คาร์ม็อบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ เริ่มแล้ว

19 ก.ย.2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่แยกอโศก กลุ่มประชาชนและคนเสื้อแดงมารวมตัวกันทำกิจกรรมคาร์ม็อบในวาระ 15 ปี คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 23.50 น. โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า

ผู้ชุมนุมเริ่มตั้งขบวนคาร์ม็อบที่แยกอโศก โดยด้านหน้าขบวนเป็นรถแท๊กซี่ และรถของ บก.ลายจุด ตามด้วยขบวนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ตามกำหนดการที่ เต้น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อประกาศไว้ว่าขบวนจะเริ่มออกเดินทาง 15.00 น.ไปตามเส้นทางถนนพระราม 4 และจบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้การปราศรัยจะเป็นการปราศรัยผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

14.30 น. ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เดินทางมาถึงแยกอโศกดินแดงและให้สัมภาษณ์กับสื่อที่รอทำข่าวว่าการเคลื่อนขบวนรถต่อต้านเผด็จการนวมทอง ไพรวัลย์เป็นจุดเริ่มต้นของต่อต้านรัฐประหารดังนั้นในวาระนี้ผมจึงประกาศ “19 กันยา คาร์ม็อบขับรถยนต์ชนรถถัง” ซึ่งมีสัญลักษณ์รถถังจำลองและรถแท็กซี่เสมือนหนึ่งรถแท็กซี่ของนวมทอง จะขับชนรถถังก่อนเคลื่อนขบวนในวันนี้

ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่าจะประกาศการต่อสู้ต่อเนื่องให้สอดคล้องกับสถานการณืที่เป็นจริงมากที่สุด เราไมได้กดดันตัวเองนะครับว่าจะต้องชนะวันนี้พรุ่งนี้ พวกเขามายืนตรงนี้เพื่อยืยันว่า 15 ปีผ่านมาแล้วคนพวกนี้ก้ยังสู้ ไม่ว่าจะผ่านรัฐประหารมากี่ครั้งหรือว่าจะมีอีกหรือไม่ ก็ยังสู้ประชาชนไม่ได้

“จะแสดงให้เห็นอำนาจเผด็จการและเครือข่ายอิทธิพลเบื้องหลังทั้งหมดไว้ว่า ไม่ว่าท่านจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่หัวใจประชาชนใหญ่กว่า ไม่ว่ารถถังที่ท่านใช้ยึดอำนาจจะยิ่งใหญ่เพียงใดแต่เทียบไม่ได้เลยกับแท็กซี่ที่ขับโดยนวมทอง ไพรวัลย์” ณฐวุฒิกล่าวต่ออีกว่าการไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พล.อ.ประยุทธ์และพวกก็ต้องรู้ว่าการจะเอาชนะประชาชนผู้รักระชาธิปไตยที่สู้กันมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน

ถ้านับเวลา 15 ปีก็จะพบว่าพล.อ.ประยุทธ์คือคนที่มีอำนาจและมีโอกาสสูงที่สุดในการแก้ปัญหาของประเทศเพราะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ เกิดครึ่งของเวลา 15 ปีแต่ประเทศยิ่งถอยหลังพังทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปและสร้างการปรองดอง ไม่ได้ปรากฏความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมีแต่ความบอบช้ำของสังคมและมีแต่ความขัดแย้งของประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการรับมือกับโควิด-19 จนมี คนเจ็บคนตายมีคนที่ธุรกิจล้มทั้งบ้านทั้งเมืองจึงขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์พอเสียที

ณัฐวุฒิกล่าวอีกว่าพล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมากเกินไป นานเกินไป และเมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ควรคิดถึงประชาชนคนไทยบ้าง และควรที่จะถอนตัวออกจากอำนาจ และหากพล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งต่อก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางการเมืองแย่ยิ่งไปกว่านี้จากความขัดแย้งภายในฝ่ายรัฐบาลของพวกเขาเอง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ตัดสินใจลาออกด้วยตนเอง ประชาชนก็จะต่อสู้ถึงที่สุดด้วยสันติวิธีเพื่อให้บรรลุผลให้ได้แม้ว่าวันนี้จะไม่ใช่การต่อสู้ครั้งสุดท้ายแต่ทุกวันคือการต่อสู้และประชาชนจะไม่ยอมแพ้

ทั้งนี้ณัฐวุฒิกล่าวว่า แนวทางต่อไปจะขอประเมินสถานการณ์หลังจบการชุมนุมวันนี้ก่อน เพราะว่าโควิด-19 เป็นข้อจำกัดใหญ่จริงๆ เพราะเวลาจะเคลื่อนไหวต่อสู้ก็ไม่สามารถมองข้ามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ และการจะชุมนุมเคลื่อนคนจำนวนมากเช่นการชุมนุมในอดีตตอนนี้ไม่สามารถทำได้ แต่การเคลื่อนขบวนรถวันนี้เขาคิดว่าจะเป้นการเคลื่อนขบวนที่ใหญ่กว่าคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2564

จากนั้นณัฐวุฒิขึ้นปราศรัยก่อนขบวนจะออกเดินทางว่าวันนี้ในวาระครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรามารวมกันที่นี่มาเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบกันวันนี้เพื่อประกาศยืนยันต่อประชาชนทั่วประเทศและคนทั่วโลกว่า เผด็จการ ปี 49 และเผด็จการยุคปัจจุบันมันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน และเป็นความเจ้บปวดต่อเนื่องของคนไทยมาตลอด 15 ปี พี่น้องครับ ผมบอกกับพี่น้องว่าตลอดเส้นทางของวันนี้พี่น้องดูมือถือในเวทีออนไลน์ พี่น้องทอดสายตาไปไกลๆ พี่น้องมองไปบนสะพานลอยจะมีเรื่องราวขับไล่เผด็จการไปตลอดเส้นทางตั้งแต่แยกอโศกไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“เรามาที่นี่เพื่อที่จะบอก สนธิบุญรัตกลิน เราบอกประยุทธ์ เราบอกผู้ที่อยุ่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเผด็จการพวกนี้ว่าไม่วาสคุณจะใหญ่แค่ไหน แต่หัวใจประชาชนมันใหญ่กว่า เรามา เพื่อยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องออกจากตำแหน่งไปทันทีรอไมได้แม้แต่วันเดียวนาทีเดียว หากประยุทธ์ จันทร์โอชายังเพิกเฉยการต่อสู้ขับไล่ในนามประชาชนก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป วันนี้ครบรอบ 15 ปีเราสู้เรายังอยู่เรามารวมกันที่นี่เพื่อให้พี่น้องเราที่ถูกฆ่าตายที่ถูกอุ้มหายที่ถูกขังคุกที่ต้องหลบลี้หนีภัยไปต่างแดนที่ต้องประสบภัยมากมายได้รู้ว่าหัวใจนี้ยังสู้อยู่ให้ยังรู้ว่าเรายังมีกันและกันและรู้ว่าไม่ได้อยู่เดียวดายมีเพื่อนผู้รักประชาธิปไตยอยู่ในแผ่นดินไทย”

“เผด็จการเหล่านี้อ้างว่ายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหาประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผมไม่เชื่อมันขึ้นชื่อว่าเผด็จการ รัฐประหาร มันคือโจรปล้นอำนาจประชาชนเท่านั้นไม่ใช่อย่างอื่น มันไม่มีโรบินฮูดแห่งป่าเชอร์วู้ด ไม่มีเผด็จการที่ปล้นคนรวยมาช่วยคนจนมันมีแต่เผด็จการที่เหมือนอยู่ในประเทศนี้ ปล้นคนจนปรนเปรอคนรวยยัดเยียดความเฮงซวยให้คนจนยิ่งโคตรจน”

“นายทหาร 3 ป.อยู่ในกองทัพมีบทบาทสำคัญแต่การรัฐประหาร 49 หลังจากนั้น อนุพงษ์ เผ่าจินดาเป็น ผบทบจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผบ.ทบ สมคบกับสุเทพ เทือกสุบรรณยึดอำนาจแล้วสืบทอดอำนาจมีรัฐธรรมนูญ 60 ผูกขาดอำนาจไว้กับตัวเองแล้วก็ยังหน้าด้านจะอยู่ต่อไป กองทัพที่ต้องเป็นรั้วของชาติที่ต้องปกป้องประเทศตอนนี้แทบจะกลายเป็น 1 ในพรรคการเมือง ของประยุทธ์และพวก วันนี้กองทัพมีหน่วยไอโอ มีหน่วยโฆษณาชวนเชื่อ ปฏิบัติกับประชาชนเยี่ยมศัตรูคู่อาฆาต พี่น้องเรารักกองทัพ”

“เราไม่ได้เกลียดทหารแต่เราเกลียดชังนายทหารเผด็จการที่ย่ำยีกองทัพแล้วใช้กองทัพย่ำยีประชาชน คนพวกนี้ยึดกุมอำนาจในกองทัพ มีเรือดำน้ำเป็นอาหารมีชาวบ้านเป็นศัตรูมีคู่ต่อสู้เป็นเยาวชน เราจะไม่ยินยอมอยุ่ภายใต้อำนาจนี้แม้คุณประกาศตัวว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แม้คุณประกาศตัวเป็นรัฐบาลคุณก็ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน คุณไม่เคยได้หัวใจประชาชน คุณไม่เคยได้ความรักจากประชาชนพี่น้องที่รักทั้งหลายให้เผด็จการรู้ว่าเรายังสู้ ให้เผด็จการมันได้ดูว่าเสียงคนตัวเล็กๆ เมื่อรวมกันจะเสียงดัง”

“15 ปีที่แล้วหลังยึดอำนาจ นวมทอง ไพรวัลย์เป็นผู้ขับแท็กซี่ คนตัวเล็กๆ ธรรมดาขับแท็กซี่คู่ชีพของตัวเองพุ่งชนรถถัง ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณยังจำนวมทอง ไพรวัลย์ได้มั้ย ถ้ายังจำไม่ได้ วันนี้เราจะขับแท็กซี่ชนรถถังอีกครั้งเพื่อรำลึกถึงนวมทอง ไพรวัลย์ ให้ประยุทธ์ จันทร์ดอชาและพวกได้รู้ว่าวันหน้าถ้าชัยชนะเป็นของประชาชน รถถังที่คุณใช้ยึดอำนาจจะเป้นเพียงเศษเหล็กในประวัติศาสตร์ หาได้ยิ่งใหญ่เท่าแท็กซี่ของนวมทอง ไพรวัลย์ไม่”

ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการจะมารบกับทหารแต่จะรบกับอำนาจของพ,อ.ประยุทธ์และพวกเท่านั้น อีกทั้งประเทศนี้ที่ว่างเว้นจากศึกสงครามมานานแล้วหลังจากศึกที่บ้านร่มเกล้า ในรอบ 30 ปีกำลังทหารอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของกองทัพใช้มากที่สุดคือการเอามาฆ่าคนเสื้อแดงกลางกรุงเทพฯ แต่ประชาชนก็ยังอยู่

หลังจากปราศรัยณัฐวุฒิสวมเครื่องแบบคนขับแท็กซี่ก่อนขึ้นรถแท็กซี่ไปขับชนรถถังเป็นสัญลักษณ์ก่อนที่ขบวนจะออกเดินทางตามกำหนดการ แต่หลังจากขบวนเริ่มออกเดินทางได้ไม่นานฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก

จากนั้นทางช่องของ UDD news Thailand ได้ให้ผู้ปราศรัยที่มีการประกาศผ่านเพจของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อผลัดเปลี่ยนกันมาออกไลฟ์ของช่อง

จากนั้นเวลา 16.40 น. ขบวนคาร์ม็อบบางส่วนโดยส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์เดินทางถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางด้านผู้ชุมนุมบางคนที่เดินทางมาถึงแล้วได้นำผ้าดำขึ้นไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ประมาณ 17.30 น. หลังจากขบวนบางส่วนเดินทางมาถึงแล้วมีการตั้งเวทีปราศรัย ณัฐวุฒิได้ขึ้นเวทีร้องเพลง "กันและกัน" ที่เขาบอกว่าแต่งขึ้นในระหว่างที่ต้องโทษถูกขังในเรือนจำ 2553 และปราศรัยและหลังจากนี้จะไม่ต้องแต่งเพลงในเรือนจำอีกแล้วเพราะประชาชนจะชนะเผด็จการ ผ่านมาแล้ว 15 ปี เผด็จการก็ยังไม่ชนะประชาชนและประชาชนก็ยังไม่ยอมแพ้ 

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ขึ้นเล่าว่าเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2549 เขาก็มาอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากเดินขบวนที่มีผู้เข้าร่วมราว 2000 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนนั้นเขายังรู้สึกแช่มชื่นที่มีประชาชนมาเข้าร่วมการต่อสู้กับเผด็จการในเวลานั้น เมื่อ 15 ปีที่แล้วหลายคนอาจจะมองว่าการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นในเวลานั้น แล้วยังมีการโต้เถียงว่าเป้นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ บางคนก้บอกว่าเป้นเรื่องจำเป็นที่จะไล่ทักษิณออกไปบางคนเถียงกันเรื่องนี้มันไม่จบเพราะคนจำนวนไม่น้อยก็อยากจะไล่ทักษิณ

สมบัติกล่าวต่อว่า 15 ปีผ่านมาแล้ว เขาอยากจะเรีกยร้องประชาชนที่เคยเชื่อว่าการแก้ปัญหาการเมืองไทยคือการเอาทหารมายึดอำนาจให้ประชาชนเหล่านี้ทบทวนว่า 15 ปีที่ผ่านมา ทักษิณยังอยู่หรือไม่ ตอนนี้ทักษิณที่กลายเป็นโทนี่ วู๊ดซัมไปแล้วแต่การต่อต้านรัฐประหารยังคงอยู่ ประชาธิปไตยก็ยังพยายามเรียกร้องพร้อมกับการตื่นตัวของประชาชนคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ดังนั้น 15 ปีมีรัฐประหารถึง 2 ครั้งเพราะว่า 19 กันยา เป็นการเปิดประตูให้กับอำนาจนอกระบบและทำให้ทหารเข้าสู่การเมืองไทย และนายกรัฐมนตรีในวันนี้ก็เป็นผู้นำในการยึดอำนาจแล้วก็ยังมีอำนาจอยู่ถึงทุกวันนี้นี่คือความล้มเหลวของสังคมไทย และ 15 ปีที่ผ่านมาถ้าการรัฐประหารมันดีก็ต้องมีเรื่องที่จับต้องได้แต่กลับนำพาประเทศถอยหลังและวิบัติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ 

สมบัติยังหวังอีกว่าคนที่เคยสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 19 กันยาฯ จะได้รับบทเรียนไม่ออกมาสนับสนุนแนวทางแบบนี้อีก แล้วถ้าอนาคตเกิดปัญหาวิกฤตการเมืองในไทยอีกเขาหวังว่าคนเหล่านี้จะมีความอดทนและใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา คืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ณัฐวุฒิขึ้นกล่าวปิดการชุมนุมเขากล่าวว่าการต่อสู้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเราก็ยังคงมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพราะมันมีคุณค่ากับประชาชนเท่านั้น แต่มันไร้ค่าในสายตาเผด็จการ ที่แห่งนี้มีสถานะเป็นเพียงศาลคนเศร้าของประชาชนี่รักประชาธิปไตยไใ่ว่าจะเจ็บปวดหรือต้องต่อสู้ก็มาที่แห่งนี้มีคนบาดเจ็บล้มตายก็ที่แห่งนี้

ณัฐวุฒิกล่าวอีกว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็รู้สึกเหมือนกันคือต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง และผ่านมาแล้ว 15 ปีคนที่เคยสนับสนุนรัฐประหารโดยที่ไม่รู้ตัวว่าทำประเทศเสียหายมามากแค่ไหนแล้วและทุกวันนี้ยังคงสนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่แม้ว่าจะยังเป็นเพื่อนร่วมชาติกันอยู่ไม่คิดร้ายกันทางส่วนตัวแต่ในทางการเมืองแล้วก็ขอให้ขาดกันและฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

ณัฐวุฒิกล่าวต่อว่าคนที่ยังสนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ให้ฟังเสียงประชาชนบ้าง ประชาชนเขาคิดพูดเรื่องอะไร ประชาชนเขาต้องการประชาธิปไตยจะอุ้มรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ต่อไปทำไมทั้งที่ไม่ได้มีความสามารถอะไรแก้ปัญหาภายในฝ่ายรับบาลเองก็ไม่ได้แล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างไร

ณัฐวุฒิกล่าวปิดท้ายว่าขอให้ประชาชนที่มาร่วมกันเก็บแรงเอาไว้เพื่อต่อสู้ต่อไปด้วยกันไม่มีอำนาจใดยิ่งใหญ่ไปกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชน ก่อนประกาศยกเลิกยุติการชุมนุมตามกำหนดการ 18.00 น.และขอให้ติดตามการนัดหมายการชุมนุมครั้งต่อไป

 

15 ปี รัฐประหาร 49

ภาพจากไลฟ์ของ UDD news Thailand

เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ศ.ศิวรักษ์ นักวิชาการรุ่นใหญ่ อัดคลิปวิดีโอตนเองส่งมาที่ช่อง UDD News เพื่อปราศรัยในกิจกรรมคาร์ม็อบ19กันยา ขับรถยนต์ชนรถถัง

สุลักษณ์ กล่าวว่า การรัฐประหารปี’49 โค่นล้มรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน แม้ว่าสิ่งที่ทักษิณทำ คือการกุมอำนาจในรัฐสภาอย่างเบ็ดเสร็จ จนรัฐสภากลายเป็นเสือกระดาษ ไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ ประชาชนก็มีสิทธิในการเคลื่อนไหวนอกสภา แต่การทำรัฐประหารเมื่อปี’49 คือความอัปลักษณ์ของทหาร ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ไม่ถูกกฎหมาย

สุลักษณ์ กล่าวต่อว่า เมืองไทยที่เกิดหายนะขณะนี้เป็นเพราะไม่มีใครมีความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยเฉพาะศาลตอนนี้เคยเป็นที่พึ่งได้ แต่ตอนนี้ศาลพลเรือนกลับไม่ประเทืองความกล้าหาญ ระบบศาลเละเทะจนน่าเอือมระอา มีการคอร์รัปชันกันภายใน ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลอื่นๆ ระบบมันเสียหมด

ดังนั้น สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ออกมาท้าทายไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

สุลักษณ์ ระบุว่า การจะแก้ปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น คือต้องกลับมาแก้ที่ระบบการศึกษา ที่ต้องปลูกฝั่งเรื่องความกล้าหาญจริยธรรม ต้องกล้าท้าทายอำนาจเผด็จการ และเชื่อว่าหลักอหิงสาสันติธรรม ถือเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการล้มเผด็จการ โดยยกบทเรียนการต่อสู้ด้านจริยธรรมต่อฮิตเลอร์ในยุโรป และการเรียกร้องเอกราชปลดปล่อยอินเดียจากอาณานิคมอังกฤษของมหาตมา คานธี

สำหรับคนคัดค้านการจัดม็อบไล่รัฐบาลช่วงนี้ ศ.ศิวรักษ์ มองว่าคนเหล่านี้ต้องการเอาตัวรอดจากโรคภัยไข้เจ็บส่วนตัวเท่านั้น แต่คนที่เขาออกมาชุมนุมร่วมคาร์ม็อบถือเป็นคนที่ยอมเสี่ยงทั้งโรคภัยส่วนตัว และโรคภัยทางสังคมด้วย ซึ่งโรคภัยทางสังคมคือการอยู่ภายใต้เผด็จการ เป็นโรคที่น่ากลัวกว่าโรคภัยส่วนตัวมาก

“คนที่เขาออกมา เขาเสี่ยงโรคภัยส่วนตัว เขาเสี่ยงโรคทางสังคมด้วย ออกมาชี้แนะให้เห็นอะไรคือความความดี อะไรคือความถูกต้อง คนชนชั้นกลางเปลี่ยนจิตสำนึกได้ มาร่วมกันผลักดันประยุทธ์ออกไป”

ศิวรักษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่าสมัยนั้นคนใช้เวลาถึง 16 ปี ถึงจะออกมาเรียกร้องกัน และเวลาใครเรียกร้องอะไรสฤษดิ์จับเอาเข้าคุกหมด ซึ่งสุดท้าย เหตุการณ์จบลงที่ถนอม (กิตติขจร) ประภาส (จารุเสถียร) ต้องหนีออกนอกประเทศ ดังนั้น ก็อยากให้ทุกคนอดทน อดกลั้น และเชื่อว่าพวกประยุทธ์ จะถึงจุดจบอย่างแน่นอน

“ตอนนี้รู้สึกมันมั่นคง แต่เรามองไม่เห็นความเปราะบาง และผมเชื่อว่าประยุทธ์ คงจะพังในเร็วๆ ตรงนี้ อดทนต่อไป แต่อดทนอดกลั้น และต้องใช้สมอง สู้กับประยุทธ์ต้องใช้สมอง สู้กับประยุทธ์ต้องสู้ด้วยความรัก อย่าไปเกลียดเขา รักประยุทธ์เหมือนรักหมาที่บ้าน… ผมเชื่อเลย ก่อนผมจะจากโลกนี้ไป คงไม่นานแล้ว ผม 88-89 ปี ผมเชื่อว่าพวกนี้จะถึงภัยพิบัติก่อนผมนะครับ ไม่ได้แช่งนะครับ ผมเชื่อว่าเป็นความจริง” สุลักษณ์ ทิ้งท้าย

ภาพจากไลฟ์ของ UDD news Thailand

รัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตคาซักสถาน เล่าถึงวันที่เกิดรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.2549 ว่า ตัวเขาเองกินเหล้าอยู่แถวสุขุมวิท ส่วนตำแหน่งในตอนนั้นผู้อำนวยการองพิธีการทูตซึ่งในหน้าที่รับแขกต่างประเทศมาเยือนไทยก็จะต้องดูแลเรื่องการต้นอรับระดับสูงทั้งหมด ปกติจะเป็นกองงานในยุครัฐบาลทักษิณที่มีงานยุ่งมากที่สุดหน่วยงานหนึ่งเพราะว่าจะมีแขกต่างประเทศมาเยือนประเทศไทยแต่หลัง 19 กันย 49เขาก็แทบตกงานเพราะไม่มีแขกต่างประเทศมาเยือนอีกเลยประเทศไทยตอนนั้นเหมือนหลุดไปจากเรดาร์ของโลก

อดีตทูตเล่าต่อว่า ในเวลานั้นประเทศไทยถือว่าเป็นดาวเด่นในภูมิภาคนี้ที่เป็นผู้นำทั้งด้านการทูตและเศรษฐกิจทั่วโลกเขาก็มองมาที่ไทย แล้วทักษิณเองก็รู้จักกับคนมากมายทั่วโลก เมื่อเกิดรัฐประหารก็กลายเป็นที่จับตาของทั้งโลกและส่งผลกระทบหนักเพราะต่างประเทศก็ไม่รับรองไทยเลยยกเว้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้แต่ประเทศรอบข้างก็ใช่ว่าจะชอบให้มีประเทศเพื่อนบ้านของตัวเองมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะถ้ามีประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาก้าวหน้ามันก็ช่วยกันฉุดให้ประเทศรอบข้างพัฒนาตามไปด้วย แต่ถ้าประเทศไหนตกต่ำลงก็ฉุดประเทศอื่นตกต่ำไปด้วย

รัศม์กล่าวอีกว่าการรัฐประหารครั้งนั้นยังทำให้ประเทศไทยถูกกีดกันจากต่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้กระทั่งการประชุมรัฐสภาโลกไทยก็ไมได้รับเชิญให้เข้าร่วม ตอนที่มีการประชุมอาเซียนที่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มาร่วมประชุมด้วยในเวลานั้นก็ไม่ยอมจับมือกับนายก ฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ที่ยืนข้างๆ กันยายน

แต่หลังจากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งแล้วประเทศต่างๆ ก็มีท่าทีดีขึ้นเพราะมาตรฐานประเทศในโลกที่เป้นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไมได้เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวมันเป็นเรื่องเศรษฐกิจธุรกิจด้วยเพราะยังมีเรื่องความโปร่งใสมีกฎระเบียบโลกเขาก็ไม่อยากเห็นไทยที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรืออย่างเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนของประเทศอื่นๆ เขาก็ไม่อยากเห็นผู้นำประเทศตัวเองไปคบกับประเทศที่ผู้นำมาจากการปล้นอำนาจของประชาชนเข้ามาแล้วละเมิดสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องน่ารังเกียจถ้าผู้นำของประเทศตัวเองไปคบกับประเทศที่ทำรัฐประหารเข้ามาผู้นำประเทศนั้นก็ต้องตอบคำถามของประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา นอกจากนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับธรรมาภิบาลลความโปร่งใสอีกที่มาพร้อมกับการมีประชาธิปไตย แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นเผด็จการแล้วมีความโปร่งใสมีธรรมภิบาลก็ไม่มีใครเชื่อ

รัศม์กล่าวต่อว่าตอนนี้เหมือนเป็นโชคร้ายของขบวนการประชาธิปไตยที่ประเทศไทยตอนนี้เหมือนไม่ได้รับความสนใจจากประเทศอื่นๆ แล้วซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเป็นต้นมาแล้วยังเจอรัฐประหารซ้ำเศรษฐกิจก็พังไปหมดแล้วชาวต่างชาติเขาก็ไม่สนใจแล้วปฏิกิริยาต่อรัฐบาลที่รัฐประหารเข้ามาก็ไม่รุนแรงเท่ากับตอนที่รัฐบาลทักษิณถูกทำรัฐประหารที่นานาชาติเรียกร้องให้ไทยต้องมีเลือกตั้งภายใน 1 ปี นอกจากนั้นสภาพการเมืองของไทยก็ซับซ้อนกว่าของพม่ามากไทยมีกลุ่มอำนาจหลายกลุ่มหลายเครือข่ายในทางการเมืองของไทยก็ยังมีภาพของการคอรัปชั่น

อดีตทูตกล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามถึงประเทศไทยจะไมได้รับความสนใจเท่าไหร่แล้ว แต่นานาชาติก็ยังหวังจะเห็นว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยอยู่ดีแล้วก็มีทิศทางที่จะเจริญต่อไปได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นประชาธิปไตยประเทศก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้

รัศม์ตอบคำถามนักข่าว UDD ถึงเรื่องขบวนการประชาธิปไตยในไทยว่า เขาเองก็ชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้ แล้วก้ขอโทษที่คนรุ่นเขาหรือก่อนหน้าเขาทำประเทศเสียหายไปพอสมควรแล้ว แต่ก็เห็นความตั้งใจและเห็นความหวังของคนรุ่นต่อๆ ไป แม้ว่าจะต้องใช้เวลาบ้างในการต่อสู้กับเผด็จการเพราะก็ไม่ได้มีที่ไหนในโลกที่จะชนะได้ภายใน 3 วัน 7 วัน เขาก็ขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนได้ประชาธิปไตยมาได้ในสักวันหนึ่ง

ภาพจากไลฟ์ของ UDD news Thailand

ยุกติ มุกดาวิจิตร เล่าว่าวันที่ คปค.ทำรัฐประารเอวันที่ 19 ก.ย.2549 ตอนนั้นเขาอยู่ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐฯ เขาตื่นมาเห็นข่าวในตอนเช้าตอนนั้นในกลุ่มเพื่อนในแวดวงวิชาการต่างก็จับตาการรัฐประหารครั้งนี้ว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

เขากล่าวว่าก่อนหน้าการรัฐประหาร 49อำนาจในประเทศไทยตอนนั้นกระจุกตัวอยู่ในมือของราชการกับประชาชนในเขตเมืองใหญ่หรือกับอดีตข้าราชการที่ออกมาเป็นนักาการเมืองฉะนั้นก่อนที่จะมีรัฐประหาร 49 ก็มีการรัฐประหารของ รสช.ปี 2534 เขาคิดว่าการรัฐประหารในไทยถูกทำให้เป็นทางเลือกทางการเมืองคนเชื่อว่าเป็นทางออกและการรัฐประหารอยู่ในวัฒนธรรมทางการเมืองไปซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก รัฐประหาร 19 กันยาทำให้ความรู้สึกนี้กลับมาอีก เพราะในการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารของ รสช.ในเดือนพฤษภาคมปี 2535 สโลแกนที่สำคัญอันหนึ่งคือเราจะไม่ให้มีการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว โปสเตอร์ในตอนนั้นอันหนึ่งก็คือ “No more Dictatorship in Thailand” แล้วหลังจากนั้นมาก็เกิดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญสร้างกลไกทางการเมืองให้แข็งแกร่งขึ้น ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูยปี 40 ออกมาแล้วก็มีรัฐบาลทักษิณที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นกระบวนการที่ประชาชนเริ่มเห็นความหวัง

ยุกติชี้ว่าการรัฐประหาร 49 ทำให้เกิดความเสียหายที่ยิ่งใหญ่มาก 2 ประการ แต่ก็ได้สิ่งใหม่มา 2 อย่างด้วยเช่นกันโดยเขาเริ่มกล่าวถึงสิ่งที่เสียหายครั้งนั้นก่อน

ประเด็นแรก การรัฐประหาร 49 ทำให้ทหารกลับเข้ามายุ่งการเมืองอีกครั้งแล้วก็ไม่ออกไปอีกเลยจนปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครสนใจเลยว่าทหารอยู่ตรงไหน ความรู้เกี่ยวกับทหารหายไปพอสมควร ทหารในตอนนั้นก็กลับเข้าไปในกรมกองทำหน้าที่ของตัวเองแล้วก็อยู่อย่างสงบเสงี่ยมพอสมควร

ประเด็นที่สอง เราได้เห็นกันชัดเจนมากขึ้นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ยืนอยู่ข้างประชาชน แล้วรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็มีข้อบ่งชี้หลายประการที่สถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่กับประชาชน แล้วต่อเนื่องมาจนถึงหลังรัฐประหารครั้งล่าสุดและการปรับแก้รัฐธรรมนูญ 60 หลังการทำประชามติชัดเจนว่าโครงสวรี้างอำนาจในเวลานี้เป้นอย่างไรและสถาบันกษัตริย์มีท่าทีอย่างไรต่อประชาชนหรืออยู่ข้างประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอันตรายมากที่สถาบันกษัตริย์ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองอีกต่อไป

ยุกติกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่หลังการรัฐประหารครั้งนั้นว่าอย่างแรกที่ได้มาคือคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมาที่เป็นปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร 19 กันยาฯ แต่ขบวนการประชาชนที่เติบโตขึ้นมาตั้งแต่หลังพฤษภาฯ 35 แล้วค่อยสะสมพลังมวลชนอยู่เงียบๆ รัฐประหาร 19 กันยาฯ กลายเป็นกลุ่มก้อนและเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นคนเสื้อแดงอย่างที่เห็น

ยุกติบอกว่าอีกกลุ่มที่เคยเฝ้าดูอยู่เงียบๆ คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวชัดเขนในปี 2563 จนถึงปีนี้และเขายังมีอนาคตต่อไปอีก คนกลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งคือคนที่เกิดและเติบโตหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ มาเรื่อยๆ หรือกลุ่มที่เกิดและโตในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยแล้วเขาเห็นความถดถอยมาเรื่อยๆ ของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเขาเองย้ำมาตลอดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้หายไปไหนและวันนี้เขาได้ออกมาแล้ว

ยุกติกล่าวต่อว่า การรัฐประหาร 19 กันยาฯ ได้สร้าง 2 กลุ่มนี้ขึ้นมาแต่ก็ได้ทำให้ประเทศชาติเสื่อมถอยด้วยที่เราจะต้องทำให้คนที่สงบเสี่งยมทางการเมืองแล้วแสดงออกผ่านกลไกรัฐสภาและการเลือกตั้งต้องมาลงถนนแสดงตัวแล้วก็เผชิญความเสี่ยงต่างๆ และปัจจุบันรัฐก็ใช้ความรุนแรงกับพวกเขา

ยุกติกล่าวทิ้งท้ายว่า พลังของทั้ง 2 กลุ่มยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาเคลื่อนพลังบนท้องถนนได้เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในระบบรัฐสภาทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจิตใจของคนที่อยู่ในระบบไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือส.ว. ซึ่งตัวเขาเองยังเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของ ส.ว.ที่จะมีสำนึกอยู่บ้างแล้วมาอยู่ข้างประชาชน

ภาพจากไลฟ์ของ UDD news Thailand

ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า 19 ก.ย. 2549 กำลังนั่งทำงาน ทราบจากเพื่อนที่โทรศัพท์มาบอกว่าเกิดการรัฐประหาร สร้างความตกใจมาก เพราะเข้าใจว่าตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการรัฐประหารครั้งนี้ แม้จะมีสัญญาณไม่ดีอยู่เรื่อยๆ พอเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องช็อกทีเดียว

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า แวดวงศิลปะดีใจกันทั้งวงการ เฉลิมฉลองกัน เป็นเรื่องจริงที่วงการศิลปะ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม 95% ของคนที่อยู่ในแวดวงดีใจที่เกิดการรัฐประหาร และคิดว่าเรากำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ทางศิลปะ สถาปัตยกรรม

ชาตรีเล่าอีกว่า ขณะนั้นมีคำที่นิยมกันในแวดวง คือ เรื่องคนดี มีศีลธรรม ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ในวงการศิลปะ สถาปัตยกรรม แต่กระจายเป็นบรรยากาศในช่วงปี 2548-2549 เกี่ยวกับเรื่องคนดีและความดี

หลังรัฐประหาร ชาตรีคิดว่า ในแวดวงสถาปัตยกรรมทำงานสะท้อนเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม และความดีมากอย่างมีนัยสำคัญ

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม อธิบายว่า ก่อนหน้ากระแสเรื่องคนดีและศีลธรรมมีน้อยมากและไม่ใช่กระแสหลัก

“สิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมาก โดยภาพรวมพื้นที่ทางศิลปกรรมและสถาปัตย์ถูกควบคุมสอดส่องมากขึ้น แน่นอนว่าก่อนรัฐประหาร 2549 ศิลปะก็เป็นที่กังวลของภาครัฐอยู่แล้ว แต่ไม่มีระดับการควบคุมและสอดส่องเท่ากับหลังรัฐประหาร 2549 ระดับความรุนแรงมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549” ชาตรี กล่าว

อาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ อธิบายต่อว่า แนวคิดที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ทางศิลปะมี 2 ด้าน คือ แนวคิดทางการเมือง ถูกครอบด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยม งานออกแบบจะถูกออกแบบเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์นี้ ส่วนปริมณฑลทางศิลปวัฒนธรรม จะเริ่มพูดถึงศิลปะที่สะท้อนเรื่องความดี ความจริง งาม ซึ่งยึดโยงอยู่กับจริยธรรมทางพุทธศาสนามากขึ้น นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มำให้พื้นที่ทางศิลปะและสถาปัตยกรรมค่อนข้างเดินถอยหลังกลับไปสู่งานศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยศักดินา ที่งต้องยึดโยงกับศาสนา

ชาตรีกล่าวว่า ติดตามกรณีการทำลายศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรมาโดยตลอด แต่มี 2 ด้านที่เดินไปด้วยกัน ไม่สามารถมองแยกจากกันได้ ด้านแรก คือ มีการรื้อทำลายศิลปสถาปัตยยุคคณะราษฎรสูงมาก แต่ก่อนจะเข้าใจด้านนั้น ต้องเข้าใจว่าก่อนที่จะทำลาย มีด้านที่พยายามสร้างสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ราชาชาตินิยม มีศีลธรรมสูง

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ยกตัวอย่างงานสถาปัตยที่สำคัญของชาติในระบอบประชาธิปไตยว่า มี 3 หลัง ที่สะท้อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาน ได้แก่ อาคารที่สะท้อนอำนาจนิติบัญญัติ คือรัฐสภา อาคารที่สะท้อนอำนาจตุลาการ คือ ศาลฎีกา และอาคารที่สะท้อนอำนาจบริหาร คือ ทำเนียบรัฐบาล นี่คือ 3 อาคารที่เป็นตัวแทนของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

15 ปี ที่ผ่านมา อาคาร 2 ใน 3 หลังถูกสร้างใหม่ในลักษณะย้อนยุค มีหน้าตาเหมือนวัด อาคารแรกคือกลุ่มอาคารศาลฎีกา อาคารเก่าในยุคคณะราษฎรถูกรื้อลง และสร้างใหม่ให้เหมือนวัดในปี 2556 และสร้างสูงเกินกฎหมายกำหนดประมาณ 10 เมตร อีกอาคาร คือ รัฐสภาถูกสร้างในลักษณะเจดีย์ขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิดรัฐสภาแห่งศีลธรรม

ชาตรี ย้ำว่า 2 ใน 3 ของสถาปัตยกรรมที่ควรจะสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยถูกเปลี่ยนโดยใช้ลวดลายไทย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นตัวแทนความคิดอนุรักษ์นิยม การเมืองแบบศีลธรรม ขณะที่สถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร ที่ถูกสร้างด้วยแนวคิดสมัยใหม่ โมเดิร์น ล้ำสมัยในยุค 80 ปีก่อน กลายเป็นภาพคู่ตรงข้ามกันของภาษาทางสถาปัตยกรรม ด้วยภาษาที่ตรงข้ามกันแบบนี้จึงเข้าใจได้ว่า เขาต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนอุดมการณ์เก่ามากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องรื้อทำลายสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมที่สะท้อนลักษณะเสรีนิยมประชาธิปไตยลงไปด้วย เป็นการทำงานคู่กันในปริมณฑลทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

ชาตรี ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของศิลปินรุ่นใหม่ว่า ตนคิดว่าเป็นแรงต้านกลับจากการถูกกดทับในพื้นที่ทางศิลปะ ที่มีมากไม่น้อยกว่าพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม ซึ่งแรงกดทับนี้มีมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องมาถึงรัฐประหาร 2557

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ยกตัวอย่างกรณีการเขียนภาพพระพุทธรูปอุลตราแมนที่ถูกภาครัฐเข้ามาสอดส่องและบังคับในนิสิตนักศึกษาที่สร้างสรรค์งานต้องออกมาขอโทษ นี่ถือเป็นการควบคุม สอดส่อง และกดทับที่หนักหนามาก

อีกกรณี คือ การทำขนมอาลัวรูปพระเครื่อง การยึดงานศิลปะทั้งในแกลอรีและในพื้นที่มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น และกรณีล่าสุด คือ การถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของสุชาติ สวัสดิ์ศรี

ชาตรี กล่าวว่า กรณีเหล่าแสดงถึงแรงกดทับตลอด 15 ปี และนับวันจะยิ่งหนักหนามากขึ้น ในบรรยากาศการกดทับ ตามหลักฟิสิกส์ ยิ่งมีแรงกดมากเท่าไหร่ แรงต้านจะต้องเกิดขึ้นในระกดับที่ไม่น้อยไปกว่ากัน แรงกิริยานำมาซึ่งแรงปฏิกิริยาในระดับที่เท่ากัน จึงมีศิลปินหัวก้าวหน้าที่ไม่ยอมต่อการกดทับ จึงผลิตงานขึ้นมาต่อต้านแรงกดทับนั้น

ภาพจากไลฟ์ของ UDD news Thailand

ลักขณา ปันวิชัย หรือคำ ผกา พิธีกรรายการของช่อง Voice TV เล่าว่า วันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหลายที่ และเธอเล่าถึงว่าตั้งแต่ 2540-2549 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมา 9 ปีแล้ว สื่อไทยในเวลานั้นอยู่ในสภาวะการเมืองที่ค่อนข้างนิ่งฟรีดอมเฮาส์เคยจัดให้ประเทศไทยมีเสรีภาพสื่อว่ามีอิสรเสรีภาพ แล้วตอนนั้นที่เธออยู่ในเชียงใหม่และได้คุยกับเพื่อนที่ทำงานอยู่อิระวดีที่เป็นสำนักข่าวของชาวพม่าที่ลี้ภัยการเมืองมาตั้งสำนักงานอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่พยายามทำข่าวในพม่าที่ถูกปิดกั้นไปทั่วโลก ตอนนั้นเธอรู้สึกว่าอยู่ในประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในแนวหน้าไทยถึงกับเป็นประเทศที่ยอมรับให้สื่อที่หนีภัยเผด็จการมาตั้งสำนักงานได้ และตอนนั้นหน้าที่สำคัญสำหรับคอลัมน์นิสต์ในตอนนั้นคือการวิจารณ์รัฐบาล

“พี่ด่ารัฐบาลทักษิณ ด่าทุกวัน คอลัมน์พี่รวมเล่มชื่อยุให้รำตำให้รั่วพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์ ก็เพราะเรามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง สื่อจะทำอะไรคะ รัฐบาลออกโปรเจคต์อะไรออกมา พี่ก็ต้องหาข้อติให้ได้ บางกอกแฟชั่นวีคพี่ก็ด่า 30 บาทรักษาทุกโรคพี่ก็ต้องหาจุดอ่อนของมันมาด่าให้ได้เพราะนี่คือหน้าที่ของสื่อมวลชน สื่อมวลชนไม่ได้มีหน้าที่ยืนอยู่ตรงนี้เพื่อที่จะปกป้องรัฐบาลต่อให้รัฐบาลมันวิเศษเลิศเลอทำทุกอย่างดีเรามีหน้าที่ชอนไชหาจุดอ่อนของมันเอามาเขียนว่ามันดีได้ดีกว่านี้” เธอเล่าถึงบรรยากาศของปัญญาชนทั้งหมดในเวลานั้น

ลักขณา กล่าวต่อว่า ถ้ากลับไปย้อนดูคนไทยเกือบทั้งหมดเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยมในทางวัฒนธรรมคือไม่มีการเมืองเชิงอัตลักษณ์อยู่ในตัวเลย เธอเคยโดนคนเสื้อแดงด้วยกันเองด่าที่ไปเขียนเรื่องการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือสนับสนันกลุ่ม LGBT หรือการที่พยายามบอกว่าผู้หญิงจะร่านก็ได้ต้องปลดปล่อยตัวเองแต่กลับถูกปกป้องโดยปัญญาชนเสรีนิยมแต่เรื่องนี้กลับแปรผกผันหลังรัฐประหาร 2549 เมื่อเธอต่อต้านการรัฐประหารก็กลับกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันกับคนที่เคยด่าเธอ แต่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เคยสนับสนุนเธอกลับเกลียดเธอหมดเพราะเห็นว่าไปเข้าข้างทักษิณ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยมีหลากหลายมิติเกินกว่าจะบอกว่าประชาธิปไตยเท่ากับเสรีนิยมอย่างเดียว เพราะในเวลานั้นคนเสื้อแดงเองก็มีความเป็นอนุรักษ์นิยมทั้งในเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ทั้งงานวรรณกรรมและทางวัฒนธรรมแล้วยังสนับสนุนพุทธศาสนาแบบที่ไม่ยอมรับศาสนาอื่นด้วย

ลักขณาบอกว่าในตอนนั้นที่เธอนับตัวเองเป็นควายแดง ก็ถูกปัญญาชนหัวก้าวหน้าเกลียดทันทีที่เธอต้านการรัฐประหารรัฐบาล แต่เธอก็เห็นว่าเธอไม่สามารถยอมรับการรัฐประหารได้แต่ประเด็นอื่นๆ ยังสามารถมานั่งคุยเถียงกันได้เธอจึงเข้าร่วมกับคนเสื้อแดงที่เป็นอนุรักษ์นิยมเชิงวัฒนธรรมได้เพราะคนเสื้อแดงเขาก็รู้สึกไม่พอใจที่รัฐบาลที่เลือกมาด้วยตัวพวกเขาเองจนมีที่นั่งในสภาถึง 374 เสียงกลับถูกรัฐประหารเหมือนกัน

เธอยังเล่าต่อถึงสถานการณืสื่อหลังการรัฐประหาร 2549 ว่าตอนนั้นยังน้อยกว่ารัฐประหาร 2557 อย่างมีนัยยะสำคัญ เธอเห็นว่าเหตุผลในตอนนั้นคือชนชั้นนำยังมีความมั่นใจและปลอดภัยในอำนาจนำของชนชั้นนำที่มีอยู่ในสังคมเพราะไม่ถูกท้าทายเลย เธอยกตัวอย่างเช่นตอนที่เขียนคอลัมน์วิจารณ์พระอย่าง ว.วชิรเมธีหรือพระไพศาลวิสาโลเธอก็ถูกด่าทุกทิศทุกทางหรือการวิจารณืวรรณกรรมอย่าง “ความสุขของกะทิ” ก็ไม่ได้เป้นปกติเหมือนสมัยนี้ ชนชั้นนำในตอนนั้นก็รู้สึกปลอดภัยแล้วสถาบันหลักของชาติยังไม่สูญเสียความนิยม พวกเขาจึงรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแล้วทั้งสถาบันการศึกษาหรือสื่อก็อยู่ฝ่ายชนชั้นนำหมด

ลักขณาบอกว่าเหตุผลที่กล่าวไปทำให้ชนชั้นนำไม่ทันระวังว่าจะต้องมาปิดกั้นสื่อ ดังนั้นตอนนั้นจึงมีสื่อทางเลือก มีคนเขียนเริ่มพูดเรื่องประชาะปไตยเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีเวทีเสวนาโดยคนเสื้อแดงหรือนักวิชาการเสื้อแดงที่มีอยู่จำนวนน้อยนิดสามารถจัดเวทีวันล 3-4 เวทีได้ แล้วการรวมตัวของ นปช.ก็อยู่ได้เป็นปีกว่าจะถูกสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตที่ราชประสงค์ ซึ่งชนชั้นนำก็มองว่าไม่เป็นไร บรรยากาศสนทนาทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมืองและอยู่ในสื่อทางเลือก เธอสามารถเขียนวิจารณ์สิ่งต่างๆ ได้เป็น 10 ปีจากที่ไม่เคยถูกยอมรับ จนปัจจุบันกลายเป็นกระแสหลักแล้ว

ลักขณากล่าวถึงสถานการณ์คุกคามสื่อในปัจจุบันว่า ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 2549 รัฐบาลในตอนนั้นก็พยายามผลักดันเรื่องผู้สื่อข่าวพลเมืองแล้วตัวตั้งตัวตีในตอนนั้นคือ ThaiPBS ถ้ามาดูกรณีของนักข่าวที่โดนจับไปในวันนี้มองย้อนกลับไปคนเหล่านี้ก็คือสื่อพลเมือง แต่เธอก็เห็นว่าการจับกุมนักข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ใช่เรื่องของสื่อแท้สื่อเทียมเป็นสื่อพลเมืองหรือสื่อกระแสหลักหรือไม่ แต่เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูและเป้นความพยายามนิยามให้คำว่าสื่อแคบลงเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็จะเหลือแต่สื่อช่อง 3 5 7 9 หรือ ThaiPBS NBTที่ไปทำข่าวได้ รัฐอยากให้สื่ออื่นๆ ต้องไปตามเวลาที่กำหนดเท่านั้นถึงเวลาแล้วต้องออกไป

“เพราะว่าการทำงานของสื่อที่ไม่ใช่สื่อหลักเปิดโอกาสให้ภาพการทำงานที่ไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐถูกเปิดเผยซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาต้องการจะเห็น เขาไม่ต้องการให้เราเห็นภาพตำรวจขับรถไล่ชนมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องการให้เราเห็นภาพตำรวจทุบตีประชาชน กระทืบคนไปม็อบ ก็แค่เขาไม่อยากให้เราเห็น มันไมได้เกี่ยวกับว่าสื่อจริงหรือสื่อปลอม เขาแค่ทำยังไงก็ได้ไม่ให้คนเห็นภาพชั่วๆ เหล่านี้” ลักขณากล่าวปิดท้ายประเด็นอุปสรรคของสื่อในปัจจุบัน

เวลาประมาณ 17.00 น. 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมปราศรัยออนไลน์ในม็อบ19กันยา "ขับรถยนต์ชนรถถัง" ผ่านช่องเพจเฟซบุ๊กสาธารณะ ยูดีดีนิวส์ - UDD news 

'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 

รุ้งเล่าถึงความทรงจำรัฐประหารปี’49 ว่าเธออาจจะยังจำความไม่ได้ เนื่องจากเธออายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น และบ้านเมืองเราก็ไม่คุยเรื่องการเมือง จนกระทั่งการรัฐประหารนำโดย คสช. ปี’57 เธออยู่ที่สหรัฐฯ ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งตอนนั้นเธอทราบข่าวว่ามีรัฐประหาร แต่ยังไม่เข้าใจที่มาที่ไปอย่างเด่นชัด 

จุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของรุ้งเลยคือยุค คสช. ซึ่งเธอเก็บสะสมความคับข้องใจต่อการรัฐประหารครั้งนั้นมาโดยตลอด มันดำมืด มันคือเรื่องที่ไม่ปกติ แต่ไม่ทราบว่าจะทำยังไงให้มันดีขึ้น ก็ใช้ชีวิตเรื่อยมา คิดว่าการเมืองมันคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร และทำไมประชาชนต้องการสิ่งนั้นมากกว่ารัฐประหาร

กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสเข้ามาทำกิจกรรมการเมือง และรับทราบข้อมูลว่าสิ่งที่สู้มาตลอดตั้งแต่ม็อบคนเสื้อแดง จนถึงคณะราษฎร (รุ่นใหม่) ประชาชนกำลังสู้เรื่องเดียวกันมาตลอด 

เธอรู้สึกว่าการรัฐประหารตั้งแต่ปี'49-57 มันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องการช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำจากประชาชน เพราะเขารู้สึกว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิกับประชาชน จึงต้องทำรัฐประหารขึ้นมา ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาชนต้องลุกขึ้นมาสู้เพื่อรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิกับประชาชน 

รุ้ง ย้ำถึงสามข้อเรียกร้องว่าประยุทธ์ต้องลาออก ต้องให้ลูกไล่ของชนชั้นนำออกไปก่อน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับของประชาชน เมื่อมี รธน.ฉบับประชาชน ก็จะทำให้เราปฏิรูปสถาบันกษัติรย์ได้ ซึ่งสถาบันกษัตริย์ และศักดินาเขาเป็นพวกเดียวกันมาตลอดที่ทำให้ประชาชนลำบากยากเข็ญ

รุ้งกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้พื้นที่การเมืองมันเปิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่วัยที่จะเป็นอนาคต และประชาชนทั่วไป เขารับทราบว่าประยุทธ์มีปัญหา และสถาบันกษัตริย์ต้องแก้ไข มันแทรกซึงลงไปในความคิดคนแล้ว ซึ่งทำให้มีความหวังมากขึ้นว่าการต่อสู้ของประชาชนเป็นไปได้

รุ้งประเมินว่าตอนนี้รัฐและสถาบันกษัตริย์กำลังระส่ำระส่าย ซึ่งสะท้อนผ่านความพยายามกดปราบม็อบด้วยทุกวิถีทางตั้งแต่หว่านหมายจับ ฝากขัง และอื่นๆ และมันใกล้จะถึงทางลงทั้งรัฐบาลประยุทธ์ และสถาบันกษัตริย์

"ตัวสถาบันกษัตริย์ที่สร้าง (ผู้สื่อข่าว - อุปสรรค) ขึ้นมามีเยอะแยะไปหมด แต่ตอนนี้มีอุปสรรคมากแค่ไหน แต่ถ้าประชาชนเห็นว่า เครื่องกีดขวางสามารถผ่านไปได้ เครื่องกีดขวางเหล่านั้นจะไม่อยู่คงทนถาวร และมีวันลง 

"เราเชื่อว่า ประชาชนจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศนี้ได้จริงๆ และจบผลพวงรัฐประหารที่มีมาในประเทศเราจริงๆ" สมาชิกแนวร่วม มธ. กล่าว

มนุษย์ม็อบ

ยอด (นามสมมติ) อายุ 60 ปี เดินทางมาจากบางใหญ่เพื่อมาหนังสือในที่ชุมนุมคาร์ม็อบ #ม็อบ19กันยา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยอดเล่าว่าสมัยก่อนเคยทำงานขายหนังสือให้กับหน้องสมุดของภาครัฐ แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ขึ้นๆ ลงๆ หลังรัฐประหาร 2549 จนดิ่งลงมาถึงที่แย่ที่สุดในช่วงนี้ จึงทำให้เขามาหารายได้ตามที่ชุมนุม

ยอด

“รัฐแบ่งปันงบประมาณให้ห้องสมุดน้อย เขาก็ซื้อเราน้อยลง”

พ่อค้าหนังสือเล่าว่าการพูดถึงรัฐประหารปี 2549 ถือเป็นเรื่องดีในการกระตุ้นเตือนให้คนรุ่นใหม่รู้จักวงจรอุบาทว์ในเมืองไทยที่ยอดมองว่าเหมือนจะเป็นอาถรรพ์

“ประเทศไทยมันแปลกอย่างหนึ่ง ประเทศกำลังเริ่มเจริญ อ้าว ปฏิวัติอีกแล้ว ช่วงนั้นชาติชาย ชุณหะวัณเอาสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นนิกส์ แล้วเอาที่ดินให้ต่างชาติหรือเอกชนเช่า 55 ปี ประชาชนหรือพวกที่ไม่เห็นด้วยก็คัดค้านว่าขายแผ่นดิน ก็ไอ้จ๊อดก็มาปฏิวัติ ประเทศเรานี่แปลก มันเหมือนมีอาถรรพ์”

“ประเทศเรานี่นะ เจริญแต่วัตถุ แต่จิตใจผู้นำไม่เจริญ อย่างยุคนี้ คำว่าธรรมาภิบาล อย่างรัฐบาล คุณก็บอกว่าห้ามตรวจสอบนะ มันน่าเกลียด คำว่าคนสาธารณะมันจะต้องสามารถตรวจสอบได้ คุณกินเงินเดือนของประชาชน คุณก็ต้องให้ประชาชนตรวจสอบ”

นามกรสมมติที่คล้ายคลึงกับช่องยูทูปเล่าเรื่องชื่อดังบอกว่าอยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตย มีเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดีที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเท่าๆ กัน

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้เราเหมือนประเทศที่ไม่ใช่ด้านการค้า ติดต่อการค้าใครเขาก็ไม่สนใจ มันเหมือนปิดประเทศเหมือนพม่า เศรษฐกิจมันก็ง่อนแง่นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มันไม่ใช่หน้าที่ของคุณ มันเป็นหน้าที่ของพาณิชย์จังหวัดที่ต้องเปิดงาน ทำไมคุณต้องเปิดงาน ทำไมคุณไม่ติดต่อต่างประเทศ คุณก็ต้องไปต่างประเทศ คุณเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์”

“ด้านกฎหมายเราไม่ชัดเจน คำว่าธรรมาภิบาลคุณก็ไม่มี คุณเห็นไหม เรื่องโตโยต้า ใช่ไหม ใครเข้ามาเขาก็ไม่อยากจะทำการค้ากับเรา ตอนนี้ต่างประเทศเขาหันไปทำที่เวียดนามหมด”

“ตอนนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เต็มตัว แล้วประยุทธ์ก็บอกว่าเราจะเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอะไรล่ะ ตอนนี้คุณเห็นไหม ที่ว่าจะให้ต่างชาติมาซื้อแผ่นดิน แล้วมันจะมีใครมา ไชน่าอย่างเดียว” ยอดกล่าว

รถเข็นขายน้ำของเอและสามี

เอ (นามสมมติ) แม่ค้า CIA ขายเครื่องดื่มที่มาจอดรถรอขายของบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าตนกลับมาขายของเป็นวันแรกหลังจากหยุดพักไป 2 เดือนเพราะสามีของตนติดโควิด-19 ตนจึงต้องกักตัวดูอาการ แต่ไม่ติดเชื้อ ส่วนสามีของตนหายดีแล้ว

เอเล่าว่าปกติตนและสามีขายน้ำอยู่บริเวณย่านคลองหลอด แต่พอมีการชุมนุมตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตระเวนไปขายน้ำตามที่ชุมนุม ซึ่งเคยขายได้มากสุดถึง 6,000-7,000 บาท ทั้งนี้ ตนบอกว่าตนไม่ได้ลงทะเบียนรับสิทธิการช่วยเหลือในแอปพลิเคชันของรัฐบาล เพราะใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่เป็น และไม่มีลูกหลานทำให้

"พูดตามตรงนะ สมัยนายกฯ ทักษิณขายของดีมาก ถ้าเต็ม 10 ให้ 9 ส่วนตอนนี้ให้ 2/10" เอกล่าว

ด้านสามีของเอ เล่าว่า ในตอนที่เกิดรัฐประหาร 2549 เขาและภรรยาก็ค้าขายอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และจำได้ว่าเห็นรถถังอยู่เต็ม ถ.ราชดำเนิน รวมถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ก็เห็นภาพการยิงกันที่แยกคอกวัว

"สมัยทักษิณนะ ขยะยังขายได้ราคาเลย แต่สมัยนี้ อะไรก็ขายไม่ได้" สามีของเอกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าอยากจะฝากข้อเรียกร้องอะไรถึงรัฐบาลหรือไม่ เอและสามีของเอบอกว่า "ไม่มีอะไรจะฝาก แต่ขอฝากความหวังไว้ที่คาร์ม็อบในวันนี้"

ป้อม

ป้อม ร่วมขบวนคาร์ม็อบมาจากแยกอโศก เขาเล่าว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เศรษฐกิจก็แย่ลงเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร 2549 ใหม่ๆ ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะทักษิณทำไว้ดี แต่หลังจากนั้นก็เริ่มทรุดมาเรื่อยๆ สมัยยิ่งลักษณ์ เศรษฐกิจกำลังจะเติบโต ก็มามีรัฐประหาร 2557 จนเศรษฐกิจย่ำแย่ลงสุดๆ จนเขารู้สึกว่าต้องหาคนทำงานที่ดีกว่านี้มาทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

“เศรษฐกิจนี่แย่มาก่อนโควิดนะ ยังไม่มีโควิดมันก็แย่มากแล้ว มีคนฆ่าตัวตายเยอะแยะ พี่สาวผมทำเครื่องนุ่งห่มส่งโบ๊เบ๊อยู่ โบ๊เบ๊นี่ตลาดของถูกนะ ตลาดรากหญ้า ยังขายไม่ได้เลย ทุกวันนี้เขาปิดโรงงานแล้ว”

“ก็ต้องเอาพวกปรสิตออกไปให้หมด ประเทศเราจะเจริญ จริงๆ แล้วบ้านเมืองเราเงินทองไม่น้อยนะ แต่มันไปไม่ถึงไหนเพราะมันหายจากประเทศ หายจากระบบไปเป็นแสนล้าน”

“ถ้าบริหารแล้วได้แค่นี้ก็ออกไปเถอะครับ ให้คนที่มีความสามารถ มีความรู้ เขาเข้ามาทำงาน” ป้อมกล่าว

เนื่อง

เนื่อง ชาวเสื้อแดงจากเขตประเวศร์เล่าว่าทุกวันนี้หน้าที่การงานและรายได้ไม่ดี รัฐประหารเมื่อปี 2549 ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงมาเรื่อยๆ

“ออกไปเลย ไม่ต้องมาอยู่แล้ว พอแล้ว มาอยู่ทำไม ให้คนอื่นมาบริหารบ้าง ยุบสภาไปเลย เลือกตั้งใหม่ไปเลย รอดูว่าคนที่เก่งกว่าตัวเองมา”

เนื่องใส่เสื้อสกรีนข้อความ “ไม่เอา 112” เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 และรำลึกถึงเพื่อนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมปี 2553 ในการเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภา

“เสื้อตัวนี้เขาทำขึ้นมา มีเยอะอ่ะนะ เขาบอกว่าไอ้เหี้ยสั่งฆ่า อีห่าสั่งยิงก็มี ที่ทำขึ้นมา คือเพื่อนๆ ทำขาย ก็เลยลองซื้อมา ตอนแรกไม่รู้ว่ามาตรา 112 คืออะไร เพิ่งจะมารู้รุ่นเด็กนี่แหละที่มาจับเด็ก เพิ่งรู้ว่ามาตรา 112 มันแรง.

“เราอ่ะมาเรียกร้อง แต่อภิสิทธิ์น่ะหน้ามันบาง แต่อันนี้น่ะหน้าหนา คนออกมาขนาดนี้จริงๆ เขาต้องไปแล้ว แต่นี่ยังไม่ไป ยังหน้าด้านหน้าทนอยู่”

“ในซอยบ้านน่ะ เขาตาย เรียกรถมารับยังไม่มาเลย คนป่วยเขาเรียกรถมารับก็ไม่มา เขากลัว ถ้าไอ้นี่ไป โควิดหมด เชื่อเถอะ”

หลิน

หลิน (นามสมมติ) คนเสื้อแดงฝั่งธนวัย 70 ปี ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานร่วมกับพรรคความหวังใหม่ในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค เรื่อยมาจนกระทั่งถูกยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า การรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในระบอบประชาธิปไตย แม้ในตอนนี้จะไม่ได้ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองใดแล้ว แต่ตนก็ยังยืนหยัดในฝั่งประชาธิปไตย

“ตอนนี้เรากลายเป็นแม่ค้าแล้ว บอกตามตรงนะ ตั้งแต่คุณประยุทธ์เข้ามา เราหากินยากมาก สมัยคุณทักษิณนะ ดีไม่ดี 3,000-4,000 บาท ดีที่สุด 6,000 บาท เคยขายได้ดีที่สุดวันละ 8,000 บาท” หลินกล่าว พร้อมบอกว่าตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดบริหารประเทศได้ดีเท่าทักษิณ ชินวัตร

“แล้วในตอนหลังที่เด็กออกมานะ ถ้าพวกเสื้อแดงไม่ร่วมด้วย ไม่ไหวอะ เพราะว่าเราเคยเจอเหตุการณ์มาเมื่อปี 2553 อะเนอะ ไหนจะ 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ ที่ท้องสนามหลวง บอกตามตรง คุณทำไม่ได้ก็ออกไป ยังมีคนที่เขาพัฒนาประเทศได้ ให้เขาเข้ามา” หลินกล่าว

“เรามาเป็นแม่ค้ายุคคุณทักษิณ ออกจากทำการเมืองมาก็มาเป็นแม่ค้า เพราะเรายังมี 2 ชีวิตให้ต้องดูแล แล้วระยะ 2 เดือนมานี้เราถูกสั่งปิด คุณไม่เยียวยา คุณเยียวยา ดิฉันก็ไม่ได้อะไร แม้กระทั่งบัตรจนก็ไม่ให้ดิฉัน เขาบอกว่าคุณแม่รวยแล้ว แล้วตอนที่สั่งปิดเนี่ย เราจะกินอะไร เด็กจะกินอะไร” หลินกล่าว พร้อมบอกว่าตนให้คะแนนการบริหารประเทศในยุคก่อนรัฐประหาร 2549 คะแนนเต็ม 10 ต้องให้ 9-10 แต่ยุคนี้ตนขอไม่ให้คะแนนสักคะแนนเดียว

“ขอให้ท่านออกไปเถอะ ไม่ใช่ท่านไม่เก่งนะ ท่านเก่งทางทหาร แล้วกี่ปีที่ฉันเห็นน่ะ ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย หมุนแล้วก็คว่ำ แล้วก็คว่ำๆๆ ถ้าคุณรักประชาชนจริง แทนที่จะเอาเงินมาแจก คุณพัฒนาให้เศรษฐกิจดีดีกว่า แล้วบอกตามตรงนะ คุณเอาเวลาไปบริหารเถอะ อย่าเอาเวลาไปจับม็อบเลย” หลินกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท