ทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน หนีออกนอกประเทศหลังตอลีบันยึดอำนาจ

ทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานพร้อมครอบครัวเดินทางหนีออกจากประเทศไปยังปากีสถาน หลังจากที่กลุ่มตอลีบันยึดอำนาจ ทำให้มีการห้ามผู้หญิงเล่นกีฬาอีกครั้ง

อัฟกานิสถาน

ทีมนักฟุตบอลทีมชาติหญิงของอัฟกานิสถานหนีออกจากประเทศข้ามไปยังพรมแดนของปากีสถานเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 หลังจากที่กลุ่มตอลีบันยึดอำนาจรัฐบาลกลับมาเป็นของตัวเองอีกครั้ง

ผู้ที่เปิดเผยในเรื่องนี้คือ ฟาวาด เชาดรี รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของปากีสถาน โดยที่กลุ่มนักกีฬาต่างก็เข้าสู่ปากีสถานผ่านพรมแดนเมืองทอร์คัมทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยที่ทุกคนมีเอกสารเดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันที่ 16 ก.ย. 2564 คาลิดา โปปาล อดีตกัปตันทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานเปิดเผยว่าเธอได้ให้ความช่วยเหลือในการอพยพย้ายข้ามพรมแดนของทีมฟุตบอลหญิงเหล่านี้และมีทีมฟุตบอลหญิงรุ่นเยาวชนมากกว่า 79 คนรวมถึงครอบครัวของพวกเธอสามารถออกจากอัฟกานิสถานได้สำเร็จ พวกเขาทำสำเร็จได้ในครั้งนี้เป็นเพราะการสนับสนุนจากทีมงานของมูลนิธิโรกิตด้วย

เชาดรี ระบุว่าพวกเขายินดีต้อรับทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานที่เดินทางข้ามพรมแดนจากเมืองทอร์คัม โดยที่นักกีฬาเหล่านี้มีหนังสือเดินทางของอัฟกานิสถานและวีซาของปากีสถาน โดยมี นูวมาน นาดีม จากสหพันธ์ฟุตบอลปากีสถาน (PFF) เป็นคนไปรับ ขณะที่รองประธานของ PFF อามีร์ โดการ์ กล่าวว่าผู้ที่ช่วยเหลือในการอพยพสำเร็จมาจากทั้งเจ้าหน้าที่ของ PFF และของรัฐบาลปากีสถาน

แม่ของนักกีฬารายหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าเธอชื่อนาฟีซา แม่ของฟาติมา ลูกสาวของเธอเป็นนักฟุตบอลหญิงจากเมืองเฮราตในอัฟกานิสถาน เธอขอบคุณผู้คนที่ช่วยเหลือพวกเขาให้เดินทางมายังปากีสถานได้

นาฟิซาบอกอีกว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานก่อนหน้านี้ส่งเสริมลูกสาวของเธอในเรื่องการกีฬา แต่รัฐบาลจากกลุ่มติดอาวุธตอลีบันห้ามไม่ให้ลูกสาวของเธอและผู้หญิงคนอื่นๆ เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมออกกำลังกาย ลูกสาวของเธออยากเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและอยากเล่นฟุตบอลด้วย

นอกจากกลุ่มนักฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน ในช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมามีนักกีฬาหญิงจำนวนมากที่ได้รับการอพยพผ่านทางเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังออสเตรเลียหลังจากที่กลุ่มตอลีบันยึดอำนาจ

มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่ออัลจาซีราว่าการสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเล่นกีฬานี้เป็นกฎแบบเดียวกับที่กลุ่มตอลีบันเคยบังคับใข้ในช่วงที่พวกเขายึดอำนาจครั้งแรกเมื่อช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 1990

ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนอย่างเป็นทางการว่ามีนักกีฬาอัฟกันที่อพยพออกจากประเทศในครั้งนี้รวมกี่ราย อย่างไรก็ตามจากการให้สัมภาษณ์ของ ฮาเลย์ คาร์เตอร์ ผู้ช่วยโคชของทีมหญิงอัฟกานิสถานก็ให้สัมภาษณ์ว่ามีการอพยพนักกีฬาอัฟกัน เข้าหน้าที่และครอบครัวของพวกเขาไปในที่ปลอดภัยแล้ว 86 ราย

หลังจากที่ทีมนักกีฬาและคนอื่นๆ เดินทางข้ามพรมแดนแล้วพวกเขาก็เดินทางต่อไปที่เมืองลาฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ของปากีสถาน โดยได้รับการต้อนรับด้วยช่อดอกไม้ สำหรับนักกีฬาหญิงรุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี 16 ปี และ 18 ปี ต่างก็เดินข้ามพรมแดนด้วยชุดบุรกาซึ่งเป็นชุดคลุมแบบที่ใช้ในอัฟกานิสถานและในประเทศมุสลิมบางพื้นที่ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาเป็นชุดผ้าคลุมศีรษะ โดยที่ในตอนนี้ยังไม่มีแผนการว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกันต่อ

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตอลีบันเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อออสเตรเลียว่า "มันไม่จำเป็น" ที่ผู้หญิงจะต้องเล่นกีฬา แต่ในวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา อธิบดีการกีฬาคนใหม่ของอัฟกานิสถาน บาชีร์ อาห์หมัด รัสทัมไซ ก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอัฟกานิสถานกำลังตัดสินใจในเรื่องนี้อยู่

เรียบเรียงจาก
Members of Afghan women's youth football team arrive in Pakistan, CNN, 16-09-2021
Afghanistan women’s football team flees to Pakistan, Aljazeera, 15-09-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท