15 ปีรัฐประหาร 49 (6) ธงชัย วินิจจะกูล: รัฐประหาร 2549 จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์?

รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องปี 2557 คือการกระชับอำนาจของฝ่ายเจ้าท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนรัชสมัย คือภารกิจกำราบฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังไม่เสร็จสิ้น คือการเผชิญหน้ากันระหว่างพลังฉุดและพลังผลัก พลังผลักที่จะจัดวางสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

  • สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองสถาบันหนึ่งในสังคมจะแสดงท่าทีบทบาทอย่างไรต่อการรัฐประหารแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะได้จากการรัฐประหารนั้นๆ
  • รัฐประหารปี 2549 และ 2557 เป็นการรัฐประหารเพื่อกระชับอำนาจในช่วงเปลี่ยนรัชสมัย ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ข้องเกี่ยวกับการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนรัชสมัยย่อมไม่มีผลอันใดให้ต้องรัฐประหาร
  • ใจกลางของปัญหาคือสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ควรมีที่ทางอย่างไรในทางการเมืองและกฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
  • การสถานปนาอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดหรือ Impunity อย่างถูกต้องลงเป็นตัวบทกฎหมายทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายอย่างเต็มที่และเป็นทางการซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจน
  • การเมืองไทยสมัยใหม่อยู่ในบริบทการต่อสู้กันระหว่างพลังผลักสู่รัฐประชาชาติกับพลังฉุดที่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฝ่ายเจ้ายังเชื่อว่าแผ่นดินนี้เป็นของกษัตริย์จึงต้องกำราบฝ่ายประชาธิปไตยให้ราบคาบ
  • รัฐประหารปี 2549 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดมนต์คาถาว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์

รัฐประหารปี 2549 คือจุดเริ่มต้นของอาการตาสว่าง คำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์และการรัฐประหารกึกก้องท่ามกลางความเงียบ 15 ปีต่อมาคำถามนี้ดังขึ้นทุกขณะแปรเปลี่ยนเป็นข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ธงชัย วินิจจะกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน

ในมุมของธงชัย วินิจจะกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มันคือการถามถึงตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองและกฎหมายของกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ธงชัยแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์และการรัฐประหารไม่ได้เป็นไปในลักษณะยอมรับทุกครั้ง หากขึ้นกับผลประโยชน์ที่สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองรูปแบบหนึ่งจะได้จากการรัฐประหาร

สังคมไทยตกอยู่ท่ามกลางพลังฉุดหรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับพลังผลักหรือรัฐประชาชาติ ยื้อยุดกันมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 ในแง่นี้ภารกิจของฝ่ายเจ้าจึงยังไม่บรรลุจนกว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะราบคาบ ขณะที่รัฐประหารปี 2549 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดมนต์คาถาว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ก็เป็นไป

 

สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์-เครือข่าย

การจะเข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยและการรัฐประหารจำเป็นต้องวางกรอบก่อนว่า เรากำลงพูดสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์ เครือข่าย หรือทั้งหมดที่ว่ารวมกัน ธงชัยคิดว่าต้องหมายรวมถึงทั้งหมด เพราะผู้ที่เซ็นรับรองย่อมเป็นตัวบุคคล มีเครือข่ายที่คอยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ศาล เป็นต้น แต่ถึงที่สุดแล้วสามารถแยกสถาบันกับตัวบุคคลออกจากกันได้หรือไม่ เขาตอบว่ายาก

ธงชัยอธิบายว่าทั้งสองส่วนเปรียบได้กับวงกลมที่ซ้อนทับกัน มีทั้งส่วนที่ซ้อนทับกันมากและส่วนที่ซ้อนทับกันน้อย ในการวิเคราะห์จึงต้องเห็นทั้งสถาบันและตัวบุคคลควบคู่กันไป เขากล่าวต่อว่าสถาบันกษัตริย์มีพื้นฐานที่สำคัญต่างจากสถาบันอื่นๆ คือการผูกติดกับตัวบุคคลอย่างมาก ยิ่งกษัตริย์อยู่ในอำนาจนาน ความเป็นสถาบันกับความเป็นตัวบุคคลก็ยิ่งแยกออกกันยากขึ้น กระทั่งไม่มีสถาบันทางสังคมใดที่ผูกติดกับตัวบุคคลมากขนาดนี้ ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ภาพของตัวบุคคลก็จะผุดขึ้นในความนึกคิด

“เราจะนึกถึงสถาบันกษัตริย์กับตัวบุคคลคู่กันไปอย่างแยกไม่ออก ยิ่งกว่าผู้นำการเมืองเสียอีก เพราะฉะนั้นการกระทำของตัวบุคคลที่เป็นกษัตริย์ อันนี้หมายถึงทั้งโลกนะเป็นแบบนี้ การกระทำของตัวบุคคลที่เป็นกษัตริย์จึงมีผลต่อสถาบันยิ่งกว่าคนหนึ่งๆ ของสถาบันอื่นๆ เพราะสถาบันอื่นไม่ขึ้นกับตัวบุคคลขนาดนั้น การกระทำของเครือข่ายของคนอื่นที่รับใช้ในสถาบันกษัตริย์นั้น มีคนอีกเยอะแยะที่เป็นส่วนประกอบของสถาบันกษัตริย์ จึงเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ว่ากษัตริย์ไม่รู้ไม่เห็น ด้วยเหตุนี้กษัตริย์หลายประเทศ ทุกประเทศทั่วโลกจึงไม่ทำอะไร จึงไม่ทำอะไร จะได้ไม่ต้องถูกคนติฉินนินทา

“เมื่อเกิดปัญหาน่าอึดอัดใดๆ ในกรณีสถาบันกษัตริย์ คุณจะเห็นว่าไม่มีใครสักคนจะออกมาว่าเป็นปัญหาปลาเน่าเพียงตัวเดียว อย่างเช่นกรณีตำรวจนครสวรรค์ที่กำลังเกิดขึ้น ทางรัฐ ทางตำรวจจะบอกทันทีว่านี่ไม่ใช่เรื่องระบบ เป็นปลาเน่าตัวเดียว ในกรณีสถาบันกษัตริย์กลับแยกออกมาบอกว่าเป็นปลาเน่าตัวเดียวไม่ได้ เพราะไม่มีปลาตัวอื่นแล้ว มีตัวเดียวที่คนคิดถึง ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นเมืองไทย กษัตริย์ทำดี เราให้เครดิตตัวบุคคล แต่ครั้งทำไม่ดี รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองกลับพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ให้ตัวบุคคลต้องรับผิดชอบ เพราะจะรับแต่ชอบเท่านั้น มันจึงเป็นปัญหา ทำไมไม่ทำให้มัน Consistent ก็คือว่ากษัตริย์ไม่ต้องทำอะไร จะได้ไม่มีปัญหานี้ซะ”

รับ-ไม่รับรัฐประหารขึ้นกับผลประโยชน์ที่ได้

ความน่าสนใจอยู่ที่ในการรัฐประหารแต่ละครั้ง สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์แสดงบทบาทแตกต่างกันไป เช่น การแสดงบทบาทช่วยเหลือผู้ชุมนุม การไกล่เกลี่ย การเซ็นรับรองรัฐประหารช้าหรือเร็ว เป็นต้น ธงชัยอธิบายอย่างง่ายที่สุดว่าเป็นเพราะรัฐประหารแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือผิดกฎหมาย

“บริบทความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างพลังทางการเมืองทั้งหลายในบริบทของการรัฐประหารแต่ละครั้ง เอาเข้าจริงแทบไม่เหมือนกันเลย แต่ละครั้งมักจะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ฉะนั้นความสัมพันธ์ทางพลังทางการเมืองซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นพลังทางการเมืองหนึ่งในความสัมพันธ์นั้นก็เลยไม่เหมือนกัน พอความสัมพันธ์หรือสถานะ ความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน บทบาทก็เลยต่างกัน

“กษัตริย์ในความหมายทุกอย่างที่ว่ามาคือทั้งสถาบัน ทั้งตัวบุคคล เพราะบอกแล้วแยกกันไม่ออก และหลายกรณีรวมถึงเครือข่ายด้วย เราต้องถือว่าเป็นพลังทางการเมืองอย่างหนึ่ง มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา ไม่ต่างจากพลังทางการเมืองอื่นๆ ไม่ได้วิเศษเลอเลิศ ไม่ได้เป็นเทพเทวดาที่ไหน มีถูกๆ ผิดๆ ดีๆ เลวๆ เหมือนกับพลังทางการเมืองอื่นๆ ดังนั้นบทบาทของกษัตริย์ในการรัฐประหารแต่ละครั้งจึงต่างกันตามแต่ว่าเขาจะได้หรือเสีย ต่างกันตามแต่ความเข้มแข็งและอ่อนแอของตัวเองในขณะนั้น ต่างกันตามแต่ว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร รู้ตัว ไม่รู้ตัว เตรียมการด้วย ไม่เตรียมการด้วย มีส่วนเตรียมการหรือไม่มีส่วนเตรียมการ

“คำถามก็คือกษัตริย์ไทยเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ลงนาม ที่จะไม่รับรองการรัฐประหาร ผมให้มากกว่านั้นด้วย เป็นไปได้ไหมที่กษัตริย์จะออกมานำต้านการรัฐประหาร ได้สิครับ กษัตริย์ทำแล้วด้วย ต้านรัฐประหารเมษา กบฏเมษาฮาวายปี 24 กษัตริย์รัชกาลที่ 9 เคยทำแล้ว ใครบอกไม่เคยทำ ในกรณีกบฏยังเติร์กครั้งนั้นปี 24 ไม่มีประชาชนออกมาต้านการรัฐประหาร มีประชาชนออกมาจำนวนหนึ่งหนุนด้วย ในภาวะนั้นการรัฐประหารกำลังจะสำเร็จหรือมีโอกาสสูงที่จะสำเร็จ พลเอกเปรมถึงขนาดอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องหนีไปโคราช กษัตริย์ออกมานำต้านการรัฐประหารเองโดยไม่ต้องพูดอะไร แต่แสดงภาพทางทีวีคือในหลวงกับพระราชินีอยู่กับพลเอกเปรมที่โคราชซ้ำแล้วซ้ำเล่าออกทางทีวี จบ รัฐประหารกบฏยังเติร์กล่มเลย”

ธงชัยยังชี้ให้เห็นว่าการอ้างว่าหากไม่รับรองรัฐประหารจะทำให้เกิดสุญญากาศไม่เป็นความจริง เขายกตัวอย่างกรณี 14 ตุลาคม 2516 หลังจากผู้นำรัฐบาลเวลานั้นหนีออกนอกประเทศซึ่งอาจเรียกว่าใกล้เคียงสุญญากาศที่สุด ทางฝ่ายวังก็ทำการตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

“รัฐบาลไหน มาจากรัฐบาลที่กษัตริย์ตั้งในภาวะสุญญากาศ ผลก็คืออำนาจฝ่ายเจ้าเริ่มพลิกได้เปรียบหรือเรียกว่าอย่างน้อยคือจากที่เสียเปรียบกลายเป็นเจ๊ากัน คือพอๆ กับกลุ่มทหารนับจากหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา ก็เพราะสามารถแปรสุญญากาศให้เป็นโอกาสของพลังฝ่ายเจ้า ผมไม่ทราบว่ามีสิทธิ์จะเกิดสุญญากาศจริงหรือเปล่าในกรณีปี 49 อันนั้นก็ว่ากันไป แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงสุญญากาศปี 49 ได้ง่ายนิดเดียวก็คือเลือกตั้งซะ สามารถหลีกเลี่ยงสุญญากาศปี 57 ได้ง่ายนิดเดียวก็คือเลือกตั้งซะ แต่กลับใช้พลังมวลชนประจัญไม่ยอมให้เกิดการเลือกตั้งด้วยข้ออ้างว่าต้องหยุดเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นจะเกิดสุญญากาศ ต้องพูดให้ถูกต้องก็คือว่าต้องหยุด ต้องไม่หาทางออกอื่นนอกจากรัฐประหาร ไม่อย่างนั้นข้าพเจ้าจะก่อให้เกิดสุญญากาศ ข้าพเจ้าหมายถึงพันธมิตรฯ หมายถึง กปปส.

“เพราะฉะนั้นข้ออ้างเรื่องสุญญากาศเป็นข้ออ้าง เป็นการแก้ตัวที่เหลวไหลทั้งเพ เป็นการแก้ตัวด้วยเหตุผล ผมเรียกว่าวิปริตสองชั้น ชั้นที่หนึ่งก็คือเท่ากับบอกว่าเพราะประชาชนไม่ออกมาต้านการรัฐประหาร เพราะประชาชนไม่ยอมออกมารับกระสุนก่อน เลยต้องทำผิดด้วยการรัฐประหาร กษัตริย์จึงจำเป็นต้องรับรองการรัฐประหาร อันนี้เหตุผลอะไรครับ ทำผิดเองแล้วกลับโทษประชาชน กองทัพก็โทษประชาชน ใช่ไหมครับ วิปริตชั้นที่สองเท่ากับการบอกว่าการรับรองและการทำรัฐประหารครั้งนั้น เป็นการกระทำด้วยความจำใจขมขื่นอย่างยิ่งที่ต้องทำ จำใจและขมขื่นขนาดฉลองแบบที่ กปปส. ฉลองหลังรัฐประหารใช่ไหมครับ เขาจำใจและขมขื่นขนาดไหนกัน โกหกเหลวไหลทั้งเพ”

ดังนั้น การกล่าวว่ากษัตริย์เห็นด้วยกับการรัฐประหารทุกครั้งจึงไม่จริง ธงชัยยกกรณีกบฏยังเติร์กที่ในเวลานั้นเปรม ติณสูลานนท์ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่กษัตริย์เล่นบทบาทออกมาขวางการรัฐประหาร แสดงตนเข้าข้างเปรมอย่างเปิดเผย จนการก่อการรัฐประหารครั้งนั้นล้มลง

“พลังฝ่ายอำนาจนิยมทุกประเภท ทุกชนิด ทุกพลังถือว่าการรัฐประหารเป็นแค่วิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ ตราบเท่าที่เขาได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้คือง่ายๆ ถ้าหากรัฐประหารเมษาฮาวาย 24 เสียประโยชน์ กษัตริย์ก็ออกมาขวาง รัฐประหารครั้งไหนเห็นด้วย มีส่วนเต็มตัว หรือเห็นด้วยน้อย หรือไม่มีส่วนร่วม ไม่ใช่ตัวหลัก ก็ออกมาแสดงบทบาทต่างๆ กันไป”

อีกทั้งประชาชนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยยังถือว่าแหล่งที่มาสูงสุดของอำนาจและความชอบธรรมคือกษัตริย์ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญกระดาษ กษัตริย์เท่านั้นที่จะตัดสินว่ารัฐบาลควรจะอยู่หรือควรจะไป ด้วยวิธีไหนก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่การรัฐประหาร

รัฐประหารกระชับอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน

ทว่า การรัฐประหารที่กล่าวมานี้ไม่มีครั้งไหนทำเพื่อการกระชับอำนาจของเจ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเหมือนรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ซึ่งผลักดันให้สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์แสดงออกทางคำพูดและการกระทำอันโจ่งแจ้ง

ธงชัยกล่าวว่าเป็นเพราะรัฐประหารปี 2549 เกิดขึ้นท่ามกลางความกลัวว่ารัฐบาลเลือกตั้งจะมีอำนาจมากเกินไปจนท้าทายอำนาจของกษัตริย์ บวกกับเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะไม่แน่นอนว่าจะเกิดการเปลี่ยนรัชสมัยเมื่อใด แต่ปรากฏว่ายังไม่เพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์จึงตามมาด้วยรัฐประหารปี 2557

“ผมอยากชี้ประเด็นสำคัญตรงนี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับปี 49 โดยตรง แต่ว่าเป็นประเด็นเชิงระบบ ระบอบ แต่ขอย้ำอีกครั้งแล้วกัน ถ้าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองใดๆ เลยจริงๆ อย่างที่ทางการพร่ำพูด การเปลี่ยนรัชกาลก็ไม่มีอะไรต้องกังวลเลย เพราะการเมืองไม่มีผลต่อการเปลี่ยนรัชกาล ใช่ไหมครับ แต่ความหวั่นไหว หวั่นวิตกจนเกินเหตุในช่วงเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้นก็เพราะวังไปอยู่ในวังวนของการเมืองอย่างเต็มตัว มีอำนาจมากด้วย มีผลประโยชน์ได้และเสียทางการเมืองสูงมากด้วย”

สิ่งนี้เป็นหลักฐานอันโจ่งแจ้งว่าสถาบันกษัตริย์-กษัตริย์ข้องเกี่ยวกับการเมือง

“ส่วนการแสดงบทบาทโจ่งแจ้งในครั้งนั้น สะท้อนภาวะที่จำเป็นหรือเดิมพันสูง เปิดไพ่ใบอื่นออกมาแล้วไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องเปิดไพ่ใบสุดท้ายในมือออกมา”

ขณะเดียวกันความโจ่งแจ้งยังบ่งชี้ถึงความกังวลในเรื่อง ‘บารมี’

“บารมีไม่ถึงๆ ไม่มีความชอบธรรม บารมีไม่ได้ทำอะไรตามใจชอบนะ บารมีช่วยให้เกิดความชอบธรรม บารมีไม่ได้เป็นของกษัตริย์อย่างเดียว คนธรรมดาก็มีบารมีได้ บารมีทำให้คนมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจ ที่จะแสดงอำนาจได้มาก ที่คนอื่นทำไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้ ในภาวะปัจจุบันผมเห็นว่าบารมีอาจจะเรียกว่าอ่อนลงหรือยังต้องรอเวลาพิสูจน์ก็แล้วแล้วแต่จะเรียก แต่ยังใช้อำนาจเกินกว่าที่คนทั่วไปจะยอมรับได้ง่ายๆ ปัญหาจึงเกิดขึ้น เรียกร้องการปฏิรูปกษัตริย์ ปฏิรูปสถาบัน หรือเกิดความไม่พอใจถึงขนาดพูดกันออกมาอย่างเปิดเผย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนได้”

พลังฉุด vs พลังผลัก-รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ vs รัฐประชาชาติ

ธงชัยอ้างอิงข้อเสนอของเกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า ปัจจุบันระบอบการปกครองของไทยคือ ‘เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราช’ ซึ่งทำให้เขาย้อนกลับไปยังคำถามของ Ben Anderson ตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1978 ในบทความเรื่อง Studies of Thai state: The state of Thai studies ที่ว่า หรือการปฏิวัติ 2475 ที่พยายามล้มอำนาจของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สำเร็จเพียงครึ่งๆ กลางๆ หรือพูดอีกอย่างก็คือไม่สำเร็จครึ่งๆ กลางๆ กล่าวคือความพยายามสร้างรัฐประชาชาติของไทยอยู่ในภาวะค้างเติ่ง

“ถ้าเราคิดว่าการเมืองไทยสมัยใหม่ทั้งหมด 80 ปีอยู่ในบริบทของการต่อสู้กันระหว่างพลังผลักสู่รัฐประชาชาติ กับพลังฉุดที่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภาวะค้างเติ่งที่ Ben พูดถึงแล้วไม่ได้ตอบ เราเรียกกันว่ามันมีพลังผลักและพลังฉุด ไม่ได้ฉุดให้กลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มตัวแบบเดิม เพราะมันสายไปแล้ว เราเกินนั้นมาแล้ว แต่จะให้กลายเป็นรัฐประชาชาติ เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้ เพราะพลังฉุดมันมีอยู่มาก ในแง่ความเป็นชาติ ผมเรียกชาติในภาวะค้างเติ่งแบบนี้ว่ารัฐราชาชาติ คือเป็นชุมชนจินตกรรมแบบหนึ่ง”

ถึงกระนั้นความเป็นชาติไทยกลับมีลักษณะต่างไป

“ความเป็นชาติไทยไม่ใช่ชาติของประชาชาติ แต่เป็นชาติของกษัตริย์ คือสมาชิกยังไม่ใช่ Citizen ที่เสมอภาคกัน ที่ประชาชนเห็นว่าเราเป็นคน เป็นสมาชิกที่มีอำนาจเท่ากัน แล้วไม่แน่ใจด้วยว่าสมาชิกเหล่านี้รวมกันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือเปล่า หรือว่ายังเป็นของกษัตริย์อยู่ ยังมีคนจำนวนมากที่เห็นว่าชาตินี้เป็นชาติของกษัตริย์ คนที่เห็นว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาติจึงต้องต่อสู้เพื่อให้ความเป็นรัฐประชาชาติปรากฎเป็นจริงและเขายังถูกลงโทษได้ แปลว่ารัฐนี้ยังไม่ได้ยอมรับว่าเป็นรัฐของประชาชาติ”

อำนาจของกษัตริย์?

ในด้านระบอบการเมือง มันคือการแสดงออกระหว่างพลังผลักและพลังฉุดที่ยื้อยุดมาตั้งแต่ปี 2475 สิ่งนี้บอกอะไร มันกำลังบอกถึงใจกลางของปัญหา

“สะท้อนปัญหาใจกลางว่าจะเอาอย่างไรดีกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง จะให้มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน จะจัดความสัมพันธ์กับอำนาจที่มาจากประชาชนอย่างไร อย่างที่ผมเขียนแล้วในบทความอื่น ถึงที่สุดคือการดิ้นรนพยายามหาว่าสถานะเหนือการเมืองหมายถึงเลยพ้นไปจากการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย หรือหมายถึงการอยู่ข้างบน เป็นชั้นบนคอยกำกับควบคุมดูแลการปกครองและการบริหารงานของรัฐบาล มีการต่อสู้หลายยกหลายรอบระหว่างพลังสองด้านนี้

“ปรากฎการณ์ที่สะท้อนภาวะปัญหาใจกลางคือจะเอาอย่างไรดีกับอำนาจกษัตริย์นี้สะท้อนออกมาชัดก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญ ในการรัฐประหาร อำนาจนำของกษัตริย์เมื่อตกอยู่ในวิกฤตความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเปลี่ยนรัชสมัย เกิดจากจุดอ่อนที่แก้ไม่ตกของพลังฝ่ายเจ้าเอง อันนี้ผมและอีกหลายคนพูดมานานแล้วก็คือว่าจุดอ่อนของสถาบันกษัตริย์ก็คือไม่สามารถการันตีได้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ ตัวบุคคลจะเป็นผู้มีบารมีมากเสมอไป ทั้งที่องค์ประกอบนี้เป็นองค์ประกอบหรือเป็นเสาหลักประการหนึ่งที่จะค้ำจุนกษัตริย์ในฐานะพลังทางการเมือง หมายถึงถ้าไม่มีกษัตริย์ที่มีบารมีพอ สถาบันกษัตริย์ในแง่ที่เป็นพลังทางการเมืองจะอ่อนแอลงทันที

“ต่างกับสถาบันอื่นที่ไม่ผูกติดกับตัวบุคคลมากขนาดนี้ ปัญหานี้เป็นจุดอ่อนที่ไม่มีทางแก้ตก ดังนั้นเมื่อเกิดระยะเปลี่ยนผ่านจึงกลายเป็นความไม่แน่นอน กลายเป็นวิกฤตทางการเมืองขึ้น ลงท้ายรัฐประหารปี 57 และระบบการเมืองของรัชกาลที่ 10 ทำให้กษัตริย์กลับมีอำนาจคุมและบริหารกองกำลัง มีอาวุธและทรัพย์สินสาธารณะจำนวนมหาศาลได้ด้วยตัวเอง แถมการให้อำนาจนี้ยังมีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เพียงรองรับให้มีอำนาจ แต่รองรับให้ปลอดการรับผิดอีกด้วย และยังบังคับใช้กฎหมายห้ามวิจารณ์กษัตริย์อย่างเข้มงวด อย่างวิปริตยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ที่เคยมี 112 มา”

ต้องทำให้กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย

ธงชัยเห็นว่านี่เป็นเรื่องร้ายแรง เนื่องจากการสถานปนาอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดหรือ Impunity อย่างถูกต้องลงเป็นตัวบทกฎหมายทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายอย่างเต็มที่และเป็นทางการ เป็นดัชนีที่บ่งชี้การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจน

“ที่เกษียรอธิบายอย่างสำคัญและเหมือนว่าถูกต้องในความเห็นผมก็คือเกษียรไม่ได้อธิบายว่ากลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มที่ก่อน 2475 แต่เขาอธิบายว่าขณะนี้ได้ข้ามเส้นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขไปเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าจะบอกอีกอย่างก็คือประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขได้เปลี่ยนหรือย่อระดับไปขั้นหนึ่งคือคืบเข้าสู่ภาวะที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยในแง่หนึ่งที่เป็นดัชนีสำคัญอย่างยิ่ง คืออยู่เหนือกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นภาวะปัจจุบันของระยะยาวที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ระหว่างพลังผลักและพลังฉุด เป็นภาวะปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาจากรัฐประหาร 49 ซึ่งยังไม่เป็นถึงขนาดนี้ เป็นภาวะที่รัฐประหารปี 57 และเงื่อนไขทางการเมืองสมัยรัชกาลที่ 10 กำลังสร้างให้เกิดขึ้น”

บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากรัฐประหารปี 2549 ในทัศนะของธงชัยคือการสร้างนิติรัฐหรือ Rule of Law ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนๆ กัน

“ผมเห็นว่าการสร้างระบบกฎหมาย Rule of Law กระบวนการยุติธรรมที่จริงจังเป็นคู่แฝดกับการสร้างประชาธิปไตย ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ไม่ใช่กระบวนเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่ต้องไปด้วยกัน ในแง่ระยะเวลาผมไม่แน่ใจว่าการต่อสู้เพื่อสร้าง Rule of Law ที่เป็นจริงขึ้นมาอาจจะใช้เวลามากกว่าการสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แต่มันไปด้วยกัน ทุกวันนี้คุณเห็นว่ามันไปด้วยกันอยู่แล้ว ให้ตระหนักความสำคัญแค่นั้นเองว่าไม่ใช่เรื่องของเจ้า ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องอำนาจกษัตริย์ ปัญหาใจกลางไม่ใช่แค่เรื่องกษัตริย์ควรมีอำนาจแค่ไหน อย่างไร กับระบบและกระบวนการประชาธิปไตย ปัญหาใจกลางคือจะให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในสถานะไหนของระบบกฎหมายทั้งหมดด้วย”

ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จ จนกว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะราบคาบ

15 ปีรัฐประหาร 2549 ผู้คนในสังคมไทยเรียนรู้บทเรียนมากขึ้นว่า สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์และการรัฐประหารมีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร ข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน

ในทางกลับกัน สถาบันกษัตริย์-กษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้าได้รับบทเรียนหรือไม่? คำตอบคือได้ แต่เป็นบทเรียนคนละบท

“ในกรณี 49 ผมคิดว่าสังคมไทยไม่ได้มีฝ่ายเดียว ไม่ได้มีการเมืองเหมือนๆ กันหมด ถ้าเหมือนกันมันก็คงจะไม่ขัดแย้งต่อมา 15 ปีหรอก คนจำนวนมากเรียนรู้แบบหนึ่ง ขณะเดียวกันคนอีกมากเรียนรู้คนละบทกัน คนจำนวนมากพอใจ ไม่รังเกียจเลยที่จะข้ามเส้นกลับไปอยู่ภายใต้กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเช่นในปัจจุบัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การไม่รังเกียจเลยที่จะทำเช่นนั้นก็คือว่าเขาเรียนรู้จาก 15 ปีที่ผ่านมาคนละบทกัน

“ผมเชื่อว่าใครทั้งหลายในฝ่ายเจ้ายังคิดว่าจำเป็นต้องหยุดการเหิมเกริมของคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะสำหรับเขาอำนาจอธิปไตยยังอยู่ในมือกษัตริย์ ตราบใดที่ยังมีการเหิมเกริม การต่อสู้ก็ไม่จบ คนพวกนี้ไม่เห็นว่าการที่กษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองเปิดเผย ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ไม่ใช่สิ่งที่สมควรอะไรเลย ย้อนกลับไปนิดหนึ่งถ้าเขาเรียนรู้เรื่องนี้และมีแนวโน้มจะเรียนรู้บทเรียนว่าการทำแบบนี้เป็นการคิดสั้น เขามีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนปี 49 แล้ว”

เพราะภารกิจที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ยังไม่สำเร็จ การสรุปบทเรียนและการกระทำที่ตามมาจึงต่างออกไป

“ระบอบอะไรก็ได้ ถ้าระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอย่างก่อนรัฐประหารปี 49 ทำให้อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือกษัตริย์ถึงขนาดที่เรียกว่ารัฐบาลเชื่อฟัง อยู่ในกำกับของวังได้ เขาก็ไม่จำเป็นต้องทำมากกว่านั้น แต่หลายปีหลังจากนั้นรวมถึง 15 ปีนับจากปี 49 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เขาเห็นแล้วว่าขนาดหลังปี 49 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ก็ยังไม่สำเร็จ จึงต้องใช้อำนาจอย่างที่เป็นระบอบประยุทธ กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมเชื่อว่าเขาเห็นว่าเป็นภารกิจที่จำเป็น อย่างเก่งเขาก็อยากจะออกมาว่าอันนี้ชั่วคราว เป็นสภาวะยกเว้น เป็นสภาวะจำเป็น จนกว่ารัฐบาลและการลุกขึ้นของประชาชนและตั้งคำถามกับอำนาจอธิปไตยในมือกษัตริย์ เรียกร้องอำนาจอธิปไตยให้อยู่ในมือประชาชนจะถูกกำจัดอย่างสงบราบคาบ เขาจึงจะถือว่าสำเร็จ”

ธงชัยเสริมว่า

“คนเห็นแล้วว่ากษัตริย์ในความหมายที่เราว่ามาไม่ได้พ้นจากการเมือง มีดีชั่วทางการเมืองเหมือนคนอื่น สิ่งที่ต่างก็คือกษัตริย์อยู่หลังความศักดิ์สิทธิ์ อยู่ข้างหลังความมีบุญคุณต่อชาติ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นี้มาจากอย่างอื่นได้ ไม่ต้องมาจากประวัติศาสตร์ มาจากพิธีกรรม มาจากพฤติกรรมปัจจุบันก็ได้ เรื่องบุญ เรื่องชาตินี่ชัดเจนว่าคนจะรู้สึกมีบุญคุณได้ก็ต่อเมื่อยอมรับเรื่องเล่าที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ ยอมรับการกล่อมประสาทแบบนั้น การกล่อมเกลาเหล่านี้เป็นอำนาจที่กษัตริย์มีต่างจากพลังการเมืองอื่น จึงทำให้กษัตริย์มีอำนาจที่ไม่ต้องรับผิด ปี 49 ขณะที่เป็นจุดเริ่มต้นที่คนจำนวนไม่น้อยทางฝ่ายเจ้าและประชาชนฝ่ายเจ้าถือว่าต้องใช้กำปั้นเหล็กหนักเข้าไปอีก ในเวลาเดียวกันก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของมนต์คาถาอันนั้นก็ได้ ก็ต้องว่ากันต่อไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท