COVID-19: 19 ก.ย. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 13,576 คน เสียชีวิต 117 คน

ศบค. รายงานพบผู้ป่วยใหม่ 13,576 ราย สะสม 1,476,477 ราย รักษาหาย 12,492 ราย หายสะสม 1,330,238 ราย เสียชีวิต 117 ราย เสียชีวิตสะสม 15,363 ราย

โควิด 19 ก.ย. 2564

19 ก.ย. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ โรค COVID-19 ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวม 13,576 คน จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 12,048 คน ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,120 คน ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 395 คน

ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 13 คน ผู้ป่วยสะสม 1,447,614 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) หายป่วยกลับบ้าน 12,492 คน หายป่วยสะสม 1,302,593 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) ผู้ป่วยกำลังรักษา 131,095 คน เสียชีวิต 117 คน

ขณะที่ เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แล้ว 228,897,177 คน เสียชีวิต 4,698,879 คน โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ติดเชื้อสะสมมากสุด42,857,066 คน และเสียชีวิตแล้ว 205,494,888 คน รองลงมาคือ อินเดีย บราซิล สหราชอาณาจักร รัสเซีย

วันมหิดล สธ.ระดมฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 ล้านโดส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกเข็มอย่างน้อย 1 ล้านโดส ในวันมหิดล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 ก.ย.2564 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

จึงขอเชิญชวนประชาชน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้ารับการฉีดได้ที่สถานบริการใกล้บ้าน โดยขณะนี้วัคซีนที่ไทยใช้มี 4 ชนิด คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์

สำหรับวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดเข็มที่ 1 คือ ซิโนแวค และเข็มที่ 2 แอสตราเซเนกา ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จากผลการศึกษาวิจัยในประเทศ พบว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ใช้เวลาสั้นกว่าวัคซีนสูตรปกติ แต่หากรายใดพบปัญหาแพ้วัคซีนเข็มแรก ก็จะเปลี่ยนชนิด

ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. - พ.ค.ที่ผ่านมา จะได้รับแจ้งข้อความ SMS ผ่านทางแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือ ลงทะเบียนที่สถานพยาบาลเดิม และเข้ารับวัคซีนในพื้นที่กำหนด เช่น กทม. ที่สถานีกลางบางซื่อ

สำหรับกลุ่มนักเรียน 12-17 ปี ที่จะเริ่มฉีดไฟเซอร์เข็มที่ 1 ในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ จะคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามเจตจำนงของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ บริหารจัดการระบบการฉีดให้รัดกุม และมีความปลอดภัยสูงสุด

ภาพรวมการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 16 ก.ย. 2564 ฉีดวัคซีนรวม 43,342,103 โดส ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 14,285,995 โดส และฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว จำนวน 28,436,015 โดส โดยเร่งรัดให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้

ขณะที่วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 13,576 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 1,476,477 คน และมีผู้เสียชีวิตอีก 117 คน รวมมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว 15,363 คน ขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ 12,492 คน เหลือรักษาตัวในโรงพยาบาล 131,095 คน

ระดม CCR Team ค้นหาผู้ติดเชื้อ จ.ภูเก็ต สร้างเชื่อมั่นท่องเที่ยว

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการนำร่องเพื่อรองรับการเปิดประเทศที่ จ.ภูเก็ต Phuket Sandbox เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับคนในจังหวัดจนเกิดความครอบคลุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงเตรียมมาตรการทางด้านสาธารณสุขรองรับเพื่อการเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ถึงขณะนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30,000 ราย ยังไม่พบการแพร่ระบาดในกลุ่มนักท่องเที่ยว พบเพียงผู้ติดเชื้อจากระบบคัดกรอง 96 ราย อย่างไรก็ตามจากรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ภูเก็ต ที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 200 กว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติมาทำงาน เช่นในวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 242 ราย ในจำนวนนี้พบนักท่องเที่ยว 1 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไม่นิ่งเฉย ระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์ จากชมรมแพทย์ชนบทในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 เป็นหน่วยเชิงรุก CCR Team ลงพื้นที่ค้นหาผู้ติดเชื้อ ในชุมชนที่พบคลัสเตอร์ใน จ.ภูเก็ต จำนวน 9 ทีม ด้วยวิธีการตรวจโดย ATK ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้าดูแลรักษาตามระบบ รวมฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มแรงงานและคนในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เร่งสร้างความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

นายแพทย์ยงยศกล่าวต่อว่าการลงพื้นที่เชิงรุกของ CCR Team ครั้งนี้ ตั้งเป้าการตรวจจำนวน 25,000 คน ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จะนำเข้าระบบ Home Isolation รวมถึงจ่ายยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลตนเอง หรือหากมีอาการจะนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลซึ่งยังมีเตียงทุกระดับเพียงพอในการดูแลผู้ติดเชื้อ โดย CCR Team ชุดนี้จะลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 23 ก.ย. 2564 นอกจากนี้ได้จัดตั้ง “คลินิกอุ่นใจ” ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ ให้บริการครบวงจร มีการตรวจยืนยันผู้ที่อาจติดเชื้อจากการตรวจ ATK ด้วยตนเองเข้าระบบการรักษา มีเอกซเรย์เคลื่อนที่ และเปิดศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 20 คู่สาย สำหรับให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

สปสช.ขอ ปชช.กลุ่มเสี่ยงรับ ATK แล้วตรวจโควิดทันที หลังรับกว่า 1.2 แสนชุด แต่ตรวจแค่ 6% 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้ดำเนินการนโยบายแจกชุดตรวจ “แอนติเจน เทสต์ คิท” (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง โดยเริ่มแจกจ่าย ATK แล้วเมื่อวันที่ 16 ก.ย. เป็นวันแรก จากข้อมูลองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้แบ่งการตรวจรับ ATK เป็น 4 งวด งวดที่ 1 จำนวน 1.167 ล้านชุด ตรวจรับเรียบร้อยแล้ว และมีการกระจายไปที่ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. รวมถึงหน่วยบริการในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เขตสีแดงเข้มที่จัดส่งแล้ว คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สระบุรี นนทบุรี ตาก และอุตรดิตถ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนงวดที่ 2 และงวดที่ 3 จำนวน 2.155 ล้านชุด และ 1.4 ล้านชุด ตรวจรับแล้วเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. และจัดส่งไปยังหน่วยบริการในเขต 4, 5, 6, 11 และเขต 12 เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ส่วนงวดที่ 4 จำนวน 3.778 ล้านชุด ที่เป็นล็อตสุดท้าย จะมีการตรวจรับอีกครั้งในวันที่ 22 ก.ย. นี้ โดยจะทยอยส่งให้กับหน่วยบริการในเขต 1, 2, 3, 8, 9 และเขตที่ 10 ต่อไป 

โดยภาพรวมวันที่ 19 ก.ย. 64 ณ เวลา 15:05 น. มีประชาชนรับชุดตรวจ ATK แล้วทั้งสิ้นจำนวน 60,691 ราย รวมจำนวน 121,922 ชุด ในจำนวนนี้เป็นการขอรับผ่านแอปเป๋าตัง 60,944 ราย ส่วนอีก 17 ราย เป็นการแจกโดย อสม. และขณะนี้พบผลเป็นบวก 54 ราย ได้แก่ กทม. 34 ราย สมุทรปราการ 9 ราย นนทบุรี 5 ราย ภูเก็ต 3 ราย สระบุรี 2 ราย และอยุธยา 1 ราย ซึ่งเข้าสู่ระบบการรักษาตามขั้นตอนแล้ว  

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลรายงานการรับชุดตรวจ ATK พบว่า ประชาชนที่รับชุดตรวจ ATK มีการบันทึกผลตรวจเข้ามาในระบบเพียง 6,947 รายเท่านั้น หรือคิดเป็น 6% จากจำนวนชุดตรวจ ATK ที่แจกไป ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่รับ ATK ไปแล้ว ขอให้รีบตรวจหาเชื้อโดยเร็ว เพื่อที่จะได้เข้าสู่ระบบติดตามและเฝ้าระวัง ที่จะมีผลต่อการลดการแพร่ระบาดในประเทศ  

“ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่รับชุดตรวจ ATK ไปแล้ว ขอความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเร็ว และรายงานผลการตรวจผ่านระบบเป๋าตัง เพื่อที่จะนำไปสู่การรักษาและลดการแพร่ระบาดต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท