นิธิ เอียวศรีวงศ์: ดวงเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คําถามที่แทบไม่มีผู้รู้คำตอบเลยในเวลานี้ก็คือ สถานการณ์ทางการเมืองในเมืองไทยเวลานี้จะจบลงอย่างไร

ผมคิดว่า คสช.ซึ่งยึดอำนาจบ้านเมืองเมื่อ 7 ปีก่อน และยังคงครองอำนาจสืบต่อมาจนถึงบัดนี้ ก็ตอบไม่ได้ เพราะตอนยึดอำนาจไม่ได้คิดว่ามันจะนำมาสู่สถานการณ์ในปัจจุบัน คนที่เคลื่อนไหวในท้องถนนอยู่เวลานี้ก็ตอบไม่ได้ เพราะพวกเขาคงไม่ไร้เดียงสาถึงกับคิดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เขามุ่งมาดปรารถนา 100% เต็มแน่

แน่นอนว่า “จบ” ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม เพราะทุกฝ่ายรู้เต็มอกแล้วว่า เมืองไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่สภาวะใหม่ที่จะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมั่นคงพอสมควรคืออะไร และกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่จุดนั้นจะเป็นอย่างไร

ผมก็ไม่ทราบคำตอบ แต่จะชวนคุยให้เห็นว่า อนาคตข้างหน้าไม่ได้กระจ่างสดใสพอที่จะมองเห็นได้จากสถานการณ์ในปัจจุบัน และโอกาสพลิกผันไปในทางที่ไม่คาดฝันไว้ก็มีอยู่หลายทาง

เมื่อสภาลงมติให้ความไว้วางใจรัฐบาลชุดปัจจุบัน ผมไม่คิดว่าทำได้ความประหลาดใจให้แก่ใครเลย เพราะทุกคนก็คาดเดาได้อยู่แล้วว่าคะแนนเสียงฝ่ายรัฐบาลจะไม่แตกแยกกันถึงกับสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ก็น่าประหลาดนะครับ หากเราหันมาดูท้องถนน นับเวลาเป็นหลายเดือนแล้วที่ดูเหมือนจะมีมติเอกฉันท์ในหมู่ประชาชนไทยว่า รัฐบาลนี้ไม่อาจบริหารประเทศต่อไปได้ มตินี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่ลงถนนเท่านั้น แต่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในคำสนทนา, ในเสียงบ่น, ในความท้อแท้สิ้นหวังของผู้คน และจำนวนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมประท้วงทั่วประเทศ

ในทุกสังคมที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ความไม่พอใจรัฐบาลที่หนักแน่นและสั่นสะเทือนไปทั่วทิศเช่นนี้ ย่อมทำให้ ส.ส.แม้ในซีกรัฐบาลเองลังเลใจ หรือทำเป็นลังเลใจ ในการลงมติสนับสนุนรัฐบาลต่อไป น่าจะมีการอภิปรายทำนอง “ออกตัว” ก่อนจะยกมือ อาจมีการเจรจาต่อรองในเรื่องนโยบายและการปรับ ครม. อย่างน้อยก็ต้องทำให้เป็นข่าวว่า ส.ส.ซีกรัฐบาลฟังและเคารพความเห็นของประชาชน

แต่การเลือกตั้งในประเทศไทย มีความเกี่ยวพันถึงนโยบายระดับประเทศไม่มากนัก ผู้สมัครจะได้รับเลือกหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาและเครือข่ายกับประชาชนผู้เลือกตั้งในท้องถิ่น เพราะฉะนั้น การตอบสนองหรือไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนระดับประเทศจึงเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญชี้ขาดในการเลือกตั้ง

ดังนั้น การเคลื่อนไหวบนท้องถนนจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ตัดขาดจากกลไกทางการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามกรอบกติกาได้

ผมเข้าใจว่า ผู้เคลื่อนไหวในท้องถนนเองก็รู้ ที่ยกมาล้อมหรือมาชุมนุมหน้ารัฐสภา ก็เพื่อทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเมืองมากกว่าเพื่อกดดันให้สภาปฏิบัติการทางการเมือง

ถ้าการเลือกตั้งไม่อาจกำหนดทิศทางทางการเมืองได้เช่นนี้ สภาก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกรัฐที่ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคม (แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะผมคิดว่าการเลือกตั้งเริ่มมีความหมายมากขึ้นตามลำดับ แม้เป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม แม้แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ “ไม่น่ารัก” นี้ การเลือกตั้งก็มีความหมายมากขึ้น)

ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องกลับมาดูว่า การเคลื่อนไหวบนท้องถนนล้วนๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ว่าเฉพาะในประวัติศาสตร์ไทย ผมเห็นว่าไม่เคยนะครับ การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคมก็ตาม พฤษภาคม 2535 ก็ตาม มีการเมืองของชนชั้นนำเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ลับและแจ้งอยู่มากกว่าที่เรายอมรับกัน

แต่จะว่าไม่มีผลเลยก็พูดไม่ได้ อย่างน้อยการเคลื่อนไหวขับฐานทัพอเมริกันใน 2518 ก็อาจทำให้แผนการถอนทหารของสหรัฐและของชนชั้นนำไทยบางกลุ่มต้องเลื่อนขึ้นมาให้เร็วขึ้น แต่เมื่อกล่าวรวมๆ แล้ว ท้องถนนล้วนๆ ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง เว้นแต่ชนชั้นนำบางกลุ่มฉวยโอกาสเอามาใช้เป็นประโยชน์ เช่น บางส่วนของกองทัพถือเป็นโอกาสนำการปฏิวัติล้มล้างนายพลสนามกอล์ฟไปจากอำนาจเสียเลย เป็นต้น

แต่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนของเราเวลานี้ ดูจะเป็น “โอกาส” ที่ยังไม่มีชนชั้นนำกลุ่มใดหยิบฉวยเอาไปใช้ อาจเป็นเพราะเสียงเรียกร้องของผู้เคลื่อนไหวบนท้องถนน ก้าวไปไกลเกินกว่าที่ชนชั้นนำกลุ่มใดจะเสี่ยงลงไปหยิบฉวยโอกาส เพราะไม่มีใครแน่ใจว่าจะสามารถคุมให้ข้อเรียกร้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมสำหรับตนได้

แม้ว่าท้องถนนจะถูกโดดเดี่ยว แต่สถานการณ์เลวร้ายภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ทำให้มีคนร่วมลงท้องถนนในรูปต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก จนทำให้ใครๆ ก็เห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวบนท้องถนนไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราว แต่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกนาน จนกระทั่ง ความปรกติทางการเมือง หรือ political normalcy คงไม่คืนกลับมาในเร็ววัน

สรุปก็คือ เวลานี้ เรามีระบบการเมืองซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ทำงาน ไม่ว่าจะดูจากความล้มเหลวในการบริหาร ทรัพยากรกลาง, ทรัพยากรท้องถิ่น, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, กำลังทางเศรษฐกิจซึ่งหดตัวลงอย่างมาก และไม่มีสัญญาณว่าจะเงยหัวขึ้นได้ง่ายๆ ในขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มใหญ่ซึ่งมีจินตกรรมทางการเมืองใหม่ ซึ่งเรียกร้องระบบการเมืองใหม่ที่สามารถรองรับจินตกรรมใหม่นั้นได้บนท้องถนน

แต่สองอย่างนี้ ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงกันและกันเลย ไม่มีกลไกทางการเมืองในระบบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสภา, องค์กรภาครัฐและเอกชน, กองทัพ, หรือพระราชอำนาจนำ ฯลฯ จะสามารถนำเอาความปรกติทางการเมืองแบบเดิมกลับคืนมาได้

หากเป็นสมัยก่อน 2552-2553 เมื่อไรที่ความปรกติทางการเมืองสูญสลายลง (ไม่ว่าตามครรลองธรรมชาติหรือถูกทำให้สูญสลาย) ก็ถือเป็นโอกาสที่จะต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อกอบกู้เอากลับคืนมา เช่น กองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจ ด้วยความเห็นชอบและสนับสนุนของชนชั้นนำส่วนใหญ่ ดังนั้น การรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจพิเศษระงับใช้กฎหมายบางมาตราหรือบางฉบับ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งเสมอใน ในการคลาย “ล็อก” ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นอยู่เวลานี้

(เช่นเวลานี้ ทหารสารวัตรซึ่งมี “อำนาจตำรวจ” เหนือทหารประจำการเท่านั้น ก็ออกมารักษา “ความสงบ” บนท้องถนนแล้ว)

แต่อำนาจพิเศษจะเป็นทางเลือกที่ถูกเลือกหรือไม่ ก็ยากจะรู้ได้ เพราะจินตกรรมทางการเมืองใหม่ของผู้ประท้วงบนท้องถนนได้ก้าวไปไกล เกินกว่าจะใช้วิธีเจรจาปรองดองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างที่เคยใช้ได้ผลมาในอดีต การ “เก็บ” แกนนำไว้ในเรือนจำ พิสูจน์แล้วไม่ทำให้การเคลื่อนไหวยุติลงได้ ถึงจะ “เก็บ” ด้วยวิธีเหี้ยมโหดอย่างที่เคยทำมา ก็คงไม่ได้ผลเช่นกัน ยิ่งจะสร้างวีรบุรุษให้แก่ฝูงชนที่กำลังหิวกระหาย “มรณสักขี” (martyr)

เพราะฉะนั้น อำนาจพิเศษเพื่อยึดอำนาจจึงเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งต้องใช้หากเห็นว่าจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ชนชั้นนำก็รู้ดีว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว บัดนี้ไม่มีสถาบันอะไรในประเทศที่อาจให้ความชอบธรรมแก่การยึดอำนาจได้ ถึงให้ไปก็ไม่เกิดผลที่จะทำให้การต่อต้านต้องยุติลง แม้จะใช้กำลังอาวุธเข้าห้ำหั่นฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรงจนการเคลื่อนไหวประท้วงต้องยุติลง ก็คงเป็นการชั่วคราว เพราะการต่อต้านด้วยวิธีอื่น ทั้งลับๆ และเปิดเผย ทั้งตรงไปตรงมาและโดยนัยยะ ทั้งการกระทำอย่างออกหน้าหรือการบ่อนทำลายอย่างไม่รู้ตัวผู้กระทำ ฯลฯ ย่อมดำเนินต่อไป

จากการควบคุมความประพฤติในพื้นที่สาธารณะ ต้องขยายไปสู่ความประพฤติในพื้นที่ส่วนตัว จากคำพูดต้องขยายไปสู่ความคิด จากการแต่งกายไปสู่การศึกษา อย่างเดียวกับที่รัฐพยายามทำอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ แต่รัฐไทยไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพพอจะสถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นนั้นได้ นอกจากสิ้นเปลืองแรงงานของตนจนไม่เหลือไว้ทำอะไรอื่นแล้ว ก็ยังไม่บังเกิดผลตามต้องการด้วย ดูสามจังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่างอีกทีหนึ่งก็ได้

ยึดอำนาจแล้ว แต่ความปรกติทางการเมืองก็ไม่กลับคืนมาอยู่นั่นเอง อำนาจพิเศษจึงไม่ใช่คำตอบ อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่คำตอบในปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม หากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนยังดำเนินต่อไปอย่างคึกคัก ก็อาจเป็นได้ว่าความปรกติทางการเมืองที่สูญหายไป จะกดดันให้เกิดกบฏภายในระบบขึ้น เช่น ตำรวจ คฝ.ปฏิบัติการอย่างไม่พร้อมเพรียง ไปจนถึงผู้พิพากษาอ่านกฎหมายภายใต้กรอบของอุดมการณ์ประชาธิปไตย (เช่น ไม่อนุมัติการฝากขังที่ไม่จำเป็น เพราะการจำขังคือการละเมิดเสรีภาพที่ร้ายแรง รัฐจึงพึงทำเท่าที่จำเป็นอย่างหลีกไม่ได้เท่านั้น ความหมายของบัญญัติใดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ถูกกำกับด้วยอุดมการณ์ทางสังคมและการเมืองบางอย่าง ซึ่งถูกบัญญัติไว้อย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ) ในกรณีที่ตัวระบบสั่นคลอนเช่นนั้น ก็ไม่เหลือทางเลือกอื่นแก่ชนชั้นนำ นอกจากยอมประนีประนอมเท่าที่ไม่กระทบต่อสถานะของตนอย่างร้ายแรงเกินไปเท่านั้น

คำพูดที่ได้ยินบ่อย “ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะ…” คือสมมุติฐานที่เป็นไปได้ แต่ “ชนะ” หมายความว่าอย่างไรแน่ ดูจะไม่ชัดนัก ถ้าใครคิดว่าจะ “ชนะขาด” และประเทศจะถูกปฏิรูปให้เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ผมคิดว่าไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

เมื่อดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างมากที่สุดของ “ชัยชนะ” ก็จะเป็นเพียงการประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำกับ “คนรุ่นใหม่” (ผมชอบคำนี้ถ้าไม่ได้หมายความเพียงอายุ แต่หมายถึงคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยเอง ในระยะหนึ่ง-สองทศวรรษที่ผ่านมา) หนึ่งในวิธีที่ชนชั้นนำไทยใช้ในการประนีประนอมกับ “คนรุ่นใหม่” ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าพ่อ” ในชนบท, นักเคลื่อนไหวใน 14 ตุลาคม, หรือพฤษภาคม 2535 คือการค่อยๆ กลืนคนเหล่านี้เข้ามาในระบบ จนปัจจุบันหลายคนในกลุ่มคนเหล่านั้นกลายเป็นสลิ่มตัวพ่อตัวแม่ไปเลย

“คนรุ่นใหม่” ในขบวนการเสื้อแดงบางส่วนก็กำลังถูกกลืน (หรือเดินเข้าไปในช่องที่เขาเปิดให้เข้า) ไปในระบบอย่างเดียวกับรุ่นพี่ในอดีต

แน่นอนว่ายุทธวิธีนี้ ทำให้การประนีประนอมไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ผมได้แต่หวังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเรียกร้อง มีมากและถอนรากถอนโคนพอที่จะทำให้การประนีประนอมโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น หลัง “ชัยชนะ” การต่อรองคงต้องดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นไม่น้อยไปกว่าปัจจุบัน เพียงแต่ไม่จำเป็นว่าต้องใช้ท้องถนนในทุกกรณีเท่านั้น จะใช้ท้องถนนมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับว่า “คนรุ่นใหม่” จะสามารถสร้างองค์กรทางสังคมและการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการต่อรองมากน้อยเพียงไร (หรือเข้าไปมีอิทธิพลเหนือองค์กรทางสังคมและการเมืองที่มีอยู่แล้ว เช่น พรรคการเมือง, เอ็นจีโอ, สหภาพแรงงาน ฯลฯ ก็ตาม)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบ “กำลัง” ของการจัดองค์กร ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับชนชั้นนำในปัจจุบัน ก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายชนชั้นนำมี “กำลัง” มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงซึ่งคนรุ่นใหม่นำมาผ่านการต่อรองย่อมมีจำกัด

ยกเว้นแต่ว่า คนรุ่นใหม่จะสามารถทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่เรียกร้องมีความชัดเจนเชิงรูปธรรมมากขึ้น (กว่าหลักการเชิงนามธรรม เช่น “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”, “นิติรัฐ”, “ความเท่าเทียม” ฯลฯ) ตอบรับกับจินตกรรมทางการเมืองของคนในสังคมวงกว้าง จนทำให้การเรียกร้องนั้นๆ ได้รับการสนับสนุนกว้างขวางเสียจน ฝ่ายชนชั้นนำต้องยอมอ่อนข้อในการต่อรองลง แม้ว่าการจัดองค์กรของคู่ต่อรอง คือฝ่ายคนรุ่นใหม่ยังไม่เข้มแข็งเทียบเท่าก็ตาม

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_461604

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท