‘การลดค่ารอบ’ ยังคงเป็นเชื้อไฟแห่งการประท้วงของไรเดอร์ต่อบริษัทแพลตฟอร์ม

ประมวลการรวมตัวเรียกร้องของแรงงานแพลตฟอร์มรอบสัปดาห์ (14 ก.ย.-22 ก.ย.) เมื่อการใช้อำนาจเกินขอบเขต-ลดค่ารอบ ยังคงเป็นเชื้อไฟแห่งการประท้วง ไรเดอร์หลายแอปฯ ร้องเรียนบริษัทไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ด้านกลุ่มคนขับรถยนต์แอปฯ Lalamove รวมตัวท้วงบริษัทครั้งแรก 

ด้านตัวแทนสหภาพไรเดอร์ ระบุปรากฏการณ์นี้ขยายตัวมากขึ้น เพราะคนทำงานเริ่มเข้าใจสิทธิในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง พร้อมมองว่าวิธีการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายอาจยังไม่เกิด เพราะตัว บ.แพลตฟอร์มยังอาจมองตัวเองมีอำนาจต่อรองมากกว่า หวังให้ บ.เห็นความสำคัญของแรงงานแพลตฟอร์มมากกว่านี้  

(ที่มา ไรเดอร์นครนายก)

อ้างอิงจากเพจสหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.-21 ก.ย.) มีการประท้วงและยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมต่อบริษัทแพลตฟอร์มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากฝากฝั่งของไรเดอร์ทั้งแอปฯ foodpanda และ LINE MAN รวมถึงนี่ยังเป็นครั้งแรกที่กลุ่มคนขับรถยนต์ แอปฯ Lalamove ออกมาประท้วง ขณะที่การลดค่ารอบ ปัญหาระบบแอปฯ และการใช้อำนาจเกินขอบเขตของบริษัท ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไรเดอร์ลุกขึ้นประท้วงต่อบริษัท 

  • 14 ก.ย. 64 ที่สาทรธานี เขตบางรัก คนขับรถยนต์แอป Lalamove เปิดปฐมบทเรียกร้องค่ารอบ-ระบบกระจายงานอย่างเท่าเทียม
  • 14 ก.ย. 64 ไรเดอร์ บริษัท foodpanda พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ร่วมตัวเข้ายื่นเข้าเรียกร้องต่อ ออฟฟิศ foodpanda ประจำจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรม ถึงค่ารอบที่ถูกปรับลดลงอย่างไม่เป็นธรรม 
  • 17 ก.ย. 64 ไรเดอร์ foodpanda จ.กระบี่ ร้องสำนักงานบริษัทประจำจังหวัด ปมปัญหาค่ารอบ และระบบงานที่ไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ 
  • 17 ก.ย. 64 ไรเดอร์ LINE MAN จ.สระบุรี นัดรวมตัวยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม และกรมแรงงานจังหวัดสระบุรี เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านค่ารอบ-ระบบกระจายงาน
  • 21 ก.ย. 64 ไรเดอร์ แอปฯ LINE MAN พื้นที่ จ.นครศรีธรรมมาราช รวมตัวประท้วง (Strike) หยุดวิ่งงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 11.00-12.59 น. กรณีค่ารอบและเงินอินเซนทีฟที่ไม่เป็นธรรม
  • 22 ก.ย. 64 เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. กลุ่มไรเดอร์จาก foodpanda จ.ลำปาง และสมาชิกสหภาพไรเดอร์ เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัด ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องถูกลดค่ารอบ

คนขับรถ Lalamove ประท้วงบริษัท ปมค่ารอบ

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มคนขับรถยนต์ หรือไดรเวอร์ ผ่านแพลตฟอร์มแอปฯ Lalamove ราว 50-60 คน ทำคาร์ม็อบ ก่อนมารวมตัวที่ตึกสาทรธานี ซึ่งเป็นสำนักงานของ บ. Lalamove และยื่นหนังสือเรียกร้องให้บริษัทมีการแก้ไขปัญหาให้ driver จำนวน 3 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย 1) ให้ปรับราคาค่าบริการต่อรอบของรถยนต์ทุกประเภท ทุกเขต กลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนมีการเปลี่ยนแปลงรอบล่าสุดโดยไม่มีข้อแม้ 2) ปรับระบบการกระจายงาน จากการที่บริษัทจ่ายงานให้โดยตรง ปรับเป็นใครกดก่อนได้งานก่อน รวมถึงให้ บ.จัดการผู้ใช้แอปฯ โกง และ 3) ปรับระบบให้ driver ทุกคนสามารถเห็นงาน/ออเดอร์ได้พร้อมกันทุกคน โดยทางฝั่งคนขับ ขอให้ทางบริษัทตอบรับคำร้องภายในเที่ยงวันที่ 16 ก.ย. 64 

ภาพขณะประท้วงหน้าตึกสาทรธานีของกลุ่มคนขับจากแอปฯ Lalamove ที่มา ถ่ายทอดสดของเพจสหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union

จากการสัมภาษณ์ เอ (นามสมมติ) คนขับรถยนต์ประเภท 5 ประตูแอปฯ Lalamove และเป็นผู้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทที่สาทรธานี เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 64 กล่าวว่า ปมหลักมาจากการปรับค่ารอบโดยพลการ และไม่สอบถามความเห็นจากพาร์ตเนอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไดรเวอร์เคยมีการมายื่นข้อเรียกร้องแล้วครั้งหนึ่งกับทางบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ‘Lalamove’ เพื่อให้บริษัทปรับค่ารอบให้มีคนขับรถอยู่ได้ แต่หลังจาก 4-5 วันถัดมา บ.มีการปรับลดค่ารอบเพิ่ม จึงเป็นเหตุผลที่มาประท้วงถึงบริษัท 

เอ แจงให้ฟังว่า เขาขับรถยนต์ประเภท 5 ประตู โดยมาเริ่มขับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ราคากิโลเมตรแรกเริ่มต้นที่ 150 บาท ก่อนที่ต่อมา จะมีการลดค่ารอบลง โดย กม.แรกเริ่มที่ 130 บาท หลังจากนั้น ตั้งแต่ 2-50 กม. คิด กม. ละ 10 บาท 

ล่าสุด ของค่ารอบของคนขับประเภท 5 ประตู อยู่ที่ กม.แรก 99 บาท กม.ที่ 2-50 คิดเพิ่ม กม. ละ 9 บาท หลังจาก กม.ที่ 50 เป็นต้นไป ราคาจะลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ และราคานี้ยังไม่รวมกับการหักค่าธรรมเนียม และภาษี ณ ที่จ่าย อีกประมาณ 15%

ทั้งนี้ แอปฯ Lalamove เป็นแพลตฟอร์มที่บริการรับ-ส่งพัสดุ โดยมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ 5 ประตู รถยนต์ 4 ประตู รถกระบะ รถกระบะโครงเหล็ก ซึ่งค่ารอบในแต่ละประเภทรถยนต์จะไม่เท่ากัน รวมถึงราคาค่ารอบในแต่ละเขตจะไม่เท่ากันอีกด้วย โดยค่ารอบในเขตตัวเมือง ซึ่งมีงานเยอะกว่า จะมีแนวโน้มราคาค่ารอบถูกกว่าเขตนอกเมือง ซึ่งมีงานน้อยกว่า

ขณะที่เบนซ์ หนึ่งคนขับรถยนต์ 5 ประตู แอปฯ Lalamove ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เสริมว่านอกจากปัญหาเรื่องค่ารอบแล้ว ทางบริษัทมีการเปิดบริการใหม่ โดยไม่มีการขอความเห็นและความต้องการจากคนขับรถยนต์คือ 'บริการเหมาเวลา'

เบนซ์ อธิบายต่อว่า งานลักษณะเหมาเวลา มีให้เลือกระหว่างงาน 4 ชั่วโมง (ชม.) กับงาน 8 ชม. สมมติภายในระยะเวลา 4 ชม. จะให้คนขับรถส่งของกี่จุดก็ได้ ภายในระยะทางไม่เกิน 100 กม. ถ้าเกินก็จะมีการคิดค่าส่งเพิ่ม กม.ละ 10 สตางค์. ซึ่งคนขับส่งเป็นสิบๆ จุด ก็ได้เงินแค่ 600 กว่าบาทเท่านั้น และยังไม่หักค่าธรรมเนียม และภาษี ณ ที่จ่าย ราว 15% 

งานลักษณะนี้ไม่คุ้มค่าต่อคนขับรถยนต์อย่างมาก เพราะว่าบางคนสามารถรับงานตัวอื่นได้เงินมากกว่า 600 บาท บางคนทำงาน 2 ชม. ก็ได้เงิน 500 บาทแล้วก็มี ซึ่งการทำงานปริมาณมาก ๆ คนขับยังคงต้องแบกภาระ ค่าสึกหรอ และค่าน้ำมันด้วยตัวเอง  

สำหรับกรณีระบบการกระจายงาน เอ (นามสมมติ) ต้องการเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงระบบให้คนขับแอปฯ Lalamove สามารถเห็นงานได้พร้อมกัน ซึ่งปัจจุบัน เขาเคยลองนำเครื่องโทรศัพท์มาวางเรียงกัน เพื่อพิสูจน์ว่าแต่ละคนได้รับงาน/ออเดอร์พร้อมกันไหม ซึ่งปรากฏว่าได้รับงานไม่พร้อมกัน บางคนงานเด้งขึ้นมา และบางคนงานไม่เด้งขึ้นมา ซึ่งเขารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม บางคนทั้งวันอาจทำงานได้รายได้วันหนึ่ง 2,000-3,000 บาท แต่กลับบางคนทั้งวันแทบไม่ได้งานทำเลยก็มี

นอกจากนี้ เอ ระบุว่า เขาเรียกร้องให้บริษัทปรับระบบให้คนขับรถยนต์ในรัศมีรอบลูกค้าภายใน 5 กม. ต้องเห็นงานพร้อมกันทุกเครื่อง จากนั้น ก็ให้คนขับรถแย่งกดรับงานอีกที  

สำหรับเรื่องการจัดการแอปฯ โกง เอ อยากให้บริษัทแก้ปัญหาอย่างจริงจให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่เปิดแถลงการณ์ออกมาว่าจะปราบแอปฯ โกง แต่ไม่มีบทลงโทษ และไม่ได้ทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม

เบนซ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาที่ระบุไปข้างต้น ตนอยากเสริมปัญหาเรื่องของการพัฒนาระบบประสานงานกับเจ้าหน้าที่ โดยปกติเวลาที่คนขับรถมีปัญหาหน้างาน และต้องการให้บริษัทช่วยเหลือ คนขับต้องทำตามวิธีในระบบอัตโนมัติในแอปฯ เป็นระยะเวลานานมาก ซึ่งเบนซ์ รู้สึกว่า ถ้ามีระบบคอลเซ็นเตอร์ที่รับปัญหาจากคนขับและส่งให้บริษัทมันก็น่าจะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่ทำไมบริษัทถึงไม่พัฒนาตรงจุดนี้

"เวลาเกิดปัญหาติดต่อก็ยาก เราเป็นพาร์ตเนอร์ ไม่ใช่ลูกจ้าง (employee) เป็นพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาทำงาน เป็น joint venture กับพวกคุณ เป็นเหมือนคู่ค้า ทำไมถึงกระทำกับคู่ค้าแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมานมนานแล้ว แปลกมากเลยที่ไม่เคยปฏิบัติกับคนขับเหมือนเป็นคู่ค้าเป็นพาร์ตเนอร์เลย เขามีการพูดกันอยู่ว่าเป็นพาร์ตเนอร์จอมปลอมนะตอนนี้" เบนซ์ กล่าว

เบนซ์ และเอ คนขับรถ 5 ประตูจากแอปฯ Lalamove เห็นตรงกันว่าผลกระทบจากการลดค่ารอบครั้งล่าสุด ส่งผลให้คนขับต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น ค่าน้ำมันราคาแพงขึ้น ค่าซ่อมบำรุง ค่าสึกหรอแพงขึ้น แต่ค่ารอบกลับลดลง นอกจากนี้ การปรับลดค่ารอบทำให้คนขับรถต้องทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงที่ยาวนานมากขึ้น เช่น จากเดิมที่ออกมาทำงานตอนเวลา 10.00 น. ก็ต้องเริ่มวิ่งเวลา 7.00 น. เพื่อที่ให้ได้งานมากขึ้นกว่าเดิม

"ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ปัจจัยหลักก็คือค่าน้ำมันที่มันสูงขึ้น ค่าอะไหล่ รักษาสภาพรถยนต์ที่มันสูงขึ้น และก็ค่าครองชีพที่ทุกวันนี้มันก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่ารอบที่ได้กลับลดลง ซึ่งมันย้อนแย้งและสวนทางโดยสิ้นเชิง" เอ กล่าว 

"การลดค่ารอบมันทำให้คนขับต้องวิ่งงานมากขึ้นกว่าเดิม การวิ่งมากขึ้นกว่าเดิมราคามันไม่ได้ลดลง แต่กลายเป็นว่าถ้าอยากจะได้มาก ต้องวิ่งไกล วิ่งเยอะขึ้นกว่าเดิม" เบนซ์ กล่าว 

เบนซ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากให้บริษัทไปทำการตลาดที่คำนึงถึงคนขับรถที่หาเงินให้บริษัทด้วย ไม่ใช่ลดราคาเพื่อเรียกลูกค้าแล้ว แต่ผลักภาระมาให้คนขับเต็มๆ บริษัทยังหักค่าธรรมเนียมเท่าเดิม แล้วคนขับได้อะไรกลับมาบ้าง คนขับต้องทำงานมากขึ้น เพื่อให้บริษัทได้หักค่าธรรมเนียม 15% เหมือนเดิม"

เอ ผู้ขับรถยนต์ผ่านแอปฯ Lalamove กล่าวว่า จากการตอบกลับของบริษัทล่าสุด พบว่ายังคงไม่รับเรื่องการแก้ปัญหาการลดค่ารอบ มีแต่เรื่องการพัฒนาระบบประสานกับเจ้าหน้าที่ และจัดการแอปฯ โกง ตนจึงอาจจะยกระดับการชุมนุมและการเรียกร้องต่อไปในอนาคต  

ไรเดอร์ foodpanda และ LINE MAN รวมตัวร้องค่ารอบที่เป็นธรรมต่อเนื่อง

14 ก.ย. 64 ไรเดอร์ บริษัท foodpanda พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ร่วมตัวเข้ายื่นเข้าเรียกร้องต่อ ออฟฟิศ foodpanda ประจำจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรม ถึงกรณีค่ารอบที่ถูกปรับลดลงอย่างไม่เป็นธรรม 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 ไรเดอร์ บริษัท foodpanda พื้นที่ จ.กระบี่  รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องถึงออฟฟิศส่วนกลางของบริษัทแพนด้าประจำจังหวัดกระบี่ เพื่อให้ทางบริษัทมีการปรับค่ารอบ และระบบที่ไม่เป็นธรรมต่อไรเดอร์ 

ไรเดอร์ foodpanda ยื่นหนังสือ ณ ออฟฟิศบริษัท จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 (ที่มา สหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union)
 

ข้อเรียกร้องของไรเดอร์ foodpanda มีดังนี้ 1) การปรับเปลี่ยนระบบการจ่ายค่าตอบแทน ที่มีการปรับลดเพิ่มค่าตอบแทนโดยไม่มีขั้นต่ำ และไม่ได้มีมาตรฐาน การวัดระยะทางโดยบริษัทฯ ได้อ้างอิง GPS จากร้านค้า ไปยังลูกค้าโดยวัดเป็นเส้นตรง ซึ่งไม่ตรงกับหลักความจริงที่มีทางแยก ทางโค้ง และยูเทิร์น หรือแม้แต่ทางชำรุด และห้ามผ่าน ทำให้บางครั้ง ไรเดอร์ต้องขับเป็นระยะทางไกลเกินกว่าระบบแผนที่ในแอปฯ แต่ได้ราคาเท่าเดิม ซึ่งไรเดอร์มองว่า ไม่ยุติธรรม 

1.1 ไรเดอร์ foodpanda เรียกร้องให้บริษัทตั้งค่ารอบมาตรฐาน โดยเริ่มที่ Batch 1 เริ่มต้นค่ารอบมาตรฐานที่ 25 บาท Batch 2 เริ่มต้น 23 บาท Batch 3 เริ่มต้น 22 บาท และ Batch 4 เริ่มต้น 21 บาท 

1.2 เรียกร้องให้บริษัทใช้ระบบ Google Map ซึ่งมีความแม่นยำ และวัดเส้นทางจริงที่ไรเดอร์วิ่ง และเพิ่มค่าตอบแทนตามระยะทางจริง อย่างเป็นธรรม

2. แก้ปัญหาออเดอร์ผี - จากการสอบถามเรื่องปัญหานี้กับไรเดอร์ foodpanda ตามปกติ เวลาคำสั่ง/ออเดอร์เข้ามา ออเดอร์จะค้างอยู่บนหน้าจอระบบแพลตฟอร์มเพื่อให้คนขับกดรับงานได้ แต่กรณีออเดอร์ผี คาดว่าเป็นความผิดพลาดของระบบแอปฯ เนื่องจากไรเดอร์บางคนจะเห็นออเดอร์เข้ามาช่วงเวลาสั้นๆ แล้วหายไปอย่างรวดเร็ว และไรเดอร์คนนั้นจะกดรับงานไม่ได้ แต่การที่ไรเดอร์กดรับงานไม่ได้ด้วยเหตุสุดวิสัย กลับถูกนำไปคำนวณเรื่องเปอร์เซ็นต์การรับงาน และมีผลต่อการยกระดับ Batch หรือเลเวลการทำงาน ทำให้เลเวลตกลง และค่าจ้างจะถูกลดตามมา ไรเดอร์มองว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรม เนื่องเขาโดนลดค่ารอบจากความผิดพลาดของระบบ และทางบริษัทต้นสังกัดก็ไม่เคยออกมาชดเชยต่อไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบ 

3. ข้อเรียกร้องต่อกรณีโซนวิ่งอำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ และ 4. เพิ่มระยะเวลากดรับงาน เพื่อให้ไรเดอร์สามารถกดรับงานทันเวลาเกิดเหตุสุดวิสัย

เมื่อ 17 ก.ย. 64 จากเพจ สหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union โพสต์ข้อความบนกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะของตน ระบุว่า ไรเดอร์แอปฯ LINE MAN พื้นที่จังหวัดสระบุรี นัดรวมตัวยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม และกรมแรงงานจังหวัดสระบุรี เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลือทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้ 

1. ขอให้บริษัท LINE MAN Wongnai ปรับขึ้นค่ารอบในต่างจังหวัด ออเดอร์ละไม่ต่ำกว่า 40 บาท ก่อนหักค่าธรรมเนียม และภาษี ณ ที่จ่าย 

2. ขอให้บริษัท LINE MAN ปรับระบบการกระจายงานในรัศมีเดิม คือ 3 กิโลเมตรแรก 

3. ขอให้บริษัทยกเลิกนโยบายที่ให้ไรเดอร์ใหม่เห็นงานก่อนไรเดอร์เก่า ซึ่งสร้างความไม่เท่าเทียมและเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนกับไรเดอร์ที่ทำงานกับบริษัท

ไรเดอร์ LINE MAN จ.สระบุรี ยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 ที่มา สหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นดังกล่าว อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ จากบริษัท LINE MAN Wongnai เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 ระบุว่า “สำหรับประเด็นการกระจายงานอย่างไม่เท่าเทียมนั้น เมื่อก่อน LINE MAN มีนโยบายช่วยเหลือไรเดอร์สมัครใหม่ให้สามารถปรับตัวกับการทำงานระยะแรก และให้คุ้นชินกับแอปพลิเคชัน ทางบริษัทจึงมีนโยบายให้ไรเดอร์หน้าใหม่สามารถมองเห็นงานก่อนไรเดอร์ที่ทำงานมานานไม่กี่วินาที เป็นมาตรการระยะสั้น เมื่อไรเดอร์ใหม่ทำงานจนครบจำนวนงานที่กำหนด ประมาณ 20 งาน ระบบจะปรับกลับมาให้ไรเดอร์เห็นงานเท่ากับไรเดอร์ที่ทำงานมานานคนอื่นๆ ทุกคน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นโยบายของบริษัทจะไม่มีการแบ่งแยกไรเดอร์เก่าและใหม่แล้ว ทางไรเดอร์ทุกคนจะเห็นงานเท่าเทียมกัน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'LINE MAN' แจงปมหลักพิจารณา ค่ารอบ-อินเซนทีฟ ยันฟังฟีดแบ็กไรเดอร์ทุกครั้งก่อนออกนโยบาย

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 64 ไรเดอร์ แอปฯ LINE MAN พื้นที่ จ.นครศรีธรรมมาราช รวมตัวประท้วง (Strike) หยุดวิ่งงานในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 11.00-12.59 น. กรณีค่ารอบและเงินอินเซนทีฟที่ไม่เป็นธรรม

ภาพการหยุดรับงานประท้วงของไรเดอร์ LINE MAN นครศรีธรรมราช เมื่อ 25 ส.ค. 64 (ที่มา สหภาพไรเดอร์ - Freedom Rider Union)

วันนี้ 22 ก.ย. 64 เมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. กลุ่มไรเดอร์ และสมาชิกสหภาพไรเดอร์ จาก foodpanda จ.ลำปาง เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัด ยื่นข้อเรียกร้องเรื่องถูกลดค่ารอบ

ประท้วงต่อเนื่องสะท้อนความเข้าใจสิทธิเรื่องการรวมตัว

'เรย์' เลขาธิการสหภาพไรเดอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานไรเดอร์ที่รวมตัวกัน เพื่อช่วยประสานงาน และเรียกร้องความเป็นธรรมเวลาที่ไรเดอร์มีข้อพิพาทต่อบริษัทแพลตฟอร์ม กล่าวว่าปรากฏการณ์เรียกร้องของกลุ่มไรเดอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากไรเดอร์แต่ละจังหวัดเริ่มตระหนักในสิทธิในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และเริ่มเข้าใจว่าเขาโดนกดขี่ โดนกระทำ เพราะไรเดอร์สมัยก่อนถูกเอาเปรียบมาโดยตลอด แต่ว่ายังไม่รู้จักว่าจะเรียกร้องช่องทางไหนได้บ้าง หรือยังไม่รู้จักว่าจะไปสะท้อนหรือเรียกร้องกับใครได้บ้าง ก็ต้องก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตอย่างไม่มีปากมีเสียง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าพอมีหนึ่งคนลุกขึ้นมาเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง มันกลายเป็นกระแส กลายเป็นผลกระทบที่สะท้อนไปสู่ไรเดอร์ที่ถูกกดขี่ด้วยกัน ผลักดันให้พวกเขาออกมาเรียกร้องด้วย 

เรย์ สหภาพไรเดอร์
 

เรย์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ข้อเรียกร้องของไรเดอร์ทุกจังหวัดจะเป็นเรื่องค่ารอบที่ต่ำเกินไป บริษัทบ่อยครั้งอ้างว่า มีการคำนวณค่าครอบชีพแต่ละจังหวัด และสอบถามทางไรเดอร์แล้วว่าจะปรับลดค่ารอบ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ 

"มองว่าบริษัทขูดรีดแล้ว มากกว่าแบ่งปันผลกำไรให้กับคนทำงาน" เรย์ ตั้งข้อสังเกต พร้อมระบุว่า "ที่บริษัทระบุว่ามีการปรับค่ารอบให้สัมพันธ์กับค่าครองชีพในแต่ละจังหวัด มันไม่สมเหตุสมผล เพราะค่าอะไหล่ ค่าสึกหรอ และค่าน้ำมัน เท่ากันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนั้น ตามหลักแล้ว ค่ารอบน่าจะเท่ากันทุกจังหวัด"

ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดจะมีรายละเอียดเรื่องข้อเรียกร้องที่ต่างกัน เช่น ระบบแผนที่ GPS หรือระบบการกระจายงานที่ไม่เท่าเทียมกัน 

หากบริษัทยังนิ่งเฉยต่อการแก้ปัญหาและข้อเรียกร้องของไรเดอร์ การประท้วงก็มีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จ.นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และมุกดาหาร 

ตัวแทนจากสหภาพไรเดอร์ มองว่า ส่วนที่ทำให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเจรจาระหว่างไรเดอร์ และบริษัทแพลตฟอร์ม มันยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทอาจจะมองว่าอำนาจต่อรองของทางบริษัทมีมากกว่า 

"จริงแพลตฟอร์มเขายังมองอำนาจต่อรองเขามีอำนาจมากกว่าคนขับ เขาสามารถรับคนใหม่ได้ตลอด ไรเดอร์จะทำหรือไม่ทำงาน จะประท้วงหรือไม่ประท้วง เขามองที่คุณไม่ทำก็ออกไป ทางสหภาพก็อยากให้ไรเดอร์รวมตัวกันต่อ สร้างอำนาจต่อรองให้มันใหญ่ขึ้น เพื่อให้คุยกับทางแพลตฟอร์มได้ สหภาพฯ พยายามยื่นมือแตะกับทางหลายแอปฯ ซึ่งก็มี LINE MAN ที่ได้มีการพูดคุยผ่านอีเมล เพราะมันมีมาตรการโควิด-19 เข้ามาเลยยังไม่ได้ตั้งโต๊ะเจรจาคุยกัน

"บริษัทควรเห็นความสำคัญของไรเดอร์ เพราะว่าบริษัทแพลตฟอร์มอยู่ได้เพราะไรเดอร์ ถึงเขาจะบอกว่า คนขับเก่าถ้าไม่พอใจราคาก็ออก รับไม่ได้ก็ออก ซึ่งผมมองว่ามันเป็นวิธีคิดที่เห็นแก่ตัว คุณใช้กำลังเขาแล้ว คุณได้รับผลประโยชน์จากกำลังแรงงานเขา และบริษัทแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นมาได้ เพราะกำลังแรงงานของไรเดอร์ทั้งนั้น มันเป็นการเสร็จนาฆ่าวัวถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล และบริษัทแพลตฟอร์มควรจะมีหลักประกัน ไม่ใช่อาศัยช่องว่างการตีความสถานะมาเอาเปรียบ มันก็ไม่โอเค ...อยากจะให้มองถึงกำลังแรงงาน ให้ความสำคัญกับแรงงานยิ่งกว่านี้ ที่ผมอยากจะฝากไปถึงบริษัทแพลตฟอร์ม" เลขาธิการสหภาพไรเดอร์ ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท