สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17-23 ก.ย. 2564

ก.แรงงาน ขยายผลหญิงไทยถูกหลอกค้ากามดูไบ ปราบนายหน้าเถื่อน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน (กกจ.) เร่งตรวจสอบขยายผลกรณีนายหน้าเถื่อนหลอกหญิงไทยอ้างบินทำงานนวดที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝั่ง กกจ.รับลูกแข็งขัน ใช้มาตรการป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม

รมว.แรงงานกล่าวว่า กรณีหญิงไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดียว่าถูกหลอกให้มาขายบริการที่เมืองดูไบ จนภายหลังได้เข้าช่วยเหลือกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ล่าสุดได้สั่งการศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กกจ.ให้เร่งขยายผลไปที่ต้นตอกระบวนการ สายนายหน้าเถื่อนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

“ขอเตือนไปยังผู้มีพฤติการณ์เป็นสายนายหน้าเถื่อนว่า การหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือหรือประโยชน์อื่นจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กกจ.มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”

รมว.แรงงานกล่าวด้วยว่า คนหางานอย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เดินไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือโฆษณาเกินจริง หากมีการชักชวนให้หลีกเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเพื่อทำงาน หรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนหางาน ณ ท่าอากาศยาน ให้สงสัยได้เลยว่าท่านกำลังโดนหลอก ซึ่งจะทำให้เสียเงิน เกิดอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือคนหางานที่ทำงานทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นภารกิจของศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กกจ.

ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563-7 กันยายน 2564 มีการดำเนินคดีสายนายหน้าเถื่อนแล้ว 93 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 195 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 17,500,365 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สวีเดน และออสเตรเลีย ตามลำดับ

กรมการจัดหางานมีมาตรการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ดังนี้

– ด้านการป้องกัน โดยให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ประชาชนและคนหางานทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ประกาศคำเตือน รูปแบบ หรือกลวิธีการหลอกลวงคนหางานของสาย/นายหน้า ผ่านสื่อต่าง ๆ หรือหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ทางสายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

– ด้านการป้องปราม มอบหมายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคคลที่โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งโพสต์ข้อความตอบโต้เพื่อสกัดกั้นการโฆษณาชักชวนดังกล่าว เพื่อมิให้คนหางานตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ

นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ให้มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแล และแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการทราบ และตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางานเพื่อป้องกันการลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกชักชวนไปทำงานอย่างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

– ด้านการปราบปราม ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประสานการติดตามการออกหมายจับจากพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิด

“สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd” อธิบดีกรม กกจ.กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/9/2564

รมว.แรงงาน แจงเคส 3 สหภาพยื่นหนังสือ ทวงถามความคืบหน้าช่วยเหลือแรงงานถูกลอยแพ

21 ก.ย. 2021 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณี 3 สหภาพ แรงงาน ประกอบด้วย สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงานบอดี้แฟชั่น และสหภาพแรงงานทอสเท็มไทย ได้ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือกรณี ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความห่วงใยและย้ำเตือนให้กระทรวงแรงงานดูแลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สถานประกอบกิจการต้องเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดหรือต้องปิดกิจการลง

โดยให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้นายสุเทพ ชิต ยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำกับดูแลในเรื่องนี้ และให้นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รอง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือ

โดยทั้ง 3 สหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้า ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการในกรณี ต่างๆ ไปแล้วดังนี้ กรณีบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ไทยโกลบอล จำกัด จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 บริษัทฯ มีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดจำนวน 1,388 คน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และให้มีผลการเลิกจ้างทันที ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้บริษัทฯ จ่ายเงินแก่ลูกจ้าง รวมเป็น เงินทั้งสิ้น 243,537,318.67 บาท

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุน สงเคราะห์ลูกจ้างแก่ลูกจ้าง จำนวน 1,231 คน เป็นเงินจำนวน 22,321,856 บาท และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงินจำนวน 65,540,768 บาท

ทั้งนี้ กสร. ได้ดำเนินคดีอาญากับบริษัทฯ และกรรมการผู้มีอำนาจฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน โทษจำคุกไม่เกินหนึ่ง ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางเสาธง

ซึ่งผลการดำเนินคดีศาล ออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 ส่วนการดำเนินคดีแพ่ง ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ เพื่อให้ ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต่อศาลแรงงานภาค 1 โดยศาลนัดพิจารณาและไกล่เกลี่ย ในวันที่ 18 ต.ค. 2564 ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานได้สรรหาตำแหน่งงานว่างให้แก่ลูกจ้าง 1,834 ตำแหน่ง

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีบริษัท ทอสเท็มไทย จำกัด นายจ้าง และสภาพแรงงานทอสเท็มไทย กสร. ได้มอบพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดทั้งสองฝ่ายร่วมเจรจาหาข้อยุติ กรณีนายจ้างประกาศ เปลี่ยนแปลงการยกเสิกการลาหยุดพิเศษเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด – 19 ในวันที่ 22 ก.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมเจรจากัน บนพื้นฐานของหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และได้ข้อยุติเป็นที่พอใจ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/9/2564

ทบทวนมติ ครม. 8 ธ.ค. 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์

21 ก.ย. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ดังนี้

สาระสำคัญเดิม นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแล้วจะต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี

สาระสำคัญที่ขอปรับปรุง นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุน และต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี

และให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ สธ. ได้เสนอขอปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อผูกพันของนักศึกษาแพทย์ที่จะต้องเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ใบอนุญาตฯ) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 มีมติเห็นชอบแล้ว เนื่องจากในช่วงปี พ.ศ. 2562 - 2564 นักศึกษาแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาที่สอบไม่ผ่านใบอนุญาตฯ (ไม่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งนายแพทย์) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 8.91 ของจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งหมด ส่งผลให้ส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น ๆ นอกสังกัด สธ. ส่งตัวนักศึกษากลุ่มดังกล่าวคืนมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนยังหน่วยงานในสังกัด สธ. ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขทำให้ สธ. ไม่มีตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขเพียงพอในการบรรจุนักศึกษาแพทย์ดังกล่าว รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสในการบรรจุอัตรากำลังในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขจากสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: มติคณะรัฐมนตรี, 21/9/2564

ราชทัณฑ์” ปลื้ม “เอกชน” ขานรับ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” อ้าแขนรับ “นักโทษ” 1,000 คน ร่วมเสริมกำลังการผลิต-ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหลังนำร่อง “สมุทรปราการ โมเดล” คืนคนดีสู่สังคม “บริษัทชั้นนำ” จ่อรอรับเพิ่ม หลังสถานการณ์โควิด-19 อีก 300-400 คน

21 ก.ย. 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องมนุษยชนและต้องการให้โอกาสผู้ต้องขังได้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมอีกครั้ง จึงได้ริเริ่มโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง” ทั้งนี้ ภายหลังได้นำร่องโครงการที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นแห่งแรก ในโครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม” หรือ “สมุทรปราการ โมเดล” ด้วยการทดลองนำผู้ได้รับการพักการลงโทษและถูกคุมประพฤติโดยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM จำนวน 1,000 คน ออกไปทำงานในสถานประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อภาคอุตสาหกรรมให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง และช่วยเสริมกำลังการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนระบบการผลิต หลังจากเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวจำนวนมากถูกผลักดันให้กลับประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ล่าสุด บริษัทเอกชนหลายแห่งได้ให้ความสนใจตอบรับผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษและ ติดอุปกรณ์ EM ไปทำงาน พร้อมจัดหาที่พักและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัท ที่ติดต่อเข้ามายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอจ้างงานระยะยาวภายหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีประมาณ 300-400 คน

“การสร้างงานรวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาชีพเป็นเรื่องสำคัญที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ติดตามใกล้ชิดและกำชับมาตลอดว่ากรมราชทัณฑ์ต้องทำให้เสร็จลุล่วง สิทธิของผู้ต้องขังต้องเสมอภาคเพราะเขาคือประชาชนคนไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อพ้นโทษพวกเขาต้องมีงานทำและสามารถเดินอยู่ในสังคมได้ มีงาน มีรายได้ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เฉกเช่นเดิม” นายอายุตม์ กล่าว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวด้วยว่าก่อนการส่งผู้ต้องขังเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรม กรมราชทัณฑ์จะคัดเลือกผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไปที่เข้าเกณฑ์ครบกำหนดปล่อยตัว เข้าโครงการเตรียมความพร้อมฝึกทักษะการทำงาน 1-2 ปี และเมื่อผู้ต้องขังผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่โครงการพักการลงโทษ กรณี มีเหตุพิเศษด้านฝึกทักษะการทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อออกไปทำงานจริงในนิคมอุตสาหกรรม ภายหลังการปล่อยตัวพ้นโทษและติดอุปกรณ์ EM ควบคู่กับการดูแลผู้กระทำผิดหลังปล่อยทั้งระบบ”

นายอายุตม์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวยังช่วยแก้ไขปัญหานักโทษล้นเรือนจำได้อีกด้วย เนื่องจากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุมดูแลจำนวน 305,447 คน ขณะที่ศักยภาพภายในเรือนจำและทัณฑสถานสามารถรองรับได้เพียง 299,048 คน กรมราชทัณฑ์จึงได้ดำเนินการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อลดความแออัดที่จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานเรือนจำหลายๆ ด้าน อีกทั้งจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี จะมีอัตราการเพิ่มของผู้ต้องขังสูงขึ้น และในจำนวนนี้จะมีผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กรมราชทัณฑ์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสให้ผู้พ้นโทษมีพื้นที่ยืนในสังคมมากขึ้น กลับไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถเติมเต็มและขับเคลื่อนชุมชนเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายสังคมไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ

ที่มา: ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์, 21/9/2564

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงฉบับปรับปรุงใหม่ ยกมาตรฐานคุ้มครองแรงงานประมงทะเล

21 ก.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการจ้างแรงงานและสภาพการทำงานในเรือประมงทะเล

สำหรับรายละเอียดสำคัญที่ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ กำหนดห้ามนายจ้าง จ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในเรือประมง และกำหนดให้นายจ้างดำเนินการจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก จัดทำสัญญาจ้าง นำลูกจ้างซึ่งเป็นคนประจำเรือกลับเข้ามาในราชอาณาจักร และจัดทำทะเบียนลูกจ้าง จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด, กำหนดให้ยื่นคำร้องว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง, กำหนดให้มีการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด กำหนดให้จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างรายเดือน และจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำปี มีสิทธิลาป่วย และให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากการทำงาน, กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีอาหาร น้ำดื่มที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะในปริมาณที่เพียงพอ อุปกรณ์หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม และให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน การใช้เครื่องมือ สุขภาพอนามัย สภาพความเป็นอยู่บนเรือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือก่อนการทำงาน และหากนายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้าง ทะเบียนลูกจ้างในงานประมงทะเลตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2561 ให้ถือว่านายจ้างได้จัดทำสัญญาจ้างและทะเบียนลูกจ้างตามกฎกระทรวงนี้แล้ว

ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก, 21/9/2564

ครม.ขยายเวลาลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขยายเวลาปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.2564 ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ในส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมบทจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือเดือนละ 235 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป

สำหรับการลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ก.ย. - พ.ย.2564 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้างและผู้ประกันตนจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องได้ประมาณ 945 - 1,575 บาทต่อคน และนายจ้าง มีสภาพคล่องขึ้น เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้

ที่มา: Thai PBS, 21/9/2564

เอเชียประกันภัยชี้แจงยังไม่เลิกกิจการ ย้ำปลดพนักงานลดสาขาแค่แผนลดต้นทุน ใช้ไอทีเข้ามาแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีบริษัทประกันวินาศภัย 1 ราย ที่เปิดรับประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ได้เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง มีการปลดคนงานนั้น ล่าสุดนายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทยืนยันไม่ได้มีปัญหากรณีเลิกกิจการแต่อย่างใด โดยบริษัทยังมีแนวทางดูแลลูกค้ากรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทอย่างเป็นธรรม ไม่ได้มีปัญหาและไม่ประวิงจ่ายสินไหม โดยเฉพาะประกันภัยโควิด ที่มีการเคลมเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงโควิดระบาดรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

“บริษัทได้เร่งการจ่ายสินไหมประกันโควิดตามแนวทางของ คปภ. ภายใน 15 วัน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจ่ายเคลมสินไหมไปแล้วกว่า 500-600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของยอดทั้งหมด และบริษัทยังมีเงินกองทุนเพียงพอ ณ ส.ค.64 ที่ระดับ 140% สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการบริหารสภาพคล่องพอต่อการบริหารจัดการและดำเนินการจ่ายสินไหมได้แน่นอน โดยขณะนี้ส่วนตัวยังไม่พบสัญญาณความผิดปกติของลูกค้า เช่น การขอยกเลิกกรมธรรม์เพราะกระแสข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด”

ส่วนการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทเป็นความจริง ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 60 จนถึงปัจจุบัน ตามโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจ รวมถึงยังมีการปิดสาขาและลดพื้นที่สำนักงานใหญ่เพื่อควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทน แต่ยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทยังคงพนักงานจำนวนที่เพียงพอต่อการทำธุรกิจและดูแลให้บริการลูกค้าทั้งจ่ายสินไหมและสำรวจภัย ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงกับ คปภ.ไปแล้ว

ที่มา: เดลินิวส์, 20/9/2564

อดีตพนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอลฯ เรียกร้องจ่ายค่าชดเชย หลังถูกเลิกจ้างตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่หน้าประตู 3 กระทรวงแรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ประมาณ 100 คน นำโดยนางจิตรณวัชรี พะนัด ประธานสหภาพฯ นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงพร้อมป้ายเรียกร้องมาชุมนุมให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เร่งช่วยคนงาน บริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่เป็นสมาชิกสหภาพฯ เป็นลูกจ้างปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง 1,300 คน ไม่จ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนงานเคยยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.แรงงาน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน เม.ย. ขอให้นำเงิน 242 ล้านบาทมาจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้ติดตามนายจ้างมารับผิดชอบจ่ายเงินคืนรัฐบาล พร้อมเอาผิดนายจ้างตามกฎหมาย แต่ไม่มีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รปภ.กระทรวงแรงงาน ได้ปิดประตูทางเข้าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ รมว.แรงงาน ลงมารับข้อเรียกร้องเข้าไปด้านในกระทรวง จึงปักหลักปราศรัยโจมตีการทำงานของ รมว.แรงงาน ว่าไม่เป็นที่ไว้วางใจของคนงาน เพิกเฉยไม่สนใจ ไม่ดูแล คนงานเดือดร้อน ทั้งที่ตนเองเคยพูดมาตลอดว่าเคยลำบาก เป็นลูกจ้าง เคยแบกน้ำตาล แต่พอแรงงานถูกเลิกจ้างมาขอให้ช่วยไม่เคยได้พบแม้แต่ครั้งเดียว ไม่สนใจแก้ปัญหา เน้นแต่งานประชาสัมพันธ์ ถ้าไม่แก้ปัญหา ไม่มีความสามารถไปตามนายจ้าง ก็ควรลาออกไป และได้เรียกร้องให้เปิดประตูเจรจาตามหลักแรงงานสัมพันธ์ไม่ใช่ปิดประตูห้ามเข้า

หลังชุมนุมได้ราว 3 ชั่วโมงไม่มีการตอบรับ ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิงได้อ้างว่าอยากเข้าห้องน้ำแล้วพากันปีนรั้วเข้าไปด้านใน โดยไปรวมตัวอยู่ใต้ตึกที่ทำงานรัฐมนตรี ก่อนที่ฝนจะถล่มลงมาอย่างหนักจน รปภ.ต้องยอมเปิดประตูให้เข้า และมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการ รมว.แรงงาน เป็นตัวแทนมารับหนังสือและให้ส่งตัวแทนเข้าเจรจากับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 21/9/2564

กรมการปกครอง กำชับหน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ 31 จังหวัดในพื้นที่ติดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน สกัดแรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้าประเทศ

ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันว่า ยังมีตัวเลขการติดเชื้อสูง โดยกรมการปกครองเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องช่วยลดตัวเลขการติดเชื้อให้น้อยลง และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยปัญหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านหลบหนีเข้าเมืองยังเป็นปัญหาหนึ่งที่ให้ความสำคัญ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง ในจังหวัดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 128 อำเภอ 31 จังหวัด ประสานความร่วมมือกับตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังการลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติเข้ามาทำงานในประเทศอย่างเข้มงวด

โดยการตั้งจุดตรวจจุดสกัด การลาดตระเวน เฝ้าตรวจ และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่ง เบื้องต้นที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้นำพา และผู้ให้ที่พักพิง ได้จำนวน 2,534 คน ซึ่งล่าสุดสามารถจับกุมแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่หลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติได้ที่จังหวัดสระแก้วอีกจำนวน 9 คน

นอกจากนี้ได้ปล่อยขบวนรถปันสุขมหาดไทย จากความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน นำสิ่งของเครื่องใช้ อุปโภคบริโภค อาทิ ชุดเวชภัณฑ์ป้องกันโรคติดเชื้อ หรือชุด (PPE) /หน้ากากอนามัย /สเปรย์แอลกอฮอล์ /ข้าวสาร /อาหารแห้ง /อาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน /ทยอยให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว สามารถช่วยชาวบ้านในชุมชน 6,750 ครัวเรือน ผู้เดือดร้อน คนยากไร้ คนไร้ที่พึ่งกว่า 10,000 ราย

ที่มา: เดลินิวส์, 20/9/2564

คปภ. เร่งตรวจสอบบริษัทประกันภัยเลิกจ้าง พนง. เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง ได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้

ทั้งนี้ สำนักงานคปภ. ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้งยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด

2. เชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

3. ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้หากพบว่าบริษัทฯ มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย

นายสุทธิพล กล่าวว่า บริษัทฯ ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานคปภ. เรื่องให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งบริษัทฯ สามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

"สำนักงานคปภ. จะติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอื่นๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน" เลขาธิการ คปภ.กล่าว

พร้อมระบุว่า ได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 ให้ดำเนินการต่างๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำถึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงานคปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ

ที่มา: RYT9, 20/9/2564

คปภ. ออกแถลงการณ์ กรณีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งทำการเลิกจ้างพนักงาน เบื้องต้นยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

จากกรณีที่มีข่าวว่า บริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งได้แจ้งการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ นั้น ล่าสุดวันที่ 19 ก.ย. 2564 คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คเพจ PR OIC โดยระบุว่า ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

เบื้องต้นได้รับรายงานจากบริษัทแห่งนี้ว่า กรณีดังกล่าวบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามภาระผูกพันได้ และยังคงพนักงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนจากกรณีข่าวของบริษัทแห่งนี้ และเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ได้ดำเนินการและออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. ส่งทีมตรวจสอบเข้าไปตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยบูรณาการร่วมกับสายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่พบการเลิกประกอบกิจการของบริษัท และยังไม่พบพฤติการณ์การยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่งมีกลไกทางกฎหมายในการป้องกันและควบคุมในส่วนนี้อยู่ อีกทั้ง ก็ยังไม่พบว่ามีบริษัทประกันภัยอื่นมีปัญหาในลักษณะดังกล่าว

ทั้งนี้ การเลิกประกอบกิจการ ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเข้ามาแต่อย่างใด

2. จะเชิญคณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อทราบเจตจำนงและชี้แจงในกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมทั้ง ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย

3. ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไว้อย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยจะเริ่มจากมาตรการเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทฯ มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จะเร่งใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อเร่งจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เป็นไปตามคำสั่งสำนักงาน คปภ. เรื่อง ให้แก้ไขเพิ่มเติมคู่มือ ระบบงาน และกระบวนการดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ซึ่งบริษัทฯ สามารถเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรน ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้เห็นชอบมาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“สำนักงาน คปภ. จะติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทประกันภัยอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและทันที หากมีกรณีที่จะกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จะดำเนินการทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอย่างเต็มความสามารถไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนไปยังบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 ให้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างรอบคอบและระมัดระวัง โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน และคำถึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับบริษัทที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการผ่อนปรนรองรับไว้แล้ว เพื่อดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถในทุกมิติ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/9/2564

กสร. - IOM เปิดตัว คู่มือสำหรับ "ภาคธุรกิจ" วิธีไกล่เกลี่ย "ข้อพิพาทแรงงาน"

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเทศไทย จัดทำคู่มือสำหรับภาคธุรกิจวิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานภายใต้กฎหมายแรงงานไทย เพื่อส่งเสริมบทบาทของนายจ้างและสนับสนุนลูกจ้างให้เข้าถึงกลไกการร้องทุกข์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

รวมทั้งผลักดันให้ภาคธุรกิจตระหนักในบทบาทของตนเองในการเคารพกฎหมายแรงงาน อันเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) รวมถึงมาตรการในการยกระดับการเข้าถึงการแก้ไขเยียวยาสำหรับแรงงานทุกสัญชาติรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมภาคธุรกิจในการยกระดับ แรงงานไทย และ แรงงานข้ามชาติ ให้ได้รับการดูตาม "หลักสิทธิมนุษยชน"

โดยมอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่ในการผลักดันสนับสนุนผู้ว่าจ้างไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ล่าม และพนักงานในบริษัท ที่ทำงานกับ แรงงานข้ามชาติ โดยตรงในการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิแรงงาน รวมถึงการทำความเข้าใจและการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมในการดำเนินงานทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายของแรงงานข้ามชาติเกือบ 4 ล้านคน ทั้งจากประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และเวียดนามซึ่งต่างช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยคู่มือสำหรับภาคธุรกิจวิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานภายใต้กฎหมายแรงงานไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับทราบข้อมูลพื้นฐานภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายแรงงาน

ทั้งนี้ จะส่งผลให้การรวมกันของแรงงานที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันโดยได้รับการคุ้มครอง มีสภาพการจ้าง และสภาพการทำงานที่ดี ได้รับการยอมรับและเคารพในสิทธิมนุษยชน มีขวัญกำลังใจในการทำงาน และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า นำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาให้องค์กรเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

โดยสถานประกอบกิจการภาคธุรกิจสามารถประสานรับข้อมูลได้ที่ https://publications.iom.int หรือ Facebook : IOM Thailand

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/9/2564

รมว.สั่งทำแผนจ้างแรงงานไทยวุฒิไม่เกิน ม.6 ทดแทนนำเข้าแรงงานลงทะเบียนกว่า 1.1 แสนคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการ บางประเภทกิจการชะลอการจ้างงาน หรือปิดกิจการไปจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังมีสถานประกอบการที่ยังคงประกอบกิจการได้ และมีความต้องการแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยเฉพาะในอุตสากรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋อง และเสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้ชะลอการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการศบค. จึงไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ในขณะนี้ และส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน

“นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณามาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อเนื่อง ปรับแผนงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชื่อว่าเรื่องสำคัญตอนนี้คือช่วยให้คนไทยมีงานทำ จึงมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทยที่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุไม่เกิน 35 ปี เพื่อทำงานในกิจการประเภทเกษตรและปศุสัตว์ กิจการต่อเนื่องการเกษตร กิจการก่อสร้าง และงานในไลน์ผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอย่างน้อยจะได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษา รวมทั้งค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยขยัน และสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทกำหนด

มอบหมายให้กรมการจัดหางานสำรวจความต้องการการจ้างงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศที่ยินดีจ้างแรงงานไทยทำงานทดแทนในส่วนที่ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ซึ่งผลสำรวจ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกว่า 4 แสนอัตรา

ในขณะที่มีแรงงานไทยขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน ผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ.doe.go.th วุฒิการศึกษา ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 112,759 คน หากสามารถบรรจุงานได้ทั้งหมดจะสามารถช่วยคนไทยจำนวนมากให้มีรายได้ และช่วยให้สถานประกอบการดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าตามข้อสั่งการท่านนายกรัฐมนตรี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในเรื่องส่งเสริมการจ้างงานแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว ได้มีข้อสั่งการให้จัดหางานทุกจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานกรุงเทพพื้นที่ 1-10 เร่งดำเนินการ ดังนี้

1.สำรวจ ความต้องการผู้ที่ลงทะเบียนหางานและยังต้องการทำงานแต่ละพื้นที่ให้เป็นปัจจุบัน ตามวุฒิการศึกษา ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เพื่อดำเนินการจัดหางานให้ตามความถนัด

2.สำนักงานจัดหางานจังหวัดเร่งประสานสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ประเภทกิจการที่แรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าวได้ เพื่อจัดทำคลิปวีดีโอตำแหน่งงาน (Company Profile) ประกอบด้วย สถานที่ตั้ง ลักษณะงานที่ต้องการจ้างงาน สวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้สมัครงาน

3.สำนักงานจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างแก่ผู้ขึ้นทะเบียนหางานและยังต้องการมีงานทำ จากเว็บไซต์ไทยมีงานทำ.doe.go.th รวมทั้งผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมครบถ้วนแล้ว แต่ยังหางานทำไม่ได้

4.จัดงานนัดพบแรงงานเฉพาะกิจ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เช่น จัดหางานรายบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ

มาให้บริการสัมภาษณ์งานทาง Online และบรรจุงานได้ทันที

5.อำนวยความสะดวกและประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ ระหว่างจังหวัดที่มีความต้องการจ้างงานแต่ไม่มีกำลังแรงงาน กับจังหวัดที่มีคนต้องการหางานทำ

จำนวนมากแต่มีตำแหน่งงานว่างไม่เพียงพอที่จะรับเข้าทำงาน

“สำหรับคนหางาน คนว่างงาน และทุกคนที่ต้องการมีงานทำ กรมการจัดหางานได้เตรียมช่องทางการให้บริการผ่านทางออนไลน์ (E – Services) โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ ไทยมีงานทำ.doe.go.th ซึ่งระบบจะจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้สมัครงานกับตำแหน่งงานว่างของสถานประกอบการ โดยแนะนำงานที่ตรงกับคุณสมบัติและความต้องการ ให้ผู้สมัครงานพิจารณา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” อธิบดี กกจ. กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/9/2564

กสร.แจงนายจ้างเลิกจ้าง เพราะมีครรภ์ ผิด กม.

นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวกรณีลูกจ้างหญิงร้องเรียนว่า นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี (สสค.นนทบุรี) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ว่าบริษัทเลิกจ้างเพราะเหตุมีการตั้งครรภ์ และลูกจ้างผู้ร้องมีความประสงค์เรียกร้องเงินตามกฎหมาย ได้แก่ ค่าจ้างจากการทำงาน ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

โดยสรพ.5 ได้ส่งคำร้องให้ สสค.นนทบุรี ดำเนินการเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการ โดยพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงในส่วนของลูกจ้างและรวบรวมหลักฐานเอกสารและจะเรียกนายจ้างมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไป หากปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์จริง ถือว่านายจ้างกระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามและไม่นำคดีขึ้นสู่ศาล ถือว่านายจ้างได้กระทำความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงมีครรภ์เป็นพิเศษ ได้แก่ การกำหนดลักษณะงานบางประเภทที่ห้ามมิให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลากหรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม หรืองานที่ทำในเรือ เป็นต้น รวมไปถึงการกำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิง ซึ่งมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น.เนื่องจากหญิงมีครรภ์ต้องได้รับการพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ และต้องไม่ให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชีนายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่กระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างหญิงมีครรภ์โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 17/9/2564

เผยจ่ายเยียวยาผู้ประกันตนจากล็อกดาวน์ไปแล้วกว่า 98%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนประกันสังคมสัญชาติไทย ตามมาตรา 33, 39 และ 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการมาตราการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ว่า จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนไปแล้วกว่า 10 ล้านคน ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ซึ่งดำเนินการจ่ายผ่านแล้วกว่าร้อยละ 98

ส่วนผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับสิทธิให้รีบผูกพร้อมเพย์ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. 2564 นี้ สำหรับกรณีที่ระบบขึ้นว่าไม่รับเงินเยียวยานั้น ให้ผู้ประกันตนยื่นแบบทบทวนสิทธิได้ถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 นี้ โดยให้ใช้วิธีส่งเอกสารมาทางไปรษณีย์เพื่อลดการเดินทาง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 17/9/2564

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท