15 ปีรัฐประหาร 49 (7) จอม เพชรประดับ: หรือความเกลียดชังทักษิณทำลายอุดมการณ์สื่อ?

ไม่มีรัฐประหารครั้งใดไม่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ สื่อต่างหากที่จะยืนหยัดเพื่อเสรีภาพแค่ไหน หากเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ในวันที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพ สื่อกำลังทำอะไร หรือความเกลียดชังทักษิณทำลายอุดมการณ์ของสื่อ คือคำถามของอดีตสื่อมวลชน

  • ในยุคทักษิณ สื่อมีบทบาทในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างแข็งขัน ขณะที่ทักษิณก็พยายามแทรกแซงสื่อ ทำให้ทางสมาคมสื่อและทักษิณกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน
  • หลังการรัฐประหาร 2549 กองทัพส่งทหารเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ ประชุมร่วมกับนักข่าวและคอยตรวจสอบว่าข่าวใดสามารถเผยแพร่ได้หรือไม่ได้
  • จอมตั้งคำถามว่าเหตุใดสื่อที่มีอาชีพวางอยู่บนเสรีภาพจึงไม่ยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพกับประชาชน ทั้งที่ในยุคนี้เลวร้ายกว่าในยุคทักษิณมาก หรือว่าความเกลียดชังทักษิณทำลายอุดมการณ์ของสื่อ

ก่อนรัฐประหาร 2549 สมาคมสื่อกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอย่างเปิดเผย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทักษิณ ณ เวลานั้นแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรและพยายามแทรกแซงสื่อ ด้านสมาคมสื่อต่างๆ ก็รวมตัวกันอย่างแข็งขันแสดงออกว่าไม่ยอมรับการแทรกแซง ถึงกับมีสโลแกนว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน

ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าสื่อมวลชนมีส่วนยิ่งในการสร้าง ‘ผีทักษิณ’ ให้น่ากลัว...เกินกว่าที่เป็นจริงไปมากและยังคงทำอยู่จนปัจจุบัน

จอม เพชรประดับ

จอม เพชรประดับ อดีตสื่อมวลชนที่ผันตัวเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ลี้ภัยในต่างแดน บอกเล่าประสบการณ์การทำงานสื่อในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร ทั้งเปิดเผยถึงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่สื่อในปัจจุบัน

เพราะหากเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ในห้วงยามที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพ สื่อจะมีเสรีภาพได้อย่างไร แล้วเหตุใดสื่อจึงปล่อยให้ประชาชนสู้เพื่อเสรีภาพตามลำพัง?

 

 

สื่อกับทักษิณ

จอมออกตัวกับเราว่ามุมมองของเขาต่อการทำงานสื่อเป็นมุมมองของอดีตสื่อมวลชนที่ปัจจุบันผันตัวเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองแล้ว

สำหรับเขาสื่อมวลชนในยุคทักษิณ ชินวัตรหรือก่อนการรัฐประหาร 2549 ถือว่ามีเสรีภาพอยู่มากในการเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบรัฐบาล ถึงขนาดที่คนที่มีสื่อในมือสามารถสร้างพลัง เปลี่ยนความคิด และรวมมวลชนได้เป็นจำนวนมาก

“แต่ข้อเสียก็คือว่ากลุ่มคนที่เข้ามาทำงานสื่อในยุคนั้นและเป็นคนที่ขับเคลื่อนสื่อไปสู่ประเด็นทางการเมืองเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มาจากสื่อจริงๆ แต่เป็นนักธุรกิจสื่ออย่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เอากลุ่มของเครือข่ายเอ็นจีโอหรือกลุ่มเครือข่ายทางสังคมที่มีความเชื่อสอดคล้องกันออกมาเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นบริบทสภาพของสังคมสื่อในยุคนั้นก็อยู่ในภาวะที่เรียกว่าสามารถทำข่าว สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่เหมือนกัน อันนี้คือก่อนรัฐประหาร คือบรรยากาศก่อนรัฐประหารมันต้องดีกว่าบรรยากาศหลังรัฐประหารอยู่แล้ว แต่พอรัฐประหารเสร็จทุกอย่างมันก็กลับไปอยู่ในความเป็นกฎหมายที่ต้องเคร่งครัด ปิดปากสื่อ และไม่ให้พูดไม่ให้แสดงความคิดเห็น เสรีภาพมันก็จะหมดลงไป”

อย่างไรก็ตาม จอมก็ยอมรับว่าในยุคทักษิณ ตัวทักษิณเองก็มีความขัดแย้งกับสมาคมสื่อค่อนข้างสูง เช่น การแทรกแซงสื่อ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของสุทธิชัย หยุ่น และไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ จนความไม่ลงรอยสะสมมากขึ้น กระทั่งเกิดการแบ่งขั้วแบ่งข้างของสื่อ

“มันก็มีปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าความเป็นคนที่ถืออำนาจประชาชนกับความเป็นสื่อที่คิดว่าก็มีอำนาจในเรื่องของเสรีภาพพอๆ กัน มันก็เลยเกิดความปะทะกันระหว่างทักษิณกับกลุ่มสื่อ คุณทักษิณก็มีอคติกับสื่อว่าค่อนข้างที่จะเป็นพวกประชาธิปัตย์ สื่อที่มาเคลื่อนไหวหลักก็ล้วนแต่เป็นคนภาคใต้ นายกสมาคมอะไรต่างๆ เมื่อก่อนก็เป็นคนภาคใต้เป็นหลัก แล้วก็มันทำให้ความเชื่อความคิดทางการเมืองคุณทักษิณมองว่าสมาคมสื่อรับใช้ประชาธิปัตย์ มันก็เลยความขัดแย้งมันก็เลยเกิดขึ้น

“คุณทักษิณก็เล่นแรงในหลายๆ กรณีกับสื่อเหมือนกัน มันก็เกิดความอคติขัดแย้งกัน แล้วคุณทักษิณเองก็พยายามที่จะใช้สื่อในมือเขา ไม่ว่าจะเป็นสื่อของ อสมท. สื่อช่องต่างๆ รวมทั้งไอทีวีด้วย มันก็เลยแบ่งเป็นขั้วมากขึ้น ธุรกิจที่เข้ามาทำสื่อมันก็เป็นในลักษณะนี้แล้ว พอมีโอกาสจังหวะของการใช้ความเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อเข้ามามันก็มีเรื่องอำนาจ เรื่องของผลประโยชน์เข้ามาด้วย มันก็ส่งผลให้นักข่าวที่อยู่ใต้สังกัดเองทำตัวลำบาก นักข่าวที่อยู่ภายใต้สื่อของคุณทักษิณก็ไม่กล้าวิจารณ์คุณทักษิณก็รับใช้คุณทักษิณไป สื่อที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาคมนักข่าวฯ ประชาธิปัตย์ ก็เอียงๆ อยู่เหมือนกัน มันไม่มีใครยอมใครยุคนั้น มันก็เลยทำให้ความแตกเป็นขั้วเยอะมาก”

หลังรัฐประหาร 2549 กองทัพส่งทหารนั่งประชุมข่าว

ไม่มีคณะรัฐประหารใดไม่เข้าควบคุมสื่อหลังทำการรัฐประหาร จอมเล่าว่าหลังรัฐประหาร 2549 สื่อที่เคยอยู่ในมือทักษิณถูกจัดการ ทั้งช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าอยู่ใต้ชายคาของรัฐ และไอทีวี ณ เวลานั้นทุกข่าวที่เกี่ยวข้องกับทักษิณและพรรคไทยรักไทยถูกจัดการหมด

“ไอทีวียุคนั้นก็ต้องถูกตรวจสอบ มีคณะกรรมการที่ส่งตรงมาจากกรมประชาสัมพันธ์มานั่งตรวจสอบ มี บก.พิเศษ ซึ่งมีทั้งทหาร ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ก็ต้องมานั่งดู ส่งคนมานั่งดู ตัวสคริปต์ ประชุมข่าวร่วมกับเรา ว่าข่าวไหนออกได้ ออกไม่ได้ แต่ละวันกองทัพหรือทหารที่ส่งเข้ามาก็จะคอยมานั่งตรวจสอบเรื่องข่าวเราตลอดเวลา แต่นักข่าวช่องอื่นเขาก็ทำตามระเบียบเขานะ คือมีเลขประจำตัว มีรหัสนะ  เราก็ทำตามระเบียบเขาก็ไม่ค่อยมีปัญหาถูกเพ่งเล็งจากรัฐเพราะอยู่ในอุ้งมือเขาไปหมดแล้ว แต่ถ้าจะพูดถึงไอทีวีก็ถูกลิดรอนไม่เหลือเสรีภาพอะไรเลย”

จอมบอกว่าสำหรับช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง 11 โดยพื้นฐานถูกรัฐควบคุมอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาในการปรับตัว

“การจัดการของข่าวทีวีในยุคนั้นก็ต้องผ่านการตรวจสอบ Censor ของทหาร ทหารต้องเข้ามานั่งประชุมทุกวัน ในกอง บก. มานั่งฟัง เขาจะบอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรก็แค่นั่งฟังเฉยๆ ประชุมข่าวเราก็ประชุมข่าวกันไป พอฟังเสร็จ เราก็เออ อันนี้ออกได้ไหม ไม่ได้ เพิ่มตรงนั้นเข้าไปหน่อย คือต้องผ่านการ Approve จากเขา

“วันดีคืนดีกรมประชาสัมพันธ์ก็จะเสนอแนวคิดว่า ข่าวนี้ต้องทำ ต้องทำนู่นทำนี่เพิ่ม เข้ามาชี้นิ้วให้เราทำข่าวคือเสรีภาพมันหมดไปแล้ว เราก็รู้อยู่ว่ามันไม่ปกติ มันก็อยู่ในภาวะควบคุม กลางคืนก็คงยังต้องมีรถทหารมาเฝ้าเวรอยู่หน้าประตูสถานี”

ดึงฟ้าต่ำ

จอมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสื่อมักมีเสรีภาพสูงในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและชี้นำประชาชน เช่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงแต่ในยุคยิ่งลักษณ์สื่อแตกออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน โดยเฉพาะสื่อดาวเทียมไม่ว่าจะเป็นเอเอสทีวี บลูสกาย หรือช่องของคนเสื้อแดง ที่ทำให้เกิดการขัดแย้งทางความคิด

ในช่วงก่องรัฐประหาร 2549 จอมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารคือการให้ข้อมูลของสนธิ ลิ้มทองกุล จนเกิดเป็นกลุ่มมวลชน

“และที่สำคัญอันหนึ่งก็คือการดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นการเมืองอย่างชัดเจน ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผมเห็น คุณสนธิเขาก็อิงกับการต่อสู้โดยอ้างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ดึงฟ้าต่ำแล้วก็ต่ำลงมาจนกระทั่งแตกละเอียดจนทุกวันนี้ ผมว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดอย่างนี้ว่าเขาเป็นคนแรกที่กล้าดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมา เพราะฉะนั้นความเป็นสื่อจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่การทำรัฐประหาร”

หรือความเกลียดชังทักษิณทำลายอุดมการณ์สื่อ

ในยุคทักษิณ สมาคมสื่อมีบทบาทในการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม ถึงขั้นที่ทักษิณกับสมาคมสื่อไม่ลงลอยกัน แล้วเหตุใดจึงไม่เกิดขึ้นในยุคนี้ เป็นสิ่งที่จอมตั้งคำถาม ทั้งที่ยุคนี้ถือว่าเลวร้ายกว่ามาก หรือว่าสมาคมสื่อยอมจำนน

“สมาคมนักข่าวฯ กลับเงียบหรือยอมจำนนไปแล้วหรือเปล่า ไม่เคยตื่นขึ้นมาปกป้องเสรีภาพของตัวเอง ปล่อยให้ประชาชนลุกขึ้นมาสู้ แล้วตัวเองก็ไม่เคยเกาะกลุ่ม รวมพลังกันเหมือนอย่างที่เคยทำในยุคทักษิณ นั่นคือสิ่งที่เราผิดหวัง

“ในเมื่อเหตุการณ์ตอนนี้มันร้ายแรงกว่า โหดร้ายยิ่งกว่า ความเสียหายบ้านเมืองมันมีมากกว่าทักษิณหลายเท่ามาก ทำไมถึงไม่ทำอะไรให้มากไปกว่านี้ ยอมจำนนกับทุกเรื่อง จะถูกเซนเซอร์ยังไงก็ยอม จะถูกตัด ถูกชี้นำ ถูกบังคับยังไงก็ยอม ออกแถลงการณ์มาแผ่นเล็กๆ แล้วก็หายไป แต่ไม่เคยจับกลุ่มกัน คุยกัน เมื่อก่อนนี้รวมตัวกัน สร้างเป็นพลังขับเคลื่อนออกแถลงการณ์ สมาคมข่าวที่สู้กับทักษิณ มีการติดสัญลักษณ์มีการออกแคมเปญ เรื่องลิดรอนประชาชน ลิดรอนสื่อ กิจกรรมเยอะมาก แต่พอยุคนี้ แล้วเงียบเลย นี่คือคำถามที่ผมสงสัยไงว่าตกลงความเกลียดชังทักษิณมันทำให้อุดมการณ์ของความเป็นสื่อ ของสมาคมสื่อในภาพใหญ่ถูกทำลายไปด้วยหรือเปล่า”

จอมบอกว่าทั้งที่อาชีพสื่อขึ้นอยู่กับเสรีภาพ แต่กลับให้ประชาชนต้องเป็นฝ่ายสู้ บาดเจ็บ ล้มตาย ติดคุก

“สื่อต่างหากที่ต้องอยู่กินประกอบอาชีพบนเสรีภาพที่เป็นอิสระจากการถูกกดขี่จากรัฐ มันเป็นอุดมการณ์ มันเป็นธีมสำคัญของการทำอาชีพด้วยซ้ำ แต่ก็เงียบและปล่อยให้ประชาชนสู้ นี่คือคำถามใหญ่ต่อสมาคมสื่อในปัจจุบัน หรือจะบอกว่าเคยชิน ก็น่าจะใช่ หรือจะบอกว่าเพราะมันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว เราจะทำอะไรได้”

จอมเล่าอดีตเมื่อเป็นสื่อประจำสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีตอนที่โดนปลดออกจากรายการเพราะสัมภาษณ์ทักษิณในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การตัดสินใจลาออก ต่อมาเขาไปขอความเป็นธรรมคุยกับทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

“เขาบอกว่าคุณก็รู้อยู่แล้วว่าเมื่อไปเล่นกับอำนาจนี้ คุณต้องโดนแบบนี้ เราก็ยอมจำนนต่ออำนาจการตัดสินใจไป มันก็หมดความศรัทธา สิ้นหวัง ผมก็คิดว่าสิ่งที่เขาคิด เขาเชื่ออะไรก็แล้วแต่ ถ้าต้องการประกอบอาชีพอยู่ให้ได้ บางคนก็พูดว่าต้องเป็นมืออาชีพ ในความหมายของผมคือมึงต้องอยู่ให้เป็น อย่างนั้นใช่ไหม

“ความเป็นกลางไม่ต้องพูดถึง ในเมื่อสังคมไทยมันเต็มไปด้วยความอยุติธรรม หน้าที่หลักคือคุณก็ต้องชูความเป็นธรรม คุณจะบอกว่าไม่ได้ เราจะเข้าข้างไหนไม่ได้ ผมไม่ต้องการเห็นข้ออ้างความเป็นกลางของสื่อ เราพูดไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ในสังคมที่มีความอยุติธรรมเต็มไปหมด คนถูกกระทำแบบนี้ คุณเป็นกลางไม่ได้ คุณต้องยืนหยัดเคียงข้างความเป็นธรรม แน่นอนคุณต้องเป็นคนที่แฟร์กับทุกฝ่ายก็จริง เอาข้อเท็จจริงจาก 2 ฝ่ายมานำเสนอ แต่อย่าลืมคุณไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง คุณมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึก มีความนึกคิด มันก็ต้องมีจุดยืนบางอย่างที่คุณต้องแสดงออกด้วย

“อย่าลืมว่าคุณมีต้นทุนพอที่ทำให้ความถูกต้องเป็นธรรมมันชัดเจนขึ้นในสังคมไทย หน้าที่ของสื่อจึงควรทำหน้าที่ในภาวะของสังคมที่มืดมิดไปด้วยความอยุติธรรม มันควรจะมีพลังบางอย่างที่มาจากคนทำสื่อเองที่ยืนหยัดในสิ่งเหล่านี้ จะบอกว่าไม่ได้เราต้องเอาข้อเท็จจริงจากรอบด้าน เราเป็นมืออาชีพ มืออาชีพแบบไหน มืออาชีพแบบอยู่เป็นเพื่อให้ตัวเองมีอาชีพอย่างนั้นหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่รู้ว่าผมก็ผิดหวัง

“ความเป็นสื่อไม่ต้องการความชัดเจนตรงนี้ก่อนเหรอ ก่อนที่จะไปทำหน้าที่ของตัวเองในการเรียกร้องเสรีภาพ เพื่อบอกว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ประชาชนถูกลิดรอนเสรีภาพ แต่สื่อเองยังอ้างว่าเสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่มีเสรีภาพอยู่เลย แล้วพอวันหนึ่งสื่อถูกกระทำบ้างก็มาบอกว่าเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน แต่ประชาชนสู้เพื่อเสรีภาพมาจนตายไปไม่รู้กี่สิบคนเข้าคุกไปเท่าไหร่ คุณก็ยังไม่ยืนหยัดสู้สิ่งนี้กับประชาชน”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท