Skip to main content
sharethis

คณะสังคมฯ ม.เกษตร จัดสัมมนาออนไลน์ "คุกในมุมมองทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา" ซึ่งเผยให้เห็นประวัติราชทัณฑ์ในฐานะมรดกยุคอาณานิคม ความลักลั่นของคุกไทยสมัยใหม่ที่รับแนวคิดตะวันตกเข้ามาแต่ยังคงการปฏิบัติแบบจารีต และข้อเสนอการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสังคมและตุลาการที่ยึดโยงกับประชาชน

ภาพขณะสัมมนาเรื่องคุก โดยมีศรัญญู เทพสงเคราะห์ (ขวา-บน) และชลิตา บัณฑุวงศ์ (ขวา-ล่าง) อาจารย์ประจำคณะสังคมฯ ม.เกษตรฯ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้
 

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 64 เวลา 17.00-19.00 น. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกันจัดสัมมนาออนไลน์เผยแพร่บนกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะ ‘KU History’ ในหัวข้อ “คุกในมุมมองทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา” โดยมีศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมฯ ม.เกษตรฯ และชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมฯ ม.เกษตรฯ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อดังกล่าว

  • การกำเนิดคุกสมัยใหม่เริ่มต้นในยุโรปและอเมริกาสมัยศตวรรษที่ 18 เมื่อนักปฏิรูปเสรีนิยมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการลงทัณฑ์ให้คำนึงความมีมนุษยธรรมและเน้นแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักโทษเพื่อส่งกลับคืนสู่สังคม ซึ่งต่างจากการลงทัณฑ์แบบจารีต ซึ่งเน้นการทรมาน และประหาร 
  • ศรัญญู ระบุว่า อย่างไรก็ตาม คุกสมัยใหม่นอกยุโรป เป็นผลผลิตจากยุคอาณานิคม และไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากยุคภูมิปัญญา ศตวรรษที่ 18 
  • คุกไทยสมัยใหม่กำเนิดในช่วง ร.5 ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของอาณานิคม และ ร.5 รับเอาแนวคิดการจัดการมาจากอาณานิคมอังกฤษในสิงคโปร์ 
  • ศรัญญูตั้งข้อสังเกตว่าคุกไทยสมัยใหม่เป็นลูกผสมระหว่าง 'จารีต' และ 'สมัยใหม่' เนื่องจากยังคงการลงโทษบางอย่างจากยุคสมัยจารีต โดยเฉพาะการแบ่งแยกชนชั้นนักโทษ และการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น
  • ชลิตา มองว่า สังคมไทยกับการลงทัณฑ์สมัยใหม่ยังคงเป็นเรื่องห่างตัวคนไทย และชวนสังคมปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มองความผิดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเสนอว่าตุลาการ และกระบวนการพิจารณาคดีความอาญา ควรยึดโยงอยู่กับประชาชน

กำเนิดคุกสมัยใหม่

ก่อนเข้าสู่ประวัติศาสตร์คุกในไทย ศรัญญู ชวนดูนิยาม และต้นกำเนิดคุกสมัยใหม่ทางฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ ว่ามีแนวคิดที่มาที่ไปอย่างไร 

เบื้องต้น อาจารย์ภาคประวัติฯ กล่าวว่า นิยาม ‘คุก’ คือสถานที่หรือมาตรฐานการลงทัณฑ์ผู้ที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในแต่ละประเทศ เป็นสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่ที่มารากฐานมาจากยุคภูมิปัญญา (Enlightenment) หรือนักปฏิรูปเสรีนิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะมีการแพร่ขยายแนวคิดเรื่องคุกไปทั่วโลกในศตวรรษที่ 19 ผ่านการขยายอิทธิพลแบบจักรวรรดินิยม 

งานชิ้นที่มีชื่อเสียงต่อการศึกษาเรื่องคุก ศรัญญู ยกตัวอย่างเด่นๆ ด้วยกัน 3 ชิ้นประกอบด้วย มิเชล ฟูโกต์ เดวิด ร็อธแมน และไมเคิล อิกนาทีฟ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาเรื่องคุกตั้งแต่ยุค 1970 เป็นต้นมา 

ทั้งสามงานเผยให้เห็นประวัติศาสตร์ก่อนกำเนิดคุกสมัยใหม่จะมีลักษณะการทรมานทางร่างกาย และประหาร เพื่อสะท้อนอำนาจขององค์อธิปัตย์ แต่หลังปลายยุคศตวรรษที่ 18 นั้นมีการเรียกร้องจากนักปฏิรูปเสรีนิยมให้ตระหนักถึงคุณค่าทางมนุษยธรรม และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปคุกและการลงโทษที่ลดทอนความรุนแรง ถูกเปลี่ยนเป็นการควบคุมจิตใจผู้กระทำผิด เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องทางศีลธรรม และส่งกลับคืนสู่สังคม 

ขณะที่งานของอิกนาทีฟ ซึ่งศึกษาการกำเนิดคุกสมัยใหม่ของอังกฤษ ระบุด้วยว่า คุกของอังกฤษจะคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักโทษกลับคืนสู่สังคมอุตสาหกรรมโดยการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเมื่อนักโทษคนไหนพ้นโทษแล้ว นักโทษจะกลายเป็นแรงงานราคาถูก เพื่อรับใช้สังคมอุตสาหกรรมต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงคุกสมัยใหม่นอกยุโรป และสหรัฐฯ กลับไม่สามารถใช้แนวคิดกระบวนทัศน์ของฟูโกต์ หรือนักวิชาการตะวันตกในการศึกษาได้ เนื่องจากคุกสมัยใหม่ในประเทศอาณานิคมไม่ได้มีรากฐานแนวคิดการลงทัณฑ์จากยุคภูมิธรรมในศตวรรษที่ 18 ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องมนุษยธรรม แต่เป็นผลผลิตจากการส่งออกยุคอาณานิคมปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งคุกอาณานิคมถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมชนพื้นเมือง บีบบังคับ ควบคุมแรงงาน ใช้แรงงานนักโทษเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าอาณานิคม มากกว่าที่จะปรับปรุงสภาพจิตใจและพฤติกรรมให้กลับมาเป็นคนดีมีศีลธรรมอีกครั้ง 

ขณะที่การกำเนิดคุกสมัยใหม่ในประเทศกึ่งอาณานิคม เช่น จีน ณี่ปุ่น และออตโตมัน เป็นผลจากแรงกดดันของมหาอำนาจจากทางตะวันตก ทำให้ชนชั้นนำของประเทศดังกล่าวมีการปฏิรูประบบการลงทัณฑ์ให้มีมาตรฐาน มีความเป็นศิวิลัย เพื่อเป็นเงื่อนไขในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแง่นี้มีความใกล้เคียงกับบริบทของไทย

คุกไทยสมัยใหม่ลูกผสมจารีตและสมัยใหม่

อาจารย์จากภาคประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การกำเนิดคุกไทยสมัยใหม่ถูกสร้างในลักษณะกึ่งอาณานิคม มีความเป็นลูกผสมระหว่างการลงทัณฑ์แบบจารีต และการลงทัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีร่องรอยการลงทัณฑ์แบบจารีตในยุคปัจจุบัน เช่น การลงทัณฑ์ตามลำดับชั้นของสังคม ไม่ใช่ลำดับชั้นตามคำพิพากษา เน้นเรื่องการใช้แรงงาน

แนวคิดการลงทัณฑ์แบบจารีตของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะเน้นไปที่การลงทัณฑ์ตามคติความเชื่อศาสนาพุทธมาทำให้เป็นรูปธรรม ใครที่ละเมิดธรรมะ จะต้องถูกลงโทษ 

หากย้อนไปดูลักษณะการลงทัณฑ์สมัยก่อน จะมีวิธีทรมานร่างกายที่หลากหลาย เสมือนการลงทัณฑ์สัตว์นรกตามคติไตรภูมิพระร่วง หรือลงโทษคนพาลตามหลักพระไตรปิฎก มีการใช้แรงงาน และคุมขังในที่น่าหวาดหวั่น มีการพันธนาการร่างกาย ลดทอนความเป็นมนุษย์

คุกที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบนี้ได้ดี คือ คุกหน้าวัดโพธิ์ที่ออกแบบตามคติภพภูมินรก แม้แต่เทวรูปประจำราชทัณฑ์ก็ใช้เทพยาดาจากนรก คือ ‘เจตคุปต์’ 

แผนผังคุกหน้าวัดโพธิ์ และเจ้าเจตคุปต์ (ขวา)

อย่างไรก็ตาม สมัยรัชกาลที่ 5 คุกจารีตถูกท้าทายจากอำนาจภายนอก เมื่อไทยต้องปะทะสังสรรกับเจ้าอาณานิคมทำให้ต้องปรับตัว เพื่อให้ตัวเองมีความเป็นศิวิลัยในด้านต่างๆ หนึ่งในนั้นคือราชทัณฑ์ การพิจารณาการลงโทษ หรือตุลาการ ซึ่งการลงโทษแบบจารีตไทยก็ถูกวิจารณ์จากประเทศตะวันตกอย่างมากสะท้อนจากบันทึกของหมอบลัดเลย์ หรือแดน บีช แบรดลีย์ แพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 

ทั้งนี้ การพัฒนามาตรฐานลงทัณฑ์แบบสมัยใหม่ รัชกาลที่ 5 ให้ความสนใจและรับวิธีคิดการจัดการคุกมาจากประเทศอาณานิคมโดยเฉพาะสิงคโปร์ ช่วง พ.ศ. 2413 และนำมาประยุกต์ใช้กับสยาม ซึ่งหลักฐานตรงนี้จะขัดแย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่พยายามบอกว่าต้นแบบคุกไทยมาจากอังกฤษ เพราะหากพิจารณาจากแบบแปลนการสร้างเรือนจำของไทยยุค ร.5 เช่น ที่สวนรมณีนาถ จะเป็นการสร้างแบบแกนหลัก “Axial Plan” และมีอาคารหลายหลังอยู่รวมกัน ซึ่งตรงกับแบบเรือนจำของสิงคโปร์ มากกว่าแบบยุโรปที่เป็นสถาบันแบบเบ็ดเสร็จ (Panopticon)  

นอกจากนี้ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางสมัยรัชกาล 5 ก็ทำให้มีการพยายามนำนักโทษที่อยู่ตามกรม/กองต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้อำนาจกษัตริย์ หรือเรียกว่า “การรวมอำนาจคุมขังนักโทษ” ซึ่งทำให้ขุนนางตามหัวเมืองต่างสูญเสียประโยชน์จากนักโทษ ขณะเดียวกัน สถาบันกษัตริย์กลายเป็นหน่วยงานหลักในการขูดรีดหาประโยชน์จากนักโทษแทน หน่วยงานหลักที่ควบคุมนักโทษจะกระทำผ่าน ‘กระทรวงนครบาล’ เพียงหน่วยราชการเดียวเฉพาะพื้นที่ในพระนคร ขณะที่ตามหัวเมืองก็ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย 

อย่างไรก็ตาม แม้จะรับเอาแนวคิดสมัยใหม่จากอาณานิคมเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับมีวิธีการเฉพาะไม่เหมือนกับในอาณานิคม แต่มีความเป็นจารีตด้วย สิ่งที่สะท้อนได้ชัดคือการสร้างคุกไม่ใช่เพื่อการสร้างวินัย หรือปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อคืนนักโทษสู่สังคม แต่เป็นการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น และไอเดียตรงนี้ยังคงทิ้งร่องรอยจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคุกสยามสมัยใหม่คือการจัดลำดับชั้นนักโทษโดยแบ่งเป็น ชาย หญิง และผู้มีบรรดาศักดิ์ต้องโทษ มีการแบ่งเป็นนักโทษชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง และงานของนักโทษในแต่ละชั้นตรงนี้จะไม่เหมือนกัน มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์ ซึ่งมันเป็นวิธีแบบจารีต

แนวคิด ‘ลงทัณฑ์สมัยใหม่’ ที่ยังไม่ถึงสังคมไทย

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับศรัญญูว่า คุกไทยสมัยใหม่มีความลักลั่นของแนวคิดการลงทัณฑ์ แม้จะรับเอาหลักสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอในการจัดการคุกสมัยใหม่ แต่ประเทศไทยกลับยังให้ความสำคัญต่อการลงทัณฑ์ในแบบเดิม หรือจารีต เน้นการลงโทษเพื่อให้หลาบจำ ไม่กล้ากระทำผิด หรือก็คืออาจจะยังไม่ค่อยมองเห็น หรือให้ความสำคัญในการให้ความสำคัญกับแนวคิดของคุกสมัยใหม่ 

ขณะที่คุกไทยสมัยใหม่เน้นการเปลี่ยนนักโทษกลับคืนสู่สังคม แต่ประเทศไทยไม่เคยทำตามพันธกิจ “คืนนักโทษสู่สังคม” นี้ได้เลย แม้จะรับเอาแนวคิดสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อแนวคิดการปรับปรุงแก้ไขตามแบบสมัยใหม่ คือ สังคมไทยมีแนวโน้มเห็นด้วยกับการใช้วิธี “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เช่น การวิสามัญฆาตกรรม มองเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทัณฑ์ที่รวดเร็วทันใจโดยเฉพาะกับผู้ต้องหาคดีร้ายแรง รอกระบวนการยุติธรรมสำเร็จโทษมันนานเกินไป หรือการประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาระหว่างการทำแผนประกอบการ เราจะไม่ค่อยพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่าไรในประเด็นเหล่านี้

สำนึกเกี่ยวกับสังคมไทยยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังมีรูปแบบมุมมองเรื่องการลงทัณฑ์ไม่ต่างจากยุคสมัยจารีตมากนัก มองอาชญากรรมว่าเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่งและเขาคนนั้นควรได้รับโทษอย่างสาสม 

ประชาชนมักมองผ่านแว่นตาทางศาสนาว่าเป็นเรื่องของบุญกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เรื่องไตรภูมิพระร่วง มันไม่มีการมองมิติการปรับปรุงแก้ไขแบบการลงทัณฑ์สมัยใหม่ รวมถึงไม่ได้มองว่าความผิดของคนๆ หนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือในเชิงระบบต่างๆ ที่ผลักดันให้คนๆ หนึ่งกระทำผิด 

ผลที่เกิดขึ้นจากคติการลงทัณฑ์แบบจารีตในสังคมไทยก็คือคุกจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไข แม้ราชทัณฑ์จะเป็นภาคีในอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องขัง แต่เมื่อสังคมไม่ได้มองว่าคุกเป็นที่แก้ไขปรับปรุงนักโทษ รัฐไทยก็ไม่ได้ลงทุนในเรื่องนี้มาก ถ้าลองไปสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพบว่าเป็นกรมที่ได้รับงบประมาณน้อยอย่างมาก และพอสังคมไม่ให้ความสนใจ การต่อรองเรื่องงบฯ ก็ถดถอยลงตามมา 

นี่จึงเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อตอบคำถามว่าสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นมนุษย์ของผู้คุมขังในเรือนจำ จึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษ และสังคมอาจจะรู้สึกว่านักโทษสมควรอยู่แบบนี้ 

เปลี่ยนกระบวนทัศน์สังคม-ตุลาการที่ยึดโยงกับ ปชช.

ในเรื่องข้อเสนอนั้น อาจไม่แตกต่างจากคนที่เคยเสนอโดยทั่วไป ชลิตา ระบุว่า สังคมอาจต้องปรับเปลี่ยนมุมมองว่า การก่ออาชญากรรมในแต่ละครั้งมีเงื่อนไขและผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น มุมมองที่ว่าสังคมเป็นผู้ผลิตอาชญากร และสังคมบีบให้คนกระทำผิด 

เรือนจำไม่ใช่สถานที่ลงโทษให้สาสม แต่ต้องเน้นในมิติแก้ไขปรับปรุงคนให้กลับคืนสู่สังคมได้ กลับไปอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างราบรื่นสงบสุข

ปรับรูปแบบการลงโทษให้หลากหลายนอกเหนือจากการสั่งจำคุก เช่น การใช้กำไร EM และอื่นๆ ลดการแออัด และต้องมีการนิยามใหม่ว่าอะไรคือความผิด และโทษควรจะเป็นแบบไหน บางครั้งกฎหมายไทย มาตรการลงโทษไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำผิดนั้นๆ

ก่อนหน้านี้ก็มีภาคประชาสังคม วิชาการ และรัฐบาล เคยพยายามที่จะเปลี่ยน และขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาของเรือนจำให้ได้รับการแก้ไข อย่างเช่น “โครงการขับเคลื่อนคุกไทย เรือนจำสุขภาวะ” เป็นความร่วมมือในการเปลี่ยนคุกไทยที่ลดทอนความเป็นมนุษย์สู่เรือนจำสุขภาวะ หรือสุขภาพ เน้นการเปลี่ยนด้านในจิตใจของผู้ต้องขัง รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคมที่มีต่อผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษ 

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในคุก คุกเป็นเพียงปลายทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ถ้าอยากแก้ไขจริงๆ ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมไทยและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

ดังนั้น การแก้ปัญหาเรือนจำ ไม่ได้แก้ที่เรือนจำ แต่ต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งความลักลั่นของตุลาการไทย ไม่เคยยึดโยงอยู่กับประชาชน การเปลี่ยน 2475 โดยทฤษฎีมันคือการเคลื่อนย้ายอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จากมหากษัตริย์มาสู่ประชาชนตามหลักประชาธิปไตย แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งอำนาจตุลาการยึดโยงกับใคร หรืออะไร ตัดสินคดีในนามของใคร ประชาชนหรือไม่ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องคุกต้องคำนึงถึงต้นตอด้วย หรือการที่อำนาจตุลาการยังไม่ได้ถ่ายโอน หรือยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net