แอสปาเซีย นักปรัชญาผู้เคยสอนวาทศาสตร์แก่โสกราตีส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจากไดโอติม่า (Diotima) แล้ว แอสปาเซียยังเป็นหนึ่งในสองนักปรัชญาหญิงที่เพลโตยอมรับว่าเป็นผู้สอนของโสกราตีส ชีวประวัติของเธอเป็นหัวข้อในการถกเถียง แต่เธอยังคงมีชื่อเสียงในด้านความรู้เกี่ยวกับวาทศาสตร์และทักษะในการโต้วาที

เรื่องราวชีวิต
แอสปาเซียเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ณ เมืองมิเลทัส (Miletus) (ที่ซึ่งนักปรัชญาเธลีส (Thales) ถือกำเนิดเช่นกัน) เมื่อราว 470 ปีก่อนคริสต์ศักราช รายละเอียดชีวิตในวัยเด็กของเธอปรากฏไม่ชัดเจนนักและข้อมูลที่เรามีนั้นยังไม่น่าเชื่อถือ แต่มีแนวโน้มว่าราว 450 ปีก่อนคริสตศักราช เธอย้ายไปที่กรุงเอเธนส์เนื่องจากหนีความไม่สงบทางการเมือง โดยในกรุงเอเธนส์ เธอถูกจัดให้เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามามีถิ่นที่อยู่ และขาดสิทธิการเป็นพลเมือง

นักปรัชญาคณิกา
เป็นไปได้ว่าในกรุงเอเธนส์แอสปาเซียทำงานเป็นเฮไทร่า (hetaira) —หญิงบำเรอชั้นสูงของเหล่าบุรุษที่มีอำนาจ บทบาทของเฮไทร่าไม่ใช่เพียงแค่ร่วมรัก แต่ยังเป็นเพื่อนคู่เคียงร่วมคิดทางปัญญา พูดคุยสนทนา และคอยค้ำจุนจิตใจด้วย นั่นหมายความว่าเฮไทร่าจำนวนมากเป็นหนึ่งในสตรีที่ได้รับการศึกษาสูงในเอเธนส์ ซึ่งบางคนถึงกับได้รับทรัพย์สมบัติเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีอำนาจทางการเมือง แต่เช่นเดียวกับเรื่องราวทั้งหมดของนักปรัชญาหญิงในประวัติศาสตร์ พวกเราควรถือสิทธิเช่นนี้ในการสงสัยได้ว่า พวกเธออาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นความจริง หรือไม่ก็อาจเป็นความพยายามของนักเขียนในระยะหลังที่ต้องการด้อยค่าชื่อของนักปรัชญาสตรี
 


Drawing of Socrates, Aspasia and Alcibiades. c. 1810-25.
Courtesy Wikimedia Commons. 

กลับมาที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นที่แน่ชัดว่าครั้งหนึ่งเธออาศัยอยู่ในเมืองเอเธนส์ แอสปาเซียมีความสัมพันธ์ระยะยาวกับรัฐบุรุษนายพลทหารที่ชื่อเพริคลีส (Pericles) เนื่องจากแอสปาเซียเป็นบุคคลภายคนนอกรัฐ ความสัมพันธ์ของพวกเขาทั้งคู่จึงไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันตามกฏหมาย ดังนั้นจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบแต่งงานตามกฎหมายของเอเธนส์ แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ที่ยืนยาวของแอสปาเซียและเพริคลีสก็ทำให้เธอได้รับความคุ้มครอง และเข้าถึงสังคมชนชั้นสูงในกรุงเอเธนส์ได้ ซึ่งนี่คือวิธีที่ทำให้เธอได้ติดต่อกับนักปรัชญาอย่างโสกราตีส — ตามงานเขียนบันทึกของเพลโตถือว่าเธอเป็นผู้สอนโสคราตีส

ตัวตนที่ถูกถกเถียง    
สิ่งหนึ่งกระจ่างชัดจากผลงานร่วมสมัยต่างๆ คือการที่ตัวตนของแอสปาเซียยังคงถูกถกเถียง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเพริคลีส ที่ทั้งเธอและเพริคลีสมักถูกวิจารณ์และโจมตีอย่างหนัก นักเขียนบทละครอริสโตฟาเนส (Aristophanes) เองยังถึงขั้นเคยกล่าวโทษเธอ (แม้ไม่มีหลักฐาน) ถึงการปะทุเกิดขึ้นของสงครามเพโลพอนนีเซียน

Image of Aspasia and Pericles from a 19th Century advert for meat extract:
because nothing sells meat extract better than ancient philosophy.
Courtesy Wikimedia Commons.

ในปี 429 ก่อนคริสตศักราช โรคระบาดได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งกรุงเอเธนส์ เพริคลีสเฝ้ามองสมาชิกในครอบครัวของเขาแต่ละคนล้มตาย และแล้วตัวเขาเองก็พ่ายแพ้ต่อโรคภัยด้วยเช่นกัน 

หลังจากการตายของเพรีคลีส แอสปาเซียยังคงอาศัยอยู่ในกรุงเอเธนส์ แต่ดูเหมือนว่าหลังจากการเสียชีวิตของคู่ครอง เธอก็ห่างไกลจากอำนาจมากขึ้น ความรู้ของพวกเราเกี่ยวกับชีวิตระยะหลังของเธอไม่แน่นอนและคลุมเครือพอๆ กับความรู้เกี่ยวกับวัยเด็กของเธอ มีแนวโน้มว่าเธอจะเสียชีวิตประมาณปี 401 ก่อนคริสตศักราช สองสามปีก่อนที่โสกราตีสจะเสียชีวิต

ปรัชญา
แอสปาเซียมีชื่อเสียงส่วนใหญ่ในฐานะผู้ชำนาญทางวาทศิลป์ ตามที่อริสโตเติล(Aristotle)ได้เคยโต้เถียงไว้ว่าวาทศาสตร์เป็นศิลปะของการสังเกต ในกรณีใดก็ตามที่หมายถึงการโน้มน้าวจิตใจ ตามธรรมเนียมแล้วแอสปาเซียถือว่าเป็นนักพูดที่โน้มน้าวจิตใจผู้คนได้ดีมาก เธอเคยสอนวิธีการพูดโน้มน้าวจิตใจ และวิธีการพูดชนะใจผู้อื่นแก่ทั้งเพริคลีสที่เป็นนายทหารผู้ยิ่งใหญ่ และนักปรัชญาคนสำคัญอย่างโสกราตีส ในบทสนทนาของเพลโตที่เรียกว่า Menexenus โสกราตีส กล่าวว่า 'I happen to have no mean teacher of oratory' — ซึ่งครูผู้สอนนั้นหมายถึงแอสปาเซีย

เหตุผล และการโน้มน้าวใจ
ในสมัยกรีกโบราณ แนวคิดเกี่ยวกับวาทศิลป์มักถูกสงสัยอยู่เสมอ และนักวาทศาสตร์หญิงก็อาจถูกสงสัยเพิ่มอีกเป็นทวีคูณ ข้อเสนอที่โต้แย้งต่อวาทศิลป์คือ หากเรามีทักษะการพูดมากเพียงพอ เราก็จะสามารถโน้มน้าวจิตใจอะไรใครก็ได้ โดยที่เรื่องเหล่านั้นอาจเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นวาทศิลป์ถือเป็นเครื่องมือที่ทั้งดีที่สุดและแย่ที่สุดไปพร้อมกัน เพราะมันสามารถคุกคามการโต้เถียงด้วยเหตุผลได้ แต่ข้อโต้แย้งจากอริสโตเติลมองว่า วาทศาสตร์ถือเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเสริมการค้นหาความจริงของมนุษย์เรา หากเรารู้ว่าบางสิ่งเป็นความจริงแต่ไม่สามารถโน้มน้าวใจใครให้เชื่อได้ ก็จะยากต่อการนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ ในมุมมองเช่นนี้วาทศิลป์จึงมีความสำคัญต่อการใช้เหตุผลในสาธารณะและการโต้แย้งเชิงอภิปราย ความจริงจะเสียเปล่าหากเราไม่สามารถสื่อสารจูงใจใครให้เข้าถึงตัวมันได้

และถ้าแอสปาเซียเป็นผู้สอนโสกราตีสในเรื่องวาทศิลป์จริง ๆ ก็จะเห็นได้ชัดว่าเธอประสบความสำเร็จ จากบทสนทนาของเพลโตแสดงให้เห็นหลักฐานมากเพียงพอเกี่ยวกับรูปแบบการอภิปรายและการโต้แย้ง ที่สามารถโน้มน้าวใจผู้คนได้ของโสกราตีส

ประวัติศาสตร์เรื่องราวที่ซ่อนเร้น
แต่เรื่องราวของแอสปาเซีย ยังคงเตือนเราให้นึกถึงบทบาทของผู้หญิงในขนบธรรมเนียมของปรัชญาโลก ที่มักถูกปกปิดและยากลำบากต่อการทำให้เรื่องราวของพวกเธอตรงไปตรงมา (ในทางกลับกันเรากลับรู้เรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับเพริคลีส!) เป็นผลมาจากการที่เสียงของผู้หญิงมักถูกบิดเบือนและกีดกันออกจากขนบธรรมเนียมสังคม

 

อ่านเพิ่มเติม
หนังสือ
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สมบูรณ์ของ Aspasia — บุคคลและตำนานมากมาย — สามารถอ่านได้ใน Prisoner of History: Aspasia of Miletus and Her Biographical Tradition โดย Madeleine M. Henry (Oxford University Press 1995)

แหล่งข้อมูลออนไลน์
เรื่องราวเกี่ยวกับแอสปาเซียใน the Ancient History Encyclopedia (https://www.worldhistory.org/Aspasia_of_Miletus/)

มีบทความที่น่าสนใจใน Conversation ของ Armand D'Angour ที่สำรวจอิทธิพลของนักปรัชญาหญิงที่มีต่อทิศทางของปรัชญาของโสกราตีส D'Angour โต้แย้งไว้ (สปอยนะ!) ว่า Diotima และ Aspasia เป็นหนึ่งเดียวกัน ฉันไม่มั่นใจ 100% แต่อ่านแล้วสนุกดี ลิ้งค์อยู่ตรงนี้หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม หนังสือเล่มนี้คือ Socrates in Love: The Making of a Philosopher (Bloomsbury 2019) ( https://theconversation.com/socrates-in-love-how-the-ideas-of-this-woman-are-at-the-root-of-western-philosophy-109593)

รูปภาพ: The Debate of Socrates and Aspasia, c. 1800. Courtesy Wikimedia Commons.

บทความนี้เขียนโดย Dr. Will Buckingham  (https://www.lookingforwisdom.com/philosopher-file/aspasia/)

Looking for Wisdom
เข้าร่วมเป็นสมาชิก Looking for Wisdom ของผู้เขียนที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งปันความรู้และข่าวสารได้ทาง https://www.lookingforwisdom.com/ การเป็นสมาชิกไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และจะสามารถมีส่วนร่วมกับการอภิปรายต่าง ๆ ได้ ทั้งนั้นจะได้รับข่าวสารพิเศษผ่านทางจดหมายด้วย คุณกำลังสนับสนุนสำนักพิมพ์อิสระที่ต้องการสำรวจว่าความคิดและการเขียนเชิงสร้างสรรค์จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวกได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท