'ก้าวไกล' เรียกร้องทบทวน 'โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล' ชี้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม-ไม่คุ้มค่า

ส.ส.พรรคก้าวไกล เรียกร้องทบทวน 'โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล' ชี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่กระบวนการเร่งรีบ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้าน 'พิธา' ระบุอาจจะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง กระทบพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 2,735 ไร่ กระทบวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนโดยรอบอย่างมหาศาล

โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล
โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายมานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 

นายมานพ ระบุว่าการจัดทำ EIA มีกระแสคัดค้าน ข้อท้วงติงและข้อร้องเรียนทั้งจากประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มนักวิชาการ และเครือข่ายประชาสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 70,000 ล้าน เป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนหลายพื้นที่ โดยตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการผลักดันโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเร่งรีบ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งควรมีการไปถึงประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีประเด็นความกังวลการสูญเสียพื้นที่ป่า การสูญเสียสมดุลนิเวศสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนที่จะไม่สามารถชดเชยหรือนำกลับคืนมาได้อีกอย่างถาวร

ด้านนายอภิชาติ ในฐานะประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐต้องทบทวน ศึกษา และรับฟังความเห็นเพื่นำไปประกอบการตัดสินใจในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควรรับฟังความเห็นรอบด้าน ไม่ควรเร่งรีบ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยจะเชิญประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูลและนำส่งไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2564 ระบุว่า "เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ ประวิตร เป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของ “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 70,675 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านและข้อท้วงติงจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน"

"เมื่อผมได้อ่านรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเงินของโครงการ ผมมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประการ โดยก่อนอื่นผมต้องเท้าความก่อนว่า โครงสร้างพื้นฐานจะมีการประเมินทั้งความคุ้มค่าทางการเงินและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยความคุ้มค่าทางการเงินของโครงสร้างพื้นฐานมักจะติดลบเป็นเรื่องปกติ แต่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจควรจะเป็นบวก ซึ่งจะหมายถึงว่าโครงการไม่คุ้มค่าทางธุรกิจแต่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยจากหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการของสภาพัฒน์ระบุว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงสร้างพื้นฐานควรจะมากกว่า 12%"

"ดังนั้น ข้อสังเกตประการแรกของผมคือ ซึ่งทางอาจาร์เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center - ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกันก่อนที่รายงาน EIA ของโครงการจะได้อนุมัติ คือโครงการนี้ตั้งสมมุติฐานให้ตัวเลขมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยอนุมานว่าเกษตรกรจะเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูกจากข้าวนาปรังเป็น ข้าวโพด แตงโม บ่อปลา และไม้ผล หากมีน้ำเพิ่มขึ้น  ซึ่งอันที่จริงแล้วหากรัฐบาลทุ่มเงินลงไป 7 หมื่นล้านบาทแล้วเกษตรกรไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ 7.04% เท่านั้นคือไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่ตัวเลขต้องถึง 12%"

"การอนุมานว่าประชาชนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนโครงการจึงจะคุ้มค่าก็คงเปรียบได้กับการสร้างสนามฟุตบอลราคาแพงในชุมชนที่เยาวชนเล่นบาสเก็ตบอล แล้วคาดหวังว่าเด็กจะเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอล"

"ข้อสังเกตประการที่สองของผมคือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานนี้ประเมินความคุ้มค่าจากมูลค่าปัจจุบัน (NPV) โดยใช้ Discount rate เพียง 8% เท่านั้น ซึ่งถึงแม้ในรายงานจะให้เหตุผลว่ามาจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ต่ำ แต่การใช้ Discount rate สำหรับโครงสร้างพื้นฐานโดยปกติจะใช้ตัวเลขที่ 12%"

"จากข้อสังเกตทั้งสองประการ ถ้าการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการคำนวนอย่างตรงไปตรงมาทั้งหมด ไม่ได้มีการอนุมานว่าพฤติกรรมของเกษตรกรจะเปลี่ยนไป และใช้ Discount rate ที่ 12% เช่นเดียวกันกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) ของโครงการในด้านเศรษฐกิจจะติดลบถึง 19,284 ล้านบาท"

"ผมขอย้ำนะครับว่ามูลค่าที่อาจจะติดลบ 19,000 ล้านบาท ไม่ใช่มูลค่าทางการเงินของโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดทุนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของโครงการที่ได้ประโยชน์น้อยกว่าต้นทุน เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าชดเชย ต่าง ๆ ทั้งหมด"

"นอกจากนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำ EIA ของโครงการก็มีข้อน่ากังขาอยู่มากมาย ดังที่ปรากฎในข่าวว่าเมื่อปี 2563 กรมชลประทานได้เชิญผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมแต่ผู้แทนชุมชนได้ปฏิเสธไปเนื่องจากจัดประชุมในฤดูฝนทำให้การเดินทางด้วยถนนลูกรังบนภูเขามีความอันตราย แต่ต่อมาก็ปรากฎในรายงาน EIA ว่ามีการนำรูปบุคคลกลุ่มหนึ่งมาใช้ โดยทำให้เข้าใจในรายงานว่ามีการหารือกับประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่บุคคลที่ถูกอ้างถึงในรายงานได้ให้สัมภาษณ์การสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่า ในภาพเป็นเพียงการนัดพบตามร้านกาแฟหรือร้านลาบเท่านั้น และได้ยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลมาใช้ในรายงาน EIA จนเกิดเป็นสมญานามของรายงานฉบับนี้ในสื่อมวลชนว่า “EIA ร้านลาบ”"

"โครงการนี้จะกระทบพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 2,735 ไร่ กระทบวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนโดยรอบอย่างมหาศาล กระทบวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่มีที่ดินตามแนวขุดอุโมงค์ผันน้ำ ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงเลยในรายงาน  โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ควรจะมีกระบวนการพิจารณาที่ละเอียด รัดกุม ตรงไปตรงมาไม่มีเล่ห์กลของตัวเลข และมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด"

"ดังนั้นผมจึงมีความเห็นว่าโครงการผันน้ำยวม 7 หมื่นล้านบาทนี้ ควรมีการทบทวนความคุ้มค่าของโครงการ ที่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และควรมีการทบทวนรายงาน EIA ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และขอคัดค้านโครงการที่จะเข้าสู่การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีถ้าหากโครงการนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าจะมีความคุ้มค่าอย่างแท้จริง และประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท