Priceless : เสีย(ภาษี) กันไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “รัฐประหาร”

“มันคือการจัดการ ความเรียบร้อย ที่เขา(คสช.) รู้อยู่แล้วว่าต้องจัดการอะไรให้เรียบร้อยในระบบของเขา แต่มันไม่ใช่ความเรียบร้อยในมุมมองทางสังคมหรือประชาธิปไตยหรือความเป็นอยู่(ของประชาชน) เขาจะจัดการกับภาครัฐด้วยกันเองยังไง จะแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์กันอย่างไร จะลงมาจัดการกับความเป็นอยู่ของประชาชนให้คงความรู้สึกตัวชากับความรุนแรงอยู่ แต่จริงๆ แล้วมันคือการจัดการตัวเขาหรือโครงสร้างของเขามากกว่า”

สุรเจต ทองเจือ กล่าวถึงงาน Priceless(ประเมินค่าไม่ได้) ที่เขาทำขึ้นจากการรวบรวมใบเสร็จค่าใช้จ่ายของตัวเองและครอบครัวไว้กว่า 7 ปีตั้งแต่วันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ตัวงานไม่ได้สะท้อนเพียงภาษีที่ประชาชนต้องสูญเสียไปให้กับคณะรัฐประหารผ่านหลักฐานใบเสร็จที่เขาและครอบครัวใช้จ่ายไปทุกวันในชีวิตประจำวันที่เขารวบรวมมาเท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนต้องสูญเสียโอกาสในชีวิต เสรีภาพ สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นซึ่งประเมินค่าไม่ได้ โดย คสช.ใช้ข้ออ้างในการทำรัฐประหารว่าเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย

แต่เขาก็เห็นว่าเป็นความสงบเรียบร้อยในรูปแบบที่ผู้ทำรัฐประหารต้องการเท่านั้น แต่สุดท้ายก็จัดการกับวุ่นวายอลหม่าน(Chaos) ภายในตัวรัฐบาลเองไม่ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนกับงานที่เขานำมาแสดงที่ทำให้เห็นว่าแม้จะพยายามมีกรอบมีระเบียบแต่ในรายละเอียดแล้วก็มีแต่วุ่นวายอลหม่านอยู่เต็มไปหมดซึ่งก็เป็นความย้อนแย้งกับข้ออ้างในการทำรัฐประหารของ คสช.

สุรเจต ทองเจือ

“มันเป็นช่วงที่เราเดาทิศทางการเมืองไม่ออกเลย แม้กระทั่งว่าสุดท้ายความเชื่อของขั้วการเมืองไหนที่มันจะทำให้เรารุสึกว่ายังใช้ชีวิตอยู่ได้ในประเทศนี้ ขณะเดียวกันในมือผมถือใบเสร็จที่จะเอาไปจ่ายเงินค่าใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปแต่ในใบเสร็จมันมี VAT(ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ที่ต้องจ่ายในทุกๆ ใบ ตอนนั้นคือตัวชา เราก็มีคำถามว่าเดียว VAT พวกนี้เนี่ยมันต้องเอาไปหล่อเลี้ยงคณะรัฐประหารทันที รัฐบาลเผด็จการ แค่เลี้ยงครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเลยก็แย่พออยู่แล้ว”

สุรเจตบอกว่าหลังจากนั้นเขาก็เริ่มเก็บใบเสร็จต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพราะเขารู้สึกว่าจะต้องสะสมอะไรบางอย่างทื่ทำให้เห็นถึงความด้อยหรือเสียเปรียบจากการต้องจ่ายภาษีในแต่ละวัน เขาสะสมมาเรื่อยๆ อยู่ 3 ปี จนมีจำนวนพอให้เอามาทำงานศิลปะได้ และเลือกที่จะวาดออกมาเป็นงานเชิงนามธรรม(Abstract) ที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยทำออกมาก่อนแล้วใช้วัตถุดิบที่มีความเป็นรูปธรรมและดูจริงมากๆ อย่างใบเสร็จต่างๆ ที่รวบรวมมาย่อยด้วยเครื่องทำลายเอกสารและติดลงไปบนภาพวาดเพื่อแสดงความรู้สึกต่อสถานการณ์บ้านเมืองของตัวเขาออกมา

“ก็ลองดูว่าไอ้ความซ้ำซาก(Routine) ไอ้ความน่าเบื่อของยุคสมัยเนี่ย กระดาษมันออกมาในรูปทรงซ้ำซาก ความเป็นอุปกรณ์ออฟฟิศ แค่กระดาษเส้นๆ เราจัดการกับมันยังไงได้บ้างแล้วผมก็ติดทับชั้นลงไปบนงาน(วาด) พยายามทำให้มันเห็นโครงสร้าง ทำให้เห็นความซ้ำซากน่าเบื่อจำเจของมัน”

“แต่ด้วยความที่เป็นมนุษย์โครงสร้างบางอย่างที่พยายามทำให้มันสมมาตรมากๆ เสถียรมากๆ มันเป็นไปไม่ได้ มันสะท้อนโครงสร้างของภาครัฐมันมีอำนาจและความบกพร่องบางอย่างที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในโครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้ หรือแม้แต่อำนาจเหนือรัฐเองที่มันครอบงำเราอยู่และอยู่เหนือโครงสร้างเหล่านี้อีกทีด้วยบริบทไทย มันคือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้”

สุรเจตอธิบายถึงชิ้นงานที่เอาชิ้นส่วนของใบเสร็จต่างๆ ที่ถูกย่อยสลายทำลายมาเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบแค่ไหนแต่ส่วนที่เป็นงานวาดเชิงนามธรรมก็ยังลอดทะลุออกมาให้เห็นถึงความสับสนอลหม่านของสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เปรียบเสมือนสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มันยังไม่เห็นว่าจะจบลงได้อย่างไร

ศิลปินอธิบายงานชิ้นที่เป็นแจกันจีนที่ข้างในติดเต็มไปด้วยชิ้นส่วนใบเสร็จว่างานชิ้นนี้ขึ้นรูปด้วยกระดาษหนังสือสังคมศาสตร์ประถมและหนังสือพิมพ์ภาษาจีนเอาที่ขายให้กับคนเชื้อสายจีนในไทยเอามาย่อยรวมกัน เขาบอกว่าแนวคิดของชิ้นนี้คือเครื่องปั้นที่ใช้ส่งเป็นเครื่องบรรณาการในสมัยก่อนหรือของขวัญที่นักธุรกิจมักจะมอบให้กันเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจราบรื่น เปรียบเสมือนที่บรรดาทุนใหญ่ในประเทศนี้ที่ทำมาค้าขายกับประชาชนในประเทศไปมอบของขวัญให้กับผู้มีอำนาจเหนือรัฐและยิ่งไปกว่านั้นของขวัญเหล่านี้ก็มาจากการใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐไปก่อนแล้วอีก

เมื่อถามสุรเจตว่างานมันสะท้อนภาพชัดเจนเรื่องการที่ต้องเสียภาษีให้กับคณะรัฐประหารไปแล้วเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นการใช้ภาษีของรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมา เขาบอกว่าก็คงไม่มีเหตุการณ์อย่างม็อบที่แยกดินแดง และการจัดการของรัฐบาลที่ผ่านมาก็แค่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องรอรับสิ่งที่รัฐบาลเอามาให้

“เขาก็ใช้ภาษีมาปูพรม แต่ไม่ใช่พรมที่ดีนะเอาให้แค่รู้สึกว่าพอเดินได้ แต่ว่ามันไปจนสุดทางมั้ย เป็นพรมที่คุณภาพดีมั้ย หรือว่าให้ทุกคนขึ้นมาเดินบนพรมพร้อมกันได้มั้ย สำหรับผมมันไม่ถือว่าประสบความสำเร็จอะไรเลย” สุรเจตสะท้อนความรู้สึกต่อการเสียภาษีไปให้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

I don't want weapons คือคำที่แฝงอยู่ในงานที่สุรเจตบอกว่าได้ไอเดียจากดาดฟ้าเรือดำน้ำกับเก็บภาษีผ้าอนามัย

อาจจะด้วยความบังเอิญที่รัฐบาลเพิ่งปลดล็อกดาวน์ทำให้งานของสุรเจตได้มาจัดในเดือนครบ 15 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ เลยได้ถามเขาว่าถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้วตอนนั้นเขารู้สึกอย่างไรกับการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คปค. เขามีความเสียดายแบบเดียวกันนี้หรือไม่ เขาบอกว่าตอนนั้นยังพอเห็นความหวังอยู่บ้าง

สุรเจตอธิบายว่าความรู้สึกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการรัฐประหาร 2557 เขาบอกว่าอย่างน้อยขั้วทางการเมืองในตอนนั้นยังมีสมดุลกว่าตอนนี้ ยังพอมีการเมืองในสภามีการเมืองระดับท้องถิ่นให้พอเห็นผลประโยชน์หรือการอยู่รอดของตัวเองได้บ้าง

นอกจากนั้นเขายังเห็นว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาลทหารที่ทำรัฐประหารเข้ามาแน่ๆ เพราะการรัฐประหารคือการปูทางเข้ามา เพราะการรัฐประหารครั้งก่อนๆ เข้ามาก็ตามมาด้วยการเลือกตั้ง แต่ในมุมของเขาการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการรัฐประหารสมัยใหม่ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญและการทำโครงสร้างไว้เพื่อรองรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นิทรรศการ Priceless ของสุรเจตเปิดให้เข้าชมที่ Manycuts Artspace Ari ในซอยอารีย์ 3 ตั้งแต่ 25 ก.ย. - 5 ธ.ค.64

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท