Skip to main content
sharethis

เดอะ การ์เดียนออกสกู๊ปกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และป.ป.ช.ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำสหภาพแรงงานรถไฟไทยที่เคยนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้ รฟท.ต้องมีการซ่อมบำรุงและติดตั้งระบบป้องกันอุบัติเหตุในรถไฟหลังเหตุการณ์รถไฟตกรางบ่อยครั้งและในที่สุดเกิดอุบัติเหตุครั้งรายแรงที่หัวหินจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายเมื่อปี 52 นักสิทธิแรงงานชี้ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการออกมาเรียกร้องสิทธิที่คนงานพึงมีและเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน

ภาพจากเหตุการณ์เมื่อปี 5 ต.ค.2552 ภาพจากเพจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 เดอะ การ์เดียนออกสกู๊ปกล่าวถึงกรณีสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้นำสหภาพแรงงานที่ต้องเผชิญกับโทษจำคุก 3 ปีจากบทบทบาทจัดรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางรถไฟ ซึ่งถือเป็นการใช้การดำเนินคดีโจมตีกลุ่มแรงงานในประเทศที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

นักรณรงค์ด้านสิทธิกล่าวว่า คดีของสาวิทย์จะสร้างความกังวลต่อสหภาพแรงงานที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ และเป็นการคุกคามที่จะบั่นทอนสิทธิของคนงานในประเทศด้วย

สาวิทย์ เป็นเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถูกตัดสินว่าละเลยหน้าที่และถูกตัดสินจำคุก 3 ปีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และศาลยังพิพากษาลงโทษผู้นำสหภาพแรงงานระดับชาติและระดับท้องถิ่นอีก 12 คนเช่นเดียวกับสาวิทย์ พวกเขายื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้พวกเขาระหว่างอุทธรณ์คดี ทั้งนี้คาดว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินในไม่ช้า

องค์กรแรงงาน ตปท. ชี้การตัดสินจำคุก พนง.รถไฟของไทย คือการทำลายสหภาพแรงงาน

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คำตัดสินของศาลจะ “ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง” ต่อขบวนการแรงงานไทยหากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

รอง ผอ.ฮิวแมนไรต์วอชท์เอเชียเสริมว่า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาคือ สหรัฐฯ จะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับประเทศไทยต่อไปอีก หลังจากเมื่อปี 2562 สหรัฐฯ ประกาศว่าจะหยุดนำเข้าสินค้าจากไทยซึ่งมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ ( 4.3 หมื่นล้านบาท) โดยอ้างถึงความล้มเหลวในการประกันสิทธิแรงงาน นอกจากนั้นจะสร้างความกังวลต่อสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปที่กำลังพยายามเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยด้วยเพราะหากทำการค้ากับไทยจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการทำลายสหภาพแรงงาน

เหตุที่สาวิทย์ถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์รถไฟตกรางใกล้สถานีเขาเต่าในหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2552 เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน หลังเกิดเหตุคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวโทษคนขับรถไฟที่หลับไป แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นเหตุรถไฟตกรางครั้งที่ 3 แล้วในรอบหลายสัปดาห์

สาวิทย์ แก้วหวาน 12 มิ.ย.2563 แฟ้มภาพ

ทางสหภาพแรงงานรถไฟโต้แย้งคณะกรรมการฯ ว่า อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ผิดพลาดมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงนี้ พวกเขาจึงจัดรณรงค์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานโดยมีข้อเรียกร้องให้ รฟท.ซ่อมแซมส่วนที่เห็นว่าชำรุดเสียหาย นอกจากนั้นพนักงานเดินรถยังปฏิเสธที่จะทำงานบนรถไฟที่ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย เช่น ปุ่มหยุดรถฉุกเฉินและอุปกรณ์แจ้งเตือน

ด้าน รฟท. ตอบโต้ด้วยการยื่นฟ้องแกนนำสหภาพแรงงาน 13 คน รวมทั้งสาวิทย์ด้วยการกล่าวหาว่าพวกเขาที่มีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจัดนัดหยุดงานทั้งที่ถูกห้ามไม่ให้ทำ จากการฟ้องร้องดังกล่าวทำให้การเจรจายืดเยื้อมานานหลายปีและมีค่าใช้จ่ายระหว่างต่อสู้คดีที่สูง นอกจากนั้นสาวิทย์ยังถูกไล่ออกจากงานในปี 2554 แม้ว่าภายหลังเขาจะได้สถานะคืนในปี 2557 แต่ระหว่างที่ถูกไล่ออกจากงานเขาไม่ได้รับการชดเชยรายได้ที่เสียไป

ในปี 2561 หลังจากการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงศาลสั่งให้ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟส่วนกลาง 7 คนจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 24 ล้านบาทรวมดอกเบี้ยโดยหักจากค่าจ้างของพวกเขา

แม้ว่าคำตัดสินของศาลจะทำให้พวกเขาต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างมาก แต่สาวิทย์และผู้นำสหภาพแรงงานคนอื่นๆ ก็คิดว่าอย่างน้อยเรื่องก็จบลงแล้ว เรื่องกลับไม่เป็นเช่นนั้นใน 2562 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาพวกเขาอีกก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาต่อสาวิทย์ว่า ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่และนัดหยุดงานโดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ต่อมาวันที่ 21 ต.ค.2563 ศาลพิพากษาจำคุกสาวิทย์พร้อมพวกอีก 12 คน สาวิทย์กล่าวถึงการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ไม่ได้เกินความคาดหมายแต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องลำบากขนาดนี้ และหลังจากพวกเขาทราบผลคำพิพากษากลุ่มคนงานต่างก็รู้สึกเสียใจต่อคำตัดสิน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย และกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างก็ประนามความพยายามต่างๆ ในการต่อต้านสหภาพแรงงาน นอกจากนั้นองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ยังแสดงความกังวลซ้ำๆ ถึงการดำเนินคดีกับสาวิทย์และพวก

จากคำตัดสินของศาลทำให้สาวิทย์ถูกหักค่าจ้างจนทำให้แต่ละเดือนเขาได้รับเงินเดือนเหลือแค่ประมาณ 300 บาทซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายวันในประเทศไทย ส่วนคนอื่นสถานการณ์ก็บังคับให้ต้องโอนทรัพย์สินออกเพราะเกรงว่าจะถูกยึด ทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือแม้กระทั่งส่งลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ และคาดว่าแกนนำสหภาพแรงงานทั้ง 7 คนจะต้องใช้เวลากว่าทศวรรษในการจ่ายค่าปรับให้หมด

เดวิด เวลช์ ผู้อำนวยการองค์กรโซลิดาริตีเซนเตอร์ประจำประเทศไทย ที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ และทำรณรงค์ให้กับสาวิทย์และผู้นำสหภาพแรงงานอื่นๆ เขากล่าวว่าคดีนี้ได้ทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพในการร่วมกลุ่มกลายเป็นอาชญากรรม และองค์กรต้นสังกัดของแรงงานเหล่านี้ยังสร้างความกลัวต่อแรงงานคนอื่นๆ ที่จะออกมาใช้สิทธิของตัวเองด้วยการตั้งเป้าโจมตีไปที่ผู้นำแรงงานที่มีตำแหน่งอาวุโสที่สุดเพื่อส่งข้อความถึงคนอื่นๆ ในสหภาพแรงงาน

ตัวอย่างรถไฟ 90 ขบวนที่ตรวจสอบโดย รฟท. ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุที่หัวหิน พบว่าระบบเฝ้าระวังบนรถไฟ 21 ขบวนได้รับความเสียหาย ตามข้อมูลที่รายงานโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเวลาต่อมา

สาวิทย์ย้ำว่าการรณรงค์ของเขาเป็นเพียงการเรียกร้องให้พนักงานมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามในรายงานของ กสม.พบว่าเมื่อเกิดเหตุรถไฟตกรางที่หัวหินทาง รฟท.ได้ตรวจสอบรถไฟ 90 คันพบว่ามีถึง 21 คันที่ระบบป้องกันชำรุดเสียหาย

“ความปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของพนักงาน เราต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย” สาวิทย์กล่าว

หลังจากสหภาพแรงงานรถไฟเริ่มรณรงค์ในประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานก็พบว่ามีการติดประกาศในห้องคนขับถึงคำแนะนำในการบังคับรถไฟหากเกิดกรณีระบบเฝ้าระวังหรือปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทำงานไม่ปกติ

ทางด้านสหภาพแรงงานรถไฟระบุว่า ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่หัวหินฟ้องร้อง รฟท.ว่าล้มเหลวในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ความปลอดภัยและชนะคดีในที่สุด ซึ่งทำให้เห็นว่าการรณรงค์ของสหภาพแรงงานรถไฟนี้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ทั้งนี้เดอะ การ์เดี้ยนระบุว่า ป.ป.ช. และ รฟท. ไม่มีการตอบกลับเมื่อถูกขอความเห็นในเรื่องนี้

เรียบเรียงจาก 

Top Thai union leader ‘targeted’ with jail for rail safety campaign, The Guardian, 2021-09-21

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net