Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ร้อง กสม. ตรวจสอบ EIA ผันน้ำยวม ลงเขื่อนภูมิพล มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้าน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ละเมิดสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้านสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ติงศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของ สตช. อ้างข้อความเห็นต่างเป็นข้อมูลบิดเบือน แม้ข้อความนั้นยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงอยู่ 

หน้าปก EIA โครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)
 

20 ก.ย. 64 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่าทำหนังสือตร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนสาละวิน

นายสะท้าน กล่าวว่า เครือข่ายฯ ทราบว่า กรมชลประทานจัดให้มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลขึ้นโดยปัจจุบันได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อมา กรมชลประทานได้เสนอรายงาน EIA ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มีมติเห็นชอบ EIA และได้นำเสนอรายงานดังต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) โดย กก.วล.ได้พิจารณาและมีมติผ่านความเห็นชอบรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2564 

“โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ชุมชน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก ตลอดทั้งจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลาในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดทำข้อมูล และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้จัดทำข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างแท้จริง” นายสะท้าน กล่าว

นายสะท้าน กล่าวว่า การจัดทำ EIA ฉบับนี้ไม่ได้มีการจัดการให้มีการรับฟังความคิดเห็นแก่ผู้ได้รับผลกระทบหรืออาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างครบถ้วน ทั่วถึง และถูกต้อง นอกจากนี้ ยังไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้กับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่ กองดินจากอุโมงค์ผันน้ำ การจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ใช้การสื่อด้วยภาษาท้องถิ่น และไม่ได้แปลเป็นภาษาท้องถิ่นที่ทำให้ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบเข้าใจได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมชาติพันธุ์ปกาเกอญอ บางคนฟังภาษากลางไม่ถนัด

นายสะท้าน กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวที หรือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ห่างไกลมากจากชุมชน ชาวบ้านจึงไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมเวทีได้ด้วยอุปสรรคการเดินทางและถนนที่ไม่สะดวก โดยชาวบ้านได้ยื่นคัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่องและเรียกร้องให้มีการชี้แจงโครงการผ่านเวทีชุมชน ในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ผู้จัดทำรายงานไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวบ้าน

“ผู้รับผิดชอบจัดทำรายงานไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเพื่อเตรียมการก่อนการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนในประเด็นรายละเอียดโครงการ และกติกาการรับฟัง    ความคิดเห็นของโครงการโดยเน้นการสื่อสารในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย และไม่เคยปรึกษาหารือเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และรูปแบบการจัดรับฟัง ที่สำคัญอาจจะมีการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง มากล่าวอ้างใช้ในรายงาน ตลอดทั้งกล่าวอ้างว่ามีการให้ข้อมูลข่าวสารหรือรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการจริง”นายสะท้าน กล่าว

นายสะท้าน กล่าวว่า ขอให้ กสม.ดำเนินการตรวจสอบ 1.กระบวนการการมีส่วนร่วมใน EIA ว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียจากโครงการได้ทำตามกระบวนการอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามหลักการพื้นฐานของการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่ 2.กระบวนการการศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการพิจารณาของ คชก.และ กก.วล. ได้พิจารณาเป็นไปตามเจตจำนงตามความในมาตราที่ 58 และ 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2560  หรือไม่ 3.การจัดตั้งโครงการของกรมชลประทานครั้งนี้ เป็นการดำเนินโครงการที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม หรือไม่อย่างไร

วันเดียวกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เผยแพร่ว่า ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวบิดเบือน เพิ่มเติม 1 กรณีคือกรณีที่มีการนำเสนอข่าวสารในประเด็นเรื่อง โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม–อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ใช้เวลาสร้าง 4 ปี งบอาจจะบานปลาย และได้ประโยชน์ไม่คุ้มเสีย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน (อ่านรายละเอียด คลิก)

แม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา สำนักข่าวชายขอบ)

นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง รองผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า การศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระบุถึงระยะการก่อสร้างโครงการที่ลดลงเหลือ 4 ปี เป็นข้อมูลบิดเบือนนั้น จริงๆ แล้วผู้ที่ออกมาพูดในเรื่องนี้คือ ส.ส.ที่ผลักดันโครงการ ซึ่งบอกว่าหากจีนมาลงทุนและสร้างให้ ทางจีนบอกว่าจะสามารถสร้างเสร็จภายใน 4 ปี แทนที่จะใช้เวลา 7 ปี เหมือนที่กรมชลประทานบอกไว้ และในหลายประเด็นที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมออกมาชี้แจงในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นข้อมูลบิดเบือนใดๆ เพียงแต่เป็นมุมมองที่แตกต่างๆ กัน
 
"ในแง่ความคุ้มค่าของโครงการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมพยายามทำหน้าที่อธิบายแทนกรมชลประทาน ทั้งๆที่ยังเป็นประเด็นที่กำลังโต้แย้งกัน และยังไม่สามารถชี้ถูกหรือผิดได้ แต่กลับบอกว่าข้อมูลของคนที่เห็นต่างเป็นข้อมูลที่ไม่จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้พวกเราต่างรู้สึกข้องใจในการทำหน้าที่ของศูนย์แห่งนี้” นายสายัณน์ กล่าว พร้อมระบุว่า หากกรมชลประทานจะออกมาต่อต้านข่าวปลอม ต้องกลับไปดูว่าข้อมูลที่ว่านั้นมาจากใคร ไม่ใช่เอาข้อเท็จจริงที่กำลังถกเถียงกันมาอธิบายว่าเป็นข่าวปลอม ที่สำคัญคือใน EIA ที่กรมชลประทานนำมาอ้างอิงนั้น น่าจะกลับไปตรวจสอบให้ดีว่ามีข้อมูลใดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญ ปี’60 มาตรา 58 ระบุว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ”

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

มาตรา 59 รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net