ชำนาญ จันทร์เรือง: องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ อะไร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พลันที่ ครม.มีมติให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต.หลังจากที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาเกือบ 10 ปี และ กกต.ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ บรรดาชาวกรุงหรือผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆก็มีความสงสัยว่า อบต.ที่ว่านี้มันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร เพราะไม่ค่อยได้คุ้นเคยกับ อบต.นัก พอนึกถึง อบต.ก็มักแต่จะนึกถึงแต่เสาไฟกินรีเท่านั้น

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ส่งผลให้มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนในระดับรากหญ้าเป็นอย่างมาก โดยได้ยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์คือ มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ขึ้นเป็น อบต. 

อบต.มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท ปัจจุบันมี อบต. จำนวน 5,300 แห่ง

ความเป็นมา
เมื่อปี 2537 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ซึ่งโดยโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 กำหนดให้ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการบริหาร

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาสองประเภท ประเภทแรกเป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล ประเภทที่สองเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนหมู่บ้านละ 2 คน

ส่วนคณะกรรมการบริหารประกอบด้วย กำนันเป็นประธานโดยตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านอีกไม่เกิน 2 คน และสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 4 คน รวมแล้วมีคณะกรรมการบริหารได้ไม่เกิน 7 คน

ต่อมาในปี 2542 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยมีการแก้ไขให้สมาชิกสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และให้คณะกรรมการบริหารมาจากความเห็นชอบของสภา

ในปี 2546 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 โดยได้มีการยกเลิกชื่อเรียก “คณะกรรมการบริหารและกรรมการบริหาร” เปลี่ยนเป็น “คณะผู้บริหาร” และชื่อเรียก “ประธานกรรมการบริหาร” เปลี่ยนเป็น “นายกองค์การบริหารส่วนตำบล” รองประธานกรรมการบริหารเปลี่ยนเป็น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เปลี่ยนชื่อเรียก “ข้อบังคับตำบล”เป็น “ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล” และยกเลิกไม่ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเลขานุการคณะผู้บริหาร

ในที่สุดในช่วงปลายปี พ.ศ.2546 ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อรัฐสภาได้พิจารณาผ่านกฎหมายท้องถิ่นแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ อันได้แก่ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 12) และ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546 โดยเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับคือการกำหนดให้ฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่น ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าตามกฎหมายจัดตั้งฯแล้ว ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบของไทยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเหมือนกันหมดทั้งประเทศ (ยกเว้นในช่วง คสช.)

นายก อบต. คือใคร
นายก อบต. คือหัวหน้าผู้บริหาร อบต. เป็นควบคุมและรับผิดชอบการบริหารราชการของ อบต. ตามกฎหมายและเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต.
การเลือกตั้งและการดำรงตำแหน่งของนายก อบต.

อบต. มีนายก อบต. 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้งและมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่นายก อบต.ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
ผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของ นายก อบต. ดังนี้

(1) รองนายก อบต. - นายก อบต. สามารถแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบต. ได้ไม่เกิน 2 คน

(2) เลขานุการนายก อบต. - นายก อบต. สามารถแต่งตั้ง เลขานุการนายก อบต. จากผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกสภา อบต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ 1 คน (หมายเหตุ - อบต.ไม่มีตำแหน่งที่ปรึกษาเหมือนเทศบาลหรือ อบจ.)

อำนาจหน้าที่ของ นายก อบต.
1. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับทางราชการ

(2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบต.

(3) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายก อบต. และเลขานุการนายก อบต. วางระเบียบเพื่อให้งานของ อบต. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่น

2. ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบล ลูกจ้างและพนักงานจ้างของ อบต.

3. นายก อบต. รองนายก อบต. หรือผู้ซึ่งนายก อบต. มอบหมาย มีสิทธิเข้าประชุมสภา อบต. และมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุมแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

4. เป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ อบต. ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

สภา อบต.
สภา อบต.มีหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติและตรวจสอบการทำงานของคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบต.ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยให้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง หากหมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน /หาก อบต. ใด มีเพียง 1 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิก 6 คน /หากมี 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน/ หากมี 3 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน /หากมี 4 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และ 2 หมู่บ้านที่มีประชากรมากเพิ่มอีกหมู่บ้านละ 1 คน/ และหากมี 5 หมู่บ้านให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และอีก 1 หมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุดเพิ่มอีก 1 คน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

จากที่กล่าวมาข้างต้น คงพอที่จะทราบถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ของนายก อบต.และสภา อบต.บ้างแล้วนะครับ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท