สุรพศ ทวีศักดิ์: เราจะก้าวสู่สังคมโลกวิสัยได้อย่างไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


หน้าตา “สัปปายะสภาสถาน” สถาปัตยกรรมแบบพุทธราชาชาตินิยม (ที่มาภาพ https://www.blockdit.com/posts/609cdfce76f13c0c4b820699)

อย่างแรกเลยเราต้องเข้าใจว่า “ความเป็นโลกวิสัย” (secularity) และการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัย (secularization) เอื้อต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคล, เสรีภาพทางการเมือง และประชาธิปไตย

แน่นอนว่า มีรัฐโลกวิสัยบางแบบที่มีกฎหมายบางอย่างละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เช่น ตุรกี, ฝรั่งเศสห้ามคลุมฮิญาบในที่สาธารณะ หรือการไม่เป็นกลางทางศาสนา เช่น ตุรกีให้สอนเฉพาะศาสนาอิสลามในโรงเรียนรัฐบาล ขณะที่ในกรณีนี้อเมริกาและฝรั่งเศสเป็นกลางทางศาสนามากกว่า เพราะห้ามสอนทุกศาสนาในโรงเรียนรัฐบาล แต่ไม่ห้ามสอนในโรงเรียนเอกชน

แต่การอ้างแนวปฏิบัติบางอย่างที่เป็นปัญหาของรัฐโลกวิสัยบางแห่ง เพื่อจะบอกว่ามันเป็นปัญหาของแนวคิดโลกวิสัย (secularism) โดยตัวมันเอง ย่อมฟังไม่ขึ้น ไม่ต่างอะไรกับการอ้างปัญหาในทางปฏิบัติของรัฐบาลบางยุคของอเมริกาที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่นๆ ว่าเป็นปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยโดยตัวของมันเอง ซึ่งฟังไม่ขึ้น 

เพราะข้ออ้างทำนองนั้น ถูกโต้แย้งได้ง่ายมากเลยว่า ถ้าเห็นว่าแนวปฏิบัติของประเทศใดๆ มันเป็นปัญหา เราก็อย่าไปเอาอย่างเขา แค่นั้นเอง 

อีกหนึ่งข้ออ้างที่ใช้กันเป็น “สูตรสำเร็จ” มากเลยคือ ข้ออ้างที่ว่าแนวคิดโลกวิสัยมันเกิดขึ้นภายใต้ “บริบทเฉพาะ” ทางประวัติศาสตร์คริสตศาสนาแบบยุโรป 

แม้ข้ออ้างนี้จะจริง แต่มันละเลยความจริงที่สำคัญกว่า คือความจริงที่ว่าความคิด ความเชื่อ ความรู้ต่างๆ แม้มันจะเกิดขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ แต่ตัวความคิด ความเชื่อ ความรู้นั้นๆ ก็ไม่เคย “ถูกจำกัด” ด้วยบริบทที่มันเกิดขึ้น เพราะความคิด ความเชื่อ ความรู้ต่างๆ มักจะแพร่ออกจาก “บ้านเกิด” ของตัวมันเองไปสู่ “บ้านใหม่” ได้เรื่อยๆ และมักจะถูกตีความ ขยายความ ปรับใช้ให้มีความหมายต่างออกไป หรือขยายความหมายออกไปจากต้นกำเนิดของตัวมันเองเสมอ

คริสตศาสนาแบบยุโรป ก็ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในยุโรป แต่เริ่มจากการเป็นศาสนาของชาวยิว เมื่อกลายมาเป็นคริสต์แบบยุโรปในยุคกลาง มันก็ถูกตีความใหม่ที่ต่างจากศาสนายิวโดยสิ้นเชิง พุทธศาสนาถือกำเนิดในวัฒนธรรมศาสนาแบบอินเดีย เมื่อไปมีบ้านใหม่ที่ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา หรือในจีน, ทิเบต, ญี่ปุ่น, เกาหลีเป็นต้น ก็ถูกตีความแตกต่างหลากหลายตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ อิสลามที่อยู่ในประเทศต่างๆ ก็หลากหลายแตกต่างกันไป ฮินดูก็เช่นกัน

การที่ศาสนาต่างๆ แพร่ขยายออกจากบ้านเกิดไปสู่บ้านใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกในยุคสังคมจารีต, ยุคอาณานิคม กระทั่งปัจจุบัน ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ความเชื่อทางศาสนานั้นๆ ไม่เคยถูกจำกัดด้วย “บริบท” ที่ตัวมันถือกำเนิดขึ้น 

ตรงกันข้ามเลยคือ การที่ศาสนาต่างๆ แพร่ออกไปนอกบ้านเกิดแสดงให้เห็นความจริงที่ว่า บรรดาผู้เผยแพร่ศาสนานั้นๆ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ) เชื่อกันว่าศาสนาของพวกเขาเป็น “ของสากล” ที่เหมาะกับคนทั้งโลก ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า ศาสนาที่ออกมาจากบ้านเกิดล้วนแต่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของบ้านใหม่ที่ศาสนานั้นๆ แพร่เข้าไป

แต่ปัญหาคือ เมื่อศาสนาแพร่เข้าไปในสังคมใดๆ แล้วมีคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆ นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ศาสนานั้นก็มักจะเคลมความเป็นเจ้าของ “อัตลักษณ์” ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสังคมนั้น ผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาติ หรือเป็นสถาบันสำคัญหนึ่งของชาติ เป็นศาสนาประจำชาติ หรือเป็นศาสนาที่รัฐต้องอุปถัมภ์คุ้มครอง และกลายเป็นศาสนาที่ “กีดกัน” ศาสนาอื่นๆ ความเชื่ออื่นๆ ความคิด ความรู้อื่นๆ โดยอ้างว่า ความเชื่อ ความคิด ความรู้นั้นๆ ถือกำเนิดใน “บริบท” ทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่ต่างจากเรา ไม่เหมาะกับเรา

เช่น พุทธศาสนาแบบไทยก็อ้างว่า แนวคิดโลกวิสัย, การแยกศาสนากับรัฐ, เสรีประชาธิปไตย เกิดขึ้นใน “บริบทเฉพาะ” ทางประวัติศาสตร์คริสตศาสนาในยุโรป ไม่เหมาะกับสังคมไทยที่มีศาสนาและประวัติศาสตร์ต่างกัน 

ที่น่าเศร้าคือมีนักประวัติศาสตร์ “แนวก้าวหน้า” บางคน อ้างความต่างทาง “บริบท” แบบฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาและฝ่ายขวาทางการเมืองว่า การเสนอแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยเป็นทางเลือกให้กับสังคมไทยเป็น “การยัดเยียด” สิ่งที่เกิดขึ้นใน “บริบท” ของยุโรปให้กับสังคมไทย ซึ่งมัน “ผิดฝาผิดตัว” อ้าวแล้วพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในบริบทแบบอินเดีย ทำไมเข้ากันได้กับสังคมไทย ถูกเคลมว่าเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย และเป็นศาสนาประจำชาติได้ล่ะ

ถึงที่สุดแล้ว การอ้างว่าความคิดหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทต่างกัน จึงไม่เหมาะกับสังคมเรา เป็นแค่ข้ออ้างหลอกๆ ในยุคนี้มันไม่ make sense อะไรอีกแล้ว มันเป็นเพียงข้ออ้างแบบชนชั้นนำทางการเมืองและทางศาสนาที่ “ดัดจริต” อ้างว่าประชาธิปไตย, เสรีนิยมและโลกวิสัยแบบตะวันตกไม่เหมาะกับไทย ในขณะที่พวกเขาเลือกรับและลอกเลียนตะวันตกตลอดเวลาในเรื่องที่พวกเขาได้ผลประโยชน์และเพิ่มอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ตัวเอง 

ประชาธิปไตย, เสรีนิยม และโลกวิสัยที่อ้างว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กับประชาชนมากขึ้น ทำให้อำนาจผูกขาดและผลประโยชน์ของกลุ่มศักดินา, ทหาร, นายทุน และศาสนจักรหรือนักบวชหายไปเท่านั้นเอง   

ดังที่ผมบอกแต่แรกว่า อะไรที่เป็นปัญหาในรัฐโลกวิสัย (บางแห่ง) เราก็ไม่ต้องเอามา และแนวคิดโลกวิสัยเองก็ซับซ้อนพอๆ กับแนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย ดังนั้น เราจึงต้องเลือก และที่ผมเลือกเสนอให้ดีเบตเพื่อแก้ปัญหาเผด็จการอำนาจนิยมที่อิงความเชื่อทางศาสนาและศาสนจักรของบ้านเราก็คือ เลือกแนวคิดโลกวิสัยที่แชร์ไอเดียและแนวทางแบบเสรีนิยม, ประชาธิปไตย, และสิทธิมนุษยชน

แนวคิดโลกวิสัยที่แชร์ไอเดียเสรีนิยม, ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ที่จริงแล้วเริ่มจากปรัชญาเสรีนิยมเสนอข้อถกเถียงต่างๆ เพื่อสนับสนุนการมีความอดกลั้นทางศาสนา (religious toleration) และปฏิเสธอำนาจทางการเมืองบนความเชื่อทางศาสนา 

เช่น อำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ และศาสนจักร เพื่อที่จะทำให้เสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพทางศาสนา การเปลี่ยนศาสนา การไม่มีศาสนา (เป็นต้น) เป็นไปได้จริง และเพื่อให้สามารถมีเสรีภาพทางการเมืองได้จริง จึงต้องแทนที่รัฐศาสนา ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย และหลักนิติรัฐ แยกสถาบันทางศาสนาออกจากสถาบันของรัฐ คือให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด องค์กรศาสนาและรัฐไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน หากจะมีการตีความทางศาสนาในทางการเมือง หรือบุคคล/กลุ่มบุคคลทางศาสนาจะแสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็ต้องดำเนินไปภายใต้ระเบียบทางการเมืองแบบโลกวิสัย ไม่ใช่เพื่อตอบสนองอภิสิทธิ์ทางศาสนาแบบที่กระทำกันได้ในระเบียบทางการเมืองของรัฐศาสนาหรือรัฐกึ่งศาสนา

นักคิดเสรีนิยมโลกวิสัยไม่ได้มีปัญหากับความเชื่อทางศาสนาแบบบ้านๆ เช่น ความเชื่อเรื่องบัวสี่เหล่า กฎแห่งกรรม ความเชื่อศาสนาผี และ ฯลฯ ตราบที่ความเชื่อพวกนั้นเป็นเพียง “ความเชื่อส่วนบุคคล” ที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น แต่พวกเขาต้องการถอดรื้อและยกเลิก “อำนาจทางการเมืองในนามศาสนา” ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของศาสนจักร, ระบบกษัตริย์ หรือรัฐศาสนาแบบใดๆ ที่ละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง

พุทธศาสนาไทยที่เรา “สัมผัสได้” ด้วยตาผ่านสถาปัตยกรรมของสัปปายะสภาสถานเป็นต้น สัมผัสความคิด อุดมการณ์ ระบบโครงสร้างและอำนาจครอบงำในมิติต่างๆ อย่างชัดแจ้งในปัจจุบัน คือ “พุทธราชาชาตินิยม” ได้แก่ พุทธศาสนาแบบที่ถูกประกอบสร้างโดยกษัตริย์ ที่มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ

หนึ่ง ในเชิงระบบ/โครงสร้าง ของพุทธราชาชาติยม มีนิกายศาสนาของราชสำนัก คือ “ธรรมยุติกนิกาย” ที่สร้างขึ้นโดย ร.4 ภายใต้ความคิดที่ว่า พระส่วนใหญ่ที่ถูกเรียกว่า “มหานิกาย” คือพวกที่สืบทอด “วงศ์” ของพุทธศาสนาที่เสื่อม หรือ “ไม่บริสุทธิ์ถูกต้อง” ธรรมยุติกนิกายบริสุทธิ์ถูกต้อง หรือเป็น “พุทธที่แท้จริง” มากกว่า 

มีศาสนจักรของรัฐ คือ “มหาเถรสมาคม” ที่ตั้งขึ้นโดย ร.5 เป็นศาสนจักรที่นักบวชมีอำนาจทางกฎหมาย โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการมหาเถรฯ ศาสนจักรนี้รวมศูนย์อำนาจปกครองพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร มีเจ้าคณะปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ลงไปถึงระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน คล้ายกับระบบราชการ แต่ไม่ใช่ศาสนจักรที่พระสงฆ์มีอิสรภาพปกครองตนเองได้ เพราะเป็นศาสนจักรที่ขึ้นตรงต่ออำนาจกษัตริย์ โดยกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้ง-ถอดถอนยศและตำแหน่งปกครองระดับสูงของศาสนจักร

นอกจากจะเป็นศาสนจักรที่มีอำนาจทางกฎหมาย และมีโครงสร้างการปกครองคล้ายระบบราชการแล้ว ปัจจุบันยังเป็นศาสนจักรที่มีหน่วยงานราชการสนองงาน เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัด คอยสนองงานและคอยควบคุมการปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระสงฆ์ด้วย และยังได้รับงบประมาณจากรัฐ ราว 5,000 ล้านบาทต่อปี และมีอภิสิทธิ์อื่นๆ

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้กษัตริย์ “ต้องเป็นพุทธมามกะ” และให้รัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาทและศาสนาอื่นๆ ที่รัฐรับรอง มีการบังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อ, ศีลธรรม และพิธีกรรมของพุทธศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ เป็นต้น

สอง ในเชิงอุดมการณ์ พุทธราชาชาตินิยมยึดอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” หรือยึด “แนวคิด” ชาตินิยมแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามนิยามของศักดินา ซึ่งไม่ใช่ชาติที่มีมวลชน หรือไม่ใช่ชาติของประชาชนแบบ “ชาติ” ตามนิยามของเสรีนิยมและประชาธิปไตย หรือชาติตามนิยามแบบสังคมนิยม ชาติที่ไม่มีประชาชนดังกล่าว คือชาติที่ฟังชันค์อยู่จริงในความหมายว่า สถาบันรัฐสภา, สถาบันการเมือง, สถาบันศาสนา กองทัพ ศาล ระบบราชการโดยรวม และสถาบันการศึกษาต้องยึดมั่น และทำหน้าที่ตอบสนองอุดมการณ์นี้ มิเช่นนั้นก็จะถูกกล่าวหาและถูกเอาผิดทางกฎหมายในฐาน “ไม่จงรักภักดี” และ/หรือเป็นภัยความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 

ส่วน “ชาติคือประชาชน” หรือชาติที่มีมวลชน มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เจ้าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีผลประโยชนส่วนรวมอื่นๆ ร่วมกันอย่างยุติธรรมนั้น ยังคงเป็น “ชาติในอุดมคติ” ที่เราพยายามต่อสู้ให้กลายเป็นจริง 

โดยจุดยืนแบบเสรีนิยมและโลกวิสัย เราย่อมปฏิเสธแนวคิดชาตินิยมที่ไม่มีประชาชน และปฏิเสธ “พุทธราชาชาตินิยม” อันเป็นพุทธศาสนาในแบบที่สนับสนุนสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ชาตินิยมที่ไม่มีประชาชนตามการประกอบสร้างของศักดินา

ดังนั้น เราจึงวิพากษ์ ถอดรื้อ และเสนอให้ “แยกศาสนาจากรัฐ” บนหลักการเสรีนิยมและโลกวิสัย คือ ให้ยกเลิกศาสนจักรของรัฐ ให้องค์กรศาสนาทุกศาสนาเป็นเอกชนทั้งหมด ยกเลิกการบังคับเรียนปลูกฝังความเชื่อและศีลธรรมศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ เพื่อให้รัฐสามารถเป็นกลางทางศาสนา และให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา/ความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาได้จริง 

และเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้สนับสนุน “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ควรแทนที่การเรียนศาสนา ด้วยการเรียนจริยศาสตร์ (ethics) หรือปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) คือ การเรียนรู้แนวคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง จากทัศนะที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งทางปรัชญา, ศาสนา และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา โดยเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดอิสระ มีจิตสำนึกเคารพเสรีภาพทางความคิดเห็น, ความเชื่อ, คุณค่า, ศีลธรรม, วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งที่อิงความเชื่อแบบศาสนาและแบบไม่มีศาสนา เพื่อการมีขันติธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย 

ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นไปได้พร้อมๆ กับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นเสรีประชาธิปไตยและเป็นรัฐโลกวิสัย

ส่วนความเป็นไปได้ในทางสังคมและวัฒนธรรม จำเป็นต้องมีการเผยแพร่แนวคิดโลกวิสัยที่แชร์แนวคิดเสรีนิยมและแนวทางการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมโลกวิสัยตามกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดการดีเบตอย่างกว้างขวาง และแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท