Skip to main content
sharethis

ส.ส.ประชาธิปัตย์ขอ สธ. เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ด้าน ส.ส.วรรณวิภา ก้าวไกล เรียกร้องกระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงสุขอนามัยแคมป์คนงาน แก้ปัญหาสายด่วน 1300 ขณะที่วันนี้ 'อนุทิน' เป็นประธานพิธีมอบใบประกาศขอบคุณผู้บริจาคสู้โควิด-19 เผยส่งวัคซีนเพิ่มช่วยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คาดฉีดเข็ม 3 ให้กลุ่มเสี่ยงได้ก่อน ต.ค. นี้

15 ก.ย. 2564 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันนี้ (15 ก.ย. 2564) นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จ.ระยอง กล่าวหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสุขภาพ อาทิ ทันตแพทย์ และเภสัชกร เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มบุคลากรดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา

ขณะที่ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการปรับปรุงและดูแลรักษาความสะอาดแคมป์คนงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะจากการลงพื้นที่พบว่า แคมป์คนงานหลายแห่งยังมีการจัดสุขลักษณะภายในไม่ถูกต้องตามมาตรฐานควบคุมโรค เสี่ยงทำให้เกิดการระบาด รวมทั้งขอให้คุ้มครองแรงงานให้ได้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมด้วย

นอกจากนี้ วรรณวิภา ยังได้กล่าวถึงกรณีสายด่วน 1300 ของศูนย์พัฒนาสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 24 ชม. สำหรับช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านโควิด-19 หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน รวมถึงคนไร้บ้าน อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ตนได้ติดต่อไปยังสายด่วนดังกล่าวพบว่าไม่สามารถลงพื้นที่ในวันเสาร์อาทิตย์ได้ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า "ต้องมาลงสำรวจพื้นที่ในวันทำการเท่านั้น", "พอลงพื้นที่ไปจริงๆ กลับพบว่าคุณลุงท่านนี้รอไม่ไหว" หรือ "เสียชีวิตแล้ว" ตนจึงต้องการฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการทำงานให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

'อนุทิน' คาดฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ได้ก่อนตุลาคมนี้ ส่งวัคซีนฉีดพื้นที่ภูเก็ตเพิ่ม

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า วันนี้ (15 ก.ย. 2564) ที่โรงพยาบาลปิยะเวท กทม. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีมอบใบประกาศขอบคุณผู้บริจาค 13 ราย เพื่อสู้วิกฤตโควิด 19 เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), เครือเจริญโภคภัณฑ์, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, มูลนิธิบีเจซี, MBK, ไมเนอร์ฟู้ดส์ และกสิกรไทย เป็นต้น โดยมี พญ.เจรียง จันทรกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลบางปะกอกและโรงพยาบาลปิยะเวทเข้าร่วม

อนุทินกล่าวว่าภาคเอกชนมีส่วนร่วมอย่างมากทั้งการดูแลรักษาและการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การฉีดวัคซีน ที่ขณะนี้ทั่วประเทศฉีดไปแล้วกว่า 40 ล้านโดส จากศักยภาพการฉีดวัคซีนแต่ละวันเชื่อว่าภายในสิ้นปี 2564 จะฉีดวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดส ส่วนปี 2565 รัฐบาลได้เจรจาจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งการบริหารจัดการจะง่ายขึ้น เนื่องจากฉีดเพียงเข็มเดียว สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค. 2564 ประมาณ 3 ล้านคน จะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าที่ได้รับเข็ม 3 ไปแล้ว คาดว่าจะเหลือประมาณ 2 ล้านกว่าคน กรมควบคุมโรคกำลังเร่งวางแผนการฉีด โดยพิจารณาทั้งพื้นที่และกลุ่มเสี่ยง คาดว่าจะเริ่มได้ก่อนเดือนตุลาคม ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ กำลังจะส่งไปสำรองไว้ที่จังหวัด จังหวัดละ 50,000-100,000 เม็ด ตามขนาดของจังหวัด เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเบิกจ่าย

“สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะฉีดในเด็กอายุ 12-18 ปี ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัคซีน รวมถึงการตรวจสอบของ อย.ไทยแล้ว จึงจัดหามาฉีดให้เด็กเพื่อให้กลับไปเรียน ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดส่วนวัคซีนอื่นๆ เช่น ซิโนแวค ที่จะฉีดได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม ขณะที่ซิโนฟาร์มอยู่ระหว่าง อย. พิจารณาและขอเอกสารเพิ่มเติม” อนุทินกล่าว

ส่วนกรณีภูเก็ตแซนบ็อกซ์ที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีรายงานการติดเชื้อในจังหวัดเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งวัคซีนไปเพิ่มเติม รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้คาดการณ์และเตรียมการรองรับไว้แล้ว ยืนยันระบบสาธารณสุขในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด รวมถึงกลุ่มจังหวัดในเขตสุขภาพ มีความพร้อม จึงไม่กระทบกับการเปิดประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ให้ทั้งประเทศมีความปลอดภัย

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 200 กว่าราย เป็นคนในพื้นที่จากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์กว่า 30,000 คน พบผู้ติดเชื้อ 89 ราย จากระบบการคัดกรองที่เข้มงวดตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดมาแล้ว และเฝ้าระวังกำกับติดตามระหว่างท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมจากกองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่สนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สอบสวนโรคเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 และแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ ให้ครอบคลุมมากที่สุด และประเมินประสิทธิผลของวัคซีน เพื่อพิจารณาให้เข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11 ว่าการติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อยู่ในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวที่หมุนเวียนเข้ามาทำงาน ส่วนนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อนั้นมาจากการหย่อนมาตรการป้องกันตนเอง จึงขอให้ทุกคนใช้มาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ทุกที่ ทุกเวลา และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดหมาย ส่วนสถานประกอบการ/ โรงแรม/ ร้านอาหาร ขอให้เข้มมาตรการ COVID Free Setting ตามมาตรฐานกรมอนามัย เพื่อให้จังหวัดภูเก็ตปลอดภัย มีทรัพยากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ

“นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้เร่งป้องกันควบคุมโรค จัดสรรวัคซีนเพิ่มให้กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหม่ในพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัย ได้ทำงาน มีรายได้ และเดินหน้าเศรษฐกิจไปได้” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุญยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียวกว่าร้อยละ 85 ได้ส่ง CCRT ลงพื้นที่ชุมชนทั่วทั้งภูเก็ต ค้นหาเชิงรุกด้วย ATK คัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษา ให้ยาทันที โดยกลุ่มสีเขียวรักษาใน HI/ CI ส่งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงเข้าโรงพยาบาล การฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 และกลุ่มเสี่ยง ระดมบุคลากรจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยลงพื้นที่ในคลัสเตอร์ที่ยังมีผู้ป่วยติดค้างในชุมชน พร้อมทั้งจัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ที่ศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ ให้บริการครบวงจรตรวจยืนยันผู้ตรวจ ATK ด้วยตนเองได้ผลบวกเข้าระบบการรักษา มีเอกซเรย์เคลื่อนที่ และเปิดศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 20 คู่สาย ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

สปสช. ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า 157 ล้านบาท

วันนี้ (15 ก.ย. 2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,333 รายและยังอยู่ระหว่างรอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 105 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,224 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,004 ราย รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 157,295,000 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 2,892 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 240,000 แสนบาท มีผู้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 21 ราย และ ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 311 ราย

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่าสปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 914 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 618 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 499 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 17,033,000 บาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 4 สระบุรี 16,971,500 บาท และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี จ่ายเงินแล้ว 15,576,700 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net