Skip to main content
sharethis

24 องค์กรภาคประชาสังคมเปิดรายงาน ติงอาเซียนล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานประมงข้ามชาติ พร้อมเรียกร้องชาติอาเซียนให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานในภาคประมง หรือ ILO C-188 เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องแรงงานจากการตกเป็นเหยื่อแรงงานบังคับและขบวนการค้ามนุษย์ และพัฒนาสิทธิของพวกเขาต่อไป 

 

30 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากองค์กรกรีนพีช ประเทศไทย วันนี้ (30 ก.ย.) ระบุรายงานล่าสุดจากความร่วมมือของ 24 องค์กรภาคประชาสังคม เผยว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนและป้องกันอาชญากรรมของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังล้มเหลวในการปกป้องแรงงานประมงข้ามชาติที่ทำงานบนเรือประมงในน่านน้ำสากล โดยไม่สามารถแม้แต่จะจัดการให้สิทธิแรงงานประมงเท่ากับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบนบก หรือแม้แต่แก้ไขปัญหาที่แรงงานเหล่านี้กำลังเผชิญ 
 
จากรายงาน “Briefing Paper on Ratifying and Implementing ILO Convention 188 in ASEAN Member States” เผยให้เห็นความล้มเหลวในการดำเนินงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Committee on Migrant Workers) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติ (the Senior Officials’ Meeting on Transnational Crime) ในการปกป้องสิทธิแรงงานประมงข้ามชาติ โดยรายงานระบุว่า องค์กรเหล่านี้ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งแก้ปัญหาการใช้แรงงานบังคับในทะเล พร้อมเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานในภาคประมง (ILO Work in Fish Convention188) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการริเริ่มแก้ปัญหาสภาวะการทำงานและปกป้องสิทธิแรงงานประมงในระดับนานาชาติ

ฮาริยันโต ซูวาร์โน ประธานสหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานประมงว่า “อุตสาหกรรมประมงต้องพึ่งแรงงานข้ามชาติจากประเทศที่มีการจ้างงานต่ำ และทำให้แรงงานเหล่านี้เองก็ยอมทำงานโดยรับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม ผลก็คือแรงงานข้ามชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำงานบนเรือประมงต่างชาติต้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงถูกเอารัดเอาเปรียบและกลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์” 

“หากอนุสัญญาแรงงานภาคประมง ILO C-188 ถูกนำมาบังคับใช้ ประเทศในอาเซียนจะมีพันธกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในการปกป้องลูกเรือและสิทธิแรงงานของพวกเขา ชีวิตมนุษย์กลุ่มนี้กำลังอยู่ในความเสี่ยง และนี่คือก้าวหนึ่งที่จะขจัดการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง”

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาแรงงานภาคประมง ILO C-188 อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกอาเซียนควรมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรมและปลอดภัยและร่วมผลักดันมาตรการที่จะจัดการกับปัญหาการกดขี่แรงงานที่เกิดขึ้นบนเรือประมงข้ามชาติ

แอนนิสา เอโรว จากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า “ตัวเลขรายงานที่เพิ่มขึ้นของการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่เลวร้าย และการตายของลูกเรือประมงข้ามชาติในน่านน้ำสากลตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ถ้าอนุสัญญา ILO C-188 ถูกนำมาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ นี่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาสิทธิแรงงานประมงในอุตสาหกรรม” 

ตอนนี้ตัวรายงานได้ถูกส่งมอบให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว และเพื่อที่จะทำให้การนำอนุสัญญามาบังคับใช้ให้เร็ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำประกอบด้วย 1. ให้สิทธิแรงงานประมงข้ามชาติในน่านน้ำสากลเท่ากับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบนบกหรือในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและในน่านน้ำอาณาเขต 2. บังคับใช้อนุสัญญาแรงงานในภาคประมง (ILO Work in Fish Convention-188) และ 3. พัฒนาแผนในการป้องกัน ปกป้อง ดำเนินการทางกฎหมายกับการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง 

“รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีมในเสนอทางออกให้กับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ทรัพยากรจำนวนมากถูกนำมาใช้ในการส่งเสริมให้มีการรับอนุสัญญา C-188” หลวงพ่อเปาโล ผู้อำนวยการศูนย์ the Scalabrini Center for People on the Move และอนุศาสนาจารย์ประจำคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้เดินทางทะเล” (Stella Maris) ประจำกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว พร้อมระบุว่า “พวกเราร่วมกับภาคประชาสังคมขอเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนมองไปข้างหน้าและรับอนุสัญญา C-188 เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อ และสิ้นสุดความโหดร้ายของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานประมง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net