15 ปีรัฐประหาร 49 (1) ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : รัฐทหารศักดินากับมวลชนผู้สร้างความชอบธรรม

ข้ออ้างในการทำรัฐประหารปี 2549 เป็นข้ออ้างเดิมๆ ที่รัฐทหารศักดินาใช้มาตลอด มันคือเครื่องในการดึงกลับและกระชับอำนาจเป็นระยะๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสถาบันทางการเมืองและเครือข่าย แต่รัฐทหารศักดินาเรียนรู้ว่าหากจะให้การรัฐประหารของตนมีความชอบธรรมลมๆ แล้งๆ ก็จำเป็นต้องสร้างฐานมวลชนของตนเองขึ้นมา

 

  • ข้ออ้างในการทำรัฐประหารของรัฐทหารศักดินามีเพียง 3 ข้อคือเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ภัยคอมมิวนิสต์ และมีคนในคณะรัฐบาลและผู้แทนราษฎรที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลังจากภัยคอมมิวนิสต์หมดไปก็เปลี่ยนเป็นภัยจากนักการเมืองแทน
  • การรัฐประหารคือการรักษาสถานภาพอำนาจและผลประโยชน์ของสถาบันทางการเมืองและกลุ่มเครือข่ายให้คงไว้โดยใช้การรัฐประหารเพื่อดึงกลับและกระชับอำนาจเป็นระยะๆ
  • คณะรัฐประหารเรียนรู้ว่าการจะทำให้การรัฐประหารมีความชอบธรรมได้ต้องสร้างฐานมวลชนของตนขึ้นมาจากกระบวนการปั่นศรัทธาดังเช่นในการรัฐประหารปี 2549 และ 2557

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ ประชาไท)

การทำรัฐประหารมีข้ออ้างเพียง 3 ข้อที่ ‘รัฐทหารศักดินา’ ตามคำของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้มาตลอด มันซ้ำซากจำเจ ทว่า มันก็ดูเพียงพอแล้วที่จะใช้เพื่อดึงและกระชับอำนาจกลับเป็นระยะๆ เพื่อให้รัฐทหารศักดินาดำรงอยู่ต่อไปและต่อไป

รัฐประหาร 22 กันยายน 2549 ผ่านมา 15 ปี นานพอที่จะถอดบทเรียนและกลับไปสำรวจตรวจสอบร่องรอยหรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่ทำให้การรัฐประหารหวนกลับมาทั้งที่สังคมไทยต่างคิดว่า บทบาทของกองทัพไม่น่าจะกลับมาเหมือนเดิมแล้วหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่มันก็กลับมา

กลับมาด้วยข้ออ้างและวาทกรรมเดิมๆ เพิ่มเติมคือการมีฐานมวลชนที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารขนาดที่ทำให้เกิดรัฐประหารภาคต่อได้อีกในปี 2557

 

 

ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

ประชาธิปไตยไทยอันกระท่อนกระแท่น 90 ปี ผ่านการรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง ไม่สำเร็จ 11 ครั้ง และเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยประชาชนอีก 2 ครั้ง รวม 26 ครั้งตามการศึกษาภาพรวมการรัฐประหารในไทยของธำรงศักดิ์แทนที่จะมองแยกเป็นครั้งๆ ทำให้เขาพบร่องรอยที่ฝ่ายรัฐทหารศักดินา-ตามคำที่เขาใช้ นำมาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 3 ข้อ

1. เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์

2. ภัยคอมมิวนิสต์ และ

3. มีคนในคณะรัฐบาลและผู้แทนราษฎรที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และต้องการทำลายสถาบันกษัตริย์

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า ข้ออ้างทั้ง 3 มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน จนกระทั่ง...

“จนกระทั่งถึงการรัฐประหารของปี 2534 ทำให้ข้ออ้างเรื่องของคอมมิวนิสต์หายไป เพราะว่าโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แตกสลายไปในก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีแล้ว เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป ก็เหลือข้ออ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และสภา ดังนั้น รัฐประหารปี 2549 เราจึงเห็นเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์จากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสภา เราจึงเห็นข้ออ้างที่หลากหลายแต่มุ่งไปในทิศทางเดียวกันคือทำลายสถาบันสำคัญของชาติโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

“ตอนนี้คอมมิวนิสต์หายไป ก็เหลือแต่ข้ออ้างที่จะปกป้องสถาบันอันสำคัญสูงสุดก็เป็นปัจจัยมาจากการเมือง ระบบของการเลือกตั้ง ของพรรคการเมือง ของนักการเมือง ดังนั้น ถ้าเรามองจากภาพรวมเราจึงเห็นว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นความพยายามที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ดีขึ้น ไม่ใช่ต้องการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยให้ดีขึ้น แต่เป็นการพิทักษ์รักษาสถานภาพอำนาจและผลประโยชน์ของสถาบันทางการเมืองและกลุ่มเครือข่ายให้ดำรงอยู่ตลอดเวลาโดยใช้การรัฐประหาร”

การเมืองอันชั่วช้า วาทกรรมฝังหัว

เพราะการเมืองนั้นชั่วช้าสามานย์ การรัฐประหารจึงจำเป็น คือความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 2490 “แต่คนที่เข้ามาที่มาอยู่ใน parliament นั้นจะมาจากไหนล่ะ รัฐทหารศักดินาจึงบอกว่ามาจากการเลือกตั้งเป็นความเลว แต่มาจากการแต่งตั้งสรรหาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมาจากความหลากหลายอาชีพ”

บวกกับสภาพรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ต่อเนื่องจนถึงการมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้เกิดการเติบใหญ่ของพรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งและตอบโจทย์ด้านนโยบายได้

“เพราะกระบวนการรัฐทหารศักดินามันถูกหยุดชะงักไป มันจึงทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองมีบทบาทได้จริง เมื่อคุณจัดตั้งรัฐบาลได้พร้อมกับความเอื้อของรัฐธรรมนูญที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยที่มันเกิดขึ้นได้ นี่คือการสร้างความตระหนกตกใจให้กับรัฐทหารศักดินา ดังนั้นอย่างแรกที่คุณจะต้องทำลายมันเลยนะ คุณจะต้องทำลายรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้พลังอำนาจต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง อย่างที่สองคุณจะต้องทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถเป็นพรรคขนาดใหญ่ได้แบบเดิม อย่างที่สามคุณจะต้องเด็ดหัวผู้นำทางการเมืองของประชาชนในนามของการตัดสิทธิทางการเมืองให้ได้ เพื่อไม่ให้มีใครขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงอำนาจกับคุณไม่ว่าจะภายใต้ระบอบการรัฐประหารอำนาจแบบเผด็จการหรือภายใต้ระบบที่ยืดหยุ่นให้มีการเลือกตั้ง”

ซึ่งในเวลาเดียวกันมันคือการทำลายฐานอุดมการณ์ ฐานผู้นำพรรคการเมืองให้หักพังลง กลับไปสู่กลุ่มการเมืองที่มุ่งแสวงหาประโยชน์เฉพาะตน อย่างไรก็ตาม เวลาได้สร้างพรรคการเมืองและนักการเมืองแบบใหม่ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ผู้ปฏิเสธอำนาจเผด็จการ

“ดังนั้นการรัฐประหาร 2549 จึงเป็นการรัฐประหารที่เปิดพลังมวลชนของฝ่ายรัฐทหารศักดินามาเพื่อชนพลังมวลชนที่เติบโตมาพร้อมกับพฤษภา 35 มวลชนของรัฐทหารศักดินา รวมทั้งพลังมวลชนของประชาธิปไตยพรรคการเมืองต่างอยู่บนท้องถนนเดียวกันมาตลอดนับจาก 14 ตุลาถึงพฤษภา 35 เพียงแต่คนกลุ่มหนึ่งสามารถหลุดออกจากอุดมการณ์ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยแรกเกิดได้ อีกกลุ่มหนึ่งยังคงอยู่ในแบบเดิมก็เป็นพลังมวลชนของรัฐทหารศักดินา”

เมื่อมวลชนสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร

การรัฐประหารปี 2549 รวมถึงรัฐประหารปี 2557 จะเห็นการดึงเอาพลังมวลชนขึ้นมาสร้างเงื่อนไข ซึ่งธำรงศักดิ์ขยายความต่อไปว่านับตั้งแต่พลังของประชาชนถูกปลุกให้ตื่นในการปฏิวัติโดยประชาชนปี 2516 พลังของประชาชนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งโดยตรงคือการเลือกตั้งและโดยตรงคือบนท้องถนน ทำให้ประชาชนเรียนรู้ถึงพลังอำนาจของตัวเองสามารถเคลื่อนไหวได้หลากทิศทางหลายรูปแบบ

การแสดงออกถึงพลังของประชาชนที่สำคัญครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ธำรงศักดิ์เรียกว่าเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายใต้การเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยี ส่งนัยให้พลังของประชาชนเติบโตเป็นแรงผลักดันสำคัญกระทั่งบทบาทของทหารในทางการเมืองแทบจะหมดไป แต่ ณ จุดนี้เอง

“จุดนี้เองที่ทำให้รัฐทหารศักดินาปรับตัว เรียนรู้ว่า การที่คุณจะรัฐประหารสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการแค่มีข้ออ้างที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่มันมีวิกฤตอยู่ทุกขณะ พูดง่ายๆ ข้ออ้างนี้คุณเก็บตามรายทางได้ เพราะสังคมมันจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา แต่นี้สิ่งหนึ่งที่รัฐประหารศักดินาต้องเรียนรู้คือต้องมีฐานพลังมวลชนของตนเอง ฐานพลังมวลชนไม่ใช่เป็นฐานพลังมวลชนแบบแบบกลุ่มเล็กๆ ที่เน้นใช้ความรุนแรงหรือใช้การจัดตั้งโดยหน่วยงานราชการแบบเดิมในยุค 6 ตุลาฯ 19 อีกต่อไป

“แต่เป็นฐานพลังมวลชนแบบพรรคการเมือง แบบพลังมวลชนที่เคลื่อนไหวบนท้องถนน เป็นพลังมวลชนที่มาจากกระแสการสร้างศรัทธาไม่ว่ากระแสนั้นจะเกิดจากปัจจัยอะไรก็ตาม กระบวนการปั่นศรัทธา กระบวนการทำให้ศรัทธาอย่างจริงจัง หรือกระบวนการฝังศรัทธาความเชื่อที่ต่อเนื่องกันมา มันก่อให้เกิดการปรากฎของมวลชนบนท้องถนน ซึ่งตรงนี้เองการรัฐประหารปี 49 จึงเป็นการรัฐประหารที่ใช้พลังมวลชนบนท้องถนนราชดำเนินเหมือนกับพฤษภาฯ 35 เหมือนกับ 14 ตุลาฯ 16 แต่เพียงเป็นมวลชนผู้ถูกจัดตั้งบนฐานอุดมการณ์ชุดหนึ่งเพื่อพิทักษ์รัฐทหารศักดินา กำจัดพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้ที่อยู่ตรงกันข้าม ดังนั้น มวลชนยังอยู่แต่มวลชนถูกใช้เพื่อเป็นพลังฐานของการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนว่ารัฐประหารเกิดจากพลังมวลชน”

การดึงและกระชับอำนาจกลับเป็นระยะของรัฐทหารศักดินา

“รัฐประหารเป็นเจตจำนง เป็นวิธีการพิทักษ์รักษาอำนาจของรัฐทหารศักดินา ดังนั้น การรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จตลอดมามันคือวิธีการของการรักษากระชับอำนาจ ดึงอำนาจมาเป็นระยะๆ เขาก็รู้ว่าเขาไม่สามารถที่จะรักษาเส้นทางของการเป็นรัฐเผด็จการได้อย่างยาวนานมาตั้งแต่ต้นแล้ว เขาทำได้เพียงแต่ว่าทำอย่างไรทำให้มันยาวที่สุด แต่ยาวที่สุดของเขาก็คือการทำให้มันยาวแบบผ่อนคลายลงตลอดเวลา

“ยกตัวอย่าง การรัฐประหารปี 2519 เมื่อผมมองภาพรวมของการรัฐประหารอัตราเฉลี่ยก็คือ 6 ปีครึ่ง ทำการรัฐประหาร 1 ครั้ง ผมก็หมิ่นแคลนว่าแสดงว่ารัฐประหารมันไม่สำเร็จซิมันจึงต้องทำเป็นระยะๆ แต่พอใคร่ครวญใหม่ วิธีการทำรัฐประหารเป็นระยะๆ คือวิธีการรักษาอำนาจของรัฐทหารศักดินาที่ดีที่สุด คือการกระชับอำนาจให้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่ละช่วงเวลาหนึ่งอาจจะสั้นหรือยาวแล้วแต่สถานการณ์ แล้วค่อยผ่อนๆ อำนาจให้มีการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้บ้าง และพอไปถึงตรงจุดหนึ่งก็กระชับอำนาจอีก”

ในมุมมองของธำรงศักดิ์ รัฐประหารปี 2549 ที่ถูกเรียกว่า ‘รัฐประหารหน่อมแน้ม’ เป็นเพียงรัฐประหารนำร่องหลังจากที่กองทัพหลุดออกจากการเมืองไป 15 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แล้วทำการรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2500

“ถ้าเรามองด้วยสายตาอย่างนี้รัฐประหารปี 49 หน่อมแน้มมากเหมือนการรัฐประหารปี 2500 เพราะมันคือการรัฐประหารที่เป้าประสงค์คือทำลายพรรคการเมืองและนักการเมืองก่อน เพียงแต่ว่าตอนนี้มันไม่สามารถทำได้รวดเร็วภายใน 1 ปี มันจึงยืดออกมา ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นโมเดลอย่างนี้ รัฐประหารปี 2549 กับ 2557 มันคือการรัฐประหารปี 2500 และปี 2501 คือรัฐประหารเพื่อทำลาย

“ทีนี้สิ่งที่รัฐประหารมันมันคิดค้นขึ้นมาและใช้อย่างมหัศจรรย์มากคือการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประเทศอะไรสามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ถึง 2 ครั้ง โดยที่ไม่มีความทรงจำในหมู่ของประชาชนเลย การทำให้การเลือกตั้งโมฆะก็คือการทำให้ฐานของความชอบธรรมของอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้นสลายตัว แต่การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ดังนั้น การรัฐประหารปี 2549 คือการรัฐประหารที่ฝ่ายรัฐทหารศักดินาอัพเกรดวิธีการรัฐประหารจากยุคของจอมพลสฤษดิ์ จากการรัฐประหารแล้วเลือกตั้งสกปรกมาเป็นเลือกตั้งโมฆะ ในหน้าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งโมฆะ 2 ครั้ง มันต้องถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่มากแต่มันทำให้ความทรงจำต่อสังคมเฉยเมยต่อเรื่องนี้ เพราะมันคือเครื่องของรัฐทหารศักดินาในการทำลายรากฐานอำนาจอันสูงสุดของประชาชนลงไปอย่างสิ้นซากได้เลย ประชาชนแทบไม่มีความทรงจำ”

ในช่วงท้ายของการสนทนา ธำรงศักดิ์เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวัง

“ผมคิดว่าคนรุ่นผมไม่เคยตั้งคำถามว่ามันจะจบที่รุ่นเรา รุ่นผมตั้งคำถามแค่ว่าชีวิตมันจะดีขึ้นกว่านี้ไหม แต่กลายเป็นว่ารุ่นที่มาจากข้างหลังเราอีก 20 ปี 30 ปีต่อมา คำถามว่ามันจะจบที่รุ่นเราไหม คุณช็อคเลยไหม แค่คำถามนี้ขึ้นมามันก็เปลี่ยนแล้ว สังคมไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้วครับ มีความหวังไหม มี ผมยังมีความหวังเสมอว่าคนไทยอยู่บนพื้นแผ่นดินนี้จะมีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น มีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท