Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติ 282 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ไว้พิจารณา กำหนดแก้ไขเกณฑ์อายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากอายุยังไม่เกิน 10 ปี เป็นอายุยังไม่เกิน 12 ปี หวังให้การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

15 ก.ย. 2564 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า วันนี้ (15 ก.ย. 2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ (เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก) ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 282 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวนผู้ประชุม 284 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว จำนวน 39 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษ แม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด จากอายุยังไม่เกิน 10 ปี เป็นอายุยังไม่เกิน 12 ปี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 73 วรรคหนึ่ง) และแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุเด็กในการพิจารณาเพื่อใช้วิธีการสำหรับเด็กจากอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี เป็นอายุกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 74)

ข้อมูลทางการแพทย์พบว่าเด็กอายุ 12 ปีกับเด็กอายุ 10 ปีไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดขอบชั่วดี ยังไม่เจริญเดิบโตเต็มที่และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ อีกทั้งเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีอยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก จึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กเพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป ซึ่งการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ 10 (ค.ศ. 2007) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559-2563) อีกด้วย

iLaw ชี้ 5 มาตรการพิเศษที่ศาลอาจนำมาบังคับใช้กับเด็ก 12-15 ปี

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า วิธีการที่ศาลอาจพิจารณานำมาใช้กรณีเด็กอายุ 12-15 ปีที่กระทำความผิดนั้น มี 5 มาตรการพิเศษ ดังนี้

  1. ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
  2. ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หากเด็กฝ่าฝืนให้ผู้ปกครองชำระเงินแก่ศาลครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท
  3. ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตามข้อ 2 ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นด้วยก็ได้
  4. ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวในข้อ 2 ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
  5. ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net