มองสังคมไทยในยุคโควิด-19 'เมื่อความมั่นคงทางอาหาร คือความอยู่รอด'

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายระลอกที่ผ่านมา ได้ทำให้ประเทศไทย เริ่มหันมาสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างจริงจังกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากมาตรการที่รัฐประกาศ “เคอร์ฟิว” “ปิดเมือง” “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” “ล็อคดาวน์” อย่างฉุกเฉิน เร่งด่วน ทำให้ประชาชนคนไทยตื่นตระหนกตกใจ จนเกิดปรากฏการณ์ การกักตุนอาหารและน้ำของผู้คนในสังคมเมือง ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้าหัวใส เจ้าของร้านค้าหลายแห่งเร่งกักตุนและโก่งราคาเพื่อหวังผลกำไร อีกทั้ง เมื่อรัฐประกาศปิดร้านค้าผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย ยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐเป็นจำนวนมาก 

ในขณะที่เมื่อเราหันไปมองไปยังชุมชนหมู่บ้านในชนบท ชุมชนบนดอย เรากลับพบว่า ชาวบ้านที่นั่นเขาก็พยายามปรับตัว และเรียนรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตโควิด ซึ่งคาดกันว่าจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน และวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลายระลอกนี้ ทำให้หลายคนเริ่มเข้าใจคุณค่าความหมายของคำว่า “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง” กันมากยิ่งขึ้น

ชุมชนปกาเกอะญอ ตั้งรับ ปรับตัว ภูมิปัญญาชนเผ่า คือหนทางรอดปลอดภัย

เศรษฐี พะโย ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ที่พยายามตั้งรับปรับตัวเมื่อเจอวิกฤตโควิดมาหลายระลอก บอกว่า สถานการณ์โควิดรอบแรกนั้น เรายังไม่รู้ว่าโควิดมันจะรุนแรงขนาดไหน พอดีมีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ได้แนะนำว่าน่าจะเรียกประชุมชาวบ้าน คุยกับทีม อสม.และคณะกรรมการหมู่บ้าน ว่า ควรจะทำพิธีกรรมดั้งเดิม คือ ‘เกร๊าะหยี่’ ของชาวปกาเกอะญอ ตามความเชื่อดั้งเดิม นั่นคือการปิดหมู่บ้าน โดยโควิดรอบแรกนั้น เราได้ทำพิธีกรรมและตั้งด่านเข้าออกหมู่บ้าน มีการคัดกรองคนเข้าออกว่า ถ้าชาวบ้านจะออกไปข้างนอก เราก็จะถามว่าจะไปไหน ไปพื้นที่เสี่ยงหรือเปล่า และจะห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในชุมชน

‘เกร๊าะหยี่’ พิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ คือการปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคร้ายตามความเชื่อดั้งเดิม

‘เกร๊าะหยี่’ พิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ คือการปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคร้ายตามความเชื่อดั้งเดิม
‘เกร๊าะหยี่’ พิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ คือการปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคร้ายตามความเชื่อดั้งเดิม

“ต่อมา พอมาถึงช่วงวิกฤตโควิดระบาดระลอกที่สาม ทำให้ชุมชนบ้านป่าตึงงาม ตัดสินใจปิดหมู่บ้าน อย่างจริงจังกันเลย คือห้ามคนในออก คนนอกห้ามเข้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ป่วยไข้ต้องไปโรงพยาบาล แต่ก็มีการผ่อนปรน บางกรณี เช่น คนที่มีธุระจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ก็ให้ชาวบ้านออกไปได้ การปิดหมู่บ้านป่าตึงงาม จึงถือเป็นอันดับต้นๆ ของอำเภอเชียงดาว ที่เข้มงวดจริงจังกับเรื่องนี้มาก ซึ่งก่อนที่จะมีการปิดหมู่บ้าน นั้นตนจะแจ้งบอกชาวบ้านก่อนล่วงหน้าสองสามวัน ว่าให้ทุกคนเตรียมเสบียงอาหาร ของกินของใช้ที่เราไม่มีในชุมชน ก็ออกไปซื้อของใช้เตรียมไว้ก่อน ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก อาทิ น้ำมัน เกลือ น้ำปลา แต่ส่วนใหญ่หมู่บ้านของเรามีเสบียงอาหารพร้อมที่สุดแล้ว เพราะจุดเด่น จุดแข็งของชุมชนแห่งนี้ คือเป็นชุมชนปกาเกอะญอ อยู่กลางป่า มีป่าต้นน้ำ มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงกล่าวได้ว่า แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีแหล่งอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร อย่างเพียงพอ

“เราปิดหมู่บ้านหนึ่งเดือนเต็มๆ เรารอด อยู่ได้จริงๆ ไม่อดตาย เพราะว่าบ้านเรามีข้าวกินเหลือเฟือ ซึ่งเราโชคดีมากที่บรรพบุรุษของเรานั้นได้ปลูกฝังวัฒนธรรมไว้ให้เรามานาน ว่าคนปกาเกอะญอจะต้องปลูกข้าวไว้กินเอง เพราะข้าวนั้นมีบุญคุณ มีความสำคัญมากที่สุดบนพื้นปฐพี ข้าวมีความสำคัญมากกว่าเงินและทอง ฉะนั้น คุณจะต้องปลูกข้าว คุณก็มีกิน มีเก็บ พอเกิดเหตุเภทภัย เราก็ไม่อดตาย ซึ่งคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ปกาเกอะญอนั้นมันสอดคล้องกับยุคสมัย กับเหตุการณ์วิกฤตโควิดในครั้งนี้มาก คนรุ่นก่อน นี้สุดยอดเลย มีความเฉลียวฉลาดแลกมองการณ์ไกลมาก” 

ผู้ใหญ่บ้านเศรษฐี บอกอีกว่า ในช่วงมีการปิดหมู่บ้านเป็นเดือน ชาวบ้านจึงไม่เดือดร้อนเลย 

“เพราะข้าวเราก็มี หมู ไก่ เราก็มี ไปเก็บผักตามไร่ ไปลำห้วยก็จับปูจับปลามากินกัน ที่สำคัญก็คือ ในชุมชนบ้านป่าตึงงามของเราได้เน้นวิถีชุมชน แบบพึ่งพาตนเองมาโดยตลอด อยู่กับธรรมชาติ ทรัพยากรของเรามีพร้อม มีการแบ่งโซนแบ่งพื้นที่เอาไว้ ว่าพื้นไหนควรมี อนุรักษ์ไว้ พื้นที่ไหนควรใช้สอย ก็จะมีการดูแลกันไว้ กลายเป็นว่าในชุมชนของเราไม่เดือดร้อนเลย แต่กลับกลายเป็นว่าคนข้างนอก คนในเมืองเดือดร้อนกันมากกว่า”

กรณีมีลูกหลานที่ออกไปเรียน ไปทำงานในเมือง เจอปัญหาโควิด เดือดร้อนกัน เรียกร้องมาว่าอยากกลับมาบ้าน ซึ่งหลายๆ หมู่บ้าน เขาจะไม่ให้กลับเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ตนมองว่ามันโหดร้ายเกินไป จึงผ่อนปรนเปิดโอกาสให้ลูกหลานกลับเข้ามาในชุมชนบ้านเกิดของตนเองได้ แต่ให้แยกออกไปกักตัว ในไร่ในนาหรือในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไวรัสและเพื่อความสบายใจของคนในชุมชน โดยจะมีชาวบ้าน อสม.เข้าไปเยี่ยมเยือน นำสิ่งของไปแบ่งปันให้


เศรษฐี พะโย ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม

พันธุ์ข้าว และการไร่หมุนเวียน คือวิถีวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของปกาเกอะญอ

เมื่อพูดถึงพันธุ์ข้าวปกาเกอะญอ ผู้ใหญ่บ้านป่าตึงงาม บอกเล่าให้ฟังว่า จริงๆ ข้าวปกาเกอะญอนั้นมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ที่บ้านป่าตึงงามนี้จะมีพันธุ์ที่ยังปลูกและสะสมเอาไว้เป็นเชื้อเมล็ดพันธุ์ เช่น ‘บือโป๊ะโละ’ หรือข้าวเม็ดปุ้ม เป็นข้าวนาบนที่สูงพันธุ์พื้นเมืองของปกาเกอะญอที่ใช้ปลูกกันอย่างแพร่หลาย และมีความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหารบนพื้นที่สูง ปัจจุบัน พันธุ์บือโป๊ะโละ นี้ ทางกรมการข้าวได้เก็บรักษาพันธุ์เอาไว้แล้ว

นอกจากนั้น ยังมีข้าว ‘บือบอ หรือ ข้าวกล้องเหลือง เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าของปกาเกอะญอ จะมีเมล็ดสีเหลืองนวล มีลักษณะเมล็ดเรียวสั้น เปลือกสีฟางเข้ม ข้าวพันธุ์บือบอนี้ ข้าวจะนิ่ม หุงขึ้นหม้อ มีกลิ่นหอม อีกทั้งมีการวิจัยพบว่า มีสารแกมมาออไรซานอล ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดคลอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ มีธาตุเหล็กช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงป้องกันโลหิตจาง มีธาตุโพแทสเซียมช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายด้วย

‘บือทอหล่า’ ข้าวไร่ ข้าวใบสูงท่วมหัวเลย ทนแล้ง ชอบปลูกในไร่บนเขา

‘บือนอมู’ ข้าวหอมดอย อาจไม่หอมเท่าข้าวหอมมะลิ แต่รสชาติอร่อย นุ่ม 

เมล็ดพันธุ์ข้าว พิธีกรรม ไร่หมุนเวียน คือภูมิปัญญาชนเผ่าปกาเกอะญอ | ภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก ความทรงจำสนุก ๆ ของเด็ก ฤดูร้อน สีเทา
เมล็ดพันธุ์ข้าว พิธีกรรม ไร่หมุนเวียน คือภูมิปัญญาชนเผ่าปกาเกอะญอ 

“การคัดเมล็ดพันธุ์ พี่น้องปกาเกอะญอจะใช้ภูมิปัญญาชนเผ่า คือจะสังเกตดูต้นข้าว เมล็ดข้าว แปลงไหนสมบูรณ์ที่สุด ชาวบ้านก็เล็งๆ พอถึงเวลาเกี่ยวข้าว ชาวบ้านจะเอาไปนวด แล้วฝัดร่อน ก่อนเลือกคัดเอาเมล็ดพันธุ์ที่ดี ไว้ทำเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์การงอกนั้น 90 % จะงอกดีมาก ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชนเผ่า ที่มีความแม่นยำในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ไม่ต่างกับกรมการข้าวเลยนะ”

ที่สำคัญ คือ การปลูกข้าว มันเกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอญอ ด้วย ชาวบ้านจะมองว่า คนปกาเกอะญอจะต้องปลูกข้าวไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็จะมีพิธีกรรมทำบุญเลี้ยงผีไร่ ผีน้ำ ทำพิธีกินข้าวใหม่ กัน

นอกจากนั้น เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมของปกาเกอะญออื่นๆ ที่ยังคงปลูกและรักษาเอาไว้อยู่ ก็มีจำพวก ถั่ว พริก ข้าวโพด ฟัก แฟง แตงดอย รวมไปถึงห่อวอ เครื่องเทศประจำครัวของชาวปกาเกอะญอ เมล็ดพืช เมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ จะคงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อชุมชนนั้นๆ ทำไร่หมุนเวียน โดยเมื่อมีการปลูกข้าวไร่ ชาวบ้านก็จะหยิบเมล็ดพันธุ์ต่างๆ หยอดลงในหลุมเดียวกันด้วย 

ผู้ใหญ่บ้านเศรษฐี บอกว่าปัจจุบัน ชุมชนบ้านป่าตึงงาม มีการทำไร่หมุนเวียน การปลูกข้าวไร่ลดน้อยลง สาเหตุส่วนหนึ่งก็คงมาจากนโยบายของรัฐในอดีต ที่ยังไม่ยอมรับแนวคิดเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ยังมองว่าชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย และสอง เกิดจากตัวชาวบ้านเองด้วย ที่ตอนนี้ ได้ลดเลิกการทำไร่หมุนเวียน อาจเนื่องมาจาก รัฐเข้ามาจำกัดพื้นที่การทำไร่ และบางหมู่บ้าน ชาวบ้านก็คืนพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนคืนให้กับรัฐไปด้วย จึงทำให้การปลูกข้าวไร่ และการทำไร่หมุนเวียน นั้นเริ่มสูญหายไปในหลายพื้นที่

“ผมเชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดและเป็นภูมิปัญญาที่ดีที่สุดของพี่น้องกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ นั้นก็คือ ไร่หมุนเวียน แต่วันหนึ่งเราก็คงต้องยอมรับว่าสักวันหนึ่งมันอาจจะต้องหายสาบสูญไปตามกาลเวลา ทุกวันนี้ ผู้เฒ่าก็เริ่มเข้าใจ ว่าโลกมันเปลี่ยนไปมากแล้ว และบอกกับลูกหลานว่า ตอนนี้มันไม่ใช่ยุคของเขาแล้ว เป็นยุคสมัยใหม่ไปแล้ว ยกตัวอย่าง พ่อของผม เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนหมู่บ้านเรานั้นมันลำบากมาก ทุกคนมองว่าเป็นดอยทุกข์ดอยยาก แต่มาสมัยนี้ กลายเป็นดอยเงินดอยคำ เพราะว่ามีแต่คนในเมือง คนข้างล่างเดินทางขึ้นมาเที่ยว มาพัก มาดูวิถีชีวิตคนปกาเกอะญอแทน เอาเงินมาให้ชาวบ้านถึงบนดอยเลย อีกทั้งหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เดี๋ยวนี้ก็เรียนหนังสือสูงขึ้น ลงไปในเมืองกันมากขึ้น ก็จะเริ่มให้ความสนใจเรื่องไร่หมุนเวียนตรงนี้น้อยลง ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง วิถีการทำไร่หมุนเวียนก็อาจจะถูกกลืนกินให้หายไปตามกาลเวลา และเราก็จะเห็นว่าสังคมทั่วไป วัฒนธรรมดีๆ ที่เคยมีก็จะถูกกลืนหายไปเช่นเดียวกัน เพราะกาลเวลามันมีความเปลี่ยนแปลง มันอยู่ที่ว่า ใครจะปรับตัวได้ดีมากกว่ากัน” 

หลายครอบครัวเจอวิกฤต ปิดกิจการ ขาดรายได้ เปลี่ยนแนวคิด นำอาหารแลกเปลี่ยนกัน

ในขณะที่ครอบครัว ของ ‘ม่อนภูผาแดง :ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว’ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแม่ป๋าม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด จนทำให้ต้องกักตัว ซึ่งส่งผลกระทบจากการท่องเที่ยว ที่ต้องปิดร้านกาแฟ และธุรกิจที่พัก ฟาร์มสเตย์ ไปอย่างไม่รู้กำหนดว่าจะได้เปิดบริการอีกครั้งเมื่อไหร่

ครอบครัว ม่อนภูผาแดง ได้ตั้งรับ ปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน 

พิชชาพา เดชา ครอบครัว ม่อนภูผาแดง: ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว
พิชชาพา เดชา ครอบครัว ม่อนภูผาแดง: ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว

พิชชาพา เดชา บอกเล่าให้ฟังว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดวิกฤติโควิดระลอกสอง ระลอกสาม ทำให้เราต้องปิดร้าน ปิดกิจการที่พัก ฟาร์มสเตย์ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา 

“แน่นอน มันส่งกระทบต่อครอบครัวของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่ง คือเราขาดรายได้จากการปิดร้าน ที่พัก ยาวนานเลย ทำให้เราต้องนำเงินที่เก็บออมทยอยออกมาใช้จ่ายจนร่อยหรอ สอง กระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนในรูปแบบบ้านเรียนโฮมสคูลของลูกชาย เพราะปกติ เราจะจัดการเรียนการสอนภายในบริเวณบ้าน และจะพาออกไปเรียนรู้นอกสถานที่ ไปตามห้องสมุด ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ โฮมสคูลที่เชียงใหม่ ที่อำเภอพร้าว แต่พอมาเจอโควิดรอบนี้ เราต้องกักตัวอยู่ภายในฟาร์มเล็กๆ ของเรา” 

พิชชาพา บอกเล่าอีกว่า พอมาถึงช่วงกลางๆ ปี เงินเราเริ่มขาดสภาพคล่อง รายได้ก็ไม่มี แต่ยังดีที่ภายในสวน ในฟาร์มของเรา ปลูกผักสวนครัวเอาไว้ อย่างเช่น ผักสลัด ถั่วฝักยาว คะน้าเม็กซิโก ผักหวานป่า ผักบุ้ง มะเขือ เป็นต้น,นอกจากนั้น เรายังเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ดไข่เอาไว้ ก็ช่วยทำให้เรารอดพ้นจากความอดอยากในช่วงนี้ไปได้ 

“ต่อมา นมสดที่ลูกชายต้องทานทุกวันหมด เราจึงหาทางออกว่าทำอย่างไรถึงจะให้ลูกได้ทานนม จึงให้ม่อนภู ลูกชายวัยหกขวบ เก็บไข่เป็ด มาล้าง และรวบรวมจนได้เยอะๆ ก็ให้พ่อประกาศผ่านทางออนไลน์ ว่าเรามี ‘โครงการไข่แลกนม’ ซึ่งก็มีลูกค้าในเชียงดาว สนใจ เอานมสดมาแลกไข่เป็ด นอกจากนั้น ลูกชายยังนำไข่ไปแลกทุเรียนกับพี่ๆ ที่โรงละครมะขามป้อมอีกด้วย ในขณะที่แม่ของม่อนภูนำกล้วยน้ำว้ามาแปรรูปทำเป็นขนมปังกล้วยน้ำว้า ไปแบ่งปัน แจกจ่ายให้กับญาติๆ ในหมู่บ้าน นั่นทำให้เราเริ่มมองว่า ในยุคที่เกิดวิกฤตแบบนี้ บางทีเราก็สามารถนำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกัน แบบว่าใครมีอะไรก็เอามาแลกเปลี่ยนกัน เป็นการใช้ระบบแลกเปลี่ยนแทนเงินเหมือนคนสมัยก่อน ในภาวะที่แม้มีเงิน แต่อาจซื้อไม่ได้ในช่วงวิกฤติแบบนี้”

ชุมชนลีซู เผยโควิดกระทบแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ปรับตัว ทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายออนไลน์

เช่นเดียวกับ อะลูเมะ เลายี่ปา หญิงสาวชนเผ่าลีซูบ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ และเจ้าของโฮมสเตย์ บ้านพักเฮือนสุข ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็บอกเล่ากับเราว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดในรอบปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง เพราะบ้านนาเลาใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมความงามของธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว หลายครอบครัวได้ทำเป็นที่พักโฮมสเตย์ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและพักกัน แต่พอมาเจอโควิด ทุกอย่างสะดุดไปหมด ปิดตัวยาว ทำให้ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว

อะลูเมะ เลายี่ปา บ้านพักเฮือนสุข ชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ 
อะลูเมะ เลายี่ปา บ้านพักเฮือนสุข ชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ 

แต่เมื่อเรามองในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากวิถีชนเผ่าลีซู นั้น จะมีการปลูกข้าวไร่ ไว้กินปีต่อปีอยู่แล้ว 

“พันธุ์ข้าวไร่ของชนเผ่าลีซูมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ที่ยังมีปลูกอยู่ คือ หย้า ด่า แหล๊ะ หรือข้าวพันธุ์ลาย, หย้า ด่า มา หรือข้าวเม็ดใหญ่, หย้า บี้ ฉวิ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวเมล็ดสีเขียว”
ภายในไร่ข้าว หรือในสวนใกล้ๆ บ้าน ก็จะปลูกพืชผักต่างๆ แซมไว้ ไม่ว่าจะเป็น พริก แตงกวา แตงเปรี้ยว ผักกาด ถั่วดำ ถั่วแดง ฟักทอง ฟักเขียว เต็มไปหมด

“ที่เด่นๆ ของลีซู ก็คืออุพิ ผักกาดดอยรสชาติขมๆ แต่อร่อยมาก นอกจากเราจะเก็บกันสดๆ มาทำอาหารแล้ว พี่น้องลีซูจะเอามาแปรรูปโดยเอาไปตากแห้ง แล้วเก็บใส่ถุงมัดไว้ พอถึงเวลาก็เอามาทำกับข้าว เราก็เอามาแช่น้ำแป๊บหนึ่ง แล้วก็เอาไปผัดหรือแกงใส่หมู ไก่ ก็อร่อยเลย...อีกอันหนึ่งก็คือ อะ ปวู แกว๊ะ หรือ แตงเปรี้ยว ลูกใหญ่ๆ เนื้อเยอะ รสชาติออกเปรี้ยวๆ หน่อย แต่ทำอาหารได้อร่อยมาก” อะลูเมะ บอกเล่าให้ฟัง

นอกจากจะมีข้าว พืชผักในไร่แล้ว พี่น้องลีซูยังมีสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ เอาไว้ทำอาหารในช่วงวิกฤตโควิดนี้ได้แบบสบายๆ

“ซึ่งในช่วงปีใหม่ลีซู ชาวบ้านเขาจะฆ่าหมู เอามาเลี้ยงดูญาติๆ ได้ทานด้วยกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่พี่น้องลีซูจะต้องทำ คือการนำหนังหมู เนื้อติดมัน มาเทลงในกระทะที่ตั้งไฟร้อนๆ จากนั้นทำการเคี่ยวเอาน้ำมันหมู จากนั้นรอให้เย็น ชาวบ้านจะเทลงไปในไห แล้วปิดฝาเก็บไว้ แบบนี้ เราก็สามารถมีน้ำมันหมูไว้ทำอาหารได้ตลอดทั้งปีกันเลยทีเดียว”

วิถีชุมชนลีซูและการปรับตัวในช่วงโควิด-19 | ภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก ความทรงจำสนุก ๆ ของเด็ก ฤดูร้อน สีเทา
วิถีชุมชนลีซูและการปรับตัวในช่วงโควิด-19 

ที่น่าสนใจ ก็คือ อะลูเมะ พยายามเรียนรู้และปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ในยุคโควิดแบบนี้ จึงได้ชวนพี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันทำ ‘น้ำพริกลีซูนรก’ ขายให้กับลูกค้าทางออนไลน์ สร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง

“เราใช้ล่าจวึ๊...เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน รสชาติเผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู๊’ หรือน้ำพริกคั่วทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมา เราทำน้ำพริกให้ลูกค้านักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักโฮมสเตย์ บ้านพักเฮือนสุข แล้วลูกค้าชอบ ติดใจในรสชาติน้ำพริกนรก จึงขอสั่งซื้อนำกลับไปทานต่อที่บ้าน หลังจากนั้น ก็จะมีลูกค้าประจำกลุ่มนี้ สั่งซื้อจากเราเป็นประจำทางออนไลน์ เราก็แพ็คใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”

เผยชนเผ่าปกาเกอะญอได้รับผลกระทบคือกลุ่มปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว กระทบน้อยที่สุด คือคนที่ทำไร่หมุนเวียน

ทางด้าน สมศักดิ์ สุริยมณฑล ตัวแทนชาวบ้านปกาเกอะญอแห่งมูเส่คี และเป็นนักเขียนปกาเกอะญอ นาม “โถ่เรบอ”

ได้บอกเล่าสถานการณ์โควิด19 ที่ชุมชนป่าสนวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ให้เราฟังว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดตอนนี้ก็คือ กลุ่มชาวบ้านพี่น้องปกาเกอะญอที่เป็นเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว อย่างเช่น ปลูกข้าวโพด ผักกาด กะหล่ำ มะเขือ ซึ่งล้วนต้องพึ่งพากลไกตลาด นายทุนทั้งนั้น ต้องใช้ทุนในการเพาะปลูกและดูแลสูง ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่าปุ๋ยเคมี เป็นต้น 

สมศักดิ์ สุริยมณฑล ชาวบ้านปกาเกอะญอแห่งมูเส่คี นักเขียนปกาเกอะญอ นาม “โถ่เรบอ”
สมศักดิ์ สุริยมณฑล ชาวบ้านปกาเกอะญอแห่งมูเส่คี นักเขียนปกาเกอะญอ นาม “โถ่เรบอ”

“ชาวบ้านกลุ่มนี้ จะเจอปัญหากันเต็มๆ คือ ราคาพืชผลตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา และหลายคนต้องเจอภาวะหนี้สิน ต้องผ่อนงวดค่ารถยนต์ที่เอาไว้ใช้ขนผักลงไปขายที่ตลาดในเมือง พวกเขาจะลำบากมาก”
อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ลงไปทำงานรับจ้างในเมือง ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นลูกจ้างตามร้านเสริมสวย ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร พอเจอวิกฤตโควิด นายจ้างปิดร้าน หลายคนตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดกัน ซึ่งก็เป็นภาระให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น 

ภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก ความทรงจำสนุก ๆ ของเด็ก ฤดูร้อน สีเทา

“ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ก็คือ ครอบครัวปกาเกอะญอ ที่ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม นั่นคือ ปลูกข้าวไร่ ทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ปลูกพืชผักตามไร่ ไม่มีหนี้สิน อยู่กันแบบเรียบง่าย กลุ่มนี้จะรอดพ้นจากวิกฤตโควิด แต่ก็ถือว่ามีเหลือน้อย เป็นเป็นกลุ่มเล็กๆ ในชุมชนเท่านั้นเอง”

คนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง คัดค้าน รัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติเร่งผลักดัน CPTPP

แต่เมื่อเราหันไปมองทางฟากฝั่งของรัฐบาล เรากลับพบความแปลกแยกแตกต่างไปกับแนวคิด วิธีคิดของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่พยายามรักษาเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนต่อไป

แต่ทางฝั่งของรัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติกำลังเร่งผลักดัน CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก อันเป็นการบังคับให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย ขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ รวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการผูกขาด รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศอย่างร้ายแรง 
ซึ่งประเด็นนี้ย่อมกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย 

อาลูเมะ เลายี่ปา ตัวแทนชนเผ่าลีซู บอกว่า ขอคัดค้าน CPTPP ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมันจะกระทบมากกับชุมชนของเรา พี่น้องของเรา เพราะที่ผ่านมา พี่น้องลีซู เราจะปลูกพืชเอง และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง แต่ถ้านโยบาย CPTTP นี้เข้ามา มันก็จะเกิดผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านเลย เพราะเราจะไปเก็บเมล็ดพันธุ์ เอาไปปลูกเหมือนแต่ก่อนนี้ก็คงไม่ได้ อะไรๆ ก็ผิดไปหมด

พิชชาพา เดชา จากม่อนภูผาแดง ฟาร์มฯ ก็บอกว่า กระทบหนักแน่ๆ เพราะถ้ารัฐยังเอื้อต่อ CPTPP มันก็ต้องเข้ามาผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่างที่คนพื้นเมืองได้สั่งสมเอาไว้ 

“ยกตัวอย่างในฟาร์มของเรา ปลูกกระเจี๊ยบแดง ปลูกน้ำเต้าเอาไว้ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้าน พอลูกผลโตและแก่แห้งแล้ว เราก็เก็บเมล็ดพันธุ์มาผึ่งและเก็บเอาไว้ปลูกทำพันธุ์ในปีต่อไป แต่ถ้า CPTPP เข้ามา มันจะบีบบังคับให้เราไม่ให้เราขยายพันธุ์ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งดีเลย มันคือผู้ร้ายเสียมากกว่า ที่พยายามจะเข้ามาปล้นทรัพยากรของพวกเราไปแบบนี้” 

เช่นเดียวกับ เศรษฐี พะโย ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม ตัวแทนของพี่น้องปกาเกอะญอ บอกว่า ไม่เห็นด้วยเลยกับแนวคิดแบบนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของการผูกขาด มันไม่เป็นธรรม สำหรับชาวบ้านที่มีการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมอยู่แล้ว 

“แต่ถ้านโยบาย CPTTP นี้เข้ามา กลับกลายเป็นว่า เมล็ดพันธุ์ทุกอย่าง เราต้องซื้อกับคุณ แล้วเราก็ไม่สามารถนำเอาเมล็ดพันธุ์ของเราที่มีอยู่นำไปเพาะกล้า เพาะปลูกได้อีก ถ้าเราจะเอาไปปลูก ก็ไม่ได้อีก คุณก็จะมาเอาผิดกับเราอีก อย่างนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการผูกขาดที่โหดร้าย เพราะวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง คนปกาเกอะญอ เมล็ดพันธุ์ทุกอย่างเขาจะเก็บไว้ ซึ่งแต่ละครอบครัวก็ต่างคนต่างเก็บรักษาเอาไว้ มีอิสระเสรี ไม่มีใครห้าม แล้วบางคนก็นำเมล็ดพันธุ์มาแลก มาแบ่งปันกันด้วย ซึ่งผมเห็นว่า บางครั้ง วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราที่มันจะเริ่มสูญหายไปนั้น มันไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่มันเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ กับผู้มีอำนาจ นักการเมือง และนายทุนใหญ่ที่เข้ามากำหนดนโยบาย เพื่อมาเป็นตัวกำหนดให้เราต้องเดินไปตามนโยบายของเขา ดังนั้น ผมจึงเป็นห่วงว่า อีกไม่นาน วัฒนธรรมเรื่องการทำไร่หมุนเวียน ที่พี่น้องปกาเกอะญอทำกันอยู่อาจสูญหาย ทั้งๆ ที่การทำไร่ข้าว ไร่หมุนเวียน นั้นก็เพื่อเป็นการรักษาเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมจำนวนมากมายหลายร้อยสายพันธุ์เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามมาก"

ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าตึงงาม บอกในตอนท้ายว่า ทุกวันนี้ เรามองเห็นเลยว่า อำนาจ มันน่ากลัว โดยเฉพาะคนที่ชอบใช้อำนาจในทางที่ผิดๆ เพราะสุดท้ายแล้ว มันไม่ใช่แค่ไปทำลายมนุษย์ด้วยกัน แต่มันยังไปทำลายวิถีชุมชน ทำลายวัฒนธรรม และยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วย

เมื่อเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย ลุกขึ้นต้าน CPTPP ออก “คำประกาศพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย ได้ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ด้วย โดยในคำประกาศพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน นั้นระบุว่า ในนามเครือข่ายชาวนา เกษตรกร ชุมชน ท้องถิ่นและเพื่อนมิตรเกษตรกรรมทางเลือกทั้งหลาย เรามีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะร่วมกันผนึกกำลังแสดงความเข้มแข็งเพื่อรักษาไว้ซึ่ง วิถีเกษตรกรรมของชาวนาเกษตรกรรายย่อย เมล็ดปกป้องพันธุกรรมพื้นบ้านให้หลุดพ้นจากการผูกขาดและครอบงำในทุกรูปแบบ เพราะเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการแลกเปลี่ยนเมล็ดแบ่งปันพันธุกรรม์โดยเสรีระหว่างเกษตรกรและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูกนั้น คือพื้นฐานแห่งความงอกงามของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และเป็นการรักษาความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพอันเป็นหลักประกันสำหรับสำคัญยิ่งของอธิปไตยทางด้านอาหารของประชาชนและความอยู่รอดของผู้คนบนโลกใบนี้ 

สิทธิของเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ และชุมชนท้องถิ่นทีมีต่อแผ่นดิน สายน้ำ ป่าไม้ ภูเขา และเมล็ดพันธุ์ ย่อมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มิอาจล่วงละเมิดได้ พันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นอิสระและเป็นอธิปไตยทางด้านอาหารของประชากรทุกคนบนโลกใบนี้ พวกเราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการส่งเสริมให้ใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์สายพันธุ์ปรับปรุงใหม่และการดัดแปลงพันธุกรรม คือการปล้นชิงใช้ประโยชน์เป็นการแสวงหากำไรสูงสุดโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านการเกษตร มันส่งผลให้เกิดการทำลายฐานทรัพยากรเมล็ดพันธุ์พันธุกรรมและอาหาร ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างร้ายแรงที่มิอาจประเมินค่า 

“พวกเราทั้งหลายที่มารวมกัน ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพวกเราผ่านการทำงานในไร่นา ผ่านงานวิชาการชาวบ้าน บนความพร้อมเพียงสามัคคี โดยตระหนักในศักดิ์ศรีของชาวนาชาวไร่ หลักสิทธิมนุษยชนและสมานฉันท์ภาคประชาชนทั่วโลกเพื่อต่อต้านการผูกขาดระบบเกษตรกรรมและอาหาร และเพื่อสร้างชีวิตที่ดีของประชาชนทั้งมวล โดยไม่ขอยอมรับบทบัญญัติ ข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายใดๆ ที่มุ่งครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมอันเป็นมรดกของชุมชนท้องถิ่นชาวนาชาวไร่ ที่เป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ” 

เราขอประณามความพยามของรัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติที่เร่งผลักดัน CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก อันเป็นการบังคับให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย ขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ รวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการผูกขาด รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการเอื้ออำนวยประโยชน์แก่บรรษัทใหญ่ให้มีอิทธิพลเหนือตลาด ผูกขาดมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งประเด็นที่สำคัญและอ่อนไหวอีกหลากหลายประเด็นภายใต้ข้อตกลง CPTPP ทั้งการยกเลิกมาตรการปกป้องสินค้าเกษตร, การห้ามกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นจะอุปสรรคและภัยคุกคามประชาชนในการเข้าถึงยาเพื่อรักษาชีวิต ในภาวะโลกหลังวิกฤต COVID-19 สังคมไทยยิ่งต้องตระหนักและพยายามเลือกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงข้อเรียกร้องให้ภาคประชาชนไม่ยอมรับระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งกอบโกยและเอาเปรียบ 

“พวกเราและขอประกาศไม่ยอมรับให้ประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง CPTPP ที่จะก่อให้ผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชน และยืนยันด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะปกป้องรักษา แลกเปลี่ยนแบ่งปัน และร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้พันธุกรรมอันเป็นฐานทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและอธิปไตยทางอาหารเป็นของเกษตรกรและมวลมนุษยชาติสืบไป” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโลก ย้ำ “ปฏิรูประบบเกษตร พึ่งพาเกษตรรายย่อย คือทางรอดวิกฤตอาหารโลกหลังโควิด-19”

ซึ่งคำประกาศของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย นั้น ได้สอดคล้องกับแนวคิดและมุมมองความเห็น ของ Peter Rosset หรือ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต ซึ่งทาง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไบโอไทย ได้เชิญนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโลกท่านนี้ มาบรรยายเกี่ยวกับประเด็น ‘ระบบอาหารกับ COVID-19 ในเวทีวิชาการเรื่องเกษตรกรรมแผนใหม่กับความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์โควิด’ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาที่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ล่าสุด กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยพอดี

“วิกฤตโควิด-19 เป็นลางบอกเหตุ ที่สะกิดเตือนพลเมืองโลกให้ตื่นจากการหลับใหลในวัฏจักรการฝากปากท้องไว้กับระบบอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่” Peter Rosset หรือ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต ได้บอกย้ำถึงประเด็นนี้ขึ้นมาทันที

“นี่คือผลพวงจากการปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดการเกษตรทั้งระบบ ควบคุมการผลิตและขนส่งอาหารไปทั่วโลก ต้นเหตุหลักของการแพร่ระบาดสารพัดเชื้อโรคทุกวันนี้”

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต (Peter Rosset) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโล ที่ปรึกษาขบวนการชาวนาสากล (La Via Campesina) | ที่มาภาพ : www.chula.ac.th
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต (Peter Rosset) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโล ที่ปรึกษาขบวนการชาวนาสากล (La Via Campesina) | ที่มาภาพ : www.chula.ac.th

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต ได้เน้นย้ำว่า ปฏิรูประบบเกษตร พึ่งพาเกษตรรายย่อย คือทางรอดวิกฤตอาหารโลกหลังโควิด-19    
                            
“เราจำเป็นต้องสร้างอธิปไตยทางอาหาร…เราต้องเปลี่ยนระบบอาหารจากระบบบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นระบบเกษตรกรรายย่อย โดยให้เกษตรกรรายย่อยแต่ละท้องถิ่นผลิตอาหารสุขภาพและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ก็ลดจำนวนห้างฯ ขนาดใหญ่ แล้วเพิ่มปริมาณตลาดเกษตรกรแทน รวมทั้งเพิ่มการทำเกษตรในเมืองด้วย”

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ บอกว่า “ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่าระบบการเกษตรในเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อเกิดวิกฤต ผู้บริโภคในเมืองเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ สังคมชนบทที่ยังพึ่งพาเกษตรกรรายย่อยยังคงสถานะเป็นผู้รอด อีกทั้งยังมีความสามารถรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากในเมืองได้ราว 30% ของจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤตโรคระบาดด้วย” 

ซึ่งข้อมูลที่ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ กล่าวมานี้ สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศไทยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

“เพราะเกษตรกรรายย่อยเข้มแข็งกว่าที่พวกเราคิด เกษตรกรและประชาชนในท้องถิ่นสามารถฟื้นฟูระบบอาหารและระบบสาธารณสุขท้องถิ่นเองได้ โดยหันกลับมาใช้ระบบเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่ใช้ความรู้ท้องถิ่นดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเกษตรเคมี พวกเขาสามารถผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารจากเกษตรเชิงนิเวศ ที่จะไม่ก่อให้เกิดโรคระบาดใหม่ได้”

ผลผลิตพืชผักพื้นบ้าน อาหารปลอดภัย | ที่มาภาพ : www.chula.ac.th
ผลผลิตพืชผักพื้นบ้าน อาหารปลอดภัย | ที่มาภาพ : www.chula.ac.th

สุดท้าย ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เน้นว่า “การปฏิรูประบบเกษตรเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจที่จะพลิกโฉมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับห้างค้าปลีกรายใหญ่และผู้บริโภคปลายทาง โดยผสมผสานการเกษตรนิเวศแบบใหม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าให้ผลผลิตต่อไร่มากกว่าการเกษตรเชิงเดี่ยว คืนกำไรทั้งผลประกอบการและสุขภาพของเกษตรกร กำไรทั้งสุขภาพของผู้บริโภค ภูมิคุ้มกันชีวิตที่แท้จริง และเป็นความมั่นคงทางอาหารสำหรับอนาคต”

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ รอสเซ็ต Peter Rosset ได้เคยเข้าร่วมกับองค์กรและขบวนการของเกษตรกรรายย่อยในลาตินอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก พร้อมกับการสอนหนังสือและวิจัยไปพร้อมๆกันในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ สเปน บราซิล คอสตาริกา นิคารากัว คิวบา ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในเม็กซิโก ในฐานะนักวิจัยของ ECOSUR (Advanced Studies Institute) และที่ปรึกษาของ “ขบวนการชาวนาโลก” : Via campesina นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ศ.ปีเตอร์ ยังอยู่ในทีมเขียนหนังสือชื่อ World Hunger : Twelve Myths ร่วมกับ Frances Moore Lappé และ Joseph Collins ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ตีแผ่ความจริง สาเหตุของปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ตาม วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลายระลอกนี้ ก็ได้ทำให้ประชาชนคนไทยเราทุกชนชั้น ทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะอยู่เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ไม่ว่าจะอยู่บนดอย พื้นราบ ในเมือง หรือชุมชนชาวเล ทุกคนเริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าที่สุดแล้ว การสร้างความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น จึงจะช่วยทำให้เราอยู่รอดได้ในสังคมไทย.

ที่มาข้อมูล
1. สังคมยุคโควิด & หลังโควิด เมื่อความมั่นคงทางอาหาร คือความอยู่รอดของสังคมไทย,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 116 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2564)
2.คำประกาศพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ปี 2563, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย,25 มิถุนายน 2563
3.Peter Rosset นักวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารระดับโลก ชี้ทางรอดจาก วิกฤตอาหารโลกยุค Post-covid,Praornpit Katchwattana, May 20, 2021, https://www.salika.co/2021/05/20/peter-rosset-food-security
4.โควิด-19 เขย่า’ความมั่นคงทางอาหาร’ เตรียมพัฒนาข้อเสนอรับวิกฤตการณ์อนาคต,สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช), https://www.nationalhealth.or.th
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท