Skip to main content
sharethis

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ด้านกรีนพีซคาดการณ์เตรียมลดค่าลงถึงครึ่งหนึ่ง พร้อมระบุว่ามลพิษทางอากาศเมืองใหญ่ทั่วโลกส่วนใหญ่มีความเข้มข้นเกินค่ามาตรฐาน ส่วนไทยพบ PM2.5 เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

22 ก.ย. 2564 กรีนพีซ (Greenpeace) วิเคราะห์เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO)  หลังมีข่าว WHO เตรียมปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยกรีนพีซคาดว่าจะปรับลดจากเกณฑ์เดิมใน ปี 2548 ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 1 ปี และ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชม. เป็น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 1 ปี และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชม.

ไอแดน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซสากล ประจำมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “องค์ความรู้วิทยาศาสตร์บ่งชี้ชัดเจนแล้วว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศแม้ในระดับต่ำ ทำให้อายุขัยสั้นลง และมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยผสานกับความก้าวหน้าของการวิจัยใหม่ๆ แต่ค่าแนะนำเพื่ออากาศสะอาดเหล่านี้จะไม่มีความหมายใดเลย หากรัฐบาลไม่ลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น ยุติการลงทุนในถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดหรือไม่ ความล้มเหลวในการปฎิบัติตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก”

การวิเคราะห์มลพิษ PM2.5 ของกรีนพีซ อินเดีย ที่รวบรวมจากฐานข้อมูลของ IQAir พบว่าคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลกมีระดับเกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกปี 2563

ที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ในปี 2563 มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกปี 2548 เกือบ 8 เท่า โดยเป็นค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทุกเมืองทั่วโลกในฐานข้อมูล และเมื่อนำมาเทียบกับค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในปี 2564 ที่เข้มงวดมากขึ้น พบว่ามลพิษ PM2.5 สูงกว่าค่าแนะนำเกือบ 17 เท่า กรีนพีซและศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ประมาณการจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในกรุงเดลีไว้ 57,000 รายในช่วงปี 2563 ซึ่งสัมพันธ์กับการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ

ส่วนที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี ที่ IQAir ได้บันทึกไว้ในปี 2563 นั้นสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศ ปี 2548 อยู่ประมาณ 4 เท่า ขณะที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมือลหลวงของเม็กซิโก กรุงโซลของเกาหลีใต้ และกรุงเทพมหานคร มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี มีมากกว่า 2 เท่าของ ค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกในปี 2548

แม้ว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา เมืองบางแห่งมีมลพิษ PM2.5 ไม่เกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO แต่มีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องมลพิษทางอากาศอันเป็นผลมาจากการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับต่ำในระยะยาว จากการวิเคราะห์โดยกรีนพีซ IQAir และ CREA ในปี 2563 มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ และกรุงลอนดอน ของสหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก ประมาณ 11,000 และ 10,000 รายตามลำดับ

ฟาร์โรว์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ ไม่มีระดับของมลพิษทางอากาศขั้นต่ำใดๆ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ การได้รับมลพิษทางอากาศในระดับต่ำในระยะยาวอาจทำให้สุขภาพของเราแย่ลงได้ทีละน้อยแต่ส่งผลร้ายแรง ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และสุดท้ายคือการเสียชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายคุณภาพอากาศต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพและยกระดับคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่

อวินาช ชันชาล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า เรามีเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงในเชิงเศรษฐกิจเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศ ในเกือบทุกส่วนของโลก การพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนเช่น ลม และแสงอาทิตย์ คุ้มค่ามากกว่าการลงทุนเพื่อเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ โดยที่ยังไม่ต้องรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศเสียด้วยซ้ำ การจัดการมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่เทคโนโลยี

ไทยเจอมลพิษจาก PM2.5 สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

ข้อมูลล่าสุดของมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไปขององค์การอนามัยโลกคือข้อมูลในปี 2559 ชุดข้อมูลดังดังกล่าวระบุว่าความเข้มข้นของมลพษิ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย อยู่ที่ 29.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูกว่าคำแนะนำด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกอย่างมาก แบบจำลองคอมพวิเตอร์คาดการณ์ว่าค่ามัธยฐานรายปีของมลพิษ PM2.5 ในเขตเมืองของประเทศไทย คือ 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งมีค่าเกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ในปี 2555 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล พบว่าการเสียชีวิตของคนไทยอายุ 14 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17 มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ในระยะยาวที่สัมพันธ์กับแหล่งกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปีเดียวกันนั้น การปล่อยมลพิษ PM 2.5 เฉลี่ยในประเทศไทย คือ 20.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ต่อมาในปี 2562 มลพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีในประเทศไทย คือ 26.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่ 20.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรคิดเป็นเกือบ 3 เท่าของค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ไมเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดของมลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศไทย ในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 10,542 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการสัมผัสมลพษิ PM2.5 เฉลี่ยรายปีของคนในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านมีระดับเกินกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ขณะที่ประเทศที่มีมลพษิ PM2.5 ในภาคการขนส่ง อุตสาหกรรม และพลังงานมากที่สุด คือ พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย

แผนภูมิแสดงปริมาณมลพิษ PM2.5 ใน 10 ประเทศอาเซียน
โดยอันดับ 1 คือ พม่า อันดับ 2 คือ ไทย และอันดับ 3 คือกัมพูชา (ที่มา: กรีนพีซ)
 

ความตื่นตัวต่อวิกฤติ PM2.5 เป็นโอกาสที่จะทำให้คุณภาพอากาศของประเทศดีขึ้น กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกรมควบคุมมลพิษให้ยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยเพื่อคุ้มครองชีวิตของประชาชน

แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษจะนำ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย ตามข้อเรียกร้องเดิมของกรีนพีซแล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ เช่น ยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชม. เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, กำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze-free ASEAN) อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม, ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน, พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสมลพิษทางอากาศเพื่อประโยชน์ในการประมาณการและการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระยะสั้นและระยะยาว, ประกาศดัชนีผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางอากาศแยกออกจากดัชนีคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษเพื่อใช้สื่อสารและปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ กรีนพีซยังเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกซิเจนของไนโตรเจน (NOx) และฝุ่นละอองขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่ โดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมายที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ

อีกทั้ง กรีนพีซยังได้เรียกร้องไปยังกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนในภาคการขนส่ง, ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและราคาที่สมเหตุสมผล, สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะและรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ประหยัดพลังงาน, จัดการสิ่งแวดล้อมด้านการขนส่งทางถนนโดยการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและใช้พลังงานสะอาด, สนับสนุนการใช้จักรยานการเดินยานพาหนะไฟฟ้าและการส่งเสริมการขับขี่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net