สุรพศ ทวีศักดิ์: ไม่มีศาสนา = ไม่มีศีลธรรม?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนลูกผมเข้าเรียน ม.1 เทอมแรก เขาซื้อหนังสือ “ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น” มาอ่าน พอเทอม 2 เขาบอกเลิกนับถือพุทธศาสนา จะนับถือศาสนาปีศาจสปาเกตตี้ลอยฟ้า (Flying Spaghetti Monster) แทน

แม่รู้สึกกังวลใจมาก ถึงขนาดพาลูกไปเวียนเทียนที่วัดสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้ลูกได้สัมผัสบรรยากาศทางพุทธศาสนา แต่ลูกดูจะจริงจังมาก ถึงกับจะไปเปลี่ยนข้อมูลในบัตรประชาชนจากศาสนา “พุทธ” เป็นศาสนาใหม่ที่เขานับถือ ผมเองรู้สึกดีที่ลูกจะตัดสินใจด้วยตนเองว่าเขาจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนาอะไรจากความเข้าใจของตนเอง

ระยะหลังเขาไม่พูดถึงศาสนาปีศาจสปาเกตตี้ลอยฟ้าอีกแล้ว มีมิตรสหายถามมาว่า ลูกผมอ่านหนังสือ “เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย” กับ “อำนาจพุทธราชาชาตินิยม” ที่ผมเขียนหรือไม่ อ่านแล้วเขาคิดยังไง ผมตอบไปตามจริงว่า ให้ไปแล้ว แต่เขายังไม่แกะพลาสติกหุ้มปกหนังสือออกอ่านเลย เขาชอบอ่ายงานแนวมาร์กซิสต์ เช่นงานของเก่งกิจเป็นต้นมากกว่า

ว่ากันว่าคนรุ่นใหม่ ไม่นับถือศาสนามากขึ้น ลูกผมก็เป็นหนึ่งในนั้น มีคำถามว่า ถ้าไม่นับถือศาสนาหรือไม่มีศาสนาจะมีศีลธรรมได้อย่างไร?

คำถามเช่นนี้เกิดจากเราถูกปลูกฝังให้เชื่อว่า ศีลธรรมมาจากศาสนา หรือศีลธรรมยึดโยงกับศาสนาเท่านั้น แต่ในประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก มีศีลธรรมแบบศาสนา (religious moral) กับแบบไม่ใช่ศาสนา หรือแบบโลกวิสัย (nonreligious/secular moral) ศีลธรรมแบบหลังพัฒนาขึ้นในอารยธรรมกรีก, โรมัน ถูกกดทับเป็นเวลายาวนานในยุคกลาง แล้วมาฟื้นคืนชีพในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการแบบกรีกขึ้นมาใหม่ (renaissance) และงอกงามในยุคเรืองปัญญา (the Enlightenment)

พูดให้เห็นภาพรวมคือ ในอารยธรรมเมโสโปเตเมียและอียิปต์ได้วางรากฐาน “รัฐศาสนา” แบบโบราณที่ศาสนากับการเมือง ศีลธรรมทางสังคม และศีลธรรมของบุคคลสอดคล้องไปด้วยกัน ชนชั้นปกครองคือกษัตริย์ นักบวช ขุนนาง รัฐศาสนาในอารยธรรมอินเดีย เอเชีย และเอเชียอาคเนย์ที่รับศาสนาแบบอินเดียก็เป็นรัฐศาสนาที่กษัตริย์ นักบวช ขุนนางเป็นชนชั้นปกครองที่ผูกขาดอำนาจกำหนดระเบียบทางสังคมและการเมืองคล้ายๆ กัน แม้รายละเอียดของความเชื่อ คำสอนศาสนาจะต่างกัน การจัดองค์กรทางการเมือง องค์กรนักบวชอาจต่างกัน แต่เนื้อแท้ก็คือ เป็นสังคมชนชั้นและเผด็จการเหมือนๆ กัน

แต่ต่อมาเมื่อเกิดศาสนาเอกเทวนิยม (monotheism) ก็เกิดการต่อสู้ระหว่างการเมืองศาสนาเอกเทวนิยมกับศาสนาพหุเทวนิยม (polytheism) ที่มีอยู่ก่อน แรกๆ ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเป็น “ศาสนาของทาส” (slave religion) โมเสสเป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองในการปลดปล่อยทาส เยซูก็คือศาสดาและผู้นำทางการเมืองของชาวยิวผู้ถูกกดขี่ ทว่าในยุคหลังพระศาสดา ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวที่เคยถูกกดปราบโดยการเมืองศาสนาเทพหลายองค์ก็มีชัย และสามารถสถาปนารัฐคริสเตียนเหนือยุโรปในยุคกลาง และรัฐอิสลามก็มีชัยเหนือดินแดนตะวันออกกลาง

ขณะที่ในอารยธรรมกรีกนั้นต่างออกไป มีการแยก “ทางโลก” (secular) กับ “ทางศาสนา” (religious) จากกันค่อนข้างชัดเจน ศาสนาเทพหลายองค์ของกรีกไม่ได้สถาปนากษัตริย์ที่เป็นเทพหรือเป็นโอรสของเทพแบบเมโสโปเตเมียและอียิปต์ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อย่าง “อเล็กซานเดอร์มหาราช” เป็นศิษย์นักปรัชญาอย่างอาริสต์โตเติลผู้เสนอแนวคิดปรัชญาการเมืองแบบทางโลกที่ไม่อิงความเชื่อทางศาสนาใดๆ

พูดรวมๆ คือ นักปรัชญากรีกให้กำเนิดความคิดทางโลก คือปรัชญา วิทยาศาสตร์ เกิดแนวคิดศีลธรรมทางโลก การเมือง และกฎหมายที่ไม่อิงความเชื่อทางศาสนาแบบที่อื่นๆ สภาแบบกรีกถูกนำมาปรับใช้เป็นสภาชนชั้นสูงและสภาสามัญชนในยุคโรมัน และมาปรับเป็นสภาขุนนาง, สภาสามัญชนในอังกฤษ จนพัฒนามาเป็นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย

ในเรื่องศีลธรรมชาวกรีกใช้คำว่า “virtue” ที่เราแปลว่า “คุณธรรม” แต่จริงๆ เขาหมายถึง characteristics, habits หรือคุณลักษณะที่โดดเด่นหรือนิสัยที่เป็นเลิศทางปัญญา, ความกล้าหาญ, ความพอประมาณหรือการมีดุลยภาพระหว่างอารมณ์กับเหตุผล (ไม่ใช่พอเพียง) และความยุติธรรม ซึ่งเกิดจากการฝึกฝนของบุคคล ไม่เกี่ยวใดๆ กับความเชื่อเรื่องศาสนาหรือการบูชาเทพ อำนาจของเทพ

เมื่อแนวคิดทางปรัชญา, วิทยาศาสตร์, การเมืองและศีลธรรมทางโลกแบบกรีถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่และพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการปฏิรูปคริสต์ศาสนาและหลังจากนั้น ความคิดแบบกรีกก็ถูกขับเน้นในฐานะเป็น “ทางโลก” ขึ้นมาเปรียบเทียบกับ “ทางศาสนา” และประชันขันแข่งกัน โดยปรัชญาการเมืองทางโลกคือการแชร์ไอเดียระหว่างมนุษยนิยม, เสรีนิยม และโลกวิสัย (secularism) แล้วเสนอระเบียบทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจแบบโลกวิสัยแทนที่ระเบียบการเมืองแบบศาสนาที่อิงอำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์และศาสนจักร

นักคิดเสรีนิยมต่างเสนอไอดีย “ศีลธรรมโลกวิสัย” (secular morality) ขึ้นมาแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนา โดยยืนยันความเป็น “สากล” ของศีลธรรมโลกวิสัย ขณะที่มองว่าศีลธรรมแบบศาสนาเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” หรือเป็นศีลธรรมเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ เช่น การไม่กินเนื้อวัว, การยึดถือชนชั้นวรรณะตามคัมภีร์ศาสนาฮินดู, การไม่กินหมู, การขลิบอวัยเพศ, การสำเร็จความใครด้วยตนเองเป็นบาป, คนรักร่วมเพศต้องปาหินให้ตาย, คนเปลี่ยนศาสนาต้องปาหินให้ตายในจารีตศาสนายิว คริสต์ อิสลาม, คนเกิดมาจน รวยหรือชนชั้นต่างกันเพราะทำกรรมมาต่างกันในจารีตพุทธ ฯลฯ ล้วนไม่มีคุณสมบัติเป็น “ศีลธรรมสากล” บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ “ทุกคน” ได้ ควรปล่อยให้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

พูดรวมๆ คือ ความคิดเรื่องศีลธรรมโลกวิสัยจากยุคเรืองปัญญาเป็นต้นมา มันคือการยืนยันว่า “ศีลธรรมกับเสรีภาพและความเป็นมนุษย์” แยกขาดจากกันไม่ได้ เช่น ข้อยืนยันของฌอง-ฌากส์ รุสโซ ที่ว่า

“ มนุษย์เกิดมาเสรี แต่เขาถูกพันธนาการทุกแห่งหน...การละทิ้งเสรีภาพของเราคือการละทิ้งความเป็นคนของตนเอง กระทั่งละทิ้งสิทธิและหน้าที่แห่งมนุษยชาติ...การละทิ้งนี้ย่อมขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ เท่ากับเป็นการลบล้างเสรีภาพแห่งเจตจำนงและศีลธรรมทั้งหมดออกไปจาการกระทำต่างๆ ของเรา...”[1]

ขณะที่อิมมานูเอล คานท์ ยืนยันว่า รากฐานของศีลธรรม คือ “อิสรภาพในการกำหนดตนเอง” (autonomy) ซึ่งตรงข้ามกับการถูกกำหนดโดยผู้อื่น (heteronomy) ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของคนอื่น ศาสนา ประเพณี อำนาจรัฐ หรือศาสนจักรเป็นต้น ไอเดียนี้จึงเป็นการปฏิเสธ “ศีลธรรมแบบเทวบัญชา” ที่เราต้องทำตามบัญชาของพระเจ้า นักบวช ศาสนจักร การทำตามการบงการของผู้อื่นหรืออิทธิพลของสิ่งอื่นๆ ไม่ใช่การกระทำที่มีศีลธรรม การกระทำที่เป็นความดีทางศีลธรรมได้จะต้องมาจากการใช้เสรีภาพและเหตุผลของตนเอง[2]  

แต่เสรีภาพตามไอเดียของคานท์ ไม่ใช่การมีอิสระทำอะไรก็ได้ตามอารมณ์หรือตามอำเภอใจ การใช้เสรีภาพและเหตุผลในการตัดสินว่าอะไรคือดีหรือถูกในทางศีลธรรม จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราและทุกคนเสมอ

ศีลธรรมจึงไม่ได้มีไว้เพื่อรับใช้พระเจ้า ศาสนจักร รัฐ หรือประโยชน์สุขส่วนบุคคลและส่วนรวม เพราะศีลธรรมไม่ใช่ “เครื่องมือ” เพื่อเป้าหมายใดๆ การอ้างว่าเรา “ทำดี” เพื่อพระเจ้า เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อคืนความสุขแก่ประชาชน และ ฯลฯ มักจะนำไปสู่การละเมิดความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราและคนอื่นๆ เสมอ ดังนั้น ศีลธรรมจึงควรเป็น “หน้าที่” เคารพต่อความเป็นมนุษย์ของตัวเราและทุกคนเสมอกันเท่านั้น

ในแง่นี้ การมีศีลธรรมจึงไม่ได้ช่วยให้มีความสุข หรือความอิ่มบุญ สงบเย็นทุกลมหายใจเข้า-ออก ตรงกันข้ามคนมีศีลธรรมในความหมายแบบคานท์อาจเผชิญกับความอยุติธรรม ความเจ็บปวด เพราะเขาซื่อสัตย์ต่อความถูกต้อง ดังเราเห็นได้ในการกระทำของคนแบบอานนท์ นำภา, ไผ่ ดาวดิน และอีกหลายคนในปัจจุบันและในประวัติศาสตร์ทั้งของบ้านเราและหลายประเทศที่ประชาชนลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นคนของตนเอง

ตรงกันข้าม ศีลธรรมแบบศาสนาที่พร่ำพรรณนาถึง “ความสุข” ความสงบของจิต กลับเป็นศีลธรรมที่กล่อมเกลาให้ผู้คนละทิ้งความรับผิดชอบทางสังคมและการเมือง มองการต่อสู้กับความอยุติธรรมและอำนาจเผด็จการว่า “ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม” เป็นเรื่องทางโลก เป็นอุปาทานยึดติดในอุดมการณ์ที่รังแต่จะสร้างความขัดแย้ง แตกแยก และความทุกข์

ทว่าในโลกทางความคิดตะวันตกสมัยใหม่ มีการพูดถึง morality of freedom, morality of politics, morality of institutions เป็นต้น โดยถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของความถูกต้องชอบธรรมของตัวหลักการ, กติกาสาธารณะต่างๆ ที่อยู่บนฐานของการเคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน และเป็นเรื่องของการกระทำของบุคคลและสถานบันต่างๆ ทางสังคมและการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการและกาติกาสาธารณะนั้นๆ ศีลธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะอ้างความเป็น “คนดี” มาละเมิดหรือล้มล้างหลักการและกติกาสาธารณะที่ถูกต้องชอบธรรมได้

ผมจึงเสนอว่า เราควรจะเรียนศีลธรรมโลกวิสัยแทนการบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ คือเรียนในรูปจริยศาสตร์ (Ethics) หรือปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) โดยเอาความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมสาธารณะ การยอมรับ เคารพ และอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายทางเพศ, ศาสนา, ความเชื่อ, คุณค่า, ศีลธรรมแบบศาสนาและแบบไม่ใช่ศาสนาเป็นตัวตั้ง แล้วนำแนวคิดปรัชญาต่างๆ ศาสนาต่างๆ เช่นฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม กระทั่งศาสนาชนเผ่า ท้องถิ่น วัฒนธรรมบ้านๆ มาสนทนาแลกเปลี่ยน เพื่อค้นหาความคิด ความเชื่อ เหตุผล จิตวิญญาณ หรือหัวใจ (heart) ที่สอดคล้องไปกันได้หรือเอื้อต่อกันและกัน โดยไม่ต้องมี “กำแพง” ว่าอะไรคือศาสนา ไม่ศาสนา อะไรคือตะวันตก ตะวันออกแบบที่พูดตามๆ กันมา

บางที วิธีการนี้อาจทำให้ศาสนาสามารถจะมีศีลธรรมบนการเคารพความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้นก็เป็นได้

 

อ้างอิง

[1] Jean-Jacques Rousseau, The Social Contract, (New York: Oxford University Press, 1994), pp. 45,50.

[2] Immanuel Kant, Groundwork of Metaphysics of Moral, (New York: Harper Perennial Modern Thought, 2009), p. 41.

 

 

ภาพ: Immanuel Kant and Jean-Jacques Rousseau 
ที่มา: https://voegelinview.com/rousseau-and-kants-competing-interpretations-of-the-enlightenment/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท