15 ปีรัฐประหาร 49 (4) อุเชนทร์ เชียงเสน: ปล่อยให้การเมืองภาคประชาชน “ตายไปแหละดีแล้ว”

ถอยหลังไปปี 2549 ทันทีที่หัวขบวนเอ็นจีโอหรือการเมืองภาคประชาชนในเวลานั้นจับมือกับสนธิ ลิ้มทองกุล เกิดเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งพลังและความชอบธรรมของการชุมนุมก็เพิ่มขึ้น กระทั่งปูทางสู่การรัฐประหารในที่สุด ดังนั้น ก็ควรปล่อยให้การเมืองภาคประชาชนที่ไม่เอาการเลือกตั้ง “ตายไปแหละดีแล้ว”

  • ความคิดแบบการเมืองภาคประชาชนมีลักษณะต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง แต่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งสูงส่งมากกว่าการเมืองในระบบตัวแทน และหวนคืนดีกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่คิดว่าสถาบันกษัตริย์เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญอีกต่อไป
  • รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งทำให้บทบาทของเอ็นจีโอลดลง ต่อรองยากขึ้น กระทั่งมองว่าการกำจัดรัฐบาลทักษิณเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุโดยไม่เกี่ยงวิธีการ
  • Civil Society Coup เมื่อภาคประชาสังคมสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการถูกปลูกฝังว่าการเมืองในระบบและนักการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย
  • ภายหลังเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ การเมืองภาคประชาชนก็ล้มหายตายจากไป ปัญหาทางการเมืองย้ายที่ การเคลื่อนไหวไม่ใช่เพื่อต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง แต่เพื่อปกป้อง
  • การสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบกันเองจะช่วยป้องกันไม่ให้เอ็นจีโอถูกแกนนำชักพาทั้งองค์กรไปสู่กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ใครจะกล้าปฏิเสธว่าการเมืองภาคประชาชนในนามของเอ็นจีโอไม่มีส่วนปูทางสู่การรัฐประหารปี 2549 เมื่อเอ็นจีโอผู้สถาปนาตนเองเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความคลางแคลงที่มีต่อสนธิ ลิ้มทองกุลก็แปรเปลี่ยนเป็นความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว
 

อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทำไมการเมืองภาคประชาชนที่ควรยืนอยู่ฝั่งเดียวกับขบวนการประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหารจึงเลือกหนทางนั้น อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในอดีตเขายังสวมบทบาทเป็นนักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ได้ศึกษาหาคำตอบเรื่องนี้

‘การเมืองภาคประชาชน’ มีลักษณะต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้งมาแต่ต้น การไม่รู้ข้อจำกัดของตนเอง ระบบอุปถัมภ์ภายในหมู่พี่น้องเอ็นจีโอจนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์กัน และการมุ่งที่เป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ เป็นคำตอบโดยสรุป

 

 

การเมืองภาคประชาชนไม่เท่ากับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

อุเชนทร์อธิบายว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการกระทำรวมหมู่หรือ Collective Action และมีเป้าหมายร่วมกันบางอย่าง ทั้งอาจจะต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นหรือต้องการรักษาสถานภาพเดิมก็ได้ ลักษณะสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอีกประการหนึ่งคือเป็นการกระทำทางตรงหรือ Direct Action คือไม่ผ่านช่องทางสถาบันทางการเมืองทางปกติ ตัวอย่างรูปธรรมก็การชุมนุมประท้วง การเดินขบวน การไม่ให้ความร่วมมือ การคว่ำบาตรหรือการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งคำที่สะท้อนลักษณะของการกระทำทางตรงที่ชัดเจนคือคำว่า การเมืองบนท้องถนน เป็นคำของอาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่งใช้อธิบายการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนในทศวรรษที่ 2540 นอกจากนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยังมีความต่อเนื่องในแง่ขององค์กรและระยะเวลา จากนิยามข้างต้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยจึงมีมานานแล้วอย่างน้อยตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมา

“แต่คำว่าการเมืองภาคประชาชน มันเป็นความคิด เป็นวาทกรรมทางการเมือง เป็นปฏิบัติการทางการเมืองของนักกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลังป่าแตก แล้วก็เกิดความคิดใหม่ขึ้นว่าถ้าจะเปลี่ยนสังคมเราจะเน้นการกระทำที่เรียกว่านอกภาครัฐหรือประชาสังคม

“ทีนี้การเมืองภาคประชาชนในแง่ของการเกิด ถ้ากล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นก็คือว่ามันมีการผลิตและมีการใช้คำนี้ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจทางการเมืองย้ายจากทหาร ข้าราชการ ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบมาเป็นผู้นำที่อยู่ในรัฐสภาที่พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญมากขึ้น นี่คือการเคลื่อนย้ายอำนาจทางการเมืองที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นบริบทของการเกิดขึ้นของการเมืองประชาชน”

สิ่งที่ตามมาคือประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น สิทธิของสื่อมวลชนได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในชนบทที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลมากในช่วงนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งนำมาสู่การเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การเมืองภาคประชาชน

ไม่เอาการเลือกตั้ง-เอาเจ้า

“ในแง่ความคิดลักษณะสำคัญของการเมืองภาคประชาชนจึงวิพากษ์หรือต่อต้านการเมืองแบบเลือกตั้ง อย่างที่เราได้ยินกันว่านักการเมืองเลว ชาวบ้านซื้อสิทธิ์ขายเสียง หันมาเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งถือว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแก่นแท้หรือหัวใจของประชาธิปไตย สูงส่งมากกว่าการเมืองในระบบตัวแทน จนกระทั่งในช่วงหลังๆ เราถือว่าอันนี้มีความชอบธรรมมากกว่ากันการเมืองแบบเลือกตั้งหรือการเมืองแบบตัวแทนเสียอีก

“ลักษณะที่สองที่ผมคิดว่าสำคัญคือว่ามันหวนคืนดีกับเจ้า หรืออย่างน้อยไม่คิดว่าเจ้าเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญอีกต่อไป ต่างจากความคิดฝ่ายซ้ายเมื่อก่อนที่ต้องโค่นล้มศักดินา แต่ทีนี้ความคิดแบบต่อต้านเจ้าก็หายไป นอกจากไม่ต่อต้านเจ้าแล้วยังมองว่าพวกเจ้าเป็นพันธมิตรหรือกำลังสำคัญในการส่งเสริมหรือเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยเสียอีก เพราะฉะนั้นเรื่องเจ้ากับประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้”

การเมืองภาคประชาชนถูกนิยามและใช้โดยองค์กรพัฒนาเอกชน นำโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ถือตนว่าเป็นตัวแทนของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเมื่อนิยามเช่นนี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันจะกีดกันคนจำนวนหนึ่งออกไป

“เช่นเวลาชาวบ้านเน้นการต่อสู้เรื่องผลประโยชน์ของตัวเองไม่ได้เน้นเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมหรือสาธารณะ หรือเวลามีนักวิชาการคนไหนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน แต่ว่าไม่ยอมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านทักษิณ สำหรับพวกการเมืองภาคประชาชนเขาถือว่าพวกนี้ไม่ก้าวหน้าหรือเห็นแก่ตัว ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มันก็จะมีการเถียงกันว่าใครเป็นการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง”

เอ็นจีโอเพิ่มความชอบธรรมให้การชุมนุมของพันธมิตรฯ

อุเชนทร์ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงต้นที่สนธิ ลิ้มทองกุลเริ่มชุมนุมยังมีผู้เข้าร่วมไม่มาก เพราะมีความคลางแคลงในตัวสนธิ ซ้ำยังชูประเด็นเรื่องความจงรักภักดีซึ่งน่าจะไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อสนธิและกลุ่มเอ็นจีโอสามารถตกลงกันได้เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

“มันเลยทำให้การเคลื่อนไหวมีความชอบธรรมมากขึ้น แล้วเอ็นจีโอก็มีบทบาทในการระดมกลุ่มคนต่างๆ เข้าร่วม ทั้งที่แบบอยากไล่รัฐบาลมาก บางส่วนก็ไม่ค่อยได้เต็มใจนักแต่ถูกกดดัน คือผมอยู่ในบรรยากาศตอนนั้น ในการประชุมครั้งหนึ่งมีการชวนกลุ่มชาวบ้านที่ผมทำงานด้วยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวไล่ทักษิณ ชาวบ้านเขาบอกว่าเขาไม่อยากไล่ทักษิณเท่าไหร่ ต่อให้ทักษิณไม่แก้ปัญหาของเขาและทำอะไรกับเขาไว้เยอะ แต่ว่าเขาอยากแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การที่ชาวบ้านและเอ็นจีโอที่สนับสนุนชาวบ้านมุ่งแก้ไขปัญหาส่วนตัวคือคุณเห็นแก่ตัว คุณไม่เห็นเพื่อส่วนรวม

“แม้กระทั่งในช่วงที่มีการเรียกร้องมาตรา 7 คนกลุ่มนี้ก็พยายามอธิบายให้ความชอบธรรมว่ามาตรา 7 มันจำเป็นอย่างไร มันเป็นภาวะวิกฤตอย่างไร แล้วพวกนี้ก็จะทำในนามของภาคประชาชน ผมคิดว่านี่คือบทบาทสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบพวกนี้ไม่ได้มีมวลชนเยอะ หลักๆ เป็นมวลชนของพรรคการเมือง แล้วก็มวลชนที่ค่อนข้างเป็น Royalist แต่ว่ามากน้อยไม่สำคัญ แต่มันทำให้ขบวนการมีความชอบธรรมดูดีมากขึ้น เพราะมีสมศักดิ์ โกศัยสุข มีสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เพราะมีพิภพ ธงไชย พี่ใหญ่ของภาคประชาชนเข้าไปอยู่ตรงนั้นด้วยและเราในพวกภาคประชาชน เอ็นจีโอมีระบบอาวุโส เราก็ไว้ใจพี่ๆ เราก็ไปกัน”

อย่างไรก็ตาม อุเชนทร์แสดงความเข้าอกเข้าใจว่าเอ็นจีโอและกลุ่มการเมืองภาคประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ปัญหาอยู่ที่การไม่รู้จักตัวเองซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่จึงเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องหาช่องทางอื่นและช่องทางที่ว่านั่นก็คือการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสนธิเพื่อบรรลุเป้าหมาย

“ผมไม่แปลกถ้าคนจำนวนมากหรือใครอยากไล่ทักษิณตอนนั้น แต่มันควรยุติที่เรียกร้องนายกพระราชทาน เพราะว่ามันไม่นำพาไปสู่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เหมือนกันคนมีสิทธิ์ที่จะไล่ยิ่งลักษณ์ช่วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ว่าเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาแล้วคุณจะทำอะไรล่ะ ฉะนั้นพวกนี้ช่วยกันปิดช่องทางแบบประชาธิปไตยไปและเรียกร้องให้มีการช่องทางพิเศษ มองบางส่วนผมคิดว่าพวกนี้อาจจะขาดความจัดเจนทางการเมืองก็ได้

“อีกความคิดหนึ่งผมคิดว่าพวกนี้ตั้งใจ ไม่แคร์เท่าไหร่ เพราะเขาไม่สนใจการเมือง ไม่ได้สนใจเรื่องประชาธิปไตย เขาสนใจเป้าหมายของเขามากกว่าใช่ไหม คุณจะเห็นว่าหลังรัฐประหารสองครั้งมีคนพวกนี้จำนวนมากเข้าไปอยู่ในกลไกต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้น โดยหวังว่าจะผลักวาระของตัวเอง มีคนเรียกว่าพวกฉวยโอกาสทางการเมือง ซึ่งก็สมเหตุสมผลอยู่ ท้ายสุดถ้าให้ Conceptual ปัญหาของคนพวกนี้ก็คือพวกเขาให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากกว่าวิธีการ ทั้งที่จริงๆ แล้ววิธีการมันสำคัญมาก มันกำกับว่าเราจะไปถึงเป้าหมายได้หรือไม่อย่างไร”

ทางลัด

อุเชนทร์แสดงทัศนะว่าในบริบทหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก่อนที่การเมืองภาคประชาชนจะเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ โดยตัวมันเองก็มีความอ่อนแออยู่แล้ว เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรทั้งเงินและกำลังคนซึ่งก็กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ แต่ที่ยังทำงานอยู่ได้เพราะมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ นักการเมืองต้องตอบสนองต่อคะแนนเสียงในพื้นที่ บวกกับสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้นจึงสามารถส่งผ่านเสียงของชาวบ้านออกสู่สังคมได้

ทว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งของทักษิณ ชินวัตร สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ ความเข้มแข็งส่งผลให้คนที่อยู่ในการเมืองภาคประชาชนคิดว่ารัฐบาลทักษิณเป็นอันตราย ต่อรองไม่ได้

“เพราะฉะนั้นเมื่อการเมืองแบบเดิมที่ทำอยู่มันทำงานไม่ได้ เพราะเจอรัฐบาลเข้มแข็ง เขาไม่สามารถต่อรองสิ่งที่เขาทำแบบเดิมที่ทำได้ เขาจึงรู้สึกว่าเขาต้องโค่นล้มและจัดการกับทักษิณ” อุเชนทร์อธิบายต่อว่าเอ็นจีโอสร้างความเสียหายให้กับการเมืองภาคประชาชนในช่วงก่อนและหลังรัฐประหารอย่างไรว่า

“การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในรัฐสภาเป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่สามารถทำให้การเมืองภาคประชาชนหรือการเคลื่อนไหวมาทดแทนการเมืองแบบตัวแทนได้หรอก เราชุมนุม ห้าคน สิบคน สองร้อยคน แสนคน ก็เราไม่สามารถเคลมความเป็นตัวแทนของทั้งหมดได้ แต่ว่าบางคนนึกว่าสามารถ เพราะเราบริสุทธิ์กว่า Pure กว่า เราจึงมีความชอบธรรมมากกว่า แต่ว่าโดยรวมทั้งเอ็นจีโอ นักวิชาการ ก็เทไปที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองในระบบขณะที่ดูแคลนบทบาทของราชสำนักหรือบทบาทของทหารน้อยเกินไป”

Civil Society Coup

โดยปกติตัวแสดงหลักในการรัฐประหารคือกองทัพ เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารแบบดั้งเดิม ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วยคือ Civil Society Coup อุเชนทร์อธิบายว่ากองทัพจะทำรัฐประหารเองแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยไม่ได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการเมืองบนท้องถนน จากการ Mobilization ที่เกิดจากประชาสังคม แล้วทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองที่ไม่สามารถคลี่คลายภายใต้ระบบการเมืองปกติได้ ขบวนการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำหรือทหารเพื่อปูทางสู่การรัฐประหารอีกทีหนึ่ง

“สำหรับผมก็คือ 2549 และ 2557 เป็นเป็นลักษณะแบบนี้ซึ่งเป็นแบบใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือว่าภาคประชาสังคม Civil Society เป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารเอง ทหารมีศักยภาพในการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารไม่ได้รับการยอมรับแล้ว เพราะฉะนั้นมีศักยภาพ มีความตั้งใจ แต่ทำไม่ได้ก็เก็บเงียบไว้และก็เดินตามหลังนายกรัฐมนตรีไป มันจะทำได้คือก็ใช้จังหวะร่วมมือกัน ประสานงานกันอย่างตั้งใจ อาจจะโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่รู้ มองเหตุการณ์ล่วงหน้า และมีคนเข้าไปผลักดันเพื่อจะทำให้ ง่ายๆ คือไปสร้างวิกฤตทางการเมืองแล้วเปิดช่องนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด แล้วเขาก็เตรียมตัวดี ผมคิดว่ารัฐประหาร 2557 เป็นการสรุปบทเรียนจากรัฐประหาร 2549”

มีประเด็นชวนให้ถามต่อว่าทำไมภาคประชาสังคมจึงสนับสนุนรัฐประหาร  คำตอบของอุเชนทร์คล้ายคลึงกับธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (อ่าน : 15 ปีรัฐประหาร 49 (1) ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : รัฐทหารศักดินากับมวลชนผู้สร้างความชอบธรรม) นั่นก็คือการถูกปลูกฝังมานานว่าการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย ความคิดแบบราชาชาตินิยม ความจงรักภักดี ปลูกฝังเรื่องเจ้า พร้อมกับมีปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ถูกขยายชั่วร้ายของพรรคการเมืองและนักการเมืองจนเกินจริง เพื่อทำลายความชอบธรรมของระบบการเมืองจากอีกฝั่งหนึ่ง

การเมืองภาคประชาชนสาบสูญใต้เงาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แล้วการรวมกันระหว่างพันธมิตรฯ กับการเมืองภาคประชาชนในนามเอ็นจีโอส่งผลอะไรตามมา อุเชนทร์ตอบว่ามันทำให้การเมืองภาคประชาชนหายไป แต่การหายไปของการเมืองภาคประชาชนไม่ใช่การหายไปของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

กล่าวคือนับจากรัฐประหาร 2549 ถึงปัจจุบัน ทั้งกลุ่มคนและความคิดหลักในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต่อต้านระบบรัฐสภา นักการเมือง การเลือกตั้ง เปลี่ยนย้ายมาเป็นการปกป้องประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ปกป้องรัฐสภา ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ชนชั้นนำและราชสำนัก

“ปัญหาทางการเมืองมันย้าย ฉะนั้นวาทกรรมในการต่อสู้ของพวกฝ่ายค้านนอกสภามันก็เปลี่ยน และไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะวาทกรรม กลุ่มคนที่มีบทบาทในการเมืองท้องถนนก็เปลี่ยน ดังนั้น การเมืองภาคประชาชนมันหายไปเพราะว่ามันไม่ใช่เป็นกระแสหลักของการเคลื่อนไหวนอกสภาอีกแล้ว ถามว่าคนพวกนั้นยังอยู่ไหม ยังอยู่ พวกนี้ก็พยายามเคลื่อนไหวทางการเมือง สมมติว่าพวกเขาพยายามจะมีบทบาท บทบาทของเขาจะได้รับการยอมรับเหมือนเมื่อก่อนไหม ผมว่าไม่ เมื่อก่อนสื่อมวลชนใครสร้างข้อสงสัยกับแกนนำเอ็นจีโอบ้าง วันนี้ผมคิดว่าคนตรวจสอบเยอะ หรือถ้าเขาพยายามทำเขาก็จะไม่ได้สามารถทำได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

การเคลื่อนไหว การชุมนุมประท้วงของหลากหลายกลุ่มจึงไม่ใช่การเมืองภาคประชาชนแบบก่อนรัฐประหาร 2549 อีกต่อไป แนวคิดที่ชี้นำการเคลื่อนไหวไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ปล่อยให้การเมืองภาคประชาชน “ตายไปแหละดีแล้ว”

บางอย่างควรปล่อยให้ตายและบางอย่างควรเก็บไว้เป็นบทเรียน อุเชนทร์เน้นย้ำเพียงเรื่องเดียวคือการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบกันเอง มิฉะนั้นก็จะเป็นเหมือนที่เคยคือการที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสถาปนาตัวเองเป็นตัวแทนขององค์กรประชาธิปไตย ของการเมืองภาคประชาชน ของฝ่ายประชาธิปไตย

“เกิดขึ้นจริงในวงการเอ็นจีโอสมัยก่อนด้วย คือถ้าใครเห็นด้วยกับกูก็จะเป็นคนรักประชาชน ถ้าใครไม่เห็นด้วย ไม่เอาด้วยกับกู วิจารณ์กู ก็จะไม่รักประชาชน แล้วก็จะเห็นว่าการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์จะทำลายความสามัคคี เราต้องกอดคอด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากัน มีคนตัวใหญ่มัน คนตัวเล็ก แล้วคนที่ชอบอ้างเรื่องพวกนี้ก็จะเป็นคนที่ตัวใหญ่ มีเสียงดังกว่า เพื่อที่จะกดข่มคนตัวเล็ก เขาทำแบบนี้ได้เพราะว่าเขาอยู่ในความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์

“การที่เป็นแบบนี้มันทำให้พวกผู้นำบางคนลากพาองค์กรและขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นภาคประชาชนทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในช่วงปี 2548 ถึง 2549 และนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยในที่สุด เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันก็คืออย่ายอมกับความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม อย่ายอมปิดปากเพราะว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน หรือว่าเป็นประชาชนด้วยกัน อย่ายอมปิดปากให้ฝ่ายหนึ่งเอารัดเอาเปรียบ ต้องเลิกวัฒนธรรมแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีปัญหาอะไรกันปิดห้องคุยกัน คือการทำแบบนี้เราก็ตัดสินใจกันเอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรม Elite มันไม่สนใจประชาชน”

นอกจากนั้น อุเชนทร์เสนอว่าคนที่ต้องการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมต้องคิดใหม่ การเป็นเอ็นจีโอที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดไม่ใช่หนทางเดียวอีกต่อไป แทนที่จะสร้างเอ็นจีโอ ควรสร้างนักเคลื่อนไหว นักเคลื่อนไหวในโรงงาน ในชุมชน ในมหาวิทยาลัย ในสำนักข่าว

“เราสามารถที่จะเลี้ยงชีพตัวเองไว้ได้ แล้วก็เป็นคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้พร้อมกัน ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ได้มันจะทำให้เรามีนักเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วประเทศและค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรม ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นและน่าสนใจมากและเป็นทิศทางที่ถูกต้องก็คือแบบคณะราษฎร เป็นการต่อสู้เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เขาเรียกร้องความเสมอภาค เขาตรวจสอบ เขาตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เหมือนกันผมคิดว่าถ้าเราสามารถทำลายวัฒนธรรมแบบเก่า วัฒนธรรมแบบลำดับชั้น วัฒนธรรมที่เห็นคนไม่เท่าเทียมได้ และปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพแบบเท่าเทียมกันได้ไปเรื่อยๆ โครงสร้างใหญ่มันจะถูกเปลี่ยนผ่านไปเองในอนาคตเอง”

สำหรับอุเชนทร์ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริง ดังนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องรื้อฟื้นอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากปัจจุบันความคิดเรื่องการเมืองภาคประชาชนสวนทางกับการ Democratization และยุคสมัย

“เพราะฉะนั้นไม่มีประโยชน์ ให้มันตายไปแหละดีแล้ว”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท