Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

มิตรสหายท่านหนึ่งคอมเมนท์ในเฟสบุ๊คผมตามข้อความข้างล่างนี้ (ที่มา https://www.facebook.com/photo/?fbid=4380161142077191&set=a.969393776487295

ผมเข้าใจว่ามุมมองหรือโลกทัศน์แบบศาสนา (religious worldview) คือ “มุมมองจากบนลงล่าง” ที่เน้นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม บนความเชื่อที่ว่ามีพระเจ้าผู้ทรงอำนาจสัมบูรณ์สร้างมนุษย์และโลก พร้อมกับวางแนวทางดำเนินชีวิต เป้าหมายชีวิต และระเบียบทางสังคมการเมืองไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว คนดีและสังคมที่ดีก็คือคนและสังคมที่เดินตามแนวทางที่พระเจ้าวางไว้ให้ คนไม่ดีและสังคมที่ไม่ดีก็คือคนและสังคมที่ไม่ศรัทธา ไม่เดินตามแนวทางของพระองค์

แต่แนวทางชีวิตและระเบียบสังคมที่พระเจ้าวางไว้ให้ตามระบุในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ ก็ย่อมถูกนำมาใช้กำกับควบคุมชีวิตของบุคคลและสังคมโดยมนุษย์ คือ ศาสดา, สาวก, กลุ่มผู้นำองค์กรศาสนา, ศาสนจักร, นักบวช และกษัตริย์ หรือ “รัฐศาสนา” ที่ใช้อำนาจในนามพระเจ้า (และธรรมะ) ซึ่งล้วนแต่เป็นอำนาจเผด็จการในระบบชนชั้น

เมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ที่มุมมองหรือโลกทัศน์แบบโลกวิสัย (secular worldview) อันเป็น “มุมมองแบบแนวราบ” ที่เน้นความเสมอภาคของมนุษย์และความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เท่าเทียมถูกขับเน้นมากขึ้นๆ ปัญญาชนทางศาสนาพยายามอธิบายว่า ถึงพระเจ้าจะสร้างมนุษย์ วางแนวทาง และเป้าหมายชีวิตให้มนุษย์ แต่ก็สร้างมนุษย์ให้มี “เจตจำนงเสรี” (free will) ที่แต่ละคนจะปฏิเสธพระเจ้าและแนวทางของพระองค์ได้ 

ทว่าถึงที่สุดแล้ว การปฏิเสธพระเจ้าและแนวทางของพระองค์ ก็ต้องได้รับผลตอบแทน คือการถูกลงโทษด้วยไฟนรกชั่วนิรันดร์ ในแง่นี้พระเจ้าจึงไม่ใช่ผู้ให้สิทธิและเสรีภาพที่เราแต่ละคนจะเลือกเองอย่างแท้จริง 

อีกอย่าง การมีอำนาจพิพากษาลงโทษรุนแรงเช่นนั้น แสดงว่าพระเจ้าคือ “ผู้เผด็จการ” และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พระเจ้าเป็นผู้เผด็จการที่ใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต 

เช่น เพียงแค่ลูกของตนคืออาดัมกับอีฟแอบกินผลไม้ต้องห้าม พระเจ้าก็ลงโทษให้ “บาปกำเนิด” ตกแก่ “มนุษย์ทุกคน” ที่ไม่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำผิดคำสั่งพระเจ้าของสองคนนั้นเลย และโทษทัณฑ์ของการแค่ “ลูกรัก” ขัดคำสั่งก็รุนแรงเกินจินตนาการ เพราะกิเลสตัณหา ความชั่วร้าย ภัยพิพัติต่างๆ ที่เกิดกับมนุษย์ในโลกนี้และไฟนรกในชีวิตหลังความตาย ล้วนมีที่มาจากความผิดบาปที่กระทำโดยมนุษย์เพียงสองคน และการที่เราแต่ละคนเพียงแค่ปฏิเสธศรัทธาและแนวทางของพระเจ้าเท่านั้น

เราจะเข้าใจการใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นนี้ชัดเจน เมื่อเราลองคิดถึงว่า มีผู้ปกครองเผด็จการอ้างการกระทำความผิดของพ่อแม่ เพื่อเป็นเหตุผลในการลงโทษแก่ลูกๆ ทุกคนที่ไม่เคยรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของพ่อแม่ของพวกเขาเลย หากจะเชื่อว่าการลงโทษของพระเจ้าคือ “ความยุติธรรม” ก็ย่อมเป็นความยุติธรรมที่ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผลของมนุษย์ และเมื่อมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจเหตุผลและความยุติธรรมของพระเจ้าได้เลย ก็ป่วยการที่จะกล่าวอ้างว่าพระเจ้าให้ความยุติธรรมแก่เราทุกคนเสมอกัน

แบบนี้จะเรียกว่าพระเจ้าทรงให้สิทธิและเสรีภาพอะไรแก่เราได้หรือ เพราะการมีสิทธิและเสรีภาพในระดับพื้นฐานเลยคือ เราย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเลือกที่จะศรัทธาหรือปฏิเสธศรัทธาต่อพระเจ้า แนวทางของพระเจ้า หรือความเชื่อใดๆ ได้โดยชอบธรรม และโดยปราศจากการถูกลงโทษใดๆ โดยเฉพาะต้องไม่ถูกลงโทษในแบบที่ไม่สามารถอธิบายได้เลยว่ามันยุติธรรมอย่างไร เพราะการใช้สิทธิและเสรีภาพของเราจะเป็นความผิด ก็ต่อเมื่อการใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นเป็นการทำอันตรายต่อบุคคลอื่นเท่านั้น แค่เราปฏิเสธที่จะเชื่อและเดินตามแนวทางของพระเจ้า หรือเปลี่ยนศาสนา, ไม่นับถือศาสนา อำนาจใดๆ ย่อมลงโทษเราไม่ได้ ยกเว้นจะเป็นอำนาจเผด็จการบนความเชื่อที่ไร้เหตุผล

เมื่อโดยเนื้อแท้แล้ว พระเจ้าคือผู้เผด็จการ พระเจ้าจึงไม่ใช่ผู้ประทานสิทธิและเสรีภาพ ประวัติศาสตร์ศาสนายืนยันความจริงนี้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าศาสดาในฐานะผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองในนามของพระเจ้า กลุ่มผู้นำศาสนา นิกายศาสนา รัฐศาสนา ศาสนจักร กษัตริย์ที่ใช้อำนาจปกครองในนามของพระเจ้า ล้วนแต่เป็นผู้เผด็จการในสังคมชนชั้นศักดินาและชนชั้นแบบอื่นๆ หาใช่ผู้ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด 

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษยุคเรืองปัญญาอย่าง George Jacob Holyoake (1817-1906) จึงเสนอแนวคิดโลกวิสัย (secularism) เพื่อปลุกให้ประชาชนตื่นรู้และกล้าหาญที่จะปฏิเสธปัญญาและระบบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมในนามศาสนา แทนที่ด้วยแสงสว่างของเหตุผล, วิทยาศาสตร์, โลกทัศน์ทางศีลธรรม, ปรัชญา และองค์กรสังคมและการเมืองแบบทางโลก อันเป็นมุมมองความก้าวหน้าจาก “สายตา” ของมนุษยชาติ ที่ตรงข้ามกับมุมมองจาก “สายตา” ของพระเจ้า (ดู Andrew Copson, Secularism: A Very Short Introduction, P.1) 

ในมุมมองจากสายตาของพระเจ้า สิทธิและเสรีภาพถูกประทานมาจาก “เบื้องบน” คือ พระเจ้าประทานมาผ่านตัวแทนของพระองค์คือ ศาสดา, กลุ่มผู้นำศาสนา, นักบวช, ศาสนจักร และกษัตริย์ผู้ใช้อำนาจในนามของพระองค์ แต่ในสายตาของมนุษยชาติ สิทธิและเสรีภาพเป็นของเราทุกคนแต่แรก ทว่าถูกฉ้อฉลและกดทับด้วยอำนาจเบื้องบนเหล่านั้น 

นี่คือจุดเริ่มของการเกิดแนวคิดปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) อันเป็นแนวคิดทางโลก (secular) ที่ท้าทายความเชื่อทางศาสนาแบบยุคกลาง โดยเสนอว่าเราทุกคน คือ “ปัจเจกบุคคล” (individual) ผู้มีอำนาจ, สิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นของตนเอง คุณค่าเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกประทานมาจาก “เบื้องบน” ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า, ศาสดา, กลุ่มผู้นำองค์กรศาสนา, นักบวช, ศาสนจักร, กษัตริย์หรือรัฐ หากแต่บุคคล กลุ่มบุคคลและองค์กรณ์หรือสถาบันเหล่านั้นมี “หน้าที่” ต้องเคารพอำนาจ, สิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคน

หลักประกันการมีสิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนในฐานะปัจเจกบุคคลผู้มีอิสรภาพปกครองตนเองได้ (autonomy) ทั้งในทางศีลธรรม, การใช้ชีวิตส่วนตัว และชีวิตทางสังคมและการเมือง จำเป็นต้องยกเลิก “รัฐศาสนา” หรือการใช้ระบบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการในนามศาสนาและเผด็จการแบบใดๆ แทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่ารัฐต้อง “เป็นกลาง” ทางคุณค่าเกี่ยวกับความดี ศีลธรรม การมีชีวิตที่ดีตามความเชื่อแบบศาสนาและแบบไม่ใช่ศาสนาอันเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ของเราแต่ละคน

การเป็นกลาง ก็คือการที่รัฐให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะเลือกความเชื่อของตนเองได้ โดยปราศจากการบังคับและกีดกันเหมือนที่ทำกันโดยรัฐศาสนาในอดีตและปัจจุบัน

นักคิดโลกวิสัยฝ่ายที่แชร์แนวคิดเสรีนิยมและระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงเสนอให้ “แยกศาสนากับรัฐ” เพื่อที่รัฐจะสามารถเป็นกลางทางศาสนาและให้หลักกระกันเสรีภาพ ความเสมอภาคทางศาสนาและความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาได้จริง และเพื่อสร้างวัฒนธรรมความเคารพและอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อแบบศาสนาและแบบไม่ใช่ศาสนาให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและสันติ 

ถ้าสังคมไทยแยกศาสนากับรัฐตามแนวคิดโลกวิสัยที่แชร์ความคิดเสรีนิยมและเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายที่เสียประโยชน์ย่อมไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่คือกลุ่มผู้นำองค์กรศาสนาของรัฐ, นักบวช, ศาสนจักร และศักดินาที่มีสถานะและอำนาจซึ่งถูกสถาปนาขึ้นบนความเชื่อทางศาสนา หรือมีอำนาจใช้องค์กรหรือสถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

กลุ่มคน “หยิบมือเดียว” นี้เท่านั้นที่เสียประโยชน์ หรือ “อภิสิทธิ์” ต่างๆ ที่พวกเขาเคยมีมานาน ประชาชนส่วนใหญ่ของทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนามีแต่จะได้ประโยชน์ เพราะจะมีอิสรภาพจากการครอบงำกดขี่มายาวนานของคนเพียงหยิบมือเดียวพวกนั้น

ดังนั้น มุมมองเรื่องความเชื่อ, คุณค่า, ศีลธรรม, การเมืองและอื่นๆ จึงไม่ได้มีแต่มุมมอง “แบบทาสของพระเจ้า” ที่ตัดสินว่าการอยู่ใต้กฎเกณฑ์ใดๆ คือการตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์นั้นๆ เพราะมีแต่การตกอยู่ใต้กฎของอำนาจเผด็จการในนามพระเจ้า, ธรรมะ และเผด็จการแบบอื่นๆ เท่านั้นคือการตกเป็นทาส 

แต่กฎเกณฑ์แบบเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย คือกฎเกณฑ์ที่ปลดปล่อยประชาชนจากการตกเป็นทาสของเผด็จการในนามศาสนา เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่มาจากอำนาจอธิปไตย, สิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่อำนาจเบื้องบนใดๆ ประทานมาเพื่อเป็นยากล่อมประสาท และควบคุมข้ารับใช้ผู้ภักดี! 

 

ที่มาภาพ: https://fr-fr.facebook.com/talebeforedie/posts/3370018369750095/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net