COVID-19: 25 ก.ย. 64 ไทยติดเชื้อเพิ่ม 11,975 ราย เสียชีวิต 127 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทยผู้ป่วยใหม่ 11,975 ราย ป่วยสะสม 1,549,285 ราย รักษาหาย 14,700 ราย หายสะสม 1,408,602 ราย เสียชีวิต 127 ราย เสียชีวิตสะสม 16,143 ราย - สธ.เผยวันเดียว (24 ก.ย.) ฉีดวัคซีน 1.3 ล้านโดส เร่งฉีดครอบคลุมทุกกลุ่ม - 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เปิดผลข้างเคียงฉีด 'ซิโนฟาร์ม' อาการรุนแรง 12 เสียชีวิต 13 คน

25 ก.ย. 2564 ศบค. รายงานสถานการณ์ในไทยผู้ป่วยใหม่ 11,975 ราย ป่วยสะสม 1,549,285 ราย รักษาหาย 14,700 ราย หายสะสม 1,408,602 ราย เสียชีวิต 127 ราย เสียชีวิตสะสม 16,143 ราย 

สธ.เผยวันเดียวฉีดวัคซีน 1.3 ล้านโดส เร่งฉีดครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศตั้งเป้า 1 ล้านโดส เนื่องในวันมหิดล ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญทางการแพทย์

โดยสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้กว่า 1.3 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็ม 1 จำนวน 8.41 แสนโดส เข็ม 2 จำนวน 3.09 แสนโดส และเริ่มฉีดบูสเตอร์โดส หรือเข็ม 3 จำนวน 1.49 แสนโดส ส่งผลให้ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนสะสมทั่วประเทศกว่า 50 ล้านโดส

รมว.สาธารณสุข ยังเชิญชวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค., เม.ย., พ.ค. และ มิ.ย.ที่ผ่านมา ลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค พร้อมขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีวัคซีนอย่างเพียงพอ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ โดยจนถึงเดือน ธ.ค.นี้จะมีวัคซีนประมาณ 125 ล้านโดส และตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มประชากร

“วัคซีนจะทยอยเข้ามา มีจำนวนมากพอที่จะเร่งฉีดให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ที่รัฐบาลจัดซื้อมาทั้งหมด 30 ล้านโดส จะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย.จนถึงสิ้นปี”

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า วัคซีนไฟเซอร์จะฉีดให้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12-18 ปี จึงขอให้ผู้ปกครองพิจารณาให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีน เพื่อให้สามารถกลับไปเรียนหนังสือได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนก็จะสามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมฉีดให้ทันทีที่วัคซีนเข้ามา

“เราพร้อมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่จะมาถึงประเทศไทยให้กับลูกๆ หลานๆ โดยทันที เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด”

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนจนถึงสิ้นปี 2564 ว่า ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จะมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในเดือน ก.ย.มีการจัดหาวัคซีนทั้งหมด 16 ล้านโดส และมีการจัดหาวัคซีนทางเลือกจากหน่วยงานอื่นๆ ที่นำเข้ามาอีกประมาณ 10 ล้านโดส

ส่วนในเดือน ต.ค.นี้จะมีวัคซีนเข้ามาอีกจำนวนมาก ทั้งซิโนแวคอีกอย่างน้อย 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส รวมยอดที่รัฐบาลจัดหาได้ 24 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีซิโนฟาร์มอีก 6 ล้านโดส

ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) หลังมีนโยบายปรับการฉีดวัคซีนแบบไขว้ จะทำให้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แบบก้าวกระโดด

โดยสิ้นเดือน ต.ค.จะมีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุม 41 ล้านคน หรือคิดเป็น 58% ของประชากร ส่วนในเดือน พ.ย.จะฉีดให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติ ครอบคลุม 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 71% ของประชากร และในเดือน ธ.ค.จะฉีดให้ประชาชนครอบคลุม 60 ล้านคน หรือคิดเป็น 85% ของประชากร

สำหรับการฉีดเข็ม 2 เดือน ต.ค.จะฉีดให้ประชาชน 30 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากร, เดือน พ.ย. 42 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากร และในเดือน ธ.ค. 52 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของประชากร

'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เปิดผลข้างเคียงฉีด 'ซิโนฟาร์ม' อาการรุนแรง 12 เสียชีวิต 13 คน

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2564 เฟซบุ๊ก "ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" รายงานผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ผู้รับวัคซีนจำนวน 8,208,097 โดส

ผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 5,160,920 คน พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ ดังนี้

day 0 (ขณะสังเกตอาการ) 0.49% = 25,246 คน
day 1 (หลังฉีดวัคซีน 1 วัน) 0.60% = 31,096 คน
day 7 (หลังฉีดวัคซีน 7 วัน) 0.17% = 8,973 คน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ปวดศีรษะ 0.48% ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 0.37% เหนื่อย เพลีย 0.34% ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด 0.33% และอาการไข้ 0.32%

สำหรับผู้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 3,047,177 คน พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ ดังนี้

day 0 (ขณะสังเกตอาการ) 0.06 % = 1,856 คน
day 1 (หลังฉีดวัคซีน 1 วัน) 0.20% = 6,029 คน
day 7 (หลังฉีดวัคซีน 7 วัน) 0.11% = 3,393 คน

อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ปวดศีรษะ 0.17% ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด 0.15% ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 0.14% เหนื่อย เพลีย 0.12% และอาการไข้ 0.12% ทั้งนี้สัดส่วนของผู้รายงานอาการข้างเคียงต่อจำนวนเข็มที่ฉีด

อาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 12 คน เสียชีวิตสะสม 13 คน
นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยังได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตสะสม 13 คน พบว่า เสียชีวิตจากติดเชื้อโควิด 2 คน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 2 คน หัวใจล้มเหลว 2 คน จากโรคประจำตัว 4 คน จาก HIV ที่ไม่ได้รับการรักษา 1 คน หัวใจเต้นผิดจังหวะ 1 คน และเส้นเลือดสมองแตก 1 คน

สำหรับรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 12 คน สาเหตุจากมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบจากโรคประจำตัว 4 คน ภาวะเส้นเลือดสมองแตก 4 คน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 1 คน และภาวะแพ้วัคซีนรุนแรง 3 คน

สำหรับข้อมูลดังกล่าว เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่าเป็นข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ย.2564

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท