แถลงข่าว 'วันยุติการตั้งครรภ์สากล' หวังยุติการตายและบาดเจ็บจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม แถลงข่าวออนไลน์ วันยุติการตั้งครรภ์สากล 2564 รณรงค์ #MakeUnsafeAbortionHistory หวังยุติการตายและบาดเจ็บจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย

 

27 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันที่ 28 ก.ย. ของทุกปี นานาชาติจัดให้เป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมโลกตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ด้วยการกำจัดอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านกฎหมาย ระบบบริการ และทัศนคติของสังคม ที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการจนเกิดการบาดเจ็บและตายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีความก้าวหน้าของการปรับแก้กฎหมายที่สำเร็จในหลายประเทศ เช่น อาเจนติน่า เกาหลีใต้ เอควาดอร์ ออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย

คำขวัญสำหรับการรณรงค์ในปี 2564 นี้ คือ Safe Abortion Is Essential Healthcare (ยุติการตั้งครรภ์คือบริการสุขภาพที่จำเป็น) โดยใช้แฮชแท็กในการรณรงค์ว่า #MakeUnsafeAbortionHistory (#ให้การแท้งไม่ปลอดภัยจบที่รุ่นเรา) เครือข่ายที่ทำงานเรื่องการเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยในประเทศไทย ได้จัดสัปดาห์เฉลิมฉลองสิทธิการทำแท้งระหว่างวันที่ 18 – 30 กันยายนนี้ โดยมีกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ได้แก่ การสัมมนาวิชาการ การเสวนาในประเด็นทำแท้ง และ การสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย รวมทั้งการแถลงข่าวเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล

การแถลงข่าววันนี้ (27 ก.ย.64) เริ่มจากการกล่าวถึงความพยายามถึงสามปีเต็ม ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งในประเทศไทยที่ใช้มานานกว่า 60 ปี ได้สำเร็จในปี 2564 มุมมองความรู้สึกของตัวแทนผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ จากนั้น รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวถึงความสำคัญของวันยุติการตั้งครรภ์สากล 2564 และการทำงานร่วมกันของภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ที่ทำให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ยกระดับขึ้นเป็นบริการสุขภาพที่จำเป็นได้

ในลำดับถัดมา เป็นการแถลงข่าวพันธสัญญาต่อการพัฒนาสิทธิและการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย โดย นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล จากกองบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทของศูนย์พึ่งได้ที่ให้บริการผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ท้องไม่พร้อม และการส่งต่อช่วยเหลือตามทางเลือกที่รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการสิทธิของยุติการตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ที่นานาชาติให้การรับรอง คุณชาติวุฒิ วังวล ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาระบบปรึกษา ดูแลท้องไม่พร้อม รวมทั้งบริการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย

ในหลายประเทศแม้ว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายก็ตาม แต่ปัญหาหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะทัศนคติของบุคคลและสังคม รวมทั้งระบบบริการสุขภาพที่เอื้ออำนวย ประเด็นนี้ได้ฉายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นโดย พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสา RSA ผู้เป็นต้นทางของการนำไปสู่การแก้กฎหมายและข้อเท็จจริงของระบบบริการในวันนี้ ร่วมกับ สมวงศ์ อุไรวัฒนา สายปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ที่ได้ให้บริการปรึกษาท้องไม่พร้อมมากกว่าหมื่นรายหลังการแก้ไขกฎหมายในปีนี้ และพบว่ากฎหมายที่มีการปรับแก้นั้น ยังไม่ครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด19 ที่ส่งผลให้ทางเลือกของผู้หญิงคือยุติการตั้งครรภ์ 

สำหรับข้อท้าทายในอนาคต นพ.นิรันดร์ ชัยศรีสุขอำพร ตัวแทนจากสมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA กล่าวถึงอุปสรรคในระบบบริการสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และแนวทางการพัฒนาบริการยุติการตั้งครรภ์แบบ New normal ในยุคหลังโควิด19 คุณปิยนุช โคตรสาร ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พูดถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิทำแท้งของแอมเนสตี้ในระดับนานาชาติ ที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในหลายๆ ประเทศ ข้อเรียกร้องและมุมมองต่อการขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิการทำแท้งในประเทศไทย และสุไลพร ชลวิไล ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง ได้ชี้ให้เห็นช่องว่างการเข้าถึงบริการ และข้อท้าทายในด้านทัศนคติของสังคมและบุคลากรในระบบบริการ ที่ยังคงต้องพัฒนาความเข้าใจเพื่อให้สิทธิการยุติการตั้งครรภ์เป็นไปได้อย่างแท้จริง

ในตอนท้าย รศ.กฤตยา ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ได้สรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าวเนื่องในวันยุติการตั้งครรภ์สากล รวมทั้งก้าวต่อไปของประเทศไทยในการพัฒนางานเพื่อยุติการตายและบาดเจ็บจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป พร้อมรับชมคลิป “ร่วมมือร่วมใจ #ให้การทำแท้งไม่ปลอดภัยจบที่รุ่นเรา” จากบุคคลของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย

โดยในวันพรุ่งนี้ 28 ก.ย. เวลา 13.30-15.30 น. เพจ rsathai จัดเสวนาออนไลน์ “พส. เพื่อ พส. (แพทย์สาวเพื่อเพื่อนสาว) แพทย์หญิงกับการยุติการตั้งครรภ์” จัดโดย สมาคมพัฒนาอาสา RSA ต่อมา 29 ก.ย. เวลา 13.30-15.30 น. เพจเดิมจะถ่ายทอดเสวนาออนไลน์ “When the laws let the door opens for safe abortion: โรงเรียนแพทย์จะไปต่อในทิศทางใด?” ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท