Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการจัดงานรำลึก 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมในสถานที่จริงที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่าง วอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่าอ้างโควิด-19 เพราะ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการแล้ว

28 ก.ย. 2564 สำนักข่าว The Reporters, สำนักข่าวราษฎร และข่าวสดออนไลน์ รายงานตรงกันว่า วันนี้ (28 ก.ย. 2564) เวลาประมาณ 11.30 น. คณะกรรมการจัดงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2564 แถลงข่าวที่ตึกกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยืนยันเดินหน้าจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยใช้พื้นที่จริง เพราะ ศบค. ผ่อนคลายมาตรการ สามารถจัดกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้งได้

สุเทพ สุริยะมงคล ประธานคณะกรรมการจัดการงาน 45 ปี 6 ตุลา 2519 กล่าวว่า คณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา 2519 ได้รับการแต่งตั้งจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 โดยมีวาระการดำเนินงาน 2 ปี ระบุหน้าที่ต้องจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 6 ตุลา 2519 ประจำปี มีจุดประสงค์เพื่อ 1. ดำเนินการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 6 ตุลา 2519 ประจำปีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. เพื่อเยียวยาความรู้สึกผู้สูญเสียและผู้จากไปในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. รณรงค์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อฟื้นฟูจิตสำนึกสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยแก่เยาวชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง 4. หน้าที่อื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปโดยมีวาระดำเนินการ 2 ปี

โดยตอนแรกมหาวิทยาลัยขอให้จัดกิจกรรมรำลึก 6 ตุลาปีในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งผู้จัดงานขอรับไว้เป็นทางเลือกในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังรุนแรง อย่างไรก็ตาม วานนี้ (27 ก.ย. 2564) ศูนย์บริหารสถานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศผ่อนปรนมาตรการ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คณะผู้จัดงานจึงต้องการจัดกิจกรรมในสถานที่จริง โดยจะจัดกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง มีระบบคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน มาตรการเว้นระยะห่าง ขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมงานพกเจลแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดการร่วมกิจกรรม พร้อมกันนี้ คณะผู้จัดได้ยกเลิกงานสัมมนาวิชาการในห้องประชุมเพื่อลดความแออัด และเป็นไปตามแนวทางใหม่ที่ ศบค. ประกาศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้

"ศบค. ได้มีการผ่อนคลายเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งโรงหนังยังจัดได้ ในร้านอาหารยังมีดนตรีเล่นได้ เรามาจัดงานเพื่อรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลาในสถานที่โล่งแจ้ง มีการควบคุมให้คนเว้นระยะห่าง ผมมองไม่เห็นเหตุผลเลยว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงไม่ให้เราจัดในสถานที่จริง เราจึงต้องมาแถลงว่าเรายืนยันที่จะจัดงานในสถานที่จริง" สุเทพกล่าว

"สิ่งที่เราเรียกร้องคือขอให้เรามีพิธีกรรมเพื่อรำลึกถึงคนตาย มีพิธีกรรมทางสงฆ์ มีการกล่าวปาฐกถา มีการวางพวงหรีดพวงมาลาให้กับผู้เสียชีวิต แค่นั้นเองครับ" สุเทพกล่าว

คณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา 2519 ได้รับการแต่งตั้งจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.63 โดยมีวาระการดำเนินงาน 2 ปี ระบุหน้าที่ต้องจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 6 ตุลา 2519 ประจำปี เยียวยาความรู้สึกผู้สูญเสีย และรณรงค์กิจกรรมฟื้นฟูจิตสำนึกสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในขณะกรรมการการจัดงานฯ กล่าวว่า ตนและสุเทพซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดงานฯ ยืนยันจะจัดงานครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา ที่ ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 7.00 น. เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ตนได้ยืนยันกับทางมหาวิทยาลัยว่าไม่มีข้อกฎหมายใดที่ห้ามจัดงานและ ศบค. ก็เพิ่งประกาศผ่อนคลายมาตรการ จึงมั่นใจว่ารูปแบบการจัดกิจกรรมจะสามารถทำได้อย่างแน่นอน

กฤษฎางค์กล่าวต่อไปว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดงานรำลึก และไม่ใช่เรื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันเมื่อ 45 ปีที่แล้ว เพื่อสิทธิเสรีภาพเพื่อประชาธิปไตย และสืบสานอุดมการณ์ 14 ตุลา ซึ่งอุดมการณ์เหล่านี้ยังไม่สำเร็จ และไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวในทุกวันนี้ และคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ตายผ่านออนไลน์ แต่ตายจากสถานที่จริง การจัดงานรำลึก 6 ตุลา คือ การกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้เสียชีวิตและบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย กฤษฎางค์กล่าวว่าหลังจากนี้ ตนจะเดินทางไปพูดคุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชี้แจงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องจัดงานในสถานที่จริง หากมหาวิทยาลัยยืนยันไม่ให้จัด ก็คงไม่ได้จัดที่นี่ แต่คงต้องเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรม อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าหลังการพูดคุยกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแล้ว เชื่อว่าจะได้จัดงานอย่างแน่นอน

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 6 ต.ค. 2564 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงหน้า ตั้งแต่เวลา 07.30-12.00 น. จะมีการทำบุญตักบาตรตามความเชื่อทางศาสนา การวางพวงหรีด การกล่าวปาฐกถาโดยผู้แทนองค์กรต่างๆ และมีพิธีมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสิทนธุ์ให้กับพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยกิจกรรมในวันดังกล่าวเพื่อมุ่งหมายให้ฟื้นฟูเกียรติภูมิวีรชน 6 ตุลา สานปณิธานวีรชน 6 ตุลาให้สังคมไทยเดินหน้าเป็นสังคมประชาธิปไตยตามที่วีรชนต้องการ รวมทั้งป้องกันปราบปรามนักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างที่ผ่านมา รวมทั้งเรียกร้องให้นำคนผิดมาลงโทษ ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการจัดกิจกรรมของทางสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกิจกรรม เช่น การจัดนิทรรศการ การแขวนป้ายผ้า การกล่าวปราศรัย พูดเรื่องเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง และมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางผู้จัดขอเก็บเป็นความลับ ขอให้ประชาชนและสื่อมวลชนติดตามข่าวสาร และเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดวันที่ 6 ต.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net