เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงฯ แถลงค้านรายงาน EIA โครงการจัดการลุ่มน้ำโขง เหตุประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วม

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานออกแถลงการณ์คัดค้านจัดทำรายงาน EIA ของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1ของกรมชลประทาน เหตุประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำรายงาน ควรเปิดให้มีหลายฝ่ายได้เสนอความเห็นต่อโครงการมากกว่านี้

20 ก.ย.2564 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานออกแถลงการณ์คัดค้านจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1ของกรมชลประทาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นรายงานที่ทำขึ้นมาโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอีสาน และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้งเสียงจากหลายฝ่ายกว่าฟังแค่หน่วยงานราชการ

ในแถลงการณ์ระบุที่มาของโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการผลักดันโดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถในการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ โดยอ้างว่าหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอีสานใต้ได้ดียิ่งขึ้น และกรมชลประทานได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงมาก มีการแบ่งโครงการออกเป็น 5 ระยะ โดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการและทำรายงาน EIA ในการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าวประกอบด้วย พื้นที่หัวงานแนวผันน้ำโขงอีสาน และพื้นที่หัวงานแนวผันน้ำชี-มูล ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตการปกครอง 9 อำเภอ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และขอนแก่น

ทางเครือข่ายระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2564 ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงวันที่ 16 ก.ย.2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานของโครงการตามที่เครือข่ายได้ส่งหนังสือขอข้อมูลรายงาน EIA ของโครงที่จะครอบคลุม 3อำเภอในจังหวัดเลยได้แก่ เชียงคาน ปากชม นาด้วง 4อำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภูได้แก่ สุวรรณคูหา นากลาง โนนสัง หนองบัวลำภู 2 อำเภอในจังหวัดอุดรธานีได้แก่ น้ำโสม หนองวัวซอ และอำเภออุบลรัตน์ในจังหวัดขอนแก่นนั้น คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 และมีมติให้ สทนช.และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

เครือข่ายฯ เห็นว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการดังกล่าวไม่ได้มีประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสานเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ การอ้างเรื่องภัยแล้งหลายพื้นที่มีความเสี่ยงในการเป็นทะเลทรายเนื่องจากความแห้งแล้งซ้ำซาก และอุทกภัย การเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กับภาคอีสานเพื่อยกระดับการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในภูมิภาคนี้ เป็นวาทกรรมที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินโครงการ ในขณะที่ขาดความเข้าใจภูมินิเวศ และวัฒนธรรมการใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน

เผยหนังสือแจ้งจาก สผ. ระบุหากประชาชนอยากได้สำเนา EIA โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ต้องจ่าย 20,530 บาท

นอกจากประเด็นรายงาน EIA ของโครงการนี้ที่ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานเห็นว่าประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีประเด็นทางเครือข่ายของคัดสำเนารายงานแต่ทางสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) แจ้งว่าการขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรวมเป็นเงิน 20,530 บาท ตามที่กำหนดในประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 9 พ.ย. 2561 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าประชาชนไม่ควรต้องเสียเงินในการขอขัดเอกสารรายงานโครงการที่จะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท