#ประชุมสภา ผ่านวาระ 1 พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย พร้อมย้อนดูอภิปราย ส.ส. พูดอะไรบ้าง

สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบผ่านวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในการประชุมสภาวันนี้ (16 ก.ย. 2564) หลังใช้เวลาถกข้อกฎหมายนานหลายชั่วโมงจนหมดเวลาประชุม พร้อมย้อนดูลีลาการอภิปรายข้อกฎหมายของ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ ภูมิใจไทย ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมอบหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน…จึงมาตามหาความยุติธรรม” ให้แก่ ส.ส. วานนี้

16 ก.ย. 2564 วันนี้ (16 ก.ย. 2564) สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ให้ผ่านวาระแรก ด้วยคะแนน 363 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 365 คน งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากที่ใช้สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาอภิปรายข้อกฎหมายต่างๆ ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไป เมื่อวานนี้ (15 ก.ย. 2564) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานในที่ประชุม พร้อมกันนี้ยังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มีหลักการเดียวกันอีก 3 ฉบับซึ่งเสนอโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, ส.ส.พรรคประชาชาติ และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

ในการประชุมสภาเมื่อวานนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงหลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ว่าการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ดังนั้นเพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม รวมถึงกำหนดมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ซึ่งไทยได้ลงนามไว้

ขณะที่กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.นราธิวาส หนึ่งในผู้เสนอกฎหมายได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลเพิ่มเติมว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีหน่วยงานของรัฐจำนวนมากที่ละเมิดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ซึ่งสิ่งต่างๆ นี้กำลังทำลายระบบนิติธรรม (Rule of Law) หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ตนเชื่อว่าจะสามารถช่วยประชาชนได้โดยเร็ว นอกจากนี้ กมลศักดิ์ยังกล่าวว่าการซ้อมทรมานไม่ได้มีเพียงการคลุมถุงดำเท่านั้น แต่ยังมีการเปลื้องผ้าในห้องเย็นอุณหภูมิต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ตนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากกฎหมายนี้ผ่านสภาทั้ง 3 วาระ จะทำให้เป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังจะช่วยทำให้หลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรมและเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จ.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ทางพรรคเสนอ ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) มีการกำหนดฐานความผิดฐานทรมานบุคคล ฐานความผิดที่ทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงมีบทลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซึ่งบางร่างที่เสนอเข้ามาในสภายังไม่มีบัญญัติไว้ ดังนั้น นพ.ชลน่านจึงเสนอว่าควรปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้สอดรับกันทุกฉบับ ทั้งของคณะรัฐมนตรีและของรัฐสภา

นอกจากนี้ นพ.ชลน่านเห็นด้วยว่าหากมีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ให้นำตัวผุ้กระทำความผิดกลับมาดำเนินคดีในราชอาณาจักร และความผิดนั้นต้องชัดเจน ไม่ถือเป็นลักษณะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองตามกฎหมายหรือว่าเป็นกรณีผู้ร้ายข้ามแดน และต้องไม่นำคดีอาญามากล่าวอ้างให้พ้นผิด เช่น กระทำการปราบปรามผู้ชุมนุมและเกิดการทำให้สูญหาย แล้วอ้างว่าเป็นเหตุให้ต้องยกเว้น หากเกิดกรณีเช่นนี้ กฎหมายต้องไม่คุ้มครอง รวมทั้งต้องยึดถือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการผลักดันให้กลับไปเผชิญอันตรายในประเทศต้นทาง

“เรื่องของคดีอาญาเอามาอ้างไม่ได้ แล้วที่สำคัญ บรรดาความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่เขตพื้นที่ใด ไม่ว่าจะเกิดในภาวะสงคราม ภาวะฉุกเฉินต่างๆ หรือความมั่นคงทางการเมืองจำเป็นต้องกระทำ ถือว่าไม่เป็นเหตุให้มีการยกเว้นความผิด เช่น คนไปปราบปรามผู้ชุมนุม และเกิดทำให้เกิดมีลักษณะของการทำให้สูญหาย อย่างนี้ไม่คุ้มครอง” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวแสดงความดีใจที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผ่านการพิจารณาจากทั้งคณะรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ จนเข้าสู่วาระการประชุมสภา และสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านวาระแรก และวาระต่อๆ ไปจนกลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ เพราะนอกจากจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้อมทรมานและบังคับสูญหายแล้ว ยังช่วยคืนความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสียอีกด้วย

พร้อมกันนี้ เพชรดาวได้ยกตัวอย่างกรณีบังคับสูญหาย เช่น กรณีของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกควบคุมเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2562 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาที่ห้อง ICU เนื่องจากอาการหมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ต่อมาอับดุลเลาะได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562 จนถึงวันนี้ครอบครัวก็ยังรอความเป็นธรรมปีและคดียังอยู่ในชั้นศาล

นอกจากนี้ เพชรดาวยังได้ยกตัวอย่างกรณีบังคับสูญหายอื่นๆ เช่น ทนายสมชายในปี 2547, พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ในปี 2557, เด่น คำแหล้ ปี 2559, สุรชัย แซ่ด่าน ปี 2562 และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในปี 2563 รวมถึงยกเหตุการณ์การหายสาบสูญของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของเพชรดาว ที่ต่อมาศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

เพชรดาวขอให้การพิจารณาโทษของคดีบังคับสูญหายไม่มีอายุความ ขอให้มีกลไกการป้องกันและการตรวจสอบ เช่น ญาติ ทนายความ หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีสิทธิ์ที่จะพบผู้ถูกควบคุมตัว ขอให้มีการบันทึกสถานที่ บันทึกหลักฐานสภาพร่างกายและจิตใจระหว่างการควบคุมตัว พร้อมกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงด้านการเงิน

6 ส.ส. ‘ก้าวไกล’ หนุน ร่างกฎหมายยุติซ้อมทรมานและอุ้มหาย

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ในการพิจารณาวาระรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงสถานการณ์การซ้อมทรมานและอุ้มหายในประเทศไทยว่า จากรายงานอย่างเป็นทางการของสหประชาชนชาติ พบว่า มีคนที่ถูกบังคับสูญหายในประเทศ ระหว่างปี 2523-2561 อย่างน้อย 86 คน มากเป็นอันดับสามของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการสูญหายของ ทนง โพธิ์อ่าน ,ทนายสมชาย นีละไพจิตร ,สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, พอละจี รักจงเจริญ, กมล เหล่าโสภาพันธ์, เด่น คำแหล้ ตลอดจน วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

ในส่วนการซ้อมทรมาน เฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีรายงานเป็นทางการใน 2 ช่วง คือ จากศูนย์ทนายความมุสลิม ปี 2550-2557 มีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน 364 เรื่อง ยุคต่อมาคือ หลังการรัฐประหารของ คสช. ข้อมูลจากกลุ่มทำด้วยใจ, เครือข่ายสิทธิฯ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ปี 2557-ปัจจุบัน พบว่า มีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน 250 เรื่อง เช่น กรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหารของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, กรณีของ อิหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีของครอบครัวชื่นจิต ที่มายื่นหนังสือในวันนี้หลังต่อสู้เรื่องนี้มาแล้ว 12 ปี

ต่อมา พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สิ่งสำคัญที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือ นิยามของผู้เสียหาย ซึ่งไม่ควรมีแค่ บิดา มารดา บุตร ภรรยาหรือผู้สืบสันดานเท่านั้น ในกรณีไม่ปรากฏผู้เสียหาย ควรให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เสียหายเพื่อร้องแทนได้ด้วย สำหรับผู้กระทำ อย่าคิดว่ามีเพียงตำรวจเท่านั้น แต่ยังมีทหารและผู้ใช้อำนาจรัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจควบคุมจับกุมสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เช่นกัน รวมไปถึงราชทัณฑ์ก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้รูปแบบจารีตนครบาลควรต้องหายไป ต้องไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเอาไปขึ้น ฮ.แล้วถีบลง ไม่มีการเอาถุงคลุมหัวหมุนโม่แล้วเอาปืนยัดมือผู้ถูกกระทำให้เหนี่ยวไกใส่ตัวเอง ต้องไม่มีการจับให้ไปนอนกอดน้ำแข็ง ไม่มีการเอาไฟฟ้าช็อตอวัยวะ

“สิ่งที่เจ้าพนักงานของรัฐเรียนรู้ลักจำมาผิดๆ ต้องเลิกให้หมด รวมถึงเจตนาที่ผิดและเจ้านายที่มีส่วนรู้เห็นคือบ่อเกิดของการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ต้องมีกองทุนเพื่อสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะต้องใช้เงินในการดูแลคนที่ให้ข้อมูลครอบคลุมไปถึงญาติของผู้มาร้องเรียน สุดท้ายขอเสนอให้คดีเหล่านี้ต้องไม่มีอายุความ ส่วนคดีเก่าอย่างยาเสพติดที่ถูกคลุมถุงดำต้องโอนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำ”

ด้าน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับคนที่ต้องลาจากครอบครัวโดยไม่ได้ร่ำลา คงไม่สามารถจินตนาการถึงความเจ็บปวดอย่างนั้นได้เลยหากไม่ได้ประสบเหตุด้วยตัวเอง แต่เรากลับอยู่ในประเทศแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายสิบปีโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่เป็นเช่นนี้เกิดมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งประเทศนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสงสัยแต่ไม่มีคำตอบ

“จารีตนครบาล การตอกเล็บบีบขมับถูกยกเลิกไปแล้วในสมัย ร.5 แต่เรายังทำอยู่บนโรงพักใน พ.ศ.นี้เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการมาเป็นการใช้ถุงดำ หรือการใช้ผ้าชุบน้ำห่อตัวแล้วทุบตีเพื่อไม่ให้เกิดบาดแผลภายนอกแต่ช้ำในตาย ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีต่อต้านการซ้อมทรมานมา 44 ปีแล้ว ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีข้อห้ามในการซ้อมทรมาน มีภาคประชาสังคม เช่น แอมเนสตี้ ที่พยายามผลักดันเสนอกฎหมายป้องการการซ้อมมทรมานและอุ้มหายมากว่า 10 ปี แต่ก็ไม่เกิดผล กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอดีตเคยมีการพิจารณาวาระหนึ่งไปแล้วถึงสี่ครั้ง แต่ว่าแต่ละครั้งกลับถูกปัดตกด้วยอุปสรรคต่างๆ นานาจึงยังไม่กฎหมายนี้เสียที จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ดิฉันต้องยืนขึ้นเพื่อสนับสนุนร่างของกรรมาธิการในครั้งนี้ การปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากการซ้อมทรมานและสูญหายเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ รวมไปถึงการติดตามช่วยเหลือ สอบสวน เยียวยาก็เป็นหน้าที่ของรัฐเช่นกัน ถ้าอยากเป็นสภาที่ทรงเกียรติกฎหมายนี้มีเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนจึงหวังว่าร่างนี้จะผ่านวาะแรก”

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนไทยถูกบังคับสูญหายและถูกทรมานจำนวนมาก ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น กรณี ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเป็นผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน แต่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไปบริเวณผืนป่าแก่งกระจาน จากนั้นจึงไม่มีใครพบตัวอีก สิ่งที่พบคือ เจ้าหน้าที่กระทำการควบตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการแทรกแซงกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยไม่มีอิสระ

“เพราะยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมายนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประชาชน เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ต่อสู้กับความอยุติรรม คนที่ออกมาบอกความจริง คนที่เปิดเผยความไม่ถูกต้องได้รับความคุ้มครอง และกฎหมายนี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่ปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐในการผดุงความยุติธรรมด้วย”

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับที่เสนอเข้ามาโดยภาคประชาชนซึ่งต่อมามีการแก้ไขเพิ่มโดย คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน การอภิปรายนี้ขอให้ถือว่าเป็นการคารวะต่อผู้ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหายในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เฉพาะยุค คสช. มีผู้ที่ถูกอุ้มหายไปอย่างน้อย 9 คน ส่วนใหญ่คือผู้ที่ต้านซึ่งจำเป็นต้องเอ่ยชื่อ ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ ปุบผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ, ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด, สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง และเด่น คำแหล้ แกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านนโยบายทวงคืนผืนป่าที่รังแกคนจนของ คสช. ซึ่งในจำนวน 9 คนนี้มี 3 คน ที่ถูกพบว่าเสียชีวิตแล้ว โดยถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมเอาเสาปูนยัดท้องและลอยมาติดริมแม่น้ำโขง ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานก็มักเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐมองพวกเขาอย่างมีอคติ เช่น เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2563 เกิดกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่บาดเจ็บสาหัสขณะถูกสอบสวนในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่าเข้าลื่นล้มในห้องน้ำและท้ายที่สุดก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหลายนี้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 ภาคประชาชนทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ได้ร่วมกันยื่นร่าง พ.ร.บ.การซ้อมทรมาน ต่อ กมธ.การกฎหมาย สภาฯ ที่ในขณะนั้นมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่ละพรรคเสนอกฎหมายโดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 เกิดกรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประวัติต่อต้าน คสช. กมธ.กฎหมายฯ จึงเร่งดำเนินการ โดยนำร่างของประชาชนมาแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเสนอต่อสภาฯ แล้ว โดย ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันลงชื่อ

“สาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือ การกำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยผู้มีความผิดรวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย และผู้กระทำผิดนอกราชอาณาจักรด้วย และให้ผู้เสียหายหมายความรวมถึงคู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้ถูกกระทำด้วย และให้มีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการซ้อมทรมาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และรวมถึงการป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวบุคคลต้องบันทึกและรายงานข้อมูลผู้ถูกคุมตัวโดยญาติของผู้ถูกคุมตัวหรือคณะกรรมการฯ มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล หากมีการปฏิเสธก็มีสิทธิ์ร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้ หรือหากมีข้อร้องเรียนการกระทำผิดเกิดขึ้น คณะกรรมการฯ สามารถร้องขอศาลเพื่อให้สั่งยุติการกระทำได้

“เมื่อเทียบกับร่างฉบับ ครม. แล้ว ร่างของ กมธ.กฎหมายฯ ยังมีการเพิ่มความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการกระทำที่ทำให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเข้ามา และให้ความผิดทั้งหมดตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่มีอายุความ เนื่องจากเป็นความผิดที่ใช้เวลายาวนานในการรวบรวมหลักฐานและพิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนคดีอุ้มหายที่เกิดขึ้นก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะบังคับใช้ด้วย เพื่อค้นหาความจริงและคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำในอดีต จึงหวังว่าการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดวงจรอุบาทว์ ที่ประชาชนเห็นต่างจากรัฐจนบาดเจ็บล้มตายหรืออุ้มหายไร้ร่องรอย”

รังสิมันต์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า จะเห็นว่าร่างของ กมธ.มีความเข้าใจและคุ้มครองผู้ถูกกระทำมากกว่าร่างของรัฐบาลที่ยื่นประกบเข้ามาภายหลัง และได้ยื่นไปนานแล้ว แต่มักถูกบรรจุเป็นวาระไว้ท้าย ส่วนกฎหมายด่วนที่เสนอมาโดยคณะรัฐมนตรีมักได้รับการพิจารณาก่อนเสมอ ต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้อมผู้ต้องหาจนเสียชีวิตอีกครั้ง ซึ่งก็คือกรณี ผู้กำกับ สภ.นครสวรรค์ จึงมาได้พิจารณาร่างนี้ในวันนี้ อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้มีครอบครัวไหนทุกข์ทรมานแบบนี้อีก อย่าปล่อยให้ทุรชนหน้าไหนกระทำแบบนี้อีกแล้วลอยนวลพ้นผิดไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสที่สภาจะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเสียที

ธีรัจจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ประเด็นที่อยากฝากหากร่างกฎหมายนี้ผ่านวาระหนึ่งและมีการพิจารณาในชั้น กมธ. ต่อไป คือ กรณีที่พบเหตุฉุกเฉิน จะให้มีคณะกรรมการสักชุดหนึ่งสามารถมีอำนาจสั่งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับเหตุทันทีได้หรือไม่ เพราะการรอหลักฐานหรือร้องต่อศาลอาจช้าเกินไปหากมีเหตุเกิดขึ้นและมีการร้องเข้ามา ส่วนกรณีที่มีการขัดขวางก็ให้มีความผิดที่หนักขึ้น เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมอบหนังสือเรื่องการซ้อมทรมานแก่ผู้แทนรัฐสภา

ช่วงเช้าวานนี้ (15 ก.ย. 2564) ก่อนเริ่มประชุมภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เข้ามอบหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน…จึงมาตามหาความยุติธรรม” โดยมีพรเพ็ญ คงขจรเกียติ บรรณาธิการหนังสือ และอิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ เป็นผู้มอบ และมีรองประธาน กมธ.กฎหมายฯ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาชาติ เป็นผู้รับมอบหนังสือ

หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือสารคดีสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมตลอด 12 ปีของครอบครัวชื่นจิตร ภายหลังที่บุตรคนโตของบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานให้รับสารภาพ ในคดีวิ่งราวทรัพย์ที่ตนไม่ได้ทำ จนกระทั่งได้รับผลกระทบทางจิตใจร่างกาย และการใช้ชีวิตระยะยาว โดยได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐแล้วกว่า 50 หน่วยงาน แต่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เข้ามาช่วยทำคดี ส่งผลให้สถานะของคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินคดี นอกจากนี้ ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เรียกร้องและสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและคนสูญหาย พ.ศ. … อีกด้วย

ชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและเลขาธิการพรรคเพื่อไทยตลอดจนสมาชิกพรรคให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างมาก พร้อมได้กำชับสมาชิกพรรคว่าให้ลงมติเห็นชอบ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ คณะ กมธ.การกฎหมายฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมทั้งจะขอติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ด้านประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังรับมอบหนังสือว่า เพื่อไทยยินดีให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ความเห็นชอบในวันนี้หรือภายในวันที่ 16 ก.ย. 2564 โดยพรรคเพื่อไทยได้เตรียมความพร้อมของสมาชิกพรรค ในการอภิปรายให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อร่วมผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างมาก

ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าพรรคก้าวไกลยินดีให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมคงต้องพิจารณาอีกครั้งในชั้นกรรมาธิการ เนื่องจากทางพรรคต้องการให้โครงสร้างในส่วนรายละเอียดของกฎหมายมีการป้องกันและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกหรือต้องการให้จำนวนเหตุการณ์เช่นนี้ลดน้อยลง

ขณะที่สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติอย่างชัดเจนว่าให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและมุ่งเน้นให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและคนสูญหาย พ.ศ. …. โดยทางพรรคมีมติในการร่วมเห็นชอบกับร่าง พร้อมขอเน้นย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาโดยตลอด และหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบในการผ่านร่างกฎหมายในวาระที่หนึ่ง เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดต่อไป หวังประเทศไทยมีกฎหมายที่ดีและมีความสำคัญขึ้นมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ พร้อมด้วยกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ได้ออกมารับหนังสือและร่วมพูดคุยกับผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน โดยภายหลังรับมอบหนังสือ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่าพรรคประชาชาติได้มีส่วนร่วมในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวควบคู่กับร่างที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอรวมทั้งสิ้น 4 ร่าง ซึ่งเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน ที่ควรได้รับความคุ้มครองไม่ถูกซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหาย ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขั้นการบังคับใช้กฎหมายในทุกภาคส่วนด้วย ขณะที่กมลศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าตนมุ่งหวังให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เอื้อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น แม้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องปรับแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ จึงขอให้ประชาชนได้ติดตามการอภิปรายต่อ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท