หลายฝ่ายกังวล ร่างกฎกระทรวง จป.ว. ข้อ 21(3) ช่วยภาคธุรกิจ แต่อาจละเลยเรื่องคุณภาพ-ทำบัณฑิตตกงาน

ย้อนไปเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค.จนถึงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สภาการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพชีวอนามัยและความปลอดภัย (สคอป.) พร้อมด้วยนักศึกษาและอาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพอนามัยและความปลอดภัย ร่วมเรียกร้องให้มีการถอดร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ...’ แค่เฉพาะข้อ 21 วงเล็บ 3 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ร่างกฎกระทรวง จป.ว. 21(3)’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

คลิปวิดีโอการคัดค้านร่างกฎกระทรวง (จป.ว.) ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ
 

สาระสำคัญข้อ 21 (3) คือ ผู้ใดก็ตามที่สำเร็จการศึกษาจากปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ และมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทแห่งดังกล่าวอย่างต่ำ 5 ปี ผ่านการอบรมหลักสูตรซึ่งจัดโดยภาครัฐ จำนวนราว 222 ชั่วโมง และผ่านการประเมิน จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง จป.ว.ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน อ้างว่า ข้อ 21(3) มีขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสถานประกอบการราว 3,000 แห่ง ขณะนี้กำลังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.ว.)  

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้ที่ไม่เห็นด้วย ระบุว่า แม้ข้อ 21 (3) จะสามารถช่วยเหลือฝั่งผู้ประกอบการได้ แต่อาจส่งผลต่อความมั่นคงเรื่องการจ้างงานในสายอาชีพ จป.ว. ตามมา บัณฑิตสาขาชีวอนามัยฯ จะตกงานเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดการความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และสังคมโดยรวมตามมา

เพื่อให้เข้าใจความคับข้องใจตรงนี้มากขึ้น ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์คนทำงาน นักศึกษา และอาจารย์จากหลักสูตรชีวอนามัยฯ ที่มาร่วมยื่นหนังสือคัดค้าน ร่างกฎกระทรวง จป.ว. ข้อ 21(3) ต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 ถึงเหตุผลที่พวกเขาต้องออกมาคัดค้าน และข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาจากมุมมองคนทำงานและนักวิชาการที่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ เมื่อ จป.ว. ไม่ควรเป็นใครก็ได้ และการเพิ่มแรงงาน ต้องมาพร้อมกับคุณภาพ

นักศึกษา-บัณฑิตชีวอนามัยและความปลอดภัย หวั่นตกงานอื้อ

ประเด็นที่ สคอป. คัดค้านร่างกฎกระทรวง จป.ว. ข้อ 21(3) เนื่องจากตลาด จป. ในปัจจุบันอยู่สภาวะล้นตลาด และถ้าร่างดังกล่าวบังคับใช้ แทนที่จะได้บรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานตามเจตนาของกรมสวัสดิการฯ กลับจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาคนทำงาน จป.ว. และทำให้นักศึกษาและบัณฑิตจากสาขาวิชาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เมื่อจบมาแล้วและต้องการทำงานอาชีพสาขานี้ อาจต้องตกงานเป็นจำนวนมาก 

ผศ.พรนิภา บริบูรณ์สุขศรี อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ความปลอดภัย จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านร่างกฎกระทรวงข้อ 21(3) มาตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ปี’57 มองว่า สิ่งที่กรมสวัสดิการฯ อ้างว่า กฎกระทรวงข้อนี้มีขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนตำแหน่ง จป.ว. ในสถานประกอบการจำนวน 3,000 แห่ง ดูจะขัดแย้งกับข้อมูลจากฝั่งมหาวิทยาลัยที่บ่งชี้ว่า ตลาด จป.ว. ตอนนี้กำลังประสบภาวะล้นตลาด

ผศ.พรนิภา บริบูรณ์สุขศรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
 

เอกสารแนบท้ายหนังสือคัดค้านของ สคอป. เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา เผยให้เห็นถึงข้อมูลประมาณการจำนวนบัณฑิตในสถาบันศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ สาขาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย จำนวน 41 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะสามารถผลิตบัณฑิตปริญญาตรีสำเร็จได้ในแต่ละปี โดยปี 2563 จำนวน 4,168 คน ในปี 2564 จำนวน 2,501 คน ปี 2565 จำนวน 2705 คน และปี 2566 จะมีบัณฑิตจำนวน 2,069 คน รวมทั้งหมด 14,378 คน 

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ระบุต่อว่า หมายความว่าโดยเฉลี่ยสถาบันต่างๆ จำนวน 41 แห่ง จะสามารถผลิตบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ตกปีละ 2,069-2,935 คน และนี่แค่ตัวเลขเฉพาะบัณฑิตในมหาวิทยาลัย ยังไม่รวม จป.ที่ทำงานอยู่ในตลาดแรงงานตอนนี้ ดังนั้น การมาอ้างว่าสถานประกอบการจำนวน 3,000 แห่งกำลังขาดแคลน จป.ว. จึง “ไม่มีน้ำหนัก” เธอจึงมองว่าการระบุกฎกระทรวงข้อนี้จึงไม่ยุติธรรมต่อนักศึกษา และเป็นเหตุให้เธอต้องออกมาค้าน 

เอกสารที่เปิดเผยให้เห็นตัวเลขนักศึกษาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นปีต่างๆ

“อ้างว่าจำนวน จป.ว. ไม่เพียงพอ เราได้ศึกษามาแล้วว่าจำนวน จป.ว.ตอนนี้ล้นตลาดแล้ว คือนักศึกษาตกงาน และถ้ายิ่งร่างกฎกระทรวงออกมาอีก ยิ่งไปกันใหญ่ คือทั้งร่างกฎกระทรวง เราขอความอนุเคราะห์เราขอความกรุณาในการตัดข้อ 21(3) แค่ข้อเดียว” พรนิภา กล่าว 

ขณะที่ ต้นข้าว อรอินทร์ และนุชจิรา ไสยศาตร์ สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เล่าความรู้สึกที่มาร่วมคัดค้านว่า มันไม่ยุติธรรมกับนักศึกษาอย่างมาก เนื่องจากนักศึกษาสาขานี้จะได้รับงานที่น้อยลง เพราะว่ามีคนเข้ามาแย่งงานเยอะขึ้น

เช่นเดียวกับทางด้านของ ‘เพชรชนก’ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาคณะสาธารณสุข สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เขาเองก็มีความกังวลถึงอนาคตเช่นเดียวกัน ถ้าร่างกฎหมายมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 

“มีความกังวลนิดหนึ่ง เพราะว่าเราจบใหม่ไป จะไม่มีงานให้เรารึเปล่า แต่ผมไม่รู้ว่าสถานประกอบการเขาจะคิดเหมือนกันไหม” เพชรชนก กล่าว 

อย่างไรก็ตาม มิติของปัญหาอาจไม่ได้กระทบบัณฑิตจบใหม่เท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงประสิทธิภาพการทำงานด้านความปลอดภัยในที่ทำงานที่ตกต่ำลง แรงงานเผชิญความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น และสังคมอาจเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว 

การเพิ่มต้องควบคู่กับคุณภาพ

ชาญวิทย์ เลิศฤทธิ์ ผู้ประกอบอาชีพ จป. และแอดมินเพจชมรมชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นหนึ่งในคนที่มาร่วมคัดค้าน ร่างกฎกระทรวง จป. 21(3) ที่กระทรวงแรงงานเช่นกัน ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงแรงงาน โดยเขารู้สึกว่า ร่างกฎกระทรวง จป.ว. ข้อ 21(3) อาจไม่ยุติธรรมกับนักศึกษา ถ้าอยู่ในช่วงที่ตลาดแรงงาน จป. กำลังขาดแคลนคือเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อนหน้า การจัดอบรมก็เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มคนทำงาน จป. อย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้คนทำงาน จป.เกินความต้องการของตลาดไปไกลแล้ว มหาวิทยาลัยที่ทำการเปิดสอนมีเยอะมาก นักศึกษาเข้ามาเรียนก็เยอะมาก หลายๆ คนจบมายังไม่ได้งานด้วยซ้ำ 

ชาญวิทย์ เลิศฤทธิ์ ผู้ประกอบอาชีพ จป. และแอดมินเพจชมรมชีวอนามัยและความปลอดภัย
 

แอดมินเพจชีวอนามัยฯ กล่าวต่อว่า  เขามีข้อกังขาถึง ข้อ 21(3) ว่าคนที่มาอบรม และทำงาน จป.ว. ต่อไป อาจไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงในเรื่องการจัดการชีวอนามัย เพราะงาน จป.ว. ไม่ใช่การซื้อและจัดเตรียมเครื่องป้องกันในสถานที่ทำงาน และจบลง แต่ต้องการความรู้เฉพาะทางในแต่ละสาขา เช่น ทำโรงงานผลิตสารเคมี หรือโรงพยาบาล ก็ต้องการความรู้ของที่ตรงนั้น หรือทำงานในไซต์ก่อสร้างก็ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก และวิศวกรรมศาสตร์ควบคู่กันไป  

ดังนั้น ชาญวิทย์ ก็อยากให้ภาครัฐคำนึงว่า การเพิ่มจำนวนคนทำงาน ต้องมาพร้อมกับคุณภาพด้วย สำหรับในเรื่องของการอบรมของภาครัฐ ชาญวิทย์ยังมีข้อกังขาถึงคุณภาพว่า การอบรมเพียง 222 ชั่วโมง อาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาสาระที่จำเป็นทั้งหมดในการทำงาน จป.ว. ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ จป.ที่มีคุณภาพมาทำงาน  

“คือเราไม่ได้แอนตี้เรื่องการอบรมมันจะไม่ดี แต่ผมมองว่า หนึ่งคือคนที่เข้ามาอบรม เขามีทักษะจริงรึเปล่า เขามีประสบการณ์จริงรึเปล่า เอาอะไรเป็นตัวการันตี ...ถามว่า 5 ปี แล้วคุณไม่ได้ทำงานเซฟตี และคุณเอาประสบการณ์ทำงานด้านปลอดภัยได้ยังไง และที่เขาอบรมมันเข้มงวดแค่ไหน” ชาญวิทย์ ระบุ 

นอกจากนี้ ยังไม่รวมกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา ชาญวิทย์ เคยเจอประสบการณ์ที่พอเปิดช่องตรงนี้ บริษัทก็ส่งใครก็ได้มาอบรม อบรมเสร็จก็เอาชื่อไปแขวนไว้ แล้วก็ปล่อยให้คนๆ นี้ออกมาทำงานที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานด้านความปลอดภัย เหมือนให้มีชื่อ จป.ตามกฎหมาย แต่ไม่มี จป. ทำงานจริง สุดท้าย บริษัทได้ลดต้นทุน แต่กรรมตกอยู่กับแรงงานแทน 

ในด้านปัญหาเชิงคุณภาพ รศ.วิชัย พฤกษ์ธาราธิกูล ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นหนึ่งในผู้ออกมาต้านร่างกฎหมายข้อดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า ร่างกฎกระทรวง จป.ว. ข้อ 21(3) นั้น กำลังเพิ่มอำนาจให้ผู้ประกอบกิจการต่อรองกับผู้ที่ทำงาน จป. ซึ่งอาจส่งผลต่ออิสระในการทำงาน และการจัดการความปลอดภัยในสถานประกอบการ 

วิชัย ยกตัวอย่างด้วยว่า หากบริษัทสามารถส่งใครไปอบรมได้ เขาก็ไม่จำเป็นต้องง้อคนที่ทำงาน จป.ว. ที่จบปริญญาสายตรง ซึ่งอาจจะเข้มงวดเรื่องการจัดการความปลอดภัย และคนที่บริษัทส่งไปอบรม และกลับมาทำงานอาจไม่กล้าติงเจ้าของบริษัทเมื่อมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย 

“คนที่ได้ประโยชน์เยอะสุด คือนายจ้าง เพราะยังไงมันก็ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพราะว่าเวลาที่กระทรวงแรงงาน ออกกฎหมายเรื่องชีวอนามัย และความปลอดภัย มันส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ต้องซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัย ต้องใส่ PPE แต่ถ้าไม่มีคนมากำกับพวกนี้อะไรจะเกิดขึ้น เขาทำงานได้ไม่เต็มที่ เข้มงวดเกินไปจะมีปัญหากับนายจ้าง ไม่พอใจขึ้นมา เบาเกินไปก็มีปัญหาเรื่องลูกจ้างได้รับอุบัติเหตุ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บจากการทำงาน

“คนที่ทำ จป.ว. ตอนนี้เหมือนกับเป็นตัวแทนของกระทรวงเข้าไปดูความปลอดภัยสุขภาพอนามัย เรื่องการเกิดอุบัติเหตุ ต้องเซ็นรีพอร์ต (รายงาน) ให้กระทรวงแรงงาน แต่นายจ้างส่งคนมาอบรม แล้วคนนี้จะกล้ารายงานอะไรไหม” วิชัย ตั้งคำถามต่อผลกระทบความเป็นอิสระต่อการทำงานของ จป.  

“เพราะฉะนั้น ในทางหนึ่งเหมือนเป็นการทำลายวิชาชีพ จป. ไปในตัว วิชาชีพที่จะต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแรงงาน ก็จะไม่มีใครกล้าทำอะไร รายงานตัวเองได้เลย ส่งคนไปอบรม 200 ชม. กลับมาแทนได้เลย” วิชัย กล่าว พร้อมระบุว่า หากเราละเลยเรื่องคุณภาพแบบนี้ต่อไป อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของแรงงานในโรงงาน ตลอดจนซ้ำรอยประวัติศาสตร์เหตุอัคคีภัยโรงงานหมิงตี้ จ.สมุทรปราการ ตามมา

ข้อเสนอแบบ ‘วิน-วิน’ ด้วยการประสานงาน

เรื่องการคัดค้านร่างกฎกระทรวง จป.ว. ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการต้านทานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว คือในปี'57 ครั้งต่อมาในปี'61 และในปี'64 ปัจจุบัน วิชัย อาจารย์จาก มข. อธิบายว่า สิ่งที่ภาครัฐอ้างเสมอมาที่จะไม่ยอมถอดข้อนี้ คือ ‘ผ่านกระบวนการไปแล้ว’ แก้ไขไม่ได้ ซึ่งวิชัย รู้สึกว่า ถ้ายังไม่มีการบังคับใช้ ก็น่าจะยังแก้ไขได้ 

เพื่อทดแทนข้อ 21(3) อาจารย์จาก มข. เสนอว่า ทางสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรชีวอนามัยและความปลอดภัยยินดีช่วยภาครัฐในการจัดหาคนไปทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ เพียงแต่ขอให้รัฐแจ้งข้อมูลมา ซึ่งดีกว่าไปเปิดช่องให้คนที่จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ไปอบรมเพื่อเป็น จป.ว. ใหม่

ทั้งนี้ ในหนังสือคัดค้าน ทาง สคอป. เมื่อวันที่ 8 ก.ย. มีการแนบข้อมูลติดต่ออีเมล เบอร์ รวมถึงรายชื่อคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรชีวอนามัยและความปลอดภัยมาให้กระทรวงแรงงานด้วย เพื่อใช้ประสานงานเวลาสถานประกอบการไหนที่ยังขาดคนทำงาน ทางมหาวิทยาลัยจะได้เอาคนไปลงให้ ขณะที่ข้อมูลเชิงสถิติจากภาครัฐที่ใช้อ้างเรื่องการขาดแคลนคนทำงาน ยังไม่เคยได้รับคำตอบกลับมาเลยสักครั้งแม้จะขอไป 5-6 ปีแล้วก็ตาม
 
นอกจากนี้ วิชัย ระบุว่า ข้อ 21 ในร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหมวดหมู่ของผู้ที่มีคุณสมบัติจะมาทำงาน จป.ว. มีด้วยกันทั้งหมด 6 วงเล็บ หรือ 6 ข้อ ซึ่งการตัดข้อ (3) ออกไปข้อเดียว เหลือ 5 ข้อ การดำเนินงานด้านชีวอนามัยและความปลอดภัยก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่ได้ขอให้ตัดทั้งข้อ 21

ขณะที่ ชาญวิทย์ คนทำงาน จป. กล่าวว่า ทาง จป. เคยให้ช่องทางแก้ปัญหาไว้อย่างหลากหลายช่องทาง เคยมีการเสนอว่า หากนายจ้างบางคนหา จป.ไม่ได้จริงๆ อาจจะด้วยศักยภาพที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่มีลูกจ้างจำนวนมาก เช่น กรณีเป็นผู้รับเหมารายเล็ก เป็นธุรกิจเสี่ยงที่ไม่มีกำลังทรัพย์มาก ถามว่าหากไม่มีข้อ 21(3) แล้วทำยังไงที่จะช่วยภาคธุรกิจที่หา จป.ว.ไม่ได้

อย่างแรก ให้ไปปรับปรุงเรื่องของ จป. วิชาชีพเทคนิคขั้นสูงก่อน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100 คน จะต้องมี จป.เทคนิคขั้นสูงอย่างน้อย 1 คน ซึ่งถ้าไม่ใช่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงมาก อาทิ ธุรกิจจัดหางาน ทางภาครัฐพอจะขยายขีดความสามารถในการดูแลคนงาน (capacity) เช่น ปรับจาก ไม่เกิน 100 คน อาจจะเป็น 200 คนได้หรือไม่ เพื่อที่ภาคธุรกิจจะได้ไม่ต้องหาคนเพิ่ม ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน 

แต่กรณีที่ภาครัฐต้องการดันเรื่องการอบรมจริงๆ ต้องออกมาให้ได้ ชาญวิทย์ เสนอว่า ภาครัฐก็ต้องเข้มงวดต่อการอบรมมากกว่านี้ให้ได้มาตรฐาน หรือเคยมีกรณีนายจ้างส่งลูกจ้างไปอบรม แต่พอเสร็จแล้ว ลูกจ้างลาออกเลยก็มี ก็อยากเสนอว่า ใบรับรองที่ได้จากการอบรม จป.ว. ต้องให้ลูกจ้างใช้ได้เฉพาะบริษัทที่ส่งลูกจ้างไปอบรมเท่านั้น ใช้สมัครงานตำแหน่ง จป.ที่สถานประกอบการอื่นๆ ไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจเอกชนด้วยในกรณีนี้   

อย่างไรก็ตาม ชาญวิทย์ระบุว่านี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ถ้าบริษัทต้องการส่งคนเข้าอบรม เพื่อเอาชื่อ-ตำแหน่งมาแขวนไว้ แต่ไม่ได้ทำงานจริงๆ ปัญหามันก็ยังคงอยู่ 

สำหรับเพชรชนก นักศึกษา มธ. ถ้าร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ เขาขอบริษัทต่างๆ อย่าให้คนที่ส่งไปอบรม จป.ว. และกลับมาทำงานแล้ว อย่าทำงานควบ 2 ตำแหน่ง เนื่องจากงานพวกนี้เป็นงานที่สำคัญ

"ถ้าเกิดเขาเลือกที่จะให้พนักงานของเขาสมมติว่าอยู่เป็นวิศวกร และเขาอยากจะมาดูแลเรื่องความปลอดภัย เราขอให้สถานประกอบการ ถ้าเกิดเขาทำงั้นจริงนะ ให้เขามาดูแลหน้าที่ตรงนี้โดยเฉพาะ อย่าให้เขาควบงานเด็ดขาด เพราะว่าความปลอดภัยมันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ" นักศึกษา มธ. กล่าว

เพชรชนก (สงวนนามสกุล) นักศึกษาจาก มธ.

สำหรับ วิชัย อาจารย์จาก มข. ฝากทิ้งท้ายถึงภาครัฐว่า ส่วนตัวเขาไม่มีปัญหาเรื่องการแก้กฎหมาย แต่อยากให้รับฟังเสียงและเหตุผลของทุกฝ่าย จากนั้น มาชั่งน้ำหนักถึงผลดีและผลเสียให้ดีก่อนตัดสินใจออกกฎหมาย ไม่อยากให้ดันทุรัง

“เราพยายามชี้แจงหลายรอบ (ผู้สื่อข่าว - ภาครัฐ) ฟังๆ ทุกชั้น แต่ก็ยังทำ คุณไม่เอามาบาลานซ์ ไม่เอาตราชั่งมาตั้งประโยชน์ที่ได้และผลเสียที่เกิดขึ้น การออกกฎหมายภาครัฐต้องดูว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ดี แต่ข้อดี-ข้อเสียมาชั่งน้ำหนักให้ดี อย่าทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน” วิชัย ทิ้งท้าย 

สำหรับความคืบหน้า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 ที่ สคอป. พร้อมด้วยนักศึกษาและคณาจารย์หลายสถาบัน ไปยื่นหนังสือคัดค้านที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้ถอดร่างกฎกระทรวง 21(3) ซึ่งในวันดังกล่าว สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการหารือร่วมกับ ดร.เด่นศักดิ์ ยกยอน อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทน สคอป. พร้อมตัวแทนอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ  ที่ได้มายื่นหนังสือร้องเรียน  

หลังออกมาจากห้องประชุม ดร.เด่นศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ตอนนี้ภาครัฐเองตั้งธงไว้แล้วว่าจะไม่ถอดข้อ 21(3) ออก เพื่อจะเอาใจนายจ้างบางกลุ่มเท่านั้นเอง ที่ไม่อยากจะจ้าง จป.ว.ที่จบจากหลักสูตรมหาวิทยาลัย และก็ส่งคนที่เขาชอบไปอบรม จป.ว. เพื่อกลับมาทำงานกับเขาได้ โดยไม่สนใจคุณภาพว่าจะมีเซฟตี หรือไม่เซฟตี แต่ขอให้มันจบๆ ไปตามกฎหมายเท่านั้นเอง ซึ่งตนมองว่าเป็นการด้อยมาตรการในการปกป้องคนงานของเขาเอง เรื่องสุขภาพอนามัยของเขาเอง 

ภาพบรรยากาศการคัดค้านร่างกฎกระทรวง (จป.ว.) ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ

ดร.เด่นศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ภาคธุรกิจเอกชน และรัฐบาล มองเห็นว่าการใช้ จป.ว. ที่ผ่านการศึกษาตามแนวทางมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐาน มันส่งผลดีต่อนายจ้าง และประเทศ มันจะส่งเสริมการแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น 

"ตราบใดที่สุขภาพคนไม่ดี ความปลอดภัยย่ำแย่...อัตราอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เสียศักยภาพของการแข่งขันในตลาดชั้นนำไปได้ ตรงจุดนี้ก็คือคุณค่าเรื่องคน เรื่องแรงงานมันเป็นหัวใจขององค์กรแต่ละองค์กร คือสุขภาพ (health) มาก่อน สุขภาพมาความปลอดภัยดี ต้นทุนการผลิต (production cost) ก็จะลดลง เมื่อต้นทุนลดลง ความสามารถในการผลิตดีขึ้น (productivity) ถ้านายจ้างมองเห็นจุดนี้ ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าทำไมไม่เลือก จป.ว.ที่เขาผลิตมาจากมหาวิทยาลัย ที่เราใส่ความรู้ และก็ทักษะต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนแล้ว" ดร.เด่นศักดิ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ถ้าภาครัฐยังไม่ถอดข้อ 21(3) ออกไป ก็พร้อมจะใช้กลไกทางกฎหมายทุกอย่างในการเรียกร้อง ตลอดจนการสื่อสารในวงกว้างให้สังคมได้รับรู้มากขึ้นถึงข้อเสียของข้อร่างกฎกระทรวงดังกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท