นิวยอร์กซิตีผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 'ไรเดอร์' ส่งอาหาร 

นิวยอร์กซิตีออกกฎหมายใหม่กำหนดให้แอพฯ บริการส่งอาหารต้องมีสภาพการจ้างงานไรเดอร์หรือคนรับส่งอาหารที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน รวมถึงต้องกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกับเหล่าไรเดอร์

ส.ส. ในนิวยอร์กซิตีผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ระบุถึงการพัฒนาสภาพการจ้างงานของไรเดอร์ผู้ทำงานขนส่งอาหารอย่าง อูเบอร์, กรับฮับ และดอร์แดช รวมถึงตั้งเกณฑ์อัตราค่าแรงขั้นต่ำให้คนทำงานเหล่านี้ด้วย

เรื่องนี้ทำให้นิวยอร์กซิตีกลายเป็นสถานที่แรกที่ผ่านร่างกฎหมายแบบครอบคลุมในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมการส่งของที่เริ่มนำมาพิจารณามากขึ้นในช่วงที่มีเหตุโรคระบาดครั้งใหญ่และหลังจากเกิดปรากฏการณ์พายุเฮอร์ริเคนไอดา

สื่อซีเอ็นบีซีสรุปข้อมูลจากกฎหมายฉบับใหม่ที่ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานส่งของเอาไว้ดังนี้ คือ ผู้ขับขี่รถส่งของสามารถจำกัดระยะทางการส่งของต่อครั้งได้, แอพพลิเคชั่นส่งอาหารไม่สามารถชาร์จคนส่งของสำหรับค่าแรงของพวกเขาเองได้ และจะต้องมีการจ่ายค่าจ้างส่งของให้กับคนทำงานส่งของอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์, คนขับรถส่งของสามารถเลือกได้ว่าจะไม่รับงานที่ต้องข้ามสะพานหรือลอดอุโมงค์, แอพฯ จะต้องจ่ายให้กับคนขับรถก่อนที่พวกเขาจะเริ่มการเดินทาง รวมถึงมีการให้ตำแหน่ง เส้นทาง และ ระยะทางกับเวลาที่จะใช้โดยประมาณแก่คนส่งของด้วย

กฎหมายฉบับใหม่ยังระบุในแง่ของการคุ้มครองอีกว่า บริษัทผู้ให้บริการไม่สามารถชาร์จเงินจากคนขับรถเป็นค่ากระเป๋าเก็บอุณหภูมิที่ใช้ส่งอาหารได้, แอพฯ ส่งอาหารไม่สามารถชักชวนให้ต้องจ่ายทิปได้เว้นแต่พวกเขาจะเปิดเผยว่ามีการจ่ายค่าจ้างให้พนักงานส่งอาหารมากเท่าใด และพวกเขาได้รับค่าจ้างเป็นเงินโดยทันทีหรือจ่างเป็นเงินสดหรือไม่, แอพฯ ต้องเครดิตเงินทิปให้กับคนทำงานและแจ้งต่อคนทำงานว่าพวกเขาได้รับเงินทิปมากเท่าใดและลูกค้าถอนทิปหรือไม่ด้วยเหตุผลใด

นอกจากนี้กฎหมายยังระบุให้ต้องบอกกับคนทำงานส่งของว่ามีค่าจ้างและค่าทิปรวมเท่าใดในทุกวัน และต้องเพิ่มเงื่อนไขในสัญญากับร้านอาหารว่าสามารถให้คนทำงานรับส่งอาหารที่ไปรับอาหารของพวกเขาใช้ห้องน้ำในร้านอาหารได้ มีกฎหมายหนึ่งที่ระบุให้กรมคุ้มครองผู้บริโภคและแรงงานต้องทำการศึกษาวิจัยคนทำงานรับส่งอาหารให้เสร็จและตั้งกฎเกณฑ์เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำต่อเที่ยวส่งของสำหรับคนทำงานขนส่งเหล่านี้

ทางบริษัทดอร์แดชและกรับฮับแสดงท่าทีสนับสนุนกฎหมายใหม่นี้ โดยที่โฆษกของดอร์แดชแถลงว่าพวกเขา "เล็งเห็นความท้าทายที่คนทำงานส่งของต้องเผชิญในนิวยอร์กซิตีและมีเป้าหมายร่วมกันในการหานโยบายที่จะช่วยทั้งแดชเชอร์และคนทำงานแบบเดียวกับพวกเขา" ส่วนกรับฮับบอกว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นการสนับสนุนคนทำงานรับส่งอาหารที่ทำงานหนักทุกวันการพัฒนาสภาพการจ้างและค่าแรงของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่ไอเดียที่ดีเท่านั้นแต่เป็นเรื่องที่ถูกต้องด้วย

อย่างไรก็ตามบริษัทเหล่านี้เคยรวมถึงอูเบอร์เคยเพิ่งจะฟ้องร้องนิวยอร์กซิตีในเรื่องกฎหมายฉบับหนึ่งที่จำกัดว่าบริษัทจะสามารถชาร์จเงินร้านอาหารได้มากเท่าใด นอกจากนี้ในเดือน ก.ค. ดอร์แดชกับกรับฮับยังเคยฟ้องร้องซานฟรานซิสโกในเรื่องที่เมืองซานฟรานซิสโกเสนอกฎหมายจำกัดค่าธรรมเนียมการส่งสูงสุดร้อยละ 15

อีกกรณีหนึ่งคือบริษัทดอร์แดชยังเคยฟ้องร้องนิวยอร์ดซิตีในช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาในเรื่องกฎหมายที่ระบุให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลลูกค้าให้กับร้านอาหารให้รับรู้มากขึ้น

นอกจากนิวยอร์กซิตีแล้ว ในพื้นที่อื่นๆ ของสหรัฐฯ ยังมีการเพิ่มความคุ้มครองคนทำงานรับส่งผ่านแอพฯ เช่นในแคลิฟอร์เนียเดือน ส.ค. มีการตัดสินจากศาลในเชิงต่อต้านกฎหมาย Prop 22 ที่ระบุงดเว้นคนทำงานรับจ้างชั่วคราวที่เรียกว่า gig workers เหล่านี้ขึ้นกับกฎหมายแรงงานของรัฐ ซึ่งหมายความว่าคนทำงานภาคส่วนเหล่านี้รวมถึงเหล่าไรเดอร์จะถูกกำหนดให้เป็นผู้รับจ้างเหมาช่วงแทนแรงงานทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการต่างๆ และไม่ได้รับการคุ้มครองเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยศาลตัดสินว่า Prop 22 เป็นกฎหมายที่ขัดหลักรัฐธรรมนูญรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

อีกกรณีหนึ่งในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ชิคาโกได้ฟ้องร้องดอร์แดชและกรับฮับว่ามีการดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมและหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองบริษัทบอกว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ "ไม่มีมูล"

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท