COVID-19: 18 ก.ย. 64 ไทยพบผู้ติดเชื้อ 14,109 คน เสียชีวิต 122 คน

ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 14,109 คน หายป่วยเพิ่ม 13,280 คน เสียชีวิต 122 คน และมีผู้ที่ผลตรวจ ATK เป็นบวก 3,117 คน ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนสะสม 43.6 ล้านโดส - สปสช.สรุป 2 วันแจก ATK 29,686 ชุด รายงานผลบวก 11 คน - กรมควบคุมโรค เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ครบ 50% ต.ค. 2564 นี้

18 ก.ย. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14,109 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 11,892 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,357 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 854 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 6 คน ผู้ป่วยตั้งแต่ 1 เม.ย.64 สะสม 1,434,038 คน หายป่วยเพิ่ม 13,280 คน หายป่วยสะสม 1,290,101 คน กำลังรักษา 130,128 คน เสียชีวิต 122 คน

ขณะที่กรมควบคุมโรค รายงานว่า มีผู้ป่วยอาการหนัก 3,701 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 760 คน ส่วนผลการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) พบเป็นบวก (ติดเชื้อ) 3,117 คน ยอดสะสม 121,022 คน

นอกจากนี้ ภาพรวมการได้รับวัคซีนสัสม 43,616,896 โดส เป็นการฉีดเข็มที่ 1 สะสม 28,436,015 คน เข็มที่ 2 สะสม 14,285,995 คน เข็มที่ 3 สะสม 894,886 คน

สปสช.สรุป 2 วันแจก ATK 29,686 ชุด รายงานผลบวก 11 คน

หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอขอรับชุดตรวจ COVID-19 แบบ ATK ได้ฟรี เริ่มตั้งแต่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ภาพรวม 2 วันที่ผ่านมา สรุปผลแจก ATK แล้ว 29,686 ชุด 14,843 คน ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" 14,833 คน ผ่าน อสม. 10 คน

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการตรวจ กลุ่มที่มีอาการ 6,902 คน พื้นที่เสี่ยง 13,375 คน กลุ่มที่ใกล้ชิดผู้ป่วย 13,940 คน ผลการตรวจ

- ประชาชนที่รับ ATK บันทึกผลแล้ว 806 ชุด
- รอบันทึกผล 28,880 ชุด
- พบผลบวก 11 คน (กทม. 8 คน สมุทราปราการ 2 คน และนนทบุรี 1 คน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนเดินทางไปขอรับชุดตรวจหาเชื้อ ATK ที่กระจายไปตามร้านขายยาใน กทม.และปริมณฑล และบางจังหวัดกลุ่มสีแดง มีหลายเหตุผลของการมารับชุดตรวจ ของประชาชนทั้งการพบความเสี่ยง การพบผู้ติดเชื้อ การไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากการซื้อชุดตรวจ มาตรวจเอง ที่มีราคาขาย 300-400 บาท และการสุ่มตรวจตัวเองเป็นระยะๆ ในช่วงที่กทม.ยังเป็นพื้นที่การระบาด

สุ่มตรวจคุณภาพ ATK กว่า 1.1 แสนชุด

ขณะที่ภาพรวมช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีประชาชนทยอยขอรับชุดตรวจแล้ว รวมแล้วกว่า 20,000 ชุด โดยแจ้งขอรับได้ ผ่านการลงทะเบียนทาง แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" และต้องตอบคำถาม 3 ข้อ เพื่อประเมินความเสี่ยง สถาณการณ์กระจายชุดตรวจที่ช่วงสุดสัปดาห์นี้จะกระจายได้เพิ่มมากขี้น โดยเหตุผลหลักของการกระจายล่าช้า มาจากการตรวจรับรองคุณภาพจากห้องแลป โรงพยาบาลรามาธิบดี

ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับการแจกชุดตรวจ ตามโครงการของ สปสช. ดำเนินการ มีการแจกรวม 8.5 ล้าน ชุด ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม นำเข้ามาแล้ว 3.3 ล้านชุด ส่งไปสุ่มตรวจสอบคุณภาพที่แลปโรงพยาบาลรามาธิบดี และทยอยแจ้งผลตรวจสอบ ผ่านคุณภาพแล้วกว่า 110,000 ชุด ที่นำมาสู่การกระจายในขณะนี้

กรมควบคุมโรค เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ครบ 50% ต.ค. 2564 นี้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ว่า ภาพรวมขณะนี้ดีขึ้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่อยู่กับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ได้อย่างเคร่งครัดตามมาตรการป้องกันตนขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง งดไปในสถานที่แออัด เป็นต้น ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-16 ก.ย.64 ฉีดวัคซีนรวม 43,342,103 โดส โดยฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 14,285,995 โดส และฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 28,436,015 โดส ซึ่งฉีดได้ประมาณ 9 แสนโดสต่อวัน พร้อมทั้งเร่งรัดให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้ ร้อยละ 50 อย่างช้าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ตามเป้าของกระทรวงสาธารณสุข

“กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนระดมพลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน 1 ล้านโดสเป็นอย่างน้อยในทุกเข็ม ในวันมหิดล วันที่ 24 กันยายน 2564 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีด ขอให้รีบรับบริการฉีดวัคซีนที่สถานบริการใกล้บ้าน” นายแพทย์โอภาส กล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยมี 4 ชนิด คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ ซึ่งผ่านการรับรองทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดเข็มที่ 1 คือ ซิโนแวคและเข็มที่ 2 แอสตราเซเนกา ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จากผลการศึกษาวิจัยในประเทศพบว่า วัคซีนทั้งสองชนิดนี้จะเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ใช้เวลาสั้นกว่าวัคซีนสูตรปกติ รายใดที่พบว่ามีปัญหาแพ้วัคซีนเข็มแรก เช่น มีผื่นขึ้นบวมแดงหรือหายใจติดขัด จะเปลี่ยนชนิดที่มีความปลอดภัยแทน ทั้งนี้ จะฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้แก่ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากภูมิคุ้มกันเริ่มลดลงหลังฉีด 3-6 เดือน โดยประชาชนที่จะเข้ารับการฉีด จะได้รับการแจ้งข้อความ SMS ผ่านทางแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือลงทะเบียนที่สถานพยาบาลเดิม และเข้ารับบริการที่จุดฉีดวัคซีนกลางในแต่ละพื้นที่กำหนด เช่น ในกรุงเทพฯ ที่สถานีกลางบางซื่อ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มนักเรียน 12-17 ปี ที่จะเริ่มฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 1 ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ จะคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามเจตจำนงของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการระบบการฉีดให้รัดกุมและมีความปลอดภัยสูงสุด

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท