Skip to main content
sharethis

โควิดทำครอบครัวเครียดตกงานคิดสั้น พม.ดูแล 5 มิติกลุ่มเปราะบาง

การประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติประจำปี 2564 “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลสังคมไทยในวิถีชีวิตใหม่” จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความ มั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดพม. กล่าวในพิธีเปิดว่า การระบาดของโควิด-19 ครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญที่ พม.ต้องดูแลและพัฒนา โดยเฉพาะครัวเรือนเปราะบางที่มีสมาชิกเป็นเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดตียง รวมถึงแม่ตั้งครรภ์ พม.ต้องสนับสนุนเป็นกำลังเสริมดูแลครัวเรือนเหล่านี้ให้ได้รับผลกระทบน้อยสุดใน 5 มิติทั้งรายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพ และการสื่อสาร การเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยอาศัยความร่วมมือท้องถิ่นร่วมดูแล

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ม.มหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวภายใต้สถานการณ์โควิดพบร้อยละ 86.5 ได้รับผลกระทบด้านการงาน รายได้ลด ถูกพักงานเลิกจ้าง ขณะที่ความเครียดส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 5 จากคะแนนเต็ม 10 โดยร้อยละ 81.7 ไม่ทราบวิธีว่าต้องทำอย่างไร และร้อยละ 4.4 ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีความคิดฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ การระบาดโควิดต้องเฝ้ามองครอบครัวไทยอย่างใกล้ชิด ความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เศรษฐกิจนำไปสู่ความไม่มั่นคงของครอบครัวไทย การมียุทธศาสตร์ชาติด้านครอบครัวจะมีทิศทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบรวมทั้งการปรับตัวสู่นิวนอร์มอลที่ต้องเรียนรู้อยู่กับปัญหาต่อไป ความร่วมมือทุกฝ่ายมีความสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนครอบครัวไทยสู่ความเป็นฐานสังคมที่มั่นคงให้กับประเทศ

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กลาวว่า ความใกล้ชิดของครอบครัวยังเป็นพลังใจสำคัญและเป็นที่มาของกระบวนการที่กรมได้ส่งเสริมเรื่องวัคซีนใจในการดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน และส่งต่อความช่วยเหลือสู่ผู้อื่นผ่านกลไกวัคซีนใจในชุนชนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตก้าวพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆไปให้ได้ ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า ศูนย์ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนส่งเสริมให้เกิดครอบครัวพลังบวก ให้มีระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชนด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยแก้และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เผชิญภาวะความเครียดสะสม

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/9/2564

โคราชถกเตรียมความพร้อมเปิดเทอม พ.ย. 2564 นี้ จี้รัฐเยียวยาหลังโรงเรียนเอกชนเลิกจ้างครูกว่า 1 พันคน

15 ก.ย. 2564 ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายกฆตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัด และผู้แทนจาก ท้องถิ่นจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ผอ.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด หรือ กศน. ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต1-7 ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชน ร่วมกันประชุมหารือเพื่อวางมาตรการ แนวทาง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ในภาคเรียนที่ 2ในเดือน พ.ย. 2564 นี้ ทั้งในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในจังหวัดนครราชสีมามีจำนวนสถานศึกษาทั้งในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมจำนวน 1,633 แห่ง มีจำนวนนักเรียนรวม 505,301 คน จำนวนครู 63,740 คน สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอน ในภาคเรียนที่ 2 ในเดือน พย.64 ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งหนึ่งที่ต้องฝากผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ อย่าไปมองว่าเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของสถานศึกษา ผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลนักเรียนด้านสุขภาพก่อนที่จะมาโรงเรียน เมื่อมาอยู่ในสถานศึกษาแล้วจึงจะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการดูแลด้านสุขภาพของนักเรียนก่อนส่งกลับบ้าน การหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่าทุกสถานศึกษาจะต้องจัดทำแผนวิธีการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จัดทำแผนเผชิญเหตุหากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียน และต้องมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการโรงเรียนกับผู้ปกครองร่วมประเมินกับทางสาธารณสุขถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนก่อนสรุปส่งให้เขตการศึกษาพิจารณากับทางคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อพิจารณาในการเปิดโรงเรียนต่อไป ซึ่งมีระเวลา 1 เดือนในการเตรียมความพร้อม

นายกอบชัยกล่าวอีกว่าปัญหาอุปสรรคของสถานศึกษาที่ร้องขอขณะนี้คือเรื่องวัคซีนของบุคลากรทางการศึกษา โดยในขณะนี้มีบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 24,488 คน จากบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ จำนวนทั้งหมด 31,538 คน ซึ่งเรื่องวัคซีนจากการพูดคุยทางกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งดำเนินจัดสรรมาให้บุคลากรทางการศึกษาอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ในส่วนส่วนของเด็กนักเรียน อายุ 12-17 ปีขึ้นไปนั้น ได้สั่งการให้ทุกโรงเรียนสำรวจจำนวนนักเรียนที่ชัดเจนให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2564 นี้ เพื่อส่งให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรวัคซีนให้เด็กนักเรียนต่อไป อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าจะมีทั้งโรงเรียนที่มีความพร้อมและไม่มีความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอนดังนั้นจึงต้องมีการประเมินร่วมกับผู้ปกครองในการที่จะเปิดทำการเรียนการสอนเพื่อความสบายใจของผู้ปกครอง หากโรงเรียนไหนยังไม่พร้อมก็สามารถที่จะเรียนออนไลน์ได้แต่ถ้าโรงเรียนไหนมีความพร้อมก็สามารถเปิดโรงเรียนได้ทันทียู่ที่โรงเรียนจะพิจารณา นายกอบชัย กล่าว

ด้านนายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 116 แห่ง มีจำนวนบุคลากร กว่า 6,000 คน สำหรับการเปิดภาคเรียนในเดือน พย.64นี้ ทางโณงเรียนเอกชนเองก็มีความพร้อมในการเปิดทำการเรียนการสอนตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19โรงเรียนเอกชนไม่ได้รับการดูแลจากทางภาครัฐ 100% เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนและมีผู้ปกครองติดค้างค่าเรียนเป็นจำนวนมาก โรงเรียนเอกชนจึงขาดรายได้ ทำให้โรงเรียนเอกชนใน จ.นครราชสีมา มีการเลิกจ้างบุคลากรไปแล้วกว่า 1,000 คน ซึ่งหากไม่มีการเปิดทำการเรียนการสอนอีกภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ น่าจะมีการเลิกจ้างบุคลากรอีกกว่า 1,000 คน ในส่วนภาพรวมทั้งประเทศมีการเลิกจ้างแล้ว กว่า 20,000 คน แต่การเปิดเรียนจะต้องคำนึกถึงความปลอดภัยเป็นหลักหากไม่ปลอดภัยก็จะไม่มีการเปิดทำการเรียนการสอนอย่างแน่นอน ทั้งนี้อยากให้ทางภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาโรงเรียนเอกชนบ้าง สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนตอนนี้คือการได้รับวัคซีนของเด็กนักเรียน นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 15/9/2564

เผยคนทำงานสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง มีจำนวนสูงถึง 3.53 ล้านคน ตลาดแรงงานผันผวนเป็นระยะ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานของประเทศไทยจะค่อยๆฟื้นตัวมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 หรือคลายล็อกดาวน์ แม้ว่าตลาดแรงงานอาจมีความผันผวนเป็นระยะๆ เนื่องจากตลาดแรงงานของประเทศไทยส่วนหนึ่ง อยู่ในภาคการค้าบริการและการท่องเที่ยว และธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าบริการและการท่องเที่ยว ที่มีแรงงานในระบบรวมกัน 18 ล้านคน “ตลาดแรงงานของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยขณะนี้แรงงานคนไทยรวมกับต่างด้าว และตัวเลขเสมือนว่างงานที่หายไปนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุน เมื่อเดือน ก.ค.ขยายตัว 35.4% สูงสุดในช่วง 7 เดือน ทำให้การจ้างงานเริ่มกลับมา แต่ยังคงมีปริมาณไม่มากนักเพราะจำกัดอยู่เฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและค้าปลีกค้าส่งบางส่วน เพราะในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวยังไม่เกิดการจ้างงาน”

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลสภาวะแรงงานเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคม รวมกัน 24.28 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอยู่ในเอสเอ็มอี 12.71 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ ขณะที่จำนวนคนว่างงานข้อมูลภาครัฐ ระบุว่ามีประมาณ 730,000 คน ซึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือแรงงานที่ทำงานไม่เกิน 1-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเรียกว่าผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนสูงถึง 3.53 ล้านคน

“แรงงานเหล่านี้เป็นผู้ว่างงานแฝงและในจำนวนนี้ พบว่า 21% ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คือสภาพไม่ต่างจากคนว่างงาน ส่วนแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ล่าสุด ณ เดือน ก.ค. มีเพียง 11.12 ล้านคน”

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 15/9/2564

พนักงานร้องเรียนถูกโรงพยาบาลสัตว์ชื่อดังเลิกจ้างเหตุเพราะตั้งท้อง

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 ที่ชมรมทนายความจิตอาสา ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ทนายเกียรติคุณ ต้นยาง หรือทนายโป้งได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.เพ็ญพิไล บุญเสร็จ อายุ 28 ปี อาชีพผู้ช่วยสัตวแพทย์ ถูกนายจ้างไล่ออกจากโรงพยายาลสัตว์แห่งหนึ่งย่านท่าอิฐ ต.บางรักน้อย อ.เมืองนนทบุรี หลังจากลางานไปฝากครรภ์วันที่ 6 ก.ย.64 เนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง แต่โดนใบเตือนจากที่ทำงานส่งมาในวันที่ 13 ก.ย. 2564 และถูกนายจ้างส่งใบไล่ออกให้ในวันที่ 14 ก.ย 2564 จึงเดินทางมาพบทนายโป้งเพื่อขอความเป็นธรรม

น.ส.เพ็ญพิไล เล่าว่า ตนพึ่งรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ จึงขอลาไปหาหมอเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 ทุกอย่างเรียบร้อยดี ถัดมาวันที่ 11 ก.ย. 2564 เกิดมีอาการแพ้ท้องตอนเช้า จึงขอลาต่อ 2 วัน และเดินทางไปโรงพยาบาลที่กรุงเทพ ตนจึงกลับเข้าไปทำงานวันที่ 13 ก.ย. 2564 ทางหมอที่โรงพยาบาลเรียกเข้าไปพบพร้อมด้วยผู้จัดการและให้เซ็นใบเตือนและเลื่อนการประเมินผ่านงานให้เรา ทั้งที่เราทำงานเกิน 120 วันแล้ว ตนจึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งๆที่ตนตั้งท้องอยู่ จึงเข้าไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน หลังจากกลับเข้ามาทางผู้จัดการที่เป็นสามีของคุณหมอเข้ามาชี้หน้าด่าและไล่ตน และทางโรงพยาบาลส่งใบลาออกให้ตนวันที่ 14 ก.ย. 2564 จึงอยากเข้ามาหาทนายเพื่อขอความเป็นธรรมของตนและลูกในท้อง และอีกสาเหตุที่ตนรับไม่ได้คือเดือนหน้าหมอนัดตนให้ไปตรวจท้องแต่ทางโรงพยาบาลสัตว์ที่คนทำงานอยู่ไม่ให้ไป ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจเพราะไม่เคยมีปัญหากับเขามาก่อน ตอนนี้ไปยื่นเรื่องที่กรมแรงงานแล้วทางกรมแรงงานบอกว่าจะเรียกคุณหมอเข้ามาพบอีกที ถ้าวันไหนที่ตนลาตนจะบอกทุกครั้งตามกฏของโรงพยาบาล ตอนนี้ก็ต้องกลับไปทำงานต่อเพราะยังไม่ได้เซ็นต์ใบลาออก แต่ทางผู้จัดการบังคับให้เซ็นต์และข่มขู่ว่าถ้าไม่เซ็นจะแจ้งหนังสือให้พ้นสภาพการทำงาน ตนรู้สึกว่ามันไม่ดีที่มารังแกคนท้องแบบนี้ ก็ยังห่วงลูกด้วยเพราะตนเครียดมาก

ทางด้านทนายโป้ง กล่าวว่า เบื้องต้นตนให้ข้อแนะนำตามกฏหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 4.3 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงด้วยเหตุการตั้งครรภ์ จะไม่สามารถเลิกจ้างได้ ถ้าในเวลางานมีปัญหาของการแพ้ท้องมีมาตรา 4.2 ระบุว่า ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการทำงานแพ้ท้อง สามารถบอกนายจ้างขอเปลี่ยนหน้าที่ในการทำงานได้ เพื่อทำงานให้เหมาะสม ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะผิดกฏหมายในมาตรา 104.4 ห้ามไม่ให้นายจ้างฝ่าฝืนในมาตรา 4.2 และ 4.3 ทั้งหมดนี้มีโทษทางอาญาจะต้องระวังจำคุกไม่เกิน6เดือนและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท อยากให้นายจ้างและลูกจ้างเข้ามาคุยกันในฐานะที่ร่วมงานกันมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว และผ่านการทดลองรับบรรจุเป็นพนักงานของที่นี่แล้ว สิ่งที่น้องเขาไปร้องที่แรงงานยังคงไม่ครบถ้วนจะให้น้องไปยื่นเรื่องเพิ่มเติมเพราะยังขาดสาระสำคัญอยู่ ตอนนี้อยากให้นายจ้างเข้ามาคุยเพราะน้องท้องอยู่ ตนเห็นใจเป็นอย่างมากเพราะอาจเกิดภาวะต่าง ๆ ทั้งจิตใจและลูกในครรภ์

ที่มา: สยามรัฐ, 15/9/2564

เข้มโควิดแรงงานข้ามชาติฉีดวัคซีน 2 เข็ม อย่างน้อย 1 เดือน มีใบรับรอง นายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นแถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 6/2564 พิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบเอ็มโอยู (MoU) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยายเวลาดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (TDCC) ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงมีความรุนแรงและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมการการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังกล่าว พร้อมๆ ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็น ต้องใช้แรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม และสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนได้

“ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานมีแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศให้สามารถอยู่และทำงานได้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 จากการสำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติจากนายจ้าง/สถานประกอบการ พบว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง วันนี้ที่ประชุมจึงได้พิจารณาและเห็นชอบให้แบ่งกลุ่มคนต่างด้าว ที่อนุญาตให้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว ที่ฉีดวัคชีนครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะได้เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นลำดับแรก โดยต้องแสดงวัคซีน พาสปอร์ต ด้วย กลุ่มสีเหลือง ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน และ กลุ่มสีแดงที่ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย นายจ้างจะต้องนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม หากอยู่ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หลังครบกำหนดระยะเวลากักตัว 14 วัน จะได้รับวัคซีนตามสิทธิผู้ประกันตน โดยการจัดหาจากกระทรวงแรงงาน และกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ม.33 นายจ้างจะต้องเป็นผู้จัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่คนต่างด้าว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวจะต้องทำหนังสือแสดงเจตจำนงค์ถึงอธิบดี กกจ. และรอเข้าสู่กระบวนการรับรอง นอกจากนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วย ค่าสถานที่กักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ 500 บาทต่อวัน

“โดยจะต้องกักตัวที่บริเวณด่านชายแดนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำตัวมากักที่สถานประกอบการเด็ดขาด ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) จากโรงพยาบาลที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1,300-1,500 บาทต่อคน (ตามระยะเวลา 7 วัน, 14 วัน และก่อนออกจากสถานที่กักตัว) ค่าประกันสุขภาพโดยประมาณ 800-900 บาทต่อคน และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) จำนวน 1,900 บาทต่อคน โดยเบ็ดเสร็จแล้วประมาณ 14,000 บาทต่อคน” นายสุชาติ กล่าวและว่า ส่วนสถานที่กักกันของคนต่างด้าวนั้น ต้องเป็นของรัฐหรือของเอกชนตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้การรับรอง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/9/2564

แนะรัฐวิสาหกิจใช้งบ CSR จ้างงานลักษณะพิเศษ ช่วยเหลือช่วงโควิด ดูแลลูกจ้างรายวัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการจ้างงาน จึงขอให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาช่วยเหลือประชาชน ด้วยการจัดทำแผนงานการจ้างงานในด้านต่าง ๆ เช่น งานด้านสิ่งแวดล้อม โยธา การรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สิน เป็นต้น เพื่อจ้างงานในรูปแบบพิเศษ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วยเหลือประชาชนคนที่ตกงานได้มีรายได้ประจำวันเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมต้องการให้รัฐวิสาหกิจช่วยลงทุน เพื่อพลิกโฉมการลงทุนของประเทศ พุ่งเป้าความต้องการในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เน้นการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากนี้ ที่ประชุม การจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้การเคหะแห่งชาติพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ที่ประชุม คนร. รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นปี 2563 โดยให้จัดกลุ่มบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจใหม่เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริษัทในเครือที่มีการดำเนินการสอดคล้องกับภารกิจตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามผลประกอบการด้านการเงิน คือ กลุ่มที่มีผลประกอบการมีกำไร และผลประกอบการขาดทุน กลุ่มที่ 2 กลุ่มบริษัทในเครือที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับภารกิจตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ 3 กลุ่มบริษัทในเครือที่จัดตั้งขึ้นตามความจำเป็นต่อการดำเนินภารกิจเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 13/9/2564

โรงงานปรับแผนใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ แก้วิกฤตแรงงานขาด

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ขณะนี้มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2564) มียอดคำขออยู่ที่ 28 โครงการ มูลค่า 5,700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดคำขอ 19 โครงการ มูลค่า 1,700 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานจากปัญหาโควิด-19 จึงได้ปรับแผนลงทุนนำ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” เข้ามาแทนที่แรงงานรวมถึงการมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น แต่ราคาถูกลงด้วย

ทั้งนี้ BOI ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมถึงการ “ยกเว้น” อากรนำเข้าเครื่องจักร

และหากโรงงานอุตสาหกรรมเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (local content) ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยนก็จะได้รับ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ด้วย

“ตอนนี้ทุกอุตสาหกรรมหันมาปรับเปลี่ยนเครื่องจักรด้วยการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนแรงงาน เช่น อุตฯอาหาร มีการลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติมาแร่ปลาแทนแรงงานคนแล้ว นอกจากนี้มีหลายโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในปีที่แล้ว แต่ยังไม่เข้าเกณฑ์ก็ปรับปรุงจนปีนี้เข้าเกณฑ์มากขึ้น ทำให้ยอดขอรับการส่งเสริมสูงขึ้นและแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ต่อไปคือ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวถึงการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศขณะนี้สูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงที่เสนอแผนต่อภาครัฐเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว

“เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อุตสาหกรรมมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ 4.0 เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนทั้งยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ หันมาลงทุนปรับเปลี่ยนภาคการผลิตโดยนำเอาเรื่องของระบบ 5G ดิจิทัล หุ่นยนต์ ระบบออโตเมชั่น เข้ามาทดแทนแรงงาน และคาดว่าแนวโน้มในลักษณะนี้จะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ล่าสุด สำนักงาน EEC เสนอให้ทาง BOI ปรับปรุงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มดีมานการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ โดยไม่เพียงแต่ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุนเท่านั้น

แต่ขอให้ BOI ยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดสัดส่วนการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (local content) ที่กำหนดไว้ 30% ลงเสีย

เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โรงงานอุตสาหกรรมเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วหันมาปรับเปลี่ยนการใช้ 5G หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้ก็ลุ้นอยู่ว่า ในการประชุมบอร์ด BOI ครั้งต่อไป (ช่วงเดือน ต.ค. 2564) จะมีเรื่องยกเลิกเงื่อนไข local content 30% ออกมา เพราะขณะนี้มีโรงงานกว่า 200 แห่งใน EEC กำลังรอที่จะใช้มาตรการนี้อยู่

หากต้องรอนานไปกว่านี้ จะส่งผลกระทบต่อการสร้างดีมานจะยิ่งล่าช้าออกไปอีกก็จะฉุดการลงทุนใหม่จากนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้ามาผลิตช้าตามไปด้วย

เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นผลที่ตามมาก็คือ การลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ที่จะเป็นส่วนของการลงทุนสร้างและผลิตหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมใหม่หรือ new S-curve โดยในส่วนนี้นักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปีในกลุ่ม A1 ตามประเภทของ BOI” ดร.ชิตกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการนำเรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้าพิจารณาใน ครม. ตั้งเป้า 5 ปีจะต้องมีการลงทุน 400,000 ล้านบาท แต่ทำมาได้ประมาณ 1-2 ปีเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นภายในประเทศทำให้แผนงานสะดุดไปปรากฏมีการลงทุนเพียง 110,000 ล้านบาท

แต่ก็นับว่าค่อนข้างดี เพราะสามารถสร้างผู้บูรณาการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (system integrators : SI) โดยสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพิ่มเป็น 300 บริษัทจากเดิมมีเพียงประมาณ 40 บริษัทเท่านั้น

ส่วนแผนการสร้างดีมานด์หุ่นยนต์จะยังคงต้องทำต่อเนื่อง โดยปี 2564 ตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใน EEC ประมาณ 9,000-10,000 โรงงานลงทุนปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น 4.0 ให้ได้นั่นคือ สามารถลงทุนได้ทั้ง 5G ดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

หากมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของ BOI เข้ามาเป็นแรงกระตุ้นได้อย่างมาก ส่วนแรงงานที่จะถูกระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่นั้น ทาง EEC มีแผนการสร้างคนด้วยการพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้สามารถเข้าไปรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเพิ่มทักษะตนเองด้วยเช่นกัน

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด ผู้ผลิต นำเข้า ออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ ในฐานะนายกสมาคมกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) กล่าวว่า ลูกค้าหลักของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะอยู่ใน 2 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่ไม่เคยใช้หุ่นยนต์หันมาสนใจใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนและแรงงานที่ต้องถูกกักตัว ทำให้ยอดขายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เคยลดลงไปพลิกฟื้นกลับมา โดยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายทั้งระบบเติบโตขึ้นประมาณ 15-20%

“การเกิดโควิด-19 ทำให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญหุ่นยนต์จากต่างประเทศบินเข้ามาไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ของคนไทยในธุรกิจนี้ได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า ปัจจุบันสมาคม TARA มีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ประกอบการคนไทยจำนวน 70 บริษัท

ซึ่งยอดขายเติบโตดีกันหมด บริษัทใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นที่มาตั้งในเมืองไทย หากมีโปรเจ็กต์ที่ไม่ใหญ่มากก็จะหันมาใช้บริการบริษัทของคนไทย เพราะราคาการผลิตหุ่นยนต์ขนาดเล็ก การออกแบบระบบอัตโนมัติโดยคนไทยถูกกว่าบริษัทต่างชาติประมาณ 20%” ดร.ประพิณกล่าว

นายนรากร ราชพลสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมออกแบบ บริษัท ยูเรกา ออโตเมชั่น จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ยูเรกา ดีไซน์ และอดีตรองนายกสมาคม TARA กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ หันมาลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกันมากขึ้น

คาดว่าปี 2564 ประเทศไทยน่าจะมียอดขายหุ่นยนต์ได้ประมาณ 3,000 ตัว โดยจะเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศไทยกับหุ่นยนต์จีนมากขึ้นแทนที่จะนำเข้าหุ่นยนต์จากยุโรป และญี่ปุ่น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/9/2564

เผยครูเอกชนตกงานกว่า 2 หมื่นคน หากเปิดเรียนเทอม 2 ไม่ได้ ครูตกงานอาจเพิ่มไปถึง 5 หมื่นคน

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานงานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีปริมาณนักเรียนลดลงซึ่งเป็นผลมาจากประชากรเด็กวัยเรียนลดลง และโรงเรียนรัฐบาลมีการเปิดหลักสูตรไว้รองรับจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เทอม 2 ของปีการศึกษา 2563 และเทอมแรกของปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล บอกอีกว่าจากการพูดคุยในส่วนของกรรมการสมาคมฯและโรงเรียนเอกชน เชื่อว่าหากเทอม 2 โรงเรียนยังเปิดเรียนไม่ได้ จะมีโรงเรียนปิดกิจการอีกประมาณ 20-30% หรือประมาณ 600-900 แห่ง บางโรงเรียนจะเป็นระดับอนุบาล และระดับประถม แต่บางโรงเรียนจะมี 3 ระดับ คือ อนุบาล ประถมและมัธยม

“ถ้าไม่มีนักเรียนมาเรียน เขาก็เปิดไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ ใครจะมาจ่ายค่าเทอม เมื่อมาโรงเรียนไม่ได้ก็ไม่จ่าย เราจะเอาอะไรไปจ่ายเงินเดือนครู ตอนนี้ก็มีการเลิกจ้างครู และพนักงานต่าง ๆ ที่มีการสำรวจเมื่อเดือน ส.ค. ประมาณ 2 หมื่นคนแล้ว ก็ทยอยลดคน ลดเงินเดือน ลดวันทำงานกันไป”

โดยมีการปรับลดจำนวนครู และพนักงานลงไปแล้วประมาณ 2 หมื่นคน จากจำนวนบุคลากรกว่า 180,000 คน แต่ถ้าเทอม 2 ของปีการศึกษา 2564 ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้อีก คาดว่าจะมีครูและพนักงานต้องตกงานถึง 20-30% จากจำนวนทั้งหมด

ก็คือจะมีคนตกงานรวมแล้วประมาณ 36, 000-54,000 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานตัวเลขที่ชัดเจนเข้ามาในระบบ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/9/2564

'มหาชัย' นำร่องเปิดแรงงานข้ามชาติ 3 กลุ่มแรก ฉีดวัคซีนโควิดกว่า 500 คน

11 ก.ย. 2564 หลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีมติเห็นชอบให้ดีเดย์เปิดจุดบริการออกฉีดวัคซีน (เข็มแรก)ให้แก่แรงงานข้ามชาติ ตามโครงการ “Sakhon box” โดยนำร่อง 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ 1.แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในสถานประกอบการ ที่ได้ให้ความร่วมมือจัดทำ FAI, 2.แรงงานข้ามชาติในแคมป์คนงานก่อสร้าง และ 3.แรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการตลาดสุขใจ โดยมีจุดให้บริการทั้งหมด 3 จุดคือ โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร, อาคารใหม่ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน และตลาดพลาซ่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว

“ทั้งนี้บรรยากาศของการเปิดให้บริการฉีดแก่แรงงานข้ามชาติวันแรก ปรากฏว่ามีสถานประกอบการที่ได้รับนัดหมายนำแรงงานข้ามชาติมาเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่าง ซึ่งเนื่องตามเวลาที่กำหนด เช่น ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย นอกจากจะมีแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการแล้ว

ด้านนายชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร พร้อมคณะสมาชิกสภาฯ ก็ได้นำผู้ค้าขาย และแรงานข้ามชาติที่ทำงานในตลาดของเขตเทศบาลนคร ที่เข้าร่วมโครงการตลาดสุขใจ มาเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังได้ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นก็บอกว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้รับวัคซีนเพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานในสถานประกอบการอีกด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 11/9/2564

นายกตรวจ Factory Sandbox รักษาธุรกิจส่งออก และการจ้างงาน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ในจังหวัดนนทบุรี ตรวจเยี่ยมโรงงานตามโครงการ “Factory Sandbox” ณ บริษัท เอส.บี.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด เลขที่ 15/8 หมู่ 8 ต.ละหาร อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศ ประกอบกับผลกระทบในเรื่องการผลิต

โดยเฉพาะกำลังการผลิตโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ และอาหารแช่แข็ง ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดโรงงานเหล่านี้ จะเกิดผลกระทบมากมายเกี่ยวการผลิตการส่งออก

“ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานนำเสนอโครงการ Factory Sandbox ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แนวคิดเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข มุ่งเป้าไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ให้มีมาตรการควบคุมในพื้นที่เฉพาะ ดำเนินการโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข”

“เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท รักษาระดับการจ้างงานในภาคผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อสร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เดินหน้า พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไปได้”

โดยมีมาตรการควบคุมในพื้นที่เฉพาะ จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจหาโควิด-19 เชิงรุกภายในโรงงาน หากพบผู้ติดเชื้อจะนำผู้ติดเชื้อออกจากโรงงานและเข้าสู่ระบบการรักษาตามโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือประกันสังคม แบบ 100% พร้อมจัดให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 แบบ 100%

เริ่มโครงการนำร่องต้นเดือนกันยายน 2564 ในพื้นที่เป้าหมายนำร่องก่อน 4 จังหวัด ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ต่อด้วยระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการดำเนินการโครงการดังกล่าวใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และอุปกรณ์การแพทย์ ภายใต้ 4 หลักสำคัญ “ตรวจ รักษา ดูแล ควบคุม” ดังนี้

1.ตรวจ – ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันที และดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

2.รักษา – สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลในสถานแยกกักตัว (Factory Isolation : FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง

3.ดูแล – ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน

4.ควบคุม – ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

“ผมและคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอขอบพระคุณท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้เกียรติมาลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานในโครงการ Factory Sandbox ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือจากส่วนราชการกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนนทบุรี บริษัท เอส.บี.อุตสาหกรรมเครื่องเรือน จำกัด และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ที่มาให้บริการลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถเข้าถึงการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถึงสถานประกอบการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/9/2564

มูลนิธิ LPN-ซีพีเอฟ ช่วยอาหารจากใจถึงมือพี่น้องแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนเปราะบางสู้วิกฤตโควิด-19

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือมูลนิธิ LPN (Labour Protection Network) จับมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าช่วยแรงงานต่างชาติและกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มพี่น้องแรงงานต่างชาติและครอบครัวที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงอาหารและสิ่งของใช้จำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง

ล่าสุด นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN รับมอบไข่ไก่สด 45,000 ฟอง ภายใต้ โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” จากตัวแทนของซีพีเอฟ เพื่อนำจัดทำถุงยังชีพแจกจ่ายแก่แรงงานชาวต่างชาติและครอบครัว รวมถึงพี่น้องแรงงานคนไทย และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคตามหลักมนุษยธรรม และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN กล่าวว่า แม้ว่าทุกวันนี้จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือแรงงานต่างชาติและครอบครัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีแรงงานต่างชาติ และคนไทยกลุ่มเปราะบางที่ยังประสบความยากลำบากไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและการบริการสาธารณสุขในหลายพื้นที่ มูลนิธิฯ ได้ดำเนิน โครงการ LPN Hand to Hand Humanitarian Assistance for Migrant Workers เพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีอาหารและของใช้จำเป็น และเข้าถึงการรักษาพยาบาล ช่วยให้ผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงวิกฤตได้ โชคดีที่มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรมากมาย รวมถึง ซีพีเอฟ ที่ช่วยสนับสนุนข้าวสาร อาหารแห้ง และของใช้จำเป็นแก่มูลนิธิฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการพี่น้องแรงงานต่างชาติ รวมถึงกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตได้มีอาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ เพื่อให้สามารถประคับประคองผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในประเทศอย่างปลอดภัย และพร้อมกลับมาเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของภาคการผลิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป

“สถานการณ์พี่น้องแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในวันนี้ดีขึ้นมาก แต่ยังมีพี่น้องแรงงานอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องการความช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยเฉพาะผู้ที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขอขอบคุณซีพีเอฟที่สนับสนุนไข่ไก่สดมาอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 2.5 แสนฟอง ซึ่งช่วยตอบโจทย์เรื่องความอิ่มท้องให้แก่พี่น้องแรงงานต่างชาติได้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานต่างชาติและคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งสนับสนุนการปรุงอาหารพร้อมรับประทานสำหรับผู้ป่วยเป็นแรงงานต่างชาติที่พักอยู่ในโรงพยาบาลสนามในจังหวัดต่างๆ อีกด้วย” นายสมพงค์กล่าว

มูลนิธิ LPN ได้ดำเนินกิจกรรม Hand to Hand Humanitarian Assistance for Migrant Workers เพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานต่างชาติและคนไทย เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งการช่วยเหลือเรื่องอาหารและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับยังชีพ ตลอดจนเปิดสายฮอตไลน์ให้คำปรึกษาปัญหาแก่พี่น้องแรงงานต่างชาติ (Covid-19 Labour Support Help Lines) มุ่งหวังที่จะให้พี่น้องแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ซึ่งโชคดีที่มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรภาครัฐ เอกชน เครือข่ายสังคม รวมทั้งเครือซีพี ซีพีเอฟ ได้เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอกแรก นับเป็นธารน้ำใจของคนไทยที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพี่น้องแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ในประเทศไทยอย่างมั่นคง และปลอดภัย

ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในปี 2563 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ร่วมสนับสนุนมูลนิธิ LPN ทั้งอาหารสำเร็จรูปหลายหมื่นแพก ไข่ไก่สดกว่า 2.5 แสนฟอง เพื่อให้มูลนิธิฯ นำไปบรรจุเป็นถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายให้แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนเปราะบางทั้งผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ ในสังคมที่ได้รับความเดือดร้อนได้สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย และสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนอาหาร และสิ่งของจำเป็น หน้ากากอนามัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น สถานทูต กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ตลอดจนมูลนิธิหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากและเป็นกำลังใจให้พี่น้องแรงงานต่างชาติสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/9/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net