เรียกร้องยุติโรงงาน-เหมืองแร่ บริษัทในเครือกองทัพว้า UWSA หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อมรัฐฉาน

มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่แถลงหนุนชาวบ้านฮ่องลึก รัฐฉาน ที่เคลื่อนไหวต่อต้านบริษัทของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) หลัง บ.ดังกล่าวเตรียมสร้างโรงงาน และเหมืองแร่แมงกานีส บนที่ดินที่ชาวบ้านซึ่งถูกเวนคืนอย่างไม่ชอบธรรม พร้อมกับเรียกร้องให้บริษัทยุติการสร้างโรงงาน เนื่องจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

กองสินแร่แมงกานีสในอำเภอท่าขี้เหล็กในรัฐฉาน ภาพจากรายงานจัดทำโดย SHRF

27 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) เผยแพร่รายงาน พร้อมออกแถลงการณ์หนุนชาวบ้านฮ่องลึก อ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ออกมาปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน และต่อต้านการสร้างโรงงานยางพารา และเหมืองแร่แมงกานีสของบริษัทในเครือบริษัทหงปัง ที่มีกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นเจ้าของ โดยหลังรัฐประหารพม่าเมื่อ 1 ก.พ. 64 บริษัทดังกล่าวได้รับการหนุนจากรัฐบาลทหาร (SAC) และเตรียมสร้างโรงงานบนที่ดินของชาวบ้านฮ่องลึก ซึ่งถูกเวนคืนอย่างไม่ชอบธรรมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ชาวบ้านยังกังวลด้วยว่า หากบริษัทก่อสร้างโรงงานและเหมืองแร่แมงกานีสสำเร็จ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชาวบ้านโดยรอบ

ดังนั้น ในถ้อยแถลงของทาง SHRF จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลทหารพม่า และ UWSA ต้องยุติการก่อสร้างโรงงานและเหมืองแร่บริเวณใกล้กับลุ่มน้ำรวก และต้องคืนที่ดินที่เวนคืนจากชาวบ้านฮ่องลึกไปอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ชาวบ้านทั้งหมด   

ชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดินอย่างไม่ชอบธรรม

อ้างอิงจากรายงาน “ปกป้องสบรวกและสามเหลี่ยมทองคำ : รัฐบาลทหารพม่า SAC เดินหน้าสร้างโรงงานของ UWSA ในท่าขี้เหล็ก กับการสร้างมลพิษอย่างกว้างขวาง” จัดทำโดย SHRF นั้น เหตุแห่งข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านฮ่องลึก อ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ต่อบริษัทของ UWSA และภาครัฐ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2542 เมื่อสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) นำโดยทหารพม่า มีคำสั่งเวนคืนที่ดินชาวบ้านฮ่องลึก จำนวน 1,503 ไร่ ด้านตะวันออกห่างจาก อ.ท่าขี้เหล็ก ราว 5 กิโลเมตร (กม.) เพื่อสร้างเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม 

ด้วยความที่เป็นรัฐบาลทหารทำให้ชาวบ้านบริเวณนั้นทำให้ชาวบ้านไม่กล้าขัดคำสั่งและกลับเข้าไปในที่ดินทำกินของตัวเอง 

ภาพชาวบ้านบ้านฮ่องลึกที่ต้องเสียสิทธิที่ดินทำกิน จากรายงานจัดทำโดย SHRF

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 มีการยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน 250 ไร่ ในเขตอุตสาหกรรมให้กับบริษัทนามว่า “หงปัง” ซึ่งเจ้าของบริษัทนี้คือ เหว่ยเซียะกัง ผู้บัญชาการทหารของ UWSA เพื่อสร้างโรงงานท่อพลาสติก และโรงงานอาหารสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ทาง บ.หงปัง ยังไม่ได้มีการสร้างโรงงานแต่อย่างใด มีเพียงการทำฟาร์มปศุสัตว์ โดยใช้ที่ดิน 70 ไร่ จากทั้งหมด 250 ไร่ ขณะที่ชาวบ้านเข้ามาทำเกษตรกรรมในที่ดินที่เหลือที่ยังไม่มีการใช้งาน  

แผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงเขตโรงงานของบริษัทหลอยสามซอง ของ UWSA ภาพจากรายงานจัดทำโดย SHRF

หลังจากนั้น ชาวบ้านมีการพยายามต่อต้านการใช้ที่ดินของ บ.หงปังอย่างต่อเนื่อง โดยการยื่นเรื่องต่อภาครัฐเพื่อให้คืนที่ดินที่ถูกเวนคืนไปอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ การเวนคืนที่ดินดังกล่าวไม่มีการจ่ายค่าชดเชย หรือจัดสรรที่ดินใหม่ให้กับชาวบ้านอีกด้วย

ชาวบ้านบางรายต้องเสียชีวิตจากการพยายามขัดขวางการเข้ามาใช้ที่ดินของ บ.หงปัง โดยใน พ.ศ. 2556 บ.หงปังใช้รถแบ็กโฮลทำการรื้อถอนบ้านเรือนของชาวบ้านในบริเวณที่ดินที่ชาวบ้านถูกเวนคืน นายจายหวุ่นแก้ว ชาวบ้านซึ่งพยายามขัดขวาง และขู่ฟ้องบริษัทจากการกระทำดังกล่าว กลับเสียชีวิตในเวลาต่อมา เนื่องจากถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ซึ่งชาวบ้านคาดว่าอาจเป็นมือปืนที่ บ.จ้างมา   

แม้ว่าในปี พ.ศ. 2560 ในสมัยรัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรค ‘สันนิตบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย’ หรือ NLD สัญญาว่าจะมีการช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องการขอที่ดินคืน แต่เรื่องกลับไม่คืบหน้า และในปี พ.ศ. 2562 รัฐบาลรัฐฉานอนุญาตให้บริษัทหลอยสามซอง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บ.หงปัง สร้างโรงงานผลิตยางแผ่น และเหมืองแร่แมงกานีส บนพื้นที่ 250 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่จัดสรร บ.หงปัง เมื่อ พ.ศ. 2544 

สามเดือนหลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ในเดือน พ.ค. 64 บริษัทหลอยสามซอง เริ่มนำรถไถเพื่อเข้ามาปรับพื้นที่โดยพลการ ทำให้มีกลุ่มชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกร และพระสงฆ์ เข้าไปขัดขวาง แต่มีการนำกำลังตำรวจเข้ามาคุ้มครองคนงานบริษัท ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าสภากองทัพ (SAC) ยังคงสนับสนุนบริษัทอยู่  

ภาพจากรายงานจัดทำโดย SHRF
 

หลังจากนั้น ข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับบริษัทส่อเค้าตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 64 ชาวบ้านยังคงต่อต้าน แม้จะถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทที่พยายามเข้าไปในที่ดินที่ถูกเวนคืน โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 64 บริษัทประสบความสำเร็จในการติดตั้งรั้วยาวที่ทำจากคอนกรีต และรั้วลวดหนาม พร้อมด้วยขุดร่องน้ำทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านเข้ามารื้อถอน  

แต่ช่วงเดือน ก.ค. ถึงกลางเดือน ส.ค. 64 ยังไม่รายงานว่ามีคนของบริษัทเข้ามาในพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกเวนคืนอย่างไม่เป็นธรรม คาดว่าเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในฝั่งพม่า

ข้อกังวลต่อผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

รายงานดังกล่าวเผยด้วยว่า การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านฮ่องลึกนั้นไม่ได้เพียงแค่พวกเขาต้องการมาปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน แต่มีข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษในวงกว้าง หากปล่อยให้บริษัทสร้างโรงงานต่อไป 

แม้อุตสาหกรรมเหมืองแร่แมงกานีสในรัฐฉานถือเป็นอุตสาหกรรมหลัก และสร้างมูลค่าอย่างมากในพม่า แต่กลับสวนทางกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามมา อ้างอิงข้อมูลจากนักวิจัยท้องถิ่นเผยว่า การทำเหมืองแร่แมงกานีส บริเวณเมืองโก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ส่งผลกระทบต่อชาวลาหู่ อาข่า และไทใหญ่ ประมาณ 2,000 คน ตั้งแต่มีการเวนคืนที่ดินในปี พ.ศ. 2550 อีกทั้ง ที่ดินของพวกเขา และแหล่งน้ำต่างปนเปื้อนจากกากของเสียของเหมืองแร่

ภาพเหมืองแร่แมงกานีสในเมืองโก รัฐฉาน จากรายงานจัดทำโดย SHRF

จากงานศึกษาของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2554 พบด้วยว่า เด็กที่ดื่มน้ำปนเปื้อนแร่แมงกานีสจะส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กในวัยเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ในเดือน มิ.ย. 61 การประปาส่วนภูมิภาคของไทย เผยแพร่รายงานว่ามีปริมาณแมงกานีสระดับสูงในแม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่นำมาใช้ทำน้ำประปาในอำเภอแม่สาย จ.ตาก ส่งผลให้น้ำมีสีขุ่น และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ รายงานยังระบุด้วยว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับความผิดปกติทางประสาทหากดื่มน้ำปนเปื้อนแร่แมงกานีสเข้าไป ดังนั้น การสร้างเหมืองแร่ใกล้บริเวณแม่น้ำรวก จะยิ่งทวีปัญหานี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น และส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก-เยาวชนในอนาคต

นอกจากนี้ ในเรื่องมลพิษทางอากาศ ยังไม่มีข้อมูลว่าการแต่งแร่แมงกานีสจะมีรูปแบบใดในโรงงานที่วางแผนก่อสร้างใกล้กับ อ.ท่าขี้เหล็ก แต่มีการตั้งข้อสังเกตล่วงหน้าว่า จะต้องมีการสร้างเตาหลอมแร่ ซึ่งจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และส่งผลเสียต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียง 

ทั้งนี้ การศึกษาขององค์กรอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2524 เกี่ยวกับผลกระทบของแร่แมงกานีส 14 ชิ้น เผยให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศจากโรงงานแต่งแร่แมงกานีสในหลายประเทศทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างรุุนแรง รวมทั้งโรคปอดบวมต่อคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง 

กรณีของโรงงานยางพารา กระบวนการผลิตยางพาราแผ่นจากน้ำยางสด ต้องมีการบดชะล้าง การเติมกรดลงไปในน้ำยางพารา บดซ้ำ และการตากให้แห้ง ซึ่งต้องใช้ปริมาณน้ำมหาศาล หมายความว่าต้องมีการปล่อยน้ำเสียจำนวนมากลงสู่แม่น้ำ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีข้อกังวลว่าน้ำในแม่น้ำจะปนเปื้อน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน

แต่ข้อกังวลหลักของชาวบ้านคือโรงงานยางจะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่วพื้นที่ชุมชน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาจากรัฐบาลไทยเมื่อปี พ.ศ. 2517 เกี่ยวกับผลกระทบต่อโรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่ 2 แห่งใน จ.อุดรธานี ทำให้อากาศในรัศมี 5 กม. ของโรงงาน ปนเปื้อนด้วยสารระเหยเคมีสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ปลอดภัยถึง 50 เท่า ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้การเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เคืองตา และปวดหัววิงเวียนศีรษะ ขณะที่ประชาชนที่อยู่ห่างจากโรงงานถึง 10 กม. ก็ได้กลิ่นจากโรงงานด้วยเช่นกัน 

ภาพแผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นเขตอุตสาหกรรม และชุมชนบ้างฮ่องลึก จากรายงานจัดทำโดย SHRF
 

โครงการขนาดใหญ่จะถูกดันโดยไม่ฟังเสียง ปชช.

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ นายจายหอแสง ตัวแทนจาก SHRF เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 โดยจายหอแสง กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนร่วมกับชาวบ้านฮ่องลึก อ.ท่าขี้เหล็ก รัฐฉานว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ SHRF เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านนี้อยู่แล้ว จึงอยากทำอะไรสักอย่างให้สาธารณชนได้รับทราบปัญหาและการคุกคามชาวบ้าน 

กรณีความคืบหน้าที่ชาวฮ่องลึกออกมาต่อต้านบริษัทหงปัง จายหอแสง กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าทางบริษัทนำคนงานราว 60 คน เข้ามาปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินที่เป็นข้อพิพาท อีกทั้ง มีรายงานด้วยว่า ทางบริษัทมีการนำกำลังคนมาข่มขู่ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยสนใจเข้าข้างประชาชนชัดเจน ซึ่งทาง SHRF ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป จนกว่าชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรม 

ในเรื่องของการพยายามเจรจาแก้ปัญหา จายหอแสง ระบุว่ามีความพยายามเจรจากันทั้งทางฝั่งของชาวบ้าน และบริษัทหงปัง แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งก็ต้องติดตามเรื่องแก้ปัญหานี้ต่อไป

จายหอแสง มองว่า แม้ว่าจะหาข้อยุติต่อกรณีที่การชดเชยการเวนคืนที่ดินได้ แต่ปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ยังคงอยู่และมองว่าผลกระทบอาจส่งผลทั้งใน อ.ท่าขี้เหล็ก และ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ฝั่งไทยด้วย เนื่องจากจุดก่อสร้างนั้นอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำรวก ซึ่งแม่น้ำสายดังกล่าวจะไหลลงมายังแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายนานาชาติ

ภาพแม่น้ำรวก ในรัฐฉาน จากรายงานจัดทำโดย SHRF

ตัวแทน SHRF ย้ำข้อเสนอของแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้กองทัพพม่าคืนที่ดินราว 250 ไร่ หรือ 100 เอเคอร์ที่เวนคืนไปอย่างมิชอบให้ชาวบ้านทั้งหมด และยุติการสร้างโรงงานทั้ง 2 แห่งของ UWSA

“ในสถานการณ์โรคระบาดอย่างนี้ ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินก็ลำบาก ไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้ชาวบ้านจะทำงานยังไง ที่ออกแถลงมาคืออยากให้ที่ดินคืนชาวบ้านเป็นอันดับแรก” ตัวแทน SHRF กล่าว พร้อมระบุว่า “อยากจะให้ชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะทางฝั่งนี้ (พม่า) หรือฝั่งนู้น (ไทย) ก็เหมือนกัน มันถ้าทำโรงงานอันนี้ขึ้นมาจริงๆ จะได้รับผลกระทบทั้งสองฝั่ง”

ท้ายที่สุดแล้ว ทางจายหอแสง ข้อกังวลว่า รัฐบาลที่นำโดยทหารจะเดินหน้าผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่ฟังเสียงประชาชน 

ทั้งนี้ กรณีการเดินหน้าโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่ฟังเสียงประชาชนถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงในยุคหลังรัฐประหาร มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาถกในเวทีอภิปรายใน สัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 64 โดยหม่อทุนอ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวในเวทีอภิปรายว่า กฎหมายคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมในพม่าแต่เดิมที่อ่อนแออยู่แล้ว หลังรัฐประหารจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติของชาวชาติพันธุ์

หม่อทุนอ่อง กล่าวด้วยว่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อน ในสมัยรัฐบาล NLD ยังรับฟังประชาชนบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีการหารือใดๆ เกี่ยวกับโครงการที่จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม มีการเร่งรัดดำเนินโครงการลักษณะนี้ รัฐบาลตัดสินใจฝ่ายเดียว ทำได้ฝ่ายเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กองทัพพม่าเดินหน้าทำโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น ไม่ฟังเสียง ปชช. แม้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

หมายเหตุ มีการเปลี่ยนวิธีสะกดคำว่า  "ห้องลึก" เป็นคำว่า "ฮ่องลึก"  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท