Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่อง คืนความยุติธรรมกลับสู่กระบวนการยุติธรรม
เรียน ประธานศาลฎีกา (คนใหม่) 

ดังเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่านับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้เกิดความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยผู้มีอำนาจได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกดปราบต่อผู้ที่เห็นต่าง และกระบวนการยุติธรรมได้ถูกดึงให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ มีข้อมูลและสถิติที่แสดงให้เห็นถึงการจับกุมบุคคลและการดำเนินคดีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอันสะท้อนถึงห้วงเวลาที่ไม่ปกติเป็นอย่างมาก

ศาลยุติธรรมก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการท้าทายและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าในระยะแรก ความเห็นดังกล่าวนี้อาจยังไม่ดังมากเท่าไหร่ แต่ภายหลังจากการเคลื่อนไหวของประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีประชาชน นักศึกษา เยาวชน และกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจับกุมและดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ศาลยุติธรรมก็ได้ตกเป็นเป้าแห่งการวิจารณ์อย่างมากว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักวิชาแต่อย่างใด 

นับตั้งแต่เรื่องสิทธิการประกันตัว การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุม คำตัดสินที่ดูราวกับมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในห้วงเวลานี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง

เป็นที่น่าเสียดายว่าในท่ามกลางกระแสการวิจารณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ปรากฏการชี้แจงหรือการแสดงเหตุผลที่จะช่วยทำให้ความกังขาของผู้คนได้คลี่คลายลง ดังจะเห็นได้ว่ายังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยังไม่รวมไปถึงความสงสัยที่มีความเป็นกลางของผู้พิพากษาซึ่งเคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.) แทบทั้งหมดมีเพียงความเงียบงัน และหลายครั้งก็มีการใช้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ที่แสดงความเห็นโต้แย้ง

ในห้วงเวลาที่กำลังมีการผลัดเปลี่ยนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาเกิดขึ้น นับเป็นโอกาสอันดีที่ควรจะได้มีการทบทวนถึงการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้คำอธิบายต่อสาธารณะให้หลายประเด็นที่เป็นคำถามซึ่งสร้างความกังขาให้เกิดขึ้นในหลากหลายคดี ควรจะต้องเป็นการกระทำซึ่งสามารถอธิบายด้วยเหตุผลให้เห็นว่าการทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามหลักวิชาด้านกฎหมายตามระบบกฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งไม่ใช่มีเจตนาเพียงการปกป้องอำนาจรัฐเท่านั้น หากแต่ยังต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนควบคู่กันไป รวมถึงการดำรงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่อันจะนำมาซึ่งความไว้วางใจของสังคมที่มีต่ออำนาจตุลาการ
 
ในฐานะนักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากเหตุปัจจัยจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เช่น กระบวนการตรวจสอบภายในและภายนอกที่มีต่อฝ่ายตุลาการ แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ ระบบความรู้ด้านนิติศาสตร์ เป็นต้น ลำพังเพียงบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาก็คงไม่อาจแก้ไขความยุ่งยากอะไรได้มากนัก แต่อย่างน้อยการนำพาองค์กรให้เดินไปสู่ทิศทางของการเป็นฝ่ายตุลาการที่ยืนอยู่บนหลักวิชาและความรู้ด้านกฎหมายคงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่ให้แผ่ขยายไปมากขึ้น

ขอเน้นย้ำว่าข้อเรียกร้องในที่นี้ไม่ได้ต้องการให้อำนาจตุลาการต้องเอียงเอนเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการเรียกร้องให้อำนาจตุลาการทำหน้าที่ในแบบที่ควรจะเป็น หลักวิชาทางกฎหมายที่ได้รับการยอมรับและยึดกันควรต้องมีความสำคัญในการพิจารณาต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ข้าพเจ้าขอย้ำข้อความซึ่งก็คงเป็นที่ตระหนักดีกันอยู่แล้วว่าอำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย การดำรงอยู่ของอำนาจตุลาการมิใช่เพราะด้วยการมีอำนาจทางกฎหมายรองรับแต่เพียงอย่างเดียว ความไว้วางใจของสังคมนับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้อำนาจตุลาการสามารถตั้งมั่นอยู่ได้อย่างมั่นคง และความไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางก็ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิชา การวางตัวที่เป็นกลาง และการยึดมั่นในหลักการของระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ

ขอแสดงความนับถือ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
29 กันยายน 2564

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net