อัพเดทมนุษยธรรม-สงครามปาตานี Ep1 : มุม ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  – ปธ.กลุ่มด้วยใจ

 

  • ผอ.DSW เผยผลสำรวจคนในพื้นที่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ ค่อนข้างดี
  • อย่างไรก็ตาม ประธาน กลุ่มด้วยใจ ระบุคนในพื้นที่สับสนถึงความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ เป็นเรื่องเดียวกัน
  • ที่ผ่านมาพลเรือนจะได้รับผลกระทบถึง 70% แต่ระยะหลังเปอร์เซ็นต์ภาพรวมลดลง
  • การละเมิดสิทธิเด็กฝ่าย BRN ลดลงก็จริง แต่ฝ่ายรัฐไทยยังคงละเมิดอยู่จนถึงปัจจุบัน
  • ระยะหลังเป้าหมายของการก่อเหตุเป็นฝ่ายที่ถืออาวุธด้วยกัน
  • แม้การประกาศหยุดยิง และลงนามเพื่อปกป้องเด็กในภาวะสงครามถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีความอดทนมากกว่านี้
  • ประเมิน BRN ปรับตัวตามกฎด้านมนุษยธรรม และได้เปรียบกว่ารัฐไทย

 

กว่า 17 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส วันที่ 4 ม.ค.2547 สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานี ปมความขัดแย้งกลับมาปะทุอีกครั้ง อย่างต่อเนื่อง รายงานชุดสัมภาษณ์ตั้งเป้าสัมภาษณ์เพื่ออัพเดทสถานการณ์สงคราม ความขัดแย้ง รวมทั้งประเด็นมนุษยธรรมในพื้นที่ผ่านมุมมองนักวิชาการ นักวิจัย ภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ สื่อ ข้าราชการและนักการเมือง

โดยในตอนแรกเป็นการคุยกับ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)และผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ ในประเด็นการรับรู้และความเข้าใจของคนในพื้นที่ต่อประเด็นด้าน ‘มนุษยธรรม’ การปรับตัวของความขัดแย้งต่อประเด็นนี้ รวมถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและพลเรือน

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)และผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี (แฟ้มภาพ ประชาไท)

คนในพื้นที่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ ค่อนข้างดี

ผอ.DSW  เปิดเผยถึงประเด็นการรับรู้และความเข้าใจของคนในพื้นที่ต่อประเด็นด้านมนุษยธรรมว่า ค่อนข้างที่จะดี จากข้อมูลที่ตนสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนใหญ่แล้วมีการตื่นตัว รับรู้ และเข้าใจความหมายของมัน

“ล่าสุดเราได้ทำแบบสอบถามด้านการละเมิดสิทธิเพื่อทำวิจัย Peace Survey ถึงแม้ว่าระยะหลังจำนวนของการถูกละเมิดสิทธิมันมีไม่มาก  แต่พอถามในแง่ของคำว่าการละเมิดสิทธิ ส่วนใหญ่จะสื่อความหมายของคำตอบตรงกันว่า คือ การจับกุม คือ การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร้เหตุผล ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ประชาชนเข้าใจกัน โดยเฉพาะความสอดคล้องในเรื่องของความคิด ความเชื่อที่เขาได้รับรู้ผ่านข่าว หรือ ผ่านประสบการณ์โดยตรง" ผอ. DSW เผย

คนในพื้นที่สับสนถึงความหมายของคำว่า ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’ เป็นเรื่องเดียวกัน

อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธาน กลุ่มด้วยใจ และอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ (แฟ้มภาพ)

ด้าน อัญชนา กลับมองเห็นแย้งว่า ความจริงคนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า "มนุษยธรรม" กับคำว่า "สิทธิมนุษยชน" เพราะคำว่ามนุษยธรรม คือ การช่วยเหลือเบื้องต้น การช่วยเหลือแบบฉุกเฉินในระยะสั้นสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติ หรือ จากภาวะสงคราม

ถ้าเป็น "ภาวะสงคราม" ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง หรือ การขัดกันทางอาวุธ อย่างเช่น เรื่องการไม่มีที่พักพิง หรือ ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือ การขาดปัจจัยยังชีพ หรือแม้แต่ความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง แต่โดยส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่ามนุษยธรรม คือ เรื่องของการถูกละเมิดสิทธิ ทั้งที่ความละเอียดของความหมายของคำว่า มนุษยธรรมมันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่านี้

“ยิ่งถ้าเป็นคนในพื้นที่ที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของความขัดแย้ง หรือ คนที่ยังไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ จากภาวะนี้ ก็อาจยากที่จะเข้าใจ ซึ่งสรุปได้ว่า ระดับการรับรู้ของคนในพื้นที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะน้อย รวมทั้งการรณรงค์ ส่งเสริม เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของมนุษยธรรมมันไม่มี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการรณรงค์ ส่งเสริม ทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือ เรื่องการปกป้องสิทธิของตนเองมากกว่า" ประธาน กลุ่มด้วยใจ กล่าว

  • หมายเหตุ : ความหมายของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือ Law of Armed Conflict หรือ Law of War) คือ กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับวิธีการทำสงครามและการปฏิบัติต่อพลรบและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรมในระหว่างการทำสงคราม (Jus in bello) โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 5 หลัก ได้แก่ (1) หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Principle of Distinction) (2) หลักการความได้สัดส่วน (Proportionality) (3) หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (Precuation) (4) หลักความจำเป็นทางทหาร (Military Necessity) และ (5) หลักมนุษยธรรม (Humanity)
  • อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย www.treaties.mfa.go.th

ที่ผ่านมาพลเรือนจะได้รับผลกระทบถึง 70% แต่ระยะหลังเปอร์เซ็นต์ภาพรวมลดลง

สำหรับเหตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและพลเรือนนั้น ศรีสมภพ มองเห็นว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นเป้าหมาย หรือ ผู้ถูกกระทำรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชายแดนใต้ การยิง หรือ การก่อเหตุต่างๆ ในรอบ 17-18 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราค้นพบ คือ ประมาณ 70% จะเป็นพลเรือนที่มีทั้งการตายและบาดเจ็บโดยส่วนใหญ่ ซึ่งตรงนี้มันเป็นปัญหา

เพราะทางทหารไปตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่เปราะบางโดยส่วนใหญ่ อย่างเช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล และวัด ที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียนไปยังองค์กรระหว่างประเทศบ้าง จึงมีการขยับออกมาอยู่นอกรั้ว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางส่วนก็ยังมีอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ถือว่ายังอยู่ในความเสี่ยง แต่ตามหลักกฎกติการะหว่างประเทศจริง เขาต้องออกให้พ้น ตอนนี้เป็นแค่การหลีกเลี่ยงสถานที่เหล่านั้น แทนที่จะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับพลเรือน แต่กลับเป็นที่ตั้งฐานปฏิบัติการของทหาร

ผอ.DSW ระบุว่า หากแบ่งสัดส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นสตรีกับเด็กก็มีอยู่บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในจำนวนมาก ถ้าเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบมักจะโดนในแง่ของการเป็นลูกหลง เพราะช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์เด็กๆ มักจะอยู่กับพ่อแม่ แล้วก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่สัดส่วนก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มากเท่าไร ภาพรวมเปอร์เซ็นต์ก็จะลดลงมาก

การละเมิดสิทธิเด็กฝ่าย BRN ลดลงก็จริง แต่ฝ่ายรัฐไทยยังคงละเมิดอยู่จนถึงปัจจุบัน

ประธาน กลุ่มด้วยใจ เปิดเผยถึงแง่ผลกระทบต่อเด็กและพลเรือนว่า ผลกระทบต่อเด็ก จากข้อมูลสถิติพบว่า ก่อนหน้าประมาณ 7-8 ปี เด็กที่ถูกกระทำจนเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างน้อยมีมากถึง 20-30 คน แต่ในปี 2557 เป็นต้นไปตัวเลขกลับลดลงเหลือแค่ 1-10 คน เห็นได้ชัดว่าตัวจำนวนมันลดลงมาก ซึ่งมันบ่งบอกถึงพัฒนาการของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN)

ในขณะที่กองทัพไทยยังมีการควบคุมตัวเด็ก การสอบสวนเด็ก หรือแม้แต่การตรวจเก็บ DNA ของเด็ก จะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในหลายๆ กรณี บางกรณีช่วงที่มีการวิสามัญฆาตกรรม เด็กกลับอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย ตรงนี้บ่งบอกว่ากองทัพไทยไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องของสิทธิเด็ก หรือ การปกป้องเด็กเสียเลย

ในส่วนของพลเรือนนั้น ประธาน กลุ่มด้วยใจระบุว่า ตัวเลขของผู้สูญเสียลดลงตามจำนวนเหตุการณ์ที่ลดลง ระยะหลังเมื่อดูในเรื่องของรายละเอียดเหตุการณ์ การต่อสู้มันไปจำกัดอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ติดอาวุธ เลยทำให้เห็นว่า การร้องเรียน หรือ การทำงานในเรื่องการปกป้องพลเรือนมันส่งผลที่ดีขึ้น

ระยะหลังเป้าหมายของการก่อเหตุเป็นฝ่ายที่ถืออาวุธด้วยกัน

ศรีสมภพ เปิดเผยเพิ่มเติมต่อประเด็นเป้าหมายการก่อเหตุในระยะหลังว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลสถิติที่เราพบว่า เป้าหมายของการก่อเหตุจะเน้นในส่วนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธมากขึ้น เช่น ตำรวจ ทหารเกณฑ์ ทหารพราน และ อาสาสมัครที่สามารถถืออาวุธได้ เป็นต้น

“แต่เนื่องจากเหตุการณ์โดยทั่วไปลดลง จนกระทั่งภาพรวมมันก็ลดลงไปด้วย แต่การปฏิบัติการ หรือ การก่อเหตุในระยะหลังมักจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น หรือแม้แต่การทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย ดังนั้น ในช่วงหลังสัดส่วนของการได้รับผลกระทบจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธโดยส่วนใหญ่ และเพิ่มมากขึ้น" ศรีสมภพ กล่าว

การประกาศหยุดยิง และลงนามเพื่อปกป้องเด็กในภาวะสงครามถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีความอดทนมากกว่านี้

การประกาศเดี่ยวของ BRN  กับ Geneva Call นั้น อัญชนา มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่ BRN มีการประกาศ หรือ แถลงการณ์ที่จะไม่กระทำต่อเด็ก หรือ การหยุดยิงชั่วคราว แต่มันมีข้อด้อยอยู่อย่างหนึ่งคือ มันเป็นการลงนามด้านเดียว (One side) ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบมันต้องเป็นสองฝ่าย (Two side) เพื่อที่จะได้เป็นการปกป้องพลเรือนในพื้นที่ความขัดแย้งได้อย่างสมบูรณ์ แต่กระนั้นก็ตามความอดทน อดกลั้น ของ BRN ก็น้อยมาก สังเกตุหลังจาก BRN ออกมาประกาศหยุดยิงชั่วคราวในวันที่ 4 เม.ย.2563  แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ สะท้อนความรุนแรงอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563 มีการฆ่าและเผาศพที่สายบุรี จ.ปัตตานี รวมทั้งหมด 3 ศพ ในนี้มีผู้หญิงอยู่ด้วย ซึ่งมันละเมิดทั้งหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หลักการการต่อสู้ในสงครามอิสลามด้วย

หลังเกิดเหตุดังกล่าว ได้ปรากฏข้อความบนเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “BRN Barisan Revolusi National” แถลงปฏิเสธเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า ไม่ใช่การกระทำของฝ่าย “BRN”[1] เมื่อกระแสสังคมแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ BRN ก็ออกมาปฏิเสธ แต่การออกมาปฏิเสธมันไม่เพียงพอ BRN ก็ต้องหาพยานหลักฐานมาเป็นข้อมูลพิสูจน์ประกอบด้วยว่านี่คือการใส่ร้าย แต่ต่อมามีการตอบโต้ ล้างแค้นไปมาระหว่างกันโดยเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดล้อมตรวจค้น วิสามัญฆาตกรรมในหลายกรณี ส่งผลให้กองกำลังติดอาวุธของ BRN เสียชีวิตไปหลายรายด้วยกัน อย่างเช่น กรณีเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 ในพื้นที่บ้านปะการือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ฝ่าย BRN เสียชีวิต 3 ราย[2] และกรณีการล้างแค้นโดย BRN ด้วยการระเบิดอาสาสมัครทหารพรานลาดตระเวณเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 ริมถนนบ้านปะกาลือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานเสียชีวิต 1 ราย[3] ซึ่งการล้างแค้นตอบโต้ระหว่างสองฝ่ายมันจะเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงระลอกใหม่ได้อย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

“สรุป คือ หากคุณออกมาประกาศแล้ว คุณต้องทำได้ด้วย คุณจะมาอ้างว่าเป็นการยั่วยุจากกองทัพไทยไม่ได้ เพราะคุณประกาศว่าจะหยุดยิงฝ่ายเดียว แต่คุณไม่ได้เรียกร้องให้ฝั่งรัฐไทยหยุดยิงด้วย ฉะนั้น เมื่อคุณก่อเหตุกลับมามันเป็นการทำลายคำสัญญาที่คุณให้ไว้กับประชาชน ซึ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของตนเองไปด้วย คำสัญญาของคุณมันจะมีค่าก็ต่อเมื่อคุณได้รักษาสัญญา คุณต้องอดทน อดกลั้นเพียงพอ ไม่อย่างนั้นมันจะไร้ประโยชน์ ถ้าคุณรักษาคำมั่นสัญญาได้ คุณจะกลายเป็นสุภาพบุรุษสงครามทันที” ประธาน กลุ่มด้วยใจ กล่าว

อัญชนา กล่าวอีกว่า กระบวนการสันติภาพที่ทุกคนคาดหวังมันไม่ได้มีตัวละครอยู่แค่ 2 กลุ่ม ระหว่าง BRN กับรัฐไทย แต่มันมีประชาชนอยู่ด้วย ดังนั้น คุณต้องนึกถึงคนในกลุ่มอื่นๆ ด้วย สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การยอมรับในระยะยาวว่าคุณกำลังดำเนินการเพื่อประชาชนจริงๆ ฉะนั้นคำว่า มนุษยธรรม คือการคำนึงถึงประชาชน จะต้องไม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่มีคำอ้างใดๆ ที่จะอ้างว่ามันอยู่ในภาวะสงคราม ความจริงคุณประเมินได้ว่าตรงจุดไหนมี หรือไม่มีพลเรือน มี หรือ ไม่มีเด็ก และมี หรือ ไม่มีผู้หญิง คุณสามารถหลีกเลี่ยงได้ ความเป็นไปได้มันมี แต่ถ้าคุณตัดสินใจก่อเหตุ หรือ กระทำอีกก็เท่ากับว่าคุณหมดความชอบธรรมไปแล้ว

สำหรับ Geneva Call  นั้น เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนตั้งอยู่ในเมืองเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นกลางและความเป็นอิสระในการสานเสวนากับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐโดยส่งเสริมและเคารพต่อหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และทำงานเน้นการทำงานเพื่อปกป้องพลเรือนในสถานการณ์ความขัดแย้งและโดยเฉพาะต่อเด็กและการห้ามการละเมิดทางเพศรวมทั้งการเลือกปฏิบัติทางเพศ และการห้ามใช้กับดักระเบิด

ภาพจากกิจกรรมวันมนุษยธรรมปาตานีเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ซึ่งจัดแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

BRN ปรับตัวตามกฎด้านมนุษยธรรม และได้เปรียบกว่ารัฐไทย

ผอ. DSW มองในเรื่องนี้ว่า เป็นสิ่งที่ดีสำหรับ BRN ที่ประกาศออกมาแบบนั้น ถึงแม้จะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวก็ตาม จะเห็นได้ชัดว่า BRN พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับหลักการด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ BRN มักจะถูกโจมตีฝ่ายเดียวว่ามีการละเมิดสิทธิเช่นเดียวกัน หลังก่อเหตุประชาชนกลับได้รับผลกระทบไปด้วย

“ผมพบว่านี่คือ การพยายามปรับตัวของ BRN โดยมีองค์กร Geneva Call  คอยเป็นเทรนเนอร์ให้ เพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยหลักกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็กและสตรี หรือ กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ ตรงนี้เขาต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิขึ้นมา เพราะอาจถูกโจมตีในแง่ของการเป็นอาชญากรสงคราม ถือว่าทาง BRN เขามีการปรับตัว และเป็นเรื่องที่ดีที่ประกาศออกมาในลักษณะแบบนี้ เพราะพักหลังกลุ่มเป้าหมายอ่อนแอ อย่างเช่น พลเรือน สตรี และเด็ก ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พบข้อมูลทางสถิติว่าลดน้อยลงอย่างมาก ฉะนั้น จำนวนเหตุการณ์มันก็ย่อมลดลงไปด้วย แต่เรื่องที่ประเทศไทยไม่ได้ประกาศลงนามด้วยนั้น ก็คงไม่ได้มีผลอะไรกับทาง BRN เพราะคนที่ได้เปรียบในแง่ทางการเมือง ได้ประโยชน์ในแง่ของความชอบธรรม คือ BRN ไม่ใช่รัฐบาลไทย” ศรีสมภพ กล่าว

ผอ. DSW อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ในความเป็นรัฐของรัฐบาลไทยเขามองอีกมุมหนึ่ง คือ ตนเป็นรัฐ และตนก็ไม่ได้ทำสงครามอยู่กับ BRN มันเป็นเพียงแค่การก่อความไม่สงบภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งมันก็มีความชอบธรรมพอสมควรในแง่ของความเป็นรัฐ หรือ องค์กรที่เป็นทางการ เพราะฉะนั้น ความระมัดระวังในเรื่องหลักการ รัฐบาลไทยจะไม่ยอมให้คู่ต่อสู้ของตนเองยกสถานะตนเองเด็ดขาด เขาสามารถอ้างว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามข้อบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าฝ่ายความมั่นคงไทยมักใช้คำนี้มาโดยตลอด

“แต่ประเด็นที่เราทราบ คือ การบังคับใช้กฎหมายของรัฐไทยจะมีปัญหาในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปด้วย ตรงนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ถือว่าการควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎอัยการศึกษาและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะได้รับการยกเว้นทางกฎหมายในการกระทำผิดโดยรัฐ และจะไม่มีการลงโทษใดๆ เมื่อได้มีการกระทำผิดขึ้นมา นี่คือช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยรัฐ มันกลายเป็นเงื่อนไขขึ้นมา ฉะนั้น หากปฏิบัติการทางกฎหมายผิดพลาด มันก็ต้องมีหลักของความรับผิดชอบด้วย" ผอ. DSW กล่าวทิ้งท้าย

 

[1] ผู้จัดการออนไลน์, “บีอาร์เอ็น” แถลงปฏิเสธก่อเหตุยิงแล้วเผากระบะส่งสินค้าริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาส, เผยแพร่: 25 เม.ย. 2564 https://mgronline.com/south/detail/9640000039169

[2] ผู้จัดการออนไลน์, จนท.ปะทะเดือดที่ปัตตานีหลังชาวบ้านแจ้งเบาะแสกลุ่มคนต้องสงสัย ส่งผลโจรใต้เสียชีวิต 3 ราย, เผยแพร่: 30 เม.ย. 2563 https://mgronline.com/south/detail/9630000045482

[3] ไทยรัฐออนไลน์, โจรใต้เหิม ลอบบึมสังหาร ทหารพรานพลีชีพ 1 ขณะ รปภ.ครูที่ปัตตานี, เผยแพร่ 13 ส.ค. 2563 https://www.thairath.co.th/news/local/south/1909373

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท