม สุดท้ายถูกปรับฐาน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

12 ก.ย. 2564 Voice online รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมของมวลชนวัยรุ่นที่แยกดินแดงในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้ ยังคงมีการรวมตัวเหมือนเช่นทุกวัน แม้คืนที่ผ่านมา (11 ก.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้เข้าสลายการชุมนุม และควบคุมพื้นที่ทั้งหมดตั้งแต่เวลา 21.00 - 23.30 น. จนทำให้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 51 ราย เป็นเยาวชน 6 ราย จนถึงเวลานี้ผู้ถูกจับกุมยังไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำสำนวนคดีเพื่อส่งศาลฝากขังไม่ทัน ทั้งหมดจึงยังถูกควบคุมตัวต่อ ก่อนจะนำตัวส่งศาลในวันที่ 13 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ในพื้นที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงพบว่า มีกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่รวมตัวกันมากกว่าทุกวัน โดยคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 300-400 คน จุดสังเกตที่ต่างออกไปคือ มีวัยรุ่นที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้ามาในพื้นที่ด้วย โดยเข้ามาอยู่แนวหลังเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมทั้งแจกเอกสารให้ผู้ชุมนุมระบุถึงเสรีภาพในการชุมนุม และวิธีปฏิบัติตัวเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม พร้อมเบอร์ติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ทั้งนี้ได้เกิดเสียงประทัดดังเป็นระยะเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. พบว่ากลุ่มวัยรุ่นนำก้อนอิฐมาวางปิดกั้นเส้นทางแยกดินแดงมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการนำยางรถยนต์มาเผากลางถนน รวมทั้งนำไม้ไผ่ขนาดยาวตีกล้องวงจรปิดให้ร่วงหรือเปลี่ยนทิศทางมุมกล้อง

ขณะที่จุดปะทะบริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 19.00 น. มีกลุ่มวัยรุ่นบางส่วนแยกตัวออกไปจากแยกดินแดงเข้าไปจุดประทัดปาใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. ที่รวมกำลังอยู่ภายใน เจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางตอบโต้ออกมา 

เวลา 19.30 น. มีเหตุเพลิงไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณตรงข้ามกรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้นำกำลังออกมาพร้อมรถจีโน่ เข้าสลายกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่แนวหน้า แต่พบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่อยู่บริเวณแยกดินแดงได้จัดกำลังพลเข้าไปเพิ่มในพื้นที่ พร้อมจุดประทัด พลุไฟ และระเบิดเพลิง ปิดกั้นเส้นทางเข้าสลายของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ถูกรถจีโน่ฉีดน้ำใส่ ทำให้กลุ่มวัยรุ่นต้องล่าถอยออกมา เจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำดับเพลิงที่ลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ประกาศด้วยว่า “เตรียมตัวพร้อมชาร์ตจับกุม” และขอให้สื่อมวลชนมวลชนถอยออกจากพื้นที่ 

ขณะเดียวกันมีการสื่อสารกันภายในกลุ่มผู้ชุมนุมว่า คฝ. เตรียมจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้ามา จึงทำให้ผู้ชุมนุมและผู้สังเกตุการณ์บางส่วนที่แยกดินแดงล่าถอยไป

เวลา 20.00 น. ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำควบคุมเพลิงได้โดยไฟได้ลามไหม้เพียงข้างเดียวของซุ้ม จากนั้นเจ้าหน้าที่พร้อมรถฉีดน้ำได้นำกำลังถอยร่นกลับไปยังกรมดุริยางค์เช่นเดิม

เวลา 21.30 น. ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมที่ขว้างปาพลุและระเบิดประทัดจากทางฝั่งซอยมิตรไมตรี เข้าไปยังกรมดุริยางค์ทหารบก ที่เป็นฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการยิงกระสุนยางตอบโต้

เวลา 22.00 น. เจ้าหน้าที่ คฝ.ออกจากกรมดุริยางค์ทหารบก กระชับแนวตลอดถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า เพื่อสลายมวลชนที่ยังคงตกค้าง มีการยิงกระสุนยางหลายระลอกเข้าไปทางแยกดินแดง

 

 

เวลาประมาณ 23.33 น. บริเวณแยกดินแดง iLawFX รายงานว่ามีรถซึ่งคาดว่าเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจขับฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามา ก่อนเข้าชนผู้ชุมนุมรายหนึ่งจนล้มลง และขับหนีไป โดยผู้ได้รับบาดเจ็บยังนอนอยู่ที่พื้น ทั้งนี้ มีการบันทึกภาพขณะชนผู้ชุมนุมในไลฟ์ของสำนักข่าว The Reporter

 

 

iLawFX ระบุเพิ่มเติมว่า เวลา 0.03 น. ผู้ชุมนุมที่ถูกรถซึ่งคาดว่าเป็นรถควบคุมผู้ต้องหาพุ่งชน ได้รับการปฐมพยาบาลจากพยาบาลอาสา โดยอาการบาดเจ็บเบื้องต้นคือใส่เฝือกคอ มีการบาดเจ็บที่คาง ที่เข่า และมีแผลถลอก โดยผู้ได้รับบาดเจ็บยังได้สติและถามตอบได้ และถูกพาตัวขึ้นรถพยาบาลไป

'โมกหลวงริมน้ำ' จัดกิจกรรมประณามตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม สุดท้ายถูกปรับฐาน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

เพจ iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ประกาศนัดหมายชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เวลา 17.00 น. เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมที่ดินแดงวันที่ 11 ก.ย. 2564 และบอกกับสังคมให้รู้ว่ามีคนตกตึกจากการถูกตำรวจไล่และกำลังอาการหนัก 

เวลา 16.50 น. ที่แยกราชประสงค์ ตำรวจ สน.ลุมพินี นำรั้วมากั้นบนถนนพระราม 1 ฝั่งมุ่งหน้า สตช. ไม่ให้รถวิ่งและให้รถที่จะมุ่งหน้าไปทางแยกเฉลิมเผ่าวิ่งสวนกันในช่องทางอีกฝั่งหนึ่ง มีรถตำรวจ สน.ลุมพินี พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 10 คน อยู่ตรงเกาะกลางหน้าศาลพระพรหม มีรถฉีดน้ำจีโน่เดินทางเข้ามาหน้า สตช. 

บริเวณหน้า สตช. มีการนำรั้วเหล็กมาล้อมรอบป้าย สตช. และ นำผ้าใบสีฟ้าคลุมทับป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ มีตำรวจ คฝ. วางกำลังหน้าป้ายประมาณ 20 คน โดยตำรวจยังขนแผงกั้นเหล็กมาเตรียมกั้นถนนเพิ่ม สกายวอล์ค เซนทรัลเวิลด์ ตรงแยกเฉลิมเผ่ามุ่งหน้าราชประสงค์ ปิดการใช้งาน

18.58 น. กลุ่มโมกหลวงริมน้ำเดินเท้ามาจากทางเซนทรัลเวิลด์ ถึงแยกราชประสงค์ และเลี้ยวไปทาง สตช. พร้อมกับปราศรัยผ่านโทรโข่งเรื่องการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่ดินแดงวันที่ 11 ก.ย. 2564 และมีคนเดินเปิดภาพถ่ายหลักฐานการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ มีคนร่วมเดินทั้งหมดประมาณ 10 คน

19.02 น. มีตำรวจในชุดสีกากีเข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุมที่เดินเท้ามาบริเวณหน้าเซนทรัลเวิลดิ์ ฝั่งถนนพระราม 1 โดยตำรวจบอกว่าไม่ให้ไปทำกิจกรรมที่หน้า สตช. เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการทำลายป้าย ผู้ชุมนุมแจ้งว่า ผู้กำกับสน.ปทุมวัน บอกว่าให้ไปได้และกิจกรรมมีแต่การยืนพูดเท่านั้น 

19.12 น. ผู้ชุมนุมมาถึงบริเวณฟุตบาทตรงข้าม สตช.โดยมีตำรวจสายตรวจคนเดิมมาห้ามปราม บอกว่า ห้ามข้ามไปฝั่ง สตช. ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะข้ามไป สตช. และในวันนี้ตำรวจได้แสดงการขัดขวางตามหน้าที่แล้ว แต่เราจะทำตามหรือไม่เป็นสิทธิของเรา ด้านตำรวจที่อยู่ฝั่ง สตช. เสริมแนวรั้ว และนำรถเครื่องเสียงออกมา

19.18 น. ผู้กำกับ สน. ปทุมวัน อ่านประกาศเกี่ยวกับการควบคุมโรคระบาดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ฝั่งหน้า สตช. ส่วนผู้ชุมนุมยังทำกิจกรรมต่อเนื่อง มีการวางรูปภาพหลักฐานการทำร้ายผู้ชุมนุมที่ดินแดง ในวันที่ 11 ก.ย. 2564 และเผาตราตำรวจ ผู้ชุมนุมยังทำกิจกรรมสาดสีแดงลงบนรูปแทนสีเลือดของประชาชนที่ตำรวจทำร้าย

19.29 น. ผู้ชุมนุมชวนกันชู 3 นิ้ว และประกาศว่าวันนี้ทำกันได้เพียงเท่านี้ ไว้เจอกันใหม่ในกิจกรรมหน้าที่จะจัดหนักกว่าเดิม

19.32 น. หลังเสร็จกิจกรรมแล้ว ตำรวจมาคุยกับกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำว่าให้เก็บสีให้เรียบร้อย แล้วล้างให้เรียบร้อย กิจกรรมวันนี้มีความผิดเรื่องใช้เครื่องขยายเสียง ให้ไปเปรียบเทียบปรับที่ สน.ปทุมวัน ผู้ชุมนุมแจ้งว่าไม่มีเงินสด จะใช้วิธีการโอนได้หรือไม่ ตำรวจแจ้งว่าโอนไม่ได้ ผู้ชุมนุมจึงเสนอว่า ขอให้ตำรวจออกมาเป็นหมายได้หรือไม่ เพื่อจะได้มีเอกสารหลักฐาน แล้วจะไปจ่ายค่าปรับวันหลัง ตำรวจแจ้งว่าออกหมายคดีนี้ไม่ได้ ถ้าจะออกหมายต้องเป็นคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สุดท้ายตกลงกันได้ว่าจะไปจ่ายค่าปรับที่ สน.ปทุมวัน โดยสมาชิกกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำขึ้นรถกระบะของตำรวจไปด้วยกันโดยสมัครใจ

เวลาประมาณ 20.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน เบส ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงฯ แจ้งว่าได้เข้าไปชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ถูกปรับกับเพื่อนแยกข้อหากัน ตัวเบสเอง ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับ 200 บาท ส่วนเพื่อนอีกคนถูกแจ้งข้อหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ปรับ 200 บาทเช่นเดียวกัน โดยตำรวจบอกให้แบ่งกันคนละข้อหา และจ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้ว

เบส เล่าว่ากลุ่มโมกหลวงวันนี้นัดหมายการทำกิจกรรมในวันนี้ โดยชวนกันมาทั้งหมด 5 คน และมีกลุ่มของ “ตี้ พะเยา” มารวมด้วยอีก 5 คน หลังจากนัดหมายแล้วไม่คิดว่าตำรวจจะเตรียมตัวมาเพื่อป้องกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติเยอะขนาดนี้ ทั้งๆที่ตอนแรกไม่ได้คิดจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ เหตุที่ตัดสินใจทำกิจกรรมต่อแม้จะถูกตำรวจเข้ามาห้าม เพราะอยากแสดงให้เห็นว่า ใครๆ ก็สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ แม้แต่คนกลุ่มเล็กๆ อย่างกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เราจึงต้องทำให้สำเร็จ และส่งประเด็นที่อยากสื่อสารให้ได้

6 องค์กรสื่อประสาน บช.น.เหตุ #ม็อบ11กันยา ยันไม่ได้ห้ามเสนอข่าวหลังเคอร์ฟิว ขอมีบัตร-ปลอกแขนชัดเจน

มติชนออนไลน์ รายงานว่า 12 ก.ย. 2564 เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าวกรณี 6 องค์กรสื่อติดตามสถานการณ์คืนวันที่ 11 ก.ย. ด้วยความห่วงใย และร่วมหาทางออกแนวทางให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ระบุว่า นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้แทนผู้บริหารของ 6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้หารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 11 กันยายน โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุความรุนแรงในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

จากการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลพบว่า ค่ำวันดังกล่าวมีความรุนแรงในการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มทะลุแก๊ซ” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีความรุนแรงมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการเพื่อกวาดจับผู้ก่อเหตุความรุนแรง โดยได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ให้มีการลงทะเบียนเพื่อการคัดกรอง ตรวจหลักฐานยืนยันความเป็นสื่อมวลชน ก่อนปฏิบัติการ โดยอ้างว่ามีรายงานว่ามีบุคคลบางส่วนได้แสดงตัวเป็นสื่อมวลชน เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ไม่ได้มีสถานะนั้นอยู่จริง

และฝ่ายเจ้าพนักงานก็ได้แจ้งให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว โดยยังคงอนุญาตให้สื่อมวลชนที่มีสังกัดชัดเจน มีตัวตนยืนยันได้กับต้นสังกัดสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวดังกล่าวได้ และยังไม่พบว่ามีสื่อมวลชนที่มีหลักฐานยืนยันตัวตนและเครื่องหมายระบุฝ่าย ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ 6 องค์กรสื่อยังได้รับแจ้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบผ่านผู้ประสานงานของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ดังนี้

“จากการประสานงานไปยัง บช.น. ผ่าน พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ โฆษก บช.น. ยืนยันมาว่า บช.น.ไม่มีนโยบายในการห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังประกาศเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม แต่สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรายงานข่าว หรือไลฟ์สดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวประกอบด้วยก็จะถือว่าครบถ้วน

“อย่างไรก็ตาม แม้มีเพียงบัตรแสดงตนและปลอกแขนก็เพียงพอแล้ว แต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสื่อมวลชนก็จะต้องถูกนำตัวไปสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย

“ทั้งนี้ บช.น.ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทุกสำนัก และป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนได้รับอันตราย เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนได้ปลอมเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมถึงหน่วยกู้ภัยต่างๆ ซึ่งเมื่อวานก็มีจับกุมตัวได้ จึงขอให้สื่อรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง และมีสิ่งยืนยันตัวตนติดตัวไว้ตลอดเวลา และสามารถให้เจ้าหน้าที่เรียกดูและตรวจสอบได้”

นายกสมาคมนักข่าวฯกล่าวว่า หากมีเหตุการณ์ใดที่พบมีการจับกุม การละเมิด หรือมีการทำร้ายผู้สื่อข่าวที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ขอให้แจ้งข้อมูลมายังช่องทางของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ หรือองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ใน 6 องค์กรสื่อ เพื่อจะได้ช่วยประสานงานให้เกิดความปลอดภัยในการทำหน้าที่และรักษาพื้นที่ของสื่อมวลชนในการเป็นพยานเหตุการณ์และรักษาสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ (11 ก.ย.) ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อ เพราะหากมีคำสั่งห้ามสื่อนำเสนอข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวจริง จะส่งผลต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสังคม ซึ่งในทางกลับกัน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีสื่อคอยนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“สื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงที่ถูกต้อง และควรมีพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้สื่อทุกสำนักสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว เนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้รับผิดชอบให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานี้ได้

“แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน คือมีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว และปลอกแขนที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ รวมทั้งต้องมีหนังสือขออนุญาตจากต้นสังกัดในการออกมาปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิวประกอบด้วย

“ยืนยันว่าสื่อควรมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ไม่ควรมีท่าทีที่คุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และสื่อทุกสำนักก็พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย” นายพีระวัฒน์กล่าว

ด้าน นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย ระบุว่า หนังสือรับรองจากองค์กรว่าทำงาน หรือกลับจากปฏิบัติงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว อาจช่วยแก้ปัญหาให้นักข่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อแม้ล่วงเลยเวลาเคอร์ฟิวแล้ว และยืนยันเห็นด้วยในหลักการเสรีภาพสื่อมวลชน ให้นักข่าวต้องทำข่าวได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net