สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ปีนรั้วกระทรวงทวงค่าชดเชย หลังนายจ้างปิดงานไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ลอยแพคนงาน 1,300 คน

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ปีนรั้วกระแรงงานทวงถามความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือ ปมนายจ้างปิดงานไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทำ 1,300 คนงานตกงานกะทันหัน แต่กลับไร้เงา รมว.แรงงานลงมาคุย แถมกระทรวงปิดประตูทางเข้า

 

20 ก.ย.2564 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่หน้าประตู 3 กระทรวงแรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ประมาณ 100 คน นำโดย จิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพฯ นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงพร้อมป้ายเรียกร้องมาชุมนุมให้ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เร่งช่วยคนงาน บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ เป็นลูกจ้างปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง 1,300 คน ไม่จ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนงานเคยยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.แรงงาน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน เม.ย. ขอให้นำเงิน 242 ล้านบาทมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้ติดตามนายจ้างมารับผิดชอบจ่ายเงินคืนรัฐบาล พร้อมเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย แต่ไม่มีความคืบหน้า

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กระทรวงแรงงาน ปิดประตูทางเข้าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ รมว.แรงงาน ลงมารับข้อเรียกร้องเข้าไปด้านในกระทรวง จึงปักหลักปราศรัยโจมตีการทำงานของ รมว.แรงงาน ว่าไม่เป็นที่ไว้วางใจของคนงาน เพิกเฉยไม่สนใจ ไม่ดูแล คนงานเดือดร้อน ทั้งที่ตนเองเคยพูดมาตลอดว่าเคยลำบาก เป็นลูกจ้าง เคยแบกน้ำตาล แต่พอแรงงานถูกเลิกจ้างมาขอให้ช่วยไม่เคยได้พบแม้แต่ครั้งเดียว ไม่สนใจแก้ปัญหา เน้นแต่งานประชาสัมพันธ์ ถ้าไม่แก้ปัญหา ไม่มีความสามารถไปตามนายจ้าง ก็ควรลาออกไป และได้เรียกร้องให้เปิดประตูเจรจาตามหลักแรงงานสัมพันธ์ไม่ใช่ปิดประตูห้ามเข้า

จากนั้นราว 3 ชั่วโมงไม่มีการตอบรับ ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงได้อ้างว่าอยากเข้าห้องน้ำแล้วพากันปีนรั้วเข้าไปด้านใน โดยไปรวมตัวอยู่ใต้ตึกที่ทำงานรัฐมนตรี ก่อนที่ฝนจะถล่มลงมาอย่างหนักจน รปภ.ต้องยอมเปิดประตูให้เข้า และมี สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือและให้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป

ทั้งนี้ เพจ สหพันธ์ สิ่งทอ รายงานเพิ่มเติมว่า การเดินทางมายื่นหนังสื่อต่อ รมว.แรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่เคยได้ยื่นเพื่อให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกนายจ้างปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมาย แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานไม่มารับหนังสือ ไม่มาชี้แจงความคืบหน้า มีเพียง สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับหนังสือและชี้แจงให้ลูกจ้างทราบ ความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า การส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางเพื่อให้พิจารณานำเงินมาจ่ายให้ลูกจ้าง เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 ตัวแทนกรมบัญชีกลาง(การประชุมกรรมาธิการการแรงงาน) แจ้งว่ากรมบัญชีกลางไม่อำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ ขอให้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับปากจะนำเสนอรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง

วันนี้ผู้แทนกรมสวัสดิการชี้แจงว่าได้ส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณแล้ว แต่เมื่อสอบถามขอสำเนาให้สหภาพแรงงาน กลับไม่สามารถนำมาให้ผู้แทนลูกจ้างดูได้ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2564 ที่อธิบดีกรมสวัสดิการส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางสรุปว่าอธิบดีส่งหนังสือไปไม่ตรงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่เลขานุการรัฐมนตรีก็รับปากว่าจะดำเนินแก้ปัญหาให้ลูกจ้างโดยเร็วที่สุด ปัญหานายจ้างปิดกิจการเลิกจ้างสร้างความเดือดร้อนให้ลูกจ้างมา 6 เดือนกว่าที่ว่าโหดร้ายแล้ว สิ่งที่รัฐบาล สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานที่ไม่มารับหนังสือและปล่อยให้เจ้าหน้าที่เอาโซ่มาล็อกประตูไม่ให้ลูกจ้างเข้าไปในกระทรวงเพื่อเข้าห้องน้ำเหมือนยิ่งซ้ำเติมลูกจ้างที่เดือดร้อนและโหดร้ายพอๆกัน ลูกจ้างเกินครึ่งหนึ่งต้องปีนข้ามประตูเพื่อเข้าไปในกระทรวงเพื่อเข้าห้องน้ำ และเมื่อมีฝนตกอย่างหนักจนลูกจ้างหลายคนเปียกเจ้าหน้าที่ถึงได้เปิดประตูให้ลูกจ้างเข้าไปในกระทรวงแรงงาน หากนายสุชาติ ชมกลิ่น ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เอาโซ่มาล็อกประตูไม่ให้ลูกจ้างเข้าไปในกระทรวงแรงงานเพื่อเข้าห้องน้ำ ต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นคนสั่งและจะรับผิดชอบอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร

ทั้งนี้การเลิกจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้าของบริษัท บริลเลียนท์อัลไลแอนซ์ไทย โกลบอล จำกัด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ลูกจ้างจำนวน 1,388 คนตกงานทันที โดยไม่มีโอกาสทราบล่วงหน้า โดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า วันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินอื่นๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมาย เมื่อถูกนายจา้งปิดกิจการลูกจ้างได้ไปเขียนคำร้อง คร. 7 พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ ได้สอบสวนข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องและออกคำสั่ง ที่ 119/2564 เรื่อง ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โบนัสและเบี้ยขยันโดยให้นายจ้างบริษัท บริลเลียนท์ฯ จ่ายเงินต่างๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,689,862.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าบาทต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ขณะนี้นายจ้างยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโบนัสและเบี้ยขยันให้กับลูกจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงท่าทีกระทรวงแรงงานที่ไม่ค่อยต้อนรับผู้มาร้องเรียนตอนนี้ ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงแรงงาน สภาการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพชีวอนามัยและความปลอดภัย (สคอป.) พร้อมด้วยนักศึกษาและอาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพอนามัยและความปลอดภัย ร่วมเรียกร้องให้มีการถอดร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ...’ แค่เฉพาะข้อ 21 วงเล็บ 3 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่างกฎกระทรวง จป.ว. 21(3)’ โดยที่วันดังกล่าว มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการตั้งขบวนโดยนักศึกษา พร้อมถือป้ายไวนิล เพื่อเข้าไปเรียกร้องกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่พอถึงหน้ากระทรวง ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาที่มาร้องเรียนกลับถูกตรวจตราอย่าางเข้มงวดเกินจำเป็น มีการตรวจวัตถุโลหะ ไปจนถึงให้เก็บป้ายไวนิล และอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท