สปสช. จัดระบบให้รักษาต่อเนื่องน้ำยาล้างไตส่งถึงบ้าน ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองพื้นที่น้ำท่วม

สปสช.ห่วงผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบอุทกภัย จัดระบบให้รักษาต่อเนื่อง เข้ารักษานอก รพ.ตามสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน รพ.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. พร้อมจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังเผยด้วยว่าตั้งแต่เดือน พ.ค. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 3,626 ราย รวมเป็นเงินกว่า 230 ล้านบาท ด้านญาติผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอบคุณ สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ชี้ช่วยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต  

27 ก.ย.2564 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดในหลายจังหวัดขณะนี้ ทั้งการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ สปสช.ให้ความช่วยเหลือประชาชนและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ และกำชับให้จัดระบบเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง  

ในส่วนผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องนั้น สปสช.มีระบบส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านและมีจำนวนเก็บสำรองได้มากเพียงพอ จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ยังไม่พบปัญหาผู้ป่วยขาดน้ำยาล้างไตและยังไม่มีหน่วยบริการใดแจ้งปัญหาเข้ามา ซึ่งน้ำยาล้างไตที่บ้านผู้ป่วยยังมีเพียงพอ และผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งต้องไปฟอกที่ รพ.นั้น ทาง รพ.และ สปสช.ได้จัดระบบเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากที่ไหนมีปัญหาก็สามารถหา รพ.สำรองให้ได้ทันที 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ป่วยจะต้องรับบริการยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ในกรณีภาวะฉุกเฉิน บอร์ด สปสช.ได้เคยมีมติร่วมกันให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สามารถรับบริการรักษายังหน่วยบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามเกณฑ์ฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาดูแลต่อเนื่องสามารถเข้าถึงบริการได้ ซึ่ง สปสช.ในแต่ละเขตพื้นที่ได้ประสานงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) แต่ละ อบต.และเทศบาล ประสานเรื่องการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องแล้ว  

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สปสช.ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่ให้บริการผู้ป่วยในช่วงน้ำท่วม ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า และสามารถเบิกงบประมาณจาก สปสช.ได้ โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมสามารถใช้บริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามสิทธิได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางหน่วยบริการจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามขั้นตอนต่อไป โดยหน่วยบริการจะบันทึกรหัสโครงการพิเศษ X38000 อุทกภัยน้ำท่วม ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เพื่อเบิกจ่ายกับ สปสช.ต่อไป  

สปสช.ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิดไปแล้วกว่า 230 ล้านบาท 

เลขาธิการ สปสช. ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากที่ สปสช.เปิดให้ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาทั้งหมดจำนวน 4,065 รายและยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 287 ราย โดยทางคณะอนุกรรมการระดับเขตได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยแล้ว 3,626 ราย และพิจารณาไม่จ่าย 1,152 ราย เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยเบื้องต้นไปแล้ว 230,798,800 บาท 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์นั้นๆ โดยระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 3,121 ราย ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มีผู้รับเงินเยียวยาแล้ว 41 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท มีญาติผู้เสียชีวิตรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว 464 ราย  

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาแยกตามเขต พบว่าสปสช.เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องเข้ามามากที่สุด จำนวน 1,045 ราย รองลงมาคือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 664 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี 556 ราย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากจำนวนเงินที่มีการจ่ายเยียวยาไป พบว่า สปสช.เขต 13 กทม. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 25,685,500 บาท รองลงมาคือ สปสช.เขต 4 สระบุรี 22,708,500 บาท และ สปสช.เขต 6 ระยอง จ่ายเงินแล้ว 20,208,800 บาท  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ซึ่งแม้ในภายหลังจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากวัคซีน ก็ไม่เป็นเหตุให้เรียกเงินคืนแต่อย่างใด 

สมคิด ปุณะศิริ ชาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในผู้สูญเสียพี่สาวหลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เปิดเผยว่า พี่สาวของตนอายุ 70 กว่าปี ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 และเสียชีวิตในวันที่ 13 ก.ค. 2564 ซึ่งหลังจากพี่สาวเสียชีวิตไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเยี่ยมแสดงความเสียใจและแนะนำให้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทางญาติจึงยื่นคำร้องไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 และได้รับการอนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยทาง สปสช.อนุมัติเต็มเพดานจ่ายที่ 4 แสนบาท 

นางสมคิด กล่าวว่า กระบวนการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีข้อติดขัด ใช้เอกสารเพียงใบคำร้อง สำเนาบัตรประชาชนของพี่สาวและสามีในฐานะผู้รับเงินช่วยเหลือ และใบชันสูตรของแพทย์ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งต้องขอบคุณ สปสช. เพราะเงินนี้ใช้ช่วยเหลือคนได้ ตอนนี้ก็มอบให้พี่เขยทั้งหมดเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เนื่องจากทั้งพี่สาวและพี่เขยอายุ 70 กว่าปีแล้ว ไม่มีรายได้อะไร แม้แต่ตอนพี่สาวเสียชีวิตก็ไม่มีเงินกันเลย เงินจำนวนนี้ก็พอจะทำให้พี่เขยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการของ สปสช.นั้น หลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท