อึ้ง! ค่าถ่ายสำเนา 'EIA ฉบับร้านลาบ' 2 หมื่นกว่า ชี้โครงการผันน้ำยวมรีบผิดปกติ

17 ก.ย. 2564 เตรียมฟ้องยกเลิก 'EIA ฉบับร้านลาบ' นำภาพและชื่ออ้างรับฟังความเห็นโครงการผันน้ำยวม ประชาชนอึ้งค่าถ่ายสำเนา EIA พร้อมคำรับรอง 2 หมื่น กมธ.ที่ดินฯ ชี้เร่งรัดโครงการผิดปกติ มีข้อร้องเรียนว่าผู้มีส่วนได้เสียได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน และต้องสูญเสียป่าอนุรักษ์รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่ง

หลัง 15 ก.ย. 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท ส่งผลให้กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินงาน

17 ก.ย. 2564 สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กำลังศึกษาเนื้อหาใน EIA ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะ 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะที่ประชาชนพูดกันมากคือ กรณี 'EIA ฉบับร้านลาบ' ที่เป็นการนัดพบและรับประทานอาหาร แต่กลับถูกนำภาพและชื่อมาอ้างว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทีมกฎหมายกำลังรวบรวมข้อมูลและเนื้อหาจากพื้นที่จริงว่ามีการสำรวจอย่างถูกต้องหรือไม่

2. กระบวนการจัดทำ EIA ซึ่งมีระเบียบระบุชัดเจนว่า ต้องมีขั้นตอนในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เท่าที่ทราบ ประชาชนเห็นว่าไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เพียงพอ

หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายฯ กล่าวว่า การพิจารณาผ่านความเห็นชอบใน EIA โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งมีสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นกองเลขานุการ เมื่อเดือน ก.ค. 2564 และผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 นั้น ต้องดูขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลในรายงาน EIA ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ส.รัตนมณี ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้เห็นว่ามีความผิดปกติ เพราะ EIA เพิ่งผ่าน คชก. มาเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเวลาไม่นาน แล้วอนุมัติให้ผ่าน ทั้งที่มีข่าวออกมาโดยตลอดว่า ในรายงาน EIA ฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน

หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมายฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายเตรียมยกร่างคำฟ้องต่อศาลปกครอง โดยเริ่มจากดำเนินการส่งหนังสือคัดค้านการพิจารณาผ่าน EIA ไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สผ. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในสัปดาห์หน้า จากนั้นต้องรอผลคำสั่งภายใน 60 วัน หากไม่มีการยกเลิกรายงาน EIA หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งผ่าน EIA ก็จะดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป

ส.รัตนมณี กล่าวอีกว่า เมื่อประชาชนทำจดหมายไปขอคัดสำเนา EIA จาก สผ. กลับมีคำตอบมาว่าต้องมีค่าใช้จ่ายคือค่าคัดสำเนา กระดาษขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 4,803 บาท และกระดาษขนาด A3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 219 หน้าเป็นเงิน 657 บาท รวมเป็นเงิน 5,460 บาท และค่ารับรองสำเนา อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,022 หน้า) เป็นเงิน 15,066 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,526 บาท

“กลายเป็นว่าเมื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนได้เสีย ขอสำเนารายงาน EIA กลับมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น จริงๆ แล้ว รายงาน EIA ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณะที่สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น เผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่กลับไม่มีการเผยแพร่  ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังเตรียมเรื่องส่งถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่าเหตุใดประชาชนต้องเสียค่าถ่ายเอกสารและค่ารับรองเอกสาร จริงๆ หน่วยงานรัฐควรต้องส่งให้ชาวบ้านเมื่อมีการร้องขอ ไม่ใช่ผลักให้เป็นภาระของประชาชน และยังมีการแจ้งว่าจะต้องปกปิดข้อมูลบางส่วนก่อนถ่ายสำเนาเอกสารให้ ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวเป็นของรัฐซึ่งจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลใดๆ คงต้องขอให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ พิจารณาให้ความเห็นในส่วนของค่าถ่ายเอกสารราคากว่า 2 หมื่นบาท ตอนนี้มีการระดมทุนเนื่องจากชาวบ้านไม่มีเงิน เมื่อระดมทุนได้ครบแล้วทนายความจะไปรับเอกสารภายในวันจันทร์ เพื่อให้นำมาตรวจสอบได้” หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าว

'EIA ฉบับร้านลาบ'

'EIA ฉบับร้านลาบ'

วันเดียวกันที่อาคารรัฐสภา อภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน การทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร, มานพ คีรีภูวดล, และคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า มานพ กล่าวว่า จากกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลแต่ปรากฏกระแสคัดค้าน ข้อท้วงติงและข้อร้องเรียนทั้งจากประชาชนในชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่รับผลกระทบโครงการ กลุ่มนักวิชาการ เครือข่ายประชาสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เครือข่ายสิทธิชุมชน/สิทธิมนุษยชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและสังคมต้องหยุดฟังทุกเสียงและร่วมกันพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยตนขอตั้งข้อสังเกตสำคัญ 3 ประเด็น ใน 3 มิติ ได้แก่

ประการแรก มิติภาพรวมของการดำเนินโครงการ เหตุในจึงมีความพยายามเร่งรัดโครงการอย่างไม่ปกติในสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูง ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อชีวิตประชาชนในหลายพื้นที่และระบบนิเวศหลายลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของสังคมและยังเกี่ยวข้องกับมิติความมั่นคงชายแดนของไทยและประเทศมหาอำนาจที่มักถูกนำมาอ้างอิงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุน

ประการที่สอง มิติการมีส่วนร่วมและขั้นตอนการรายงานผลกระทบ ปรากฏการร้องเรียนว่าประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างจำกัด ไม่ได้รับทราบละเอียดการดำเนินโครงการและผลกระทบทุกมิติ เข้าไม่ถึงในบางกระบวนการที่มีความพยายามคัดเลือกเฉพาะบางกลุ่มเข้าร่วมรับฟังข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีข้อจำกัดด้านภาษาและการสื่อสาร รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการว่าจะกระทบกับชีวิตของพวกเขาอย่างไรอย่างถ่องแท้หรือไม่ ต่อข้อร้องเรียนต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA พบว่ามีการบิดเบือนข้อมูล การอ้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่แอบอ้างหลักฐานเท็จ อย่างกรณี “EIA ฉบับร้านลาบ” ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างมากแม้ยังไม่ได้เริ่มโครงการ จึงนับเป็นรายงานที่ไร้คุณภาพ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่สะท้อนความเป็นจริง ถูกทำขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองต่อขั้นตอนการอนุมัติโครงการเท่านั้น ไม่มีความโปร่งใสและจริงใจตั้งแต่แรกเริ่ม

ประการที่สาม มิติการสูญเสียพื้นที่ป่า ซึ่งนิเวศคุณค่าสำคัญที่โครงการจะพาดผ่านทั้งพื้นที่ป่าสงวนหลายแห่ง พื้นที่เตรียมประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติมักจะเข้มงวดอย่างมากด้านการอนุรักษ์กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แต่กลับไม่แยแสต่อโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ และยังมีกรณีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว การสูญเสียสมดุลนิเวศสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะไม่สามารถชดเชยหรือนำกลับคืนมาได้อีกอย่างถาวร

"สังคมไทยเติบโตและมีบทเรียนมหาศาล โดยเฉพาะการอ้างวาทกรรมการพัฒนา ฉะนั้น การจะตัดสินอนาคตของชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยสัมพันธ์กับฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างแนบแน่น อนาคตของผืนป่า แม่น้ำ เหล่าสรรพสัตว์ วิถีชีวิตของคนทุกลุ่มน้ำหรือแม้กระทั่งทิศทางการจัดการน้ำ การจัดการพลังงาน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคจะปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญคนใด หน่วยงานรัฐหรือกลุ่มอำนาจใดหนึ่งเป็นผู้กำหนดเบ็ดเสร็จเฉกเช่นในที่ผ่านมาไม่ได้อีกต่อไป โดยขอตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็นเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ขัดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ และกลุ่มทุนที่รับจ้างโครงการที่กว่า 70 ล้านบาท เป็นกลุ่มทุนเดียวกับที่รับจ้างโครงการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีนใช่หรือไม่" ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าว

อภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน การทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล

อภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน การทรัพยากรธรรมชาติ เเละสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล

ขณะที่อภิชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรามีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการดูเเลรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติเเละเรื่องที่ดิน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อสิ่งเเวดล้อม วิถีชีวิตคนในพื้นที่ รัฐจะต้องทบทวน ต้องศึกษา เอาความเห็นเหล่านั้นไปหารืออีกครั้ง ต้องฟังเสียงประชาชน รวมไปถึงต้องศึกษาเเละเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนมีส่วนร่วม ศึกษาผลกระทบด้านมิติชุมชน เเละสิ่งเเวดล้อมที่สูญเสียไป รัฐยิ่งต้องใช้เวลาศึกษาเเละประเมิณอย่างรอบด้าน โดยตนในฐานะประธาน กมธ.ที่ดินฯ จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาเพื่อเชิญหน่วยงาน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง มาชี้เเจงต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อเรียกร้องไปยัวรัฐบาลให้ทบทวนต่อการตัดสินใจอีกครั้ง

ทั้งนี้ คำพอง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ กล่าวว่า ผลการศึกษาของการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ยังไม่ได้รายงานต่อสภาผู้เเทนราษฎร กรณีนี้เป็นเพียงความเห็นของ กมธ. เพียงบางท่าน ไม่ใช่บทสรุปของรายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งการที่กรมชลประทานนำรายงานศึกษามาให้เเก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) โดยไม่ได้ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ต้องให้มีการสมดุลระหว่างการพัฒนาคุณภาพเเละสิ่งแวดล้อม โดยพี่น้องประชาชนที่อยู่โดยรอบจะต้องได้รับทราบ เเละมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อหาเเนวทางร่วมกันอย่างสันติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท