NGO หวั่นอินโดนีเซียเดินหน้าพัฒนา “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” แต่ ปชช.คือผู้ได้รับผลกระทบ

องค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อความยุติธรรมประมง เผยอินโดนีเซียใส่เกียร์เดินหน้านโยบายพัฒนาภาคพื้นสมุทร หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน พัฒนาเกาะเทียม 17 แห่ง และผลักดันการท่องเที่ยว “บาหลี 10 แห่งใหม่” แต่การพัฒนานี้กลับยิ่งไล่ที่ชุมชนประมงท้องถิ่น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ประสบปัญหาจากแนวทางพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว”

25 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งว่า วานนี้ (24 ก.ย.64) ซูซาน โรมิกา (Susan H. Romica) เลขาธิการองค์กรพันธมิตรประชาชนเพื่อความยุติธรรมประมง (The People's Coalition for Fisheries Justice) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “KIARA” องค์กรอิสระที่ติดตามประเด็นการพัฒนาทะเลและชายฝั่ง อินโดนีเซีย เผยในวันแรกของงานเสวนาออนไลน์ระดับภูมิภาค หัวข้อ 'ประเด็นโลกสู่อาเซียน' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2564 ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเดินหน้านโยบายพัฒนาชายฝั่งและมหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง ตามที่ประธานาธิบดีโจโกวี วิโดโด ประกาศว่าจะผลักดันให้ “อินโดนีเซียเป็นมหาอำนาจทางทะเล”

“เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) กลายเป็นหัวใจและยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ของประเทศหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2555 และสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ”

เธอเผยว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” คือ แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งการประมง การขนส่งทางทะเล แหล่งน้ำมัน และการท่องเที่ยว ประชุมเวทีโลก RIO+20 ได้เสนอกรอบพัฒนานี้ในปี 2555

ชายฝั่งและทะเลเป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับอินโดนีเซีย ประเทศที่มีมากกว่า 17,500 เกาะ และพื้นที่ชายฝั่งกว่า 108,000 กิโลเมตร องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เผยว่า อินโดนีเซีย ทำประมงสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก (7%) จากจีนและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การท่องเที่ยวทะเลยังสร้างรายได้กว่า 21 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับ GDP ในปี 2562 

อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” อาจจะไม่ได้ยั่งยืนอย่างที่กล่าวอ้าง องค์กร KIARA ได้ศึกษาและค้นพบว่า การพัฒนาที่เข้าข่ายกรอบคิดนี้ของรัฐบาลอินโดมักจะมีลักษณะเป็นการพัฒนาพื้นที่ เช่น โครงการสร้างเกาะเทียม 17 แห่งในอ่าวจาการ์ต้า ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2554 เพื่อขยายพื้นที่อาศัยในเมืองหลวง ที่เผชิญปัญหาน้ำเค็มรุกรานร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โครงการดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากชุมชนท้องถิ่นและองค์กรอนุรักษ์มาตลอดหลายปี เนื่องจากต้องไล่รื้อพื้นที่ชุมชนประมงริมฝั่ง และเปิดให้เอกชนเปลี่ยนพื้นที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง เช่น คอนโดมิเนียม นอกจากนี้ ยังต้องขนทรายจากพื้นที่อื่นมาถมสร้างเกาะ

ด้านการท่องเที่ยวทางทะเล อินโดนีเซียยังประกาศแผน “บาหลีใหม่ 10 แห่ง” (Ten New Bali Project) ตอนปี 2559 พัฒนาพื้นที่หลายเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลกเหมือนบาหลี ซึ่งนำไปสู่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า รวมถึงโรงงานไฟฟ้า 

“การปล้นพื้นที่ชายฝั่งถูกซ่อนอยู่ในคำว่า ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ซึ่งอ้างว่าเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องตั้งคำถามว่าการพัฒนานี้ทำไปเพราะอะไร และทำเพื่อใคร” ซูซาน กล่าว

“ถึงแม้จะติดป้ายไว้ว่า ‘ยั่งยืน’ แต่เมื่อปฏิบัติจริง ผู้คนจำนวนมากกลับได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่”

ไม่เพียงเศรษฐกิจสีน้ำเงินเท่านั้น แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ก็เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตา ลารี ลอมาน (Larry Lohmann) จาก The Corner House องค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม สหราชอาณาจักร เผยว่ามีรายงานศึกษาว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว กลับสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักกว่าเดิม โดยแนวคิดนี้มีต้นกำเนิดเมื่อ 50 ปีก่อนที่ธรรมชาติทรุดโทรมลงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกิดกระแสเรียกร้องให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทว่าแนวคิดแบบนี้ยังไม่หลุดพ้นลัทธิอาณานิคม (Colonialism) 

ลารี ลอมาน (Larry Lohmann) จาก The Corner House

เขาเผยว่า กรอบและกลไกการพัฒนาสากลต่างๆ ที่เวทีโลกอย่างธนาคารโลกและสหประชาชาติกำหนดออกมา และรัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาปรับใช้ต่อ ล้วนได้รับอิทธิพลจากประเทศพัฒนาแล้ว และเอื้อให้กลุ่มทุนอาศัยเป็นช่องทางทำลายสิ่งแวดล้อมต่อ เช่น ประเทศไหนผลิตก๊าซเรือนกระจกมาก ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเลิกทำ แต่แค่ทำตามกลไกคาร์บอนเครดิต ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมแทนได้

“ลองนึกภาพ ผมชอบทำบ้านรก และไม่อยากเปลี่ยนนิสัยนี้ เลยให้ภรรยาหรือแม่บ้านตามเก็บกวาดให้ ซึ่งเป็นงานฟรีหรือให้ค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ก็เป็นเหมือนกัน ผู้ที่ทำลายธรรมชาติใช้ช่องทางกลไกสากลต่างๆ หาคนคอยบริการเก็บกวาดผลกระทบที่ตัวเองสร้างไว้ และเมื่อเกิดปัญหาตามมาก็ปัดความรับผิดชอบให้เป็นของคนที่คอยเก็บกวาดผลกระทบแทน”

“แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่แค่ตบตาชนชั้นกลางส่วนหนึ่งได้เท่านั้น”

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

เสวนา “จากอาเซียนสู่โลก”

KIARA

The Corner House
 

หมายเหตุ ทั้งนี้ กิจกรรมเวทีเสวนาออนไลน์ ‘ประเด็นโลกสู่อาเซียน’ เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2564 หัวข้อ “ออกแบบอาเซียนใหม่ เสียงประชาชนในโลกวิกฤต” ซีรีส์เสวนาและงานฉายภาพยนตร์ประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ย.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท