15 ปีรัฐประหาร 49 (8) สมบัติ บุญงามอนงค์: เวลาที่ต้องพิสูจน์จุดยืนทางการเมือง เอ็นจีโออยู่ที่ไหน?

เอ็นจีโอเคยเป็นกำลังหลักในการทำงานกับคนรากหญ้า ผลักดันข้อเรียกร้อง และเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เมื่อแกนนำเอ็นจีโอเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ในปี 2549 ซ้ำยังสนับสนุนรัฐประหาร มันได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายด้านความน่าเชื่อถือ เอ็นจีโอกำลังจะตาย

  • เอ็นจีโอสายคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยเสียหายทั้งขบวนจากการที่แกนหลักเข้าไปร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและสนับสนุนการรัฐประหาร
  • ความไม่พอใจทักษิณในแวดวงเอ็นจีโอทำให้ต้องโค่นทักษิณลงโดยไม่เลือกวิธีการ ทำให้ประชาธิปไตยถูกทำลาย บ่มเพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้แข็งแกร่ง ยกบทบาทของทหาร และรัฐราชการกลับขึ้นมาอีกครั้ง
  • เอ็นจีโอหวนคืนดีกับสถาบันกษัตริย์และใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แม้ว่าเอ็นจีโอรุ่นใหญ่หลายคนจะเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาก็ตาม
  • สมบัติให้ความเห็นว่าเอ็นจีโอกำลังจะตายด้วย 3 สาเหตุคือไม่มีทุน, เกาะอยู่กับทุนของ สสส. และไม่ฟังชั่นต่อสังคม

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง มักจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ประชดประชัน ท้าทายอำนาจ และสนุก เขาเป็นคนแรกๆ ในหมู่เอ็นจีโอที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร 2549 โดยไม่มีเพื่อนๆ พี่ๆ ในแวดวงโดยเฉพาะสายสิทธิ สายประชาธิปไตยออกมาร่วมด้วย

“ผมยืนเหวอเลยนะ” เขาบอก

เป็นจุดเริ่มต้นของอาการเสื่อมศรัทธาต่อเอ็นจีโอที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพลังผลักดันทางการเมือง สมบัติชวนย้อนกลับเมื่อ 15 ปีก่อนในบรรยากาศของการขับเคี่ยวทางการเมืองเพื่อโค่นทักษิณโดยไม่เลือกวิธีการ เป็นต้นทุนที่แพงมากๆ สำหรับสังคมไทย

เอ็นจีโอรุ่นใหญ่ของวงการหลายต่อหลายคนกลายเป็นบุคคลล้มละลายด้านความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องพิสูจน์จุดยืนทางการเมืองที่ชอบพร่ำพูดกลับเลือกนิ่งเฉย เอ็นจีโออยู่ในภาวะค่อยๆ ตายลงอย่างช้าในสายตาของสมบัติ

แต่พิษร้ายของเผด็จการได้ปลุกคนจำนวนมากให้ตาสว่าง

ไม่เชื่อว่าจะเกิดรัฐประหาร

สมบัติแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอนายกฯ มาตรา 7 ผ่านบอร์ดพันทิปซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น แต่เขาเองก็ยอมรับว่าเกือบจะไปร่วมกับพันธมิตรเนื่องจากตอนนั้นนักกิจกรรมต่างก็เข้าร่วม ครั้นเมื่อสนธิ ลิ้มทองกุล เรียกทหารให้ออกมาทำรัฐประหารเขาจึงไม่เข้าร่วม

“ตอนนั้นใช้วิทยุออนไลน์ ก็ฟังแล้วพบว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรในเวลานั้น ช่วงแรกมีการตรวจสอบรู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง บรรยากาศตอนนั้นรัฐบาลทักษิณก็มีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ เราก็คิดว่าการที่มีคนทำหน้าที่ฝ่ายค้านคอยทักท้วง เราก็มีโอกาสได้รับฟัง ส่วนรัฐบาลก็ชี้แจงไป แต่พอไปมีกวักมือเรียกทหาร พอประชาธิปัตย์ไม่ยอมลงเลือกตั้ง ผมก็โกรธมาก แล้วก็มาถึงการยึดอำนาจปุ๊บ เราก็ขาดกัน ทำให้เราคิดว่ากระบวนการที่เคลื่อนมานั้นมันมีเบื้องหลัง ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อการตรวจสอบและคนกลุ่มนี้สามารถใช้ทุกวิถีทางเพราะเมื่อมีการยุบสภาแล้วก็ไม่ยอมเลิก ซึ่งผมคิดว่ามันเกินไป”

เอาเข้าจริง สมบัติไม่เชื่อเลยว่าจะเกิดการรัฐประหาร แม้ว่าสนธิจะเรียกทหารออกมา มีการบอยคอตการเลือกตั้ง

“มันรู้สึกผิดปกติอย่างมากๆ สัญญาณมันผิดปกติมากๆ เพราะมันเข้าสู่ทางตันใช่ไหม ก็แนวนี้แหละ แล้วมันก็ออกเป็นการยึดอำนาจ นี่เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันชัดๆ ทั้งอภิสิทธิ์ ประชาธิปัตย์ สนธิ ลิ้มทองกุล พวกนี้มันรู้กันหมด”

สำหรับสมบัติ การกระทำของทักษิณหลายอย่างคงเรียกว่าประชาธิปไตยได้ไม่เต็มปาก แต่การโค่นทักษิณด้วยการรัฐประหารไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่เขายอมรับไม่ได้

ต้นทุนการโค่นทักษิณที่แพงเกินไปของเอ็นจีโอ

สมบัติเล่าถึงคนในแวดวงเอ็นจีโอว่าเป็นธรรมชาติของเอ็นจีโอที่ต้องคอยตรวจสอบรัฐบาลซึ่งเขาไม่ติดใจ ยังถือว่ายอมรับได้ เส้นที่เลยออกไปอย่างมาตรา 7 และการรัฐประหารถือว่ายอมรับไม่ได้แล้ว ทว่า เอ็นจีโอสายสิทธิและประชาธิปไตยกลับยังสนับสนุน

“เช่น พวกสาย ครป. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย) ซึ่งเสียหายทั้งขบวน ครป. เลย ตั้งแต่สุริยะใส กตะศิลา พิภพ ธงไชย ไปหมดเลย เพราะว่าเขาเป็นตัวละครหนึ่งที่ไปค้ำยัน ไปสนับสนุนการรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตย ทำให้คนพวกนี้ไม่สามารถกลับมาเส้นทางเดิมได้ ไม่มีใครให้ทุนแก่พวก ครป. อีกแล้ว ไม่มีความชอบธรรมแล้ว ซึ่งน่าเสียดายมาก

“ตอนกำเนิด ครป. มันกำเนิดมากับการต่อสู้ในช่วงปี 35 แล้วก็พวกพิภพ สุริยะใส พวกนี้ก็สูญเสียพื้นที่ไปมากเลย คือมันไม่น่าเชื่อเลย ทั้งที่ในหมู่พวกเราก่อนเหตุการณ์นั้น ครป. อยู่ในปีกประชาธิปไตย เรื่องอำนาจของประชาชน มันเหมือนถูกทรยศเลย ผมเคยไปตำหนิพิภพเลยนะ งานเสวนาหลังการรัฐประหารที่เขาไปเป็นสปีคเกอร์อยู่บนเวที คนประชุมหลายร้อย และผมตั้งคำถาม ยกมือจับไมค์ ผมวิพากษ์เลย ผมตั้งคำถามกับพี่เปี๊ยกเลยเกี่ยวกับการยึดอำนาจ”

ขณะเดียวกันความนิยมในตัวทักษิณอันเนื่องจากนโยบายต่างๆ ก็ได้ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เอ็นจีโอจัดตั้งไว้ภายใต้แนวคิดชุมชนนิยมแทบล่มสลาย สมบัติเล่าว่าผู้ใหญ่ในแวดวงถึงกับเอ่ยปากว่าแนวทางของรัฐบาลทักษิณทำลายแนวทางภาคประชาสังคม ทำลายความพยายาม 20-30 ปีของเอ็นจีโอ ทักษิณจึงกลายเป็นภัยของเอ็นจีโอสายชุมชนนิยม

สมบัติอธิบายเสริมประเด็นนี้ว่าด้านเอ็นจีโอเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาตนเองเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้พรรคการเมืองนำแนวคิดไปดำเนินนโยบายได้จึงต้องย้อนกลับมาหาชาวบ้านแล้วสร้างแนวคิดชุมชนนิยมขึ้นเพื่อทอนกระแสโลกาภิวัตน์

“แต่ว่าในช่วงเทคโนโลยีการสื่อสารมันมาถึง โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในอัตราเร่งที่สูงมาก สิ่งนี้มันทำให้แนวคิดแบบชุมชนนิยมมันดูลอยๆ เพ้อฝัน แล้วลองคิดดูสิ การมาของทักษิณ การใช้นโยบายใช้เงินในการเคลื่อน เงินมันเป็นพลัง มันเลยทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จระดับหนึ่ง คนที่มองเห็นก็กระโดดใส่ วิ่งตามกันไป ว่ากันตามตรงแล้วขบวนของเอ็นจีโอก็แทบจะพังพินาศเลย ก็เลยเป็นอารมณ์แบบความแค้นสุมอกใช่ไหม ต้องไปจัดการเพราะมีนักวิชาการที่เขาศึกษาการเมืองภาคประชาชน เขาบอกเอ็นจีโอไม่สนใจวิธีการแล้ว ขอเป้าหมายอย่าเดียว คือล้มทักษิณ ณ เวลานั้น”

ถ้าบอกว่าเอ็นจีโอและนักกิจกรรมทางการเมืองตอนนั้น ทั้งโกรธ หน้ามืด และถูกหลอกใช้เป็นตัวละคร สมบัติก็เห็นว่าไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก ต้นทุนในการโค่นทักษิณแพงเกินไป เพราะมันได้โค่นระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมประชาธิปไตย บ่มเพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้แข็งแกร่ง ยกบทบาทของทหาร และรัฐราชการขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการด้อยค่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน

การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารปี 49 ในช่วงแรก ที่สนามหลวง

เมื่อศรัทธาต่อเอ็นจีโอหดหาย

สมบัติเล่าเหตุการณ์ต่อว่า คืนวันที่ 19 กันยายนเขานัดประชุมกับเพื่อนๆ ผ่านโปรแกรม MSN ในวันรุ่งขึ้นเพื่อถอดบทเรียนและประเมินสถานการณ์ มีคนเข้าร่วมประมาณ 80 คน มีเพียงประมาณ 40 คนที่พร้อมลงชื่อในแถลงการณ์ต่อต้านการรัฐประหารภายใต้เครือข่ายปฏิญญาต่อต้านการรัฐประหารและทำเว็บบอร์ด 19 Sep

“หลังจากนั้น 4 วันก็นัดกันแอคชั่นที่บันไดสยามเซนเตอร์ ใส่เสื้อสีดำไปประท้วงกัน น่าจะเป็นแอคชั่นแรกๆ ออกมาประมาณสัก 50-60 คน ก็เคลื่อนไหวจนตั้งกลุ่ม 19 กันยาพลเมืองภิวัตน์ แล้วก็ไปรวมกับ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เหตุผลที่ร่วมเพราะว่าจัดหลายเวทีแล้วมันเปลืองทรัพยากร มันเหนื่อย มวลชนก็กลุ่มเดียวกัน แต่ว่ากลุ่มพีทีวีของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อมีศักยภาพสูงกว่า ดังนั้น เวลาเขาขึ้นนำเขาก็มีศักยภาพสูงแล้วก็ทรัพยากรเขาทั้งนั้น มันก็เลยทำให้การนำค่อนข้างจะเด่นชัด ปีกที่มีความเชื่อมโยงทางการเมืองก็มีบทบาทมาก

“ผมก็แทบจะไม่มีบทบาทอะไร อาจจะได้มีโอกาสเข้าฟังพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ปรึกษาหารือบ้าง มีโอกาสขึ้นไปพูดบ้างเล็กๆ น้อยๆ จนแกนนำรุ่นที่ 1 ถูกจับตอนบุกบ้านป๋าเปรม ผมจึงค่อยมามีบทบาทจริงๆ ค่อนข้างเป็นทางการ เป็นแกนนำรุ่นที่ 2 พอเป็นแกนนำรุ่นที่ 2 ผมก็เริ่มเสนอเรื่องไม่รับการลงประชามติ เริ่มเสนอการใช้สีแดงในการรณรงค์”

อย่างไรก็ตาม การออกมาต้านรัฐประหารครั้งนั้นกลับไม่มีพลังเท่าที่ควร สมบัติเล่าว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารมีน้อยกว่าที่เขาคิดมาก ภาคประชาสังคมที่ได้รับการจัดตั้งและเอ็นจีโอที่น่าจะเป็นกำลังหลักเสียขบวนกลายเป็นฝ่ายหนุนรัฐประหาร แม้แต่เอ็นจีโอสายสิทธิและประชาธิปไตยก็ยังเงียบกริบ

“พอไม่ออกปุ๊ปมันไม่มีพลัง ตอนแรกผมกะว่าพวกนี้ออกแน่นอนเพราะว่าปีสามสี่สามห้า ถอดบทเรียนว่าไม่เอาทหารเหมือนกัน นับหัวได้เลยไม่มีใครออก ผมยืนเหวอเลยนะ ไม่คิดว่าขบวนที่ผมอยู่ร่วมกันในหมู่พวกเอ็นจีโอ พวก กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) พวกที่ประชุมกันเรื่องนี้เอาเป็นเอาตาย ทฤษฎีแน่นเปรี๊ยะมาข่มกันเรื่องทฤษฎี แต่พอภาคปฏิบัติพวกนี้หายหมด นี่เป็นเรื่องที่ผมเฟลกับขบวนเอ็นจีโอพอสมควร ช่วงหลังๆ ผมไม่ยุ่งกับพวกเอ็นจีโอเลย ทำเพราะรับทุนมาทำโครงการแล้วต้องพูดหรือเปล่า แต่พอเวลาที่ต้องพิสูจน์ความเชื่อ ศรัทธา จุดยืนทางการเมือง ความคิดของตัวเอง พวกคุณอยู่ที่ไหน ศรัทธาที่ผมเคยมีอยู่ในพวกเอ็นจีโอ มันด้อยลงไปมาก”

หวนคืนดีกับสถาบันกษัตริย์

สมบัติยังเล่าถึงการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในเวลานั้น มันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก เขาใช้คำนี้ เพราะเอ็นจีโอหลักๆ ฝ่ายพันธมิตรฯ เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เคยพูดว่าพวกกระทิงแดง นวพล อ้างสถาบันเพื่อเข่นฆ่านักศึกษา เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม

“เราไม่เชื่อว่าคนเดียวกันจะใช้สิ่งนั้น เป็นเรื่องน่าตกใจ จริง ๆ หลังเวทีมันก็มีการเถียงกันนะ มีบทสนทนาของพวกคนรุ่นใหม่ในเวลานั้นกับพวกแกนนำที่เป็นเอ็นจีโอเถียงกันว่าทำไมยกประเด็นนี้มาใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง หลังเวทีก็พูดว่ามันเป็นยุทธวิธี ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่บนเวทีประกาศในฐานะยุทธศาสตร์ว่าปกป้องสถาบันฯ แต่หลังเวทีอธิบายสิ่งนี้ว่าเป็นยุทธวิธี

“เอ็นจีโอส่วนหนึ่งก็สนับสนุนเพราะไม่ได้รู้สึกขัดแย้งอะไรกับรัชกาลที่ 9 เขารู้สึกว่าสถาบันไม่ได้เป็นภัยหรือมีปัญหาอะไร ปัญหาใหญ่กว่าสถาบันคือปัญหาของฝ่ายการเมือง ดังนั้นการที่เราหยิบประเด็นนี้เพื่อมาจัดการกับฝ่ายการเมืองจึงมีความชอบธรรม หลังปี 57 อาจจะเลยไป 58 หลังการเปลี่ยนแปลงรัชกาล ท่วงทำนองนี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าในหมู่เอ็นจีโอก็เปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ผมว่าไม่มีใครกล้าโหนสถาบันแล้ว การโหนสถาบันเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามเป็นอะไรที่น่าเกลียดมาก แล้วความคิดความเชื่อที่มีต่อรัชกาลปัจจุบัน ผมไม่แน่ใจว่าจะเหมือนเดิมได้หรือเปล่า น่าจะไม่เหมือนเดิม”

เอ็นจีโอกำลังตาย

เมื่อโลกเปลี่ยนไปในอัตราเร่งบวกกับเหตุการณ์ในอดีต สมบัติไม่ได้คาดหวังอะไรกับเอ็นจีโอนัก เขาอธิบายว่าเอ็นจีโอรุ่นเก่าได้เปรียบด้านองค์ความรู้ที่สั่งสมมา ขณะที่วิธีคิด วิธีการทำงาน การบริหารจัดการในโลกยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม มันมีประสิทธิภาพมากกว่าหลายขุมที่เข้ามาทดแทน

“ประกอบกับมีเรื่องเหตุการณ์ทางการเมือง มันหายยกล็อตออกไปเลยนะ เอ็นจีโอแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย หมายความว่าแม้ว่าจะมีองค์กรหรือบุคคลนั้นๆ อยู่ มันไม่เป็นที่รับรู้ เป็นอะไรที่ไม่ฟังชั่นเหมือนในอดีตที่บทบาทของเอ็นจีโออย่างน้อยที่สุดมันเชื่อมโยงกับคนชั้นกลาง การรับรู้หรือฐานรากที่ติดกับพื้น ติดกับมวลชนข้างล่าง ไอ้นี่แม่งลอยๆ ยังไงไม่รู้ นอกจากลอย มันยังเหวี่ยงออกนอกรัศมีสุริยะจักรวาล ราคาของมันลดน้อยลงแล้ว แล้วมันรอเจเนอเรชั่นใหม่ที่เติบโต เบิกบานขึ้นมาทดแทน ผมไม่หวังแล้ว ผมก็โตพอ ผมไม่หวังอะไรกับเพื่อนๆ พี่ๆ แล้ว ผมไม่มีอาการพวกนี้มาหลายปีแล้ว”

ภาคประชาชนเองก็เติบโตขึ้นตามลำดับ เป็นกลไกทางสังคมที่สามารถจัดการตนเองได้โดยไม่ต้องอาศัยเอ็นจีโอ สมบัติจึงมองว่าที่ทางของเอ็นีโอน่าจะหดตัวลงเรื่อยๆ หากไม่พัฒนาบทบาทของตัวเองไปจุดที่ถูกต้อง

“ทำสิ่งที่มันมีช่องว่างอยู่ คือความเป็นมืออาชีพ สิ่งที่มันมีช่องว่างคือกลไกที่มีอยู่มันทำไม่ได้ เราก็ต้องเอาตัวเองไปวางตรงนั้น ถ้าชาวบ้านเขาทำเองได้ก็จบ หรืองานประเภทสังคมสงเคราะห์ งานนิดๆ หน่อยๆ แล้ววันหนึ่งงานพวก CSR มันโตขึ้นมันก็ทำเองได้ งานวิชาการทั้งหลายพวกมหาวิทยาลัยก็ทำ คำถามคือเอ็นจีโอจะอยู่ตรงไหน ในแต่ละองค์กร ในแต่ละหน้างาน ก็อาจจะไปอยู่งานสังคมสงเคราะห์ ยังโชคดีว่าวัดไทยไม่ค่อยทำงานเหมือนโบสถ์พวกคริสตจักรในต่างประเทศ งานสังคมสงเคราะห์ก็เหลือให้เอ็นจีโอทำ”

กล่าวง่ายๆ คือเอ็นจีโอจะตายหากไม่สามารถหาที่ทางของตนได้ สมบัติขยายความว่า

“ตายด้วยหลายเหตุผลนะ เอ็นจีโอเมืองไทยตายเพราะหนึ่งคือไม่มีทุน แหล่งทุนต่างประเทศไม่เข้า อันที่สองคือคุณอยู่ก็เพราะคุณไปเกาะกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) อันที่สามผมซีเรียสมากๆ คือฟังชั่นของเอ็นจีโอในสังคม มันไม่ฟังชั่น มันมีการเติบโตในด้านอื่นแล้วมันไม่ทำหน้าที่อย่างที่เอ็นจีโอเคยทำได้ คำถามคือแล้วมันจะมีเอ็นจีโอทำไม ถ้าคนอื่นมันทำได้”

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 

ความล้มเหลวของเผด็จการปลุกคนให้ตื่น

สมบัติแสดงทัศนะว่ามวลชนที่ออกมาสู้เรื่องประชาธิปไตยมี 2 หมวดคือมวลชนที่ออกมาสู้เรื่องประชาธิปไตยด้วยตัวเองกับมวลชนพรรคการเมือง โดยมวลชนประเภทแรกมีจำนวนน้อยกว่าประเภทหลัง ขบวนการภาคประชาชนจึงไม่แกร่งพอ

ขณะที่ฝ่ายทำรัฐประหาร สมบัติใช้คำว่ามีความเชี่ยวชาญ มีการเรียนรู้ และรอคอยจังหวะเงื่อนไข

“การรัฐประหารทั้งสองครั้งมันเป็นรัฐประหารที่มีใบอนุญาต มีเงื่อนไขว่ามันจะต้องมีมวลชนออกมารองรับ เมื่อก่อนการรัฐประหารสมัยก่อนไม่มีมวลชนรองรับ มึงขัดแย้งในกองทัพอะไรกันก็ออกมายึดอำนาจกัน แต่ตอนนี้ต้องอ้างว่าเป็นเสียงสวรรค์จากประชาชน แล้วมันจะต้องมีข้ออ้างที่มีน้ำหนัก จนทำให้เมื่อทำแล้วประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกเห็นด้วยหรือไม่คัดค้าน ให้โอกาส และประชาชนก็ยังอ่อนแอที่จะต่อต้าน ดังนั้นการรัฐประหารจึงมีความสำเร็จแล้วก็มีความชอบธรรมทางการเมืองระดับหนึ่ง เพื่อจะอธิบายทั้งคนในสังคมไทยและชาวโลก”

ใช่ว่าจะหมดหวัง ความขัดแย้งทางการเมืองอันยืดเยื้อ นำไปสู่การเกิดขึ้นของหลากหลายกลุ่มที่จัดชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เป็นปฏิกิริยาต่อต้านเผด็จการ สมบัติกล่าว ก่อเกิดขบวนการรวมถึงรูปจิตสำนึกใหม่ที่เติบโตขึ้นมาตามลำดับ แล้วขยายไปยังกลุ่มคนต่างๆ ลงไปถึงคนรุ่นใหม่ ไปถึงเด็ก อาจถือว่าเป็นคุณูปการหนึ่งที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำให้เกิดความตื่นตัวและความเข้าใจถึงพิษหรือความล้มเหลวของการปกครองในระบอบเผด็จการและปลุกคนกลุ่มนี้ออกมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท