สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 ก.ย. 2564

ก.แรงงาน ระบุช่วยเหลือ อดีต พนง.บริลเลียนท์ เต็มที่แล้ว กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมชี้ข้อเรียกร้องให้ ก.แรงงาน ทดรองจ่าย 243 ล้านบาทที่เป็นเงินที่บริษัทต้องจ่ายนั้น ไม่มีกฎหมายรองรับ

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีกลุ่มแรงงานบริษัทบริลเลียน ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม นัดหมายไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 7 ต.ค.ว่า ขอชี้แจงเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2564 บริษัทดังกล่าวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จ.สมุทรปราการ ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของโรคโควิด ส่งผลให้พนักงาน 1,388 คน ถูกเลิกจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงาน จ.สมุทรปราการ มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้าง รวมเป็นเงินทั้งหมด 243,537,328.67 บาท เนื่องจากเป็นการปิดกิจการโดยไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนวงเคราห์ลูกจ้าง เป็นเงิน 22 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น โดยจ่ายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เม.ย.ที่ผ่านมา หรือเพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังถูกเลิกจ้าง พร้อมกันนั้นสำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินประกันการว่างงานแก่ลูกจ้าง เป็นเงิน 65 ล้านบาท

นายวรรรัตน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องคดีความ มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแจ้งความดำเนินคดีอาญากับกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ ที่สภ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการท้องที่เกิดเหตุ และศาลอนุมัติหมายจับกรรมการผู้จัดการบริษัทแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนคดีแพ่ง ได้ยื่นฟ้องศาลแรงงานภาค 1 ให้ออกคำสั่งบังคับให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง 243 ล้านบาท

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า อีกด้านได้มอบหมายให้กรมจัดหางาน ดูแลหางานที่ว่างในพื้นที่ จ.สมุทรปราการอีกกว่า 1 พันตำแหน่งที่พร้อมให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเข้าไปสมัครงาน อันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามทางลูกจ้างเรียกร้องให้นำงบกลางมาชดเชยเยียวยาก่อนแล้วให้กระทรวงแรงงานไปเรียกเก็บจากบริษัท ซึ่งกระทรวงได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้ว พบว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดต่อระเบียบราชการ

“ทั้งหมดคือสิ่งที่กระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สั่งการให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องแรงงานที่เดือดร้อน ดังจะเห็นได้ว่าเราทำทุกมิติที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการเยียวยา หางาน ดำเนินคดีกับนายจ้าง ซึ่งหวังว่าทางตำรวจจะสามารถดำเนินการจับกุมกรรมการผู้จัดการมาได้เพื่อบังคับคดีให้จ่ายเงินชดเชย แต่สิ่งที่ทำไม่ได้เพราะระเบียบไม่ได้เปิดช่อง ก็คือการจ่ายเงินแทนบริษัทเอกชน ซึ่งหวังว่าลูกจ้างคงจะเข้าใจ และที่ผ่านมาก็ได้ชี้แจงให้ทราบความคืบหน้าแล้วหลายครั้ง”นายวรรณรัตน์ กล่าว

ด้านนายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ตนในฐานะประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้ติดตามเหตุการณ์ เพราะมีกลุ่มแรงงานจำนวนหนึ่งมาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือ ซึ่งได้ประสานกระทรวงแรงงาน และให้ความช่วยเหลือ จ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนลูกจ้าง และเงินประกันการว่างงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการยื่นฟ้องต่อศาลให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องในชั้นศาล ชั้นพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องติดตามจับกุมผู้บริหารบริษัทมาดำเนินคดี ต่อไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานแล้ว

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนำข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านไปบอกกับแรงงานที่เดือดร้อน ให้มาเรียกร้องกระทรวงแรงงานให้ของบกลาง 243 ล้านบาท ที่เป็นเงินที่บริษัทต้องจ่าย ให้กระทรวงแรงงานทดรองจ่ายไปก่อน ทั้งที่ไม่มีระเบียบอะไรรองรับ สะท้อนให้เห็นว่ามีจุดประสงค์แอบแฝง ใช้ความเดือดร้อนของลูกจ้างมาเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหว จึงอยากเตือนลูกจ้างว่าไม่ควรหลงเชื่อ

“ทุกอย่างต้องดูตามระเบียบกฎหมาย วันนี้กระทรวงแรงงานช่วยเต็มที่แล้ว จ่ายเงินชดเชยให้เร็วกว่ากรณีอื่น ๆ ด้วยซ้ำ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อน แต่เป็นนักกิจกรรมที่หากิจกรรมทำ อยากให้มีภาพว่ากระทรวงแรงงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้หยุดอย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งแรงงานพันกว่าคนเขารู้ทัน มีเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยคนเท่านั้นที่หลงเชื่อ จึงขอเตือนว่าอย่าหลงไปเป็นเครื่องมือสร้างผลงานให้กับใคร”นายชาญศิลป์ กล่าว

ที่มา: ข่าวสด, 30/9/2564

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ จัดประชุม ”สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19”

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมวิชาชีพสื่อและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จัดประชุมระดมความเห็นผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 หัวข้อ "สุขภาวะและทางรอดสื่อมวลชนไทยฝ่าภัยโควิด-19" เหตุ 2 ปีที่ผ่านมาคนทำสื่อถูกปลดออกเลิกจ้าง ลดเงินเดือนจำนวนมากแล้วเจอพิษโควิดซ้ำเติม นักวิชาการชี้สื่อต้องปรับตัวทั้งเทคโนโลยีและเนื้อหาไปสู่คุณภาพ ขณะที่ตัวแทนสื่อเผยมีสื่อที่เดือดร้อนอีกมากเรียกร้องให้สำรวจข้อมูลเร่งด่วน เสนอควรจะผลักดันตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อและโควิด-19 ของสื่อมวลชนว่า ก่อนการระบาดของ โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนได้รับผลกระทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital transformation โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุล้วนได้รับผลกระทบมีทั้งการปิดตัวเลิกกิจการ เลิกผลิตสื่อ มีการปลดออก เลิกจ้าง หลายสื่อมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดโดยหันมาทำสื่อออนไลน์ และ Social Media กันมากขึ้น เนื่องจากสังคมไทยได้เข้าสู่ยุคโมบายมีเดีย ดังนั้นเมื่อมาเจอการระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 ยิ่งทำให้สื่อมวลชนจะต้องปรับตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้นสื่อต้องอยู่ได้และอยู่เป็น ทุกคนต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและเติมจุดแข็งให้กับตัวเอง สื่อกระแสหลักถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้เพราะโควิด-19 ทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ทีวีก็จะมาอยู่บนโลกออนไลน์กิจกรรมของคนอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การขายของออนไลน์ เม็ดเงินจากการโฆษณาจากภาคธุรกิจ เอกชนก็จะไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น

สิ่งสำคัญคือสื่อต้องปรับตัวนำเสนอเนื้อหาข่าวสารต่างๆ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะผู้บริโภคมีคุณภาพมากขึ้น ข่าวและข้อมูลจะต้องมีความลึกมีความน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกว่าต้องการข่าวแบบไหน เพราะฉะนั้นคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนจะต้อง มีความรู้เรื่องดิจิทัล ต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณ คุณธรรมควบคู่ไปกับถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมซึ่งมีประสบการณ์เป็นจุดได้เปรียบอยู่แล้วแต่จะต้องทำการบ้านเยอะขึ้นเพิ่มบทบาทของผู้ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารหรือ Data Analysis ต้องตรวจสอบข่าวปลอมเป็น “ในอนาคตหลัง โควิด-19 ธุรกิจสื่อและคนทำงานด้านสื่อจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเพราะทุกอย่างจะอยู่บนโลกออนไลน์ อยู่บนมือถือ ผู้บริโภคจะมีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารมีผลต่อสังคมและโลกทั้งโลก ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะรู้เท่าทันสื่อจึงต้องคำนึงว่าจะผลิตสื่อให้มีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไรในสังคมแห่งความรู้หรือ Knowledge Society” รศ.ดร.กุลทิพย์กล่าว

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สื่อมวลชนที่มีบทบาทอยู่ในองค์กรวิชาชีพมายาวนาน กล่าวว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์กรสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิก ส่วนการดูแลคนทำสื่อเป็นรายบุคคลมีองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆดูแลอยู่แล้ว ยอมรับว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและโควิด-19 มีผลมาก สื่อมวลชนไม่น้อยตกงาน ส่วนที่ยังอยู่ก็ต้องมีการปรับตัวขณะนี้เรามีการจัดอบรมต่างๆ เพื่อยกระดับทักษะความสามารถให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยเฉพาะการทำสื่อใหม่ทางออนไลน์จะต้องพัฒนาเรื่องเนื้อหาดีๆ ควบคู่ไปกับการตลาดเผยสู่สาธารณะที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและสร้างรายได้กับคนทำสื่อด้วย ส่วนการช่วยเหลือสื่อมวลชนที่เดือดร้อนนั้น สมาคมวิชาชีพมีกองทุนการช่วยเหลือฉุกเฉินเฉพาะเรื่องการตกงานแต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นสมาชิกขององค์กรนั้นด้วย ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจะไม่ได้การช่วยเหลือตรงนี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่พยายามช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ตกงานด้วยการจัดทำโครงการเสนอขอรับทุนจากผู้สนใจเพื่อทำข่าวเจาะในเชิงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเกาะติด รวมทั้งการเปิดช่องทางออนไลน์ให้สื่อที่ต้องการหางานกับธุรกิจหรือองค์กรที่ต้องการคนทำงานได้เจอกันก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง

นางสาวชามานันท์ สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการ ประชาสัมพันธ์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เห็นความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนในการเป็นสื่อกลางสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาวะกับประชาชนทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา สสส.และภาคีจึงได้ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ เพราะถือว่าสื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติ เช่น สุขภาวะทางกาย มีสื่อมวลชนบางส่วนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยมีความเครียด โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อและผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต่อสื่อมวลชนในช่วงนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและร่วมกันสนับสนุนให้สื่อมวลชนผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา และยังคงดำรงบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้และการรู้เท่าทันให้กับประชาชนโดยเฉพาะภัยที่มาจากออนไลน์ทั้งการพนัน การหลอกลวง เกมออนไลน์ ฯลฯ อยากให้สื่อตอกย้ำนำเสนอต่อเนื่องรวมทั้งการชี้นำสังคมในทิศทางที่ดีด้วย นำเสนอข่าวสารที่มีคุณค่าภายใต้จรรยาบรรณและจริยธรรมสื่อ ขณะเดียวกันได้เสนอให้สื่อเปิดพื้นที่ในการเสนอข่าวประเด็นสุขภาวะให้มากขึ้น มีการทำงานร่วมกันกับภาคีของสสส.ในอนาคตมากขึ้นด้วย

ด้านนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสู่ดิจิทัลต่อสื่อมวลชนที่ว่ารุนแรงแล้วเมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมเข้ามาอีกทำให้คนทำงานสื่อมวลชนประสบความยากลำบาก หลายคนต้องว่างงาน หลายคนถูกลดค่าจ้างเงินเดือน สื่อมวลชนหลายคนหรือคนในครอบครัวติดโควิด-19 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จึงอยากเสนอให้มีการจับมือกันขององค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ในการเยียวยาลดผลกระทบในรูปแบบต่างๆ เช่นการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะพร้อมจะจับมือกับทุกฝ่ายในการดำเนินการในเรื่องนี้

ในขณะที่ผู้แทนสื่อมวลชนหลายคน เช่น นายศักดา แซ่เอียว หรือนักวาดการ์ตูนจาก นสพ.ไทยรัฐบอกว่ามีสื่อมวลชนไม่น้อยที่ออกจากงานแล้วยังไม่มีงานอยู่ด้วยความยากลำบาก โทร.มาหาก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร จึงอยากจะให้สำรวจข้อมูลคนเหล่านี้ด้วย ส่วนนายเจก รัตนตั้งตระกูล ผู้ประกาศข่าวชื่อดังจาก TNN ระบุว่าสื่อประสบปัญหามากอยากจะให้ช่วยพัฒนาทักษะออนไลน์ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพใจและสุขภาพกายของสื่อจึงอยากจะให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางออนไลน์บ่อยๆ ส่วนสื่ออื่นๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อท้องถิ่น ได้เสนอความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบเรียกร้องให้มีการสำรวจจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อจะหาทางช่วยเหลือเยียวยากันต่อไปและเห็นด้วยหากทุกฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดกองทุนช่วยเหลือผลกระทบที่เกิดขึ้น

ที่มา: ไทยรัฐ, 30/9/2564

ศบศ.ช่วยนายจ้าง SME จ่ายค่าจ้างแรงงาน 3 เดือน 3,000 บาท ไม่เกิน 200 คน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มธุรกิจ โดยรัฐบาล ยืนยันว่า จะหาทางการรักษาการจ้างงานและมาตรการการจ้างงานใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ทดแทนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และยังไม่มีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องการเห็นคนไทยมีงานทำ โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ธุรกิจเอกชนด้วย

ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการนี้ โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานผ่านนายจ้างเพื่อรักษาการจ้างงานในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนนามมาตรา 33 สัญชาติไทยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินอุดหนุนจะคำนวณตามยอดการจ้างงานจริงของทุกเดือน พิจารณาจากจำนวณลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมจากระบบประกันสังคม โดยจะจ่ายเงินอุดหนุนทุก วันทำการสุดท้ายของเดือน

แต่มีเงื่อนไขว่า นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ และหากนายจ้างไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำ 95% ได้จะไม่ได้รับเงิน อุดหนุนในเดือนนั้น ขณะเดียวกัน กรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันเริ่มโครงการ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของแต่ละจังหวัดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ พร้อมกันนี้ยังมีการติดตามและตรวจสอบการจ้างงานอย่างต่อเนื่องด้วย

อย่างไรด็ตามมีเป้าหมายโครงการเพื่อรักษาระดับ 3 การจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจำนวน 480,122 แห่ง และจะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน

ที่มา: สยามรัฐ, 30/9/2564

ประกันสังคม เปิดสาเหตุผู้ประกันตนกว่า 4 แสนราย เงินเยียวยายังไม่เข้าบัญชี เนื่องจากสาเหตุยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์หรือผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไม่ได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการจากรัฐบาลใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และตาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ตามมาตรการของ ศบค.นั้น ว่า ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19

จึงได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการโครงการเยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40

ซึ่งตั้งแต่ช่วงเดือนต้น ถึง 28 ก.ย. 2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา ไปแล้วเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท ให้แก่นายจ้างกว่า 150,000 ราย ผู้ประกันตน ม.33,39 และ 40 จำนวนเกือบ 12 ล้านคน

ส่วนที่เหลือผู้ประกันตน จำนวน 4 แสนกว่าราย และนายจ้าง จำนวนกว่า 2,100 ราย เงินยังไม่เข้าเนื่องจากสาเหตุบัญชียังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ หรือผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไม่ได้ เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกอายัดบัญชีจากกรมบังคับคดี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเยียวยาเพิ่มเติม

นายสุชาติ ยังได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตน ที่ยังไม่ได้รับเงินรีบผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนชน และให้นายจ้างในสถานประกอบการแจ้งลูกจ้างรีบดำเนินการผูกบัญชีธนาคารพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาจากรัฐบาล

ที่มา: TNN, 30/9/2564

กยศ.เพิ่มวงเงินให้กู้ปีการศึกษา 64 เป็น 40,000 ลบ.ขยายรองรับเป็น 7 แสนราย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบในการขยายกรอบวงเงินการให้กู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาผู้ประสงค์ขอกู้ยืมในปีการศึกษา 2564 จากเดิมที่กองทุนได้กำหนดกรอบการให้กู้ยืมไว้ 38,587 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม 623,891 ราย โดยได้เพิ่มกรอบวงเงินเป็น 40,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืม 7 แสนราย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว

ดังนั้น จึงขอให้ผู้ปกครองไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลาน เนื่องจากกองทุนยืนยันว่ามีเงินให้กู้ยืมเพียงพอสำหรับนักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนต่ออย่างแน่นอน ซึ่งในปีนี้กองทุนได้รับชำระหนี้ประมาณ 32,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการรับชำระหนี้มาหมุนเวียนให้กับผู้กู้ยืมโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด

ขณะนี้ กองทุนได้ขยายเวลายื่นขอกู้ยืมเงินภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2564 นักเรียน นักศึกษาสามารถยื่นกู้ยืมผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือทาง www.studentloan.or.th โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ ซึ่งกองทุนได้เปิดระบบ DSL ให้ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาได้เริ่มดำเนินการกู้ยืมในปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา ขณะนี้มีผู้ประสงค์ขอกู้ยืม จำนวน 616,834 ราย กองทุนได้อนุมัติการกู้ยืมเงินไปแล้ว 584,077 ราย

โดยเป็นปีแรกที่กองทุนได้เปิดให้มีการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาครบทั้ง 4 ลักษณะ ได้แก่ 1) นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2) นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ 3) นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และ 4) นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศในระดับปริญญาโท

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 29/9/2564

เตือนผู้ประกอบการ กรมสวัสดิการฯ ยืนยันไม่มีแก้ กม.ปล่อยจ้างเด็ก 15 ทำงาน ย้ำโทษหนักฝ่าฝืนถึงคุก 4 ปี ปรับ 2 ล้าน

จากกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูล เรื่อง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน ไม่ผิดกฎหมาย ทางเว็บไซต์ Anti-Fake News Center Thailand ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า

ตามที่มีการส่งต่อข้อความในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน ไม่ผิดกฎหมาย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการส่งต่อข้อความถึงนายจ้างให้รับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงาน เพราะตอนนี้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ว่าด้วยการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานไม่ผิดกฎหมายนั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงว่า ยังคงใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบัน ที่ห้ามมิให้นายจ้าง จ้างบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในงานทั่วไป และอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าทำงานในงานประมงทะเล ซึ่งหากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกสูงสุดไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทรสายด่วน 1506

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ยังคงใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบัน ที่ห้ามมิให้นายจ้าง จ้างบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในงานทั่วไป

ที่มา: สยามรัฐ, 29/9/2564

ครม.ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้อยู่ได้ถึง ก.พ. 2566

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1)แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2)แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติ 29 ธ.ค.63 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้

1. กลุ่งแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องดำเนินการดังนี้

(1) นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับซึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 28 ก.พ. 2566

(2) ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าว การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง

(3) เมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 ซึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ได้ถึง 13 ก.พ. 2566 หากไม่ดำเนินการจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 1 ส.ค. 2565

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยรัฐขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 เป็นภายในวันที่ 13 ก.ย. 2564 เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวต้องการจะทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 28/9/2564

ครม.ไฟเขียว ตรวจแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการ คุมโควิด-19 ระบาด

28 ก.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ปัจจุบันยังตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ มีโอกาสกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการลงพื้นที่ของหน่วยงานควบคุมโรค พบแรงงานข้ามชาติทำงานในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหนาแน่น ทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานควบคุมโรค จึงจำเป็นต้องเข้าตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน ถ้าพบแรงงานข้ามชาติที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะได้ให้นายจ้างดำเนินการขออนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อจะได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับสิทธิ์การคุ้มครองและดูแล ช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระทรวงแรงงาน จึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานอย่างยิ่ง ท่านกำชับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด

กระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายกรมการจัดหางาน เตรียมแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1.เข้าตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานข้ามชาติ เป็นระยะเวลา 30 วัน

2. หากตรวจพบแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพแรงงานข้ามชาติ พร้อมทำประวัติเบื้องต้น และให้นายจ้างกรอกแบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมจัดเตรียมเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอให้ครบถ้วน

3.นัดหมายนายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมทั้งชำระค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ตามที่กฎหมายกำหนด ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางาน กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ที่เป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของแรงงานข้ามชาติ ภายใน 3 วันทำการ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว เพื่อให้แรงงานข้ามชาติใช้เป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งใบอนุญาตทำงานสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566

ในส่วนแรงงานข้ามชาติ ที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการครบทุกขั้นตอนได้ภายในกำหนด เพราะมาตรการงดการให้บริการชั่วคราว หรือการจำกัดจำนวนผู้มาใช้บริการ ได้พิจารณาให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการ ไม่เกิน วันที่ 31 มี.ค. 2565 เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางานแล้ว ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ซื้อประกันสุขภาพ ในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคมระหว่างรอสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือ ซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือน (อัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับบริษัทประกันภัย) ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 มิเช่นนั้น การอนุญาตให้ทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอนแล้ว กรณีถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า วันที่ 13 ก.พ. 2566 ให้ไปดำเนินการขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 กรณีหนังสือเดินทางฯมีอายุเหลือน้อยกว่าวันที่ 13 ก.พ. 2566 หรือไม่มีหนังสือเดินทางฯ ให้ไปดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางเล่มใหม่ และดำเนินการขอรับการตรวจลงตราและอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 แต่หากไม่สามารถดำเนินการภายในกำหนด การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ส.ค. 2565

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนต่างด้าวตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ที่จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และนายจ้างได้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (บต. 48) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางานจะออกใบอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว โดยอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 และในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานให้ใช้ใบเสร็จรับเงินและใบรับคำขอดังกล่าวเสมือนใบอนุญาตทำงาน เพื่อเป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงาน

หากนายจ้าง สถานประกอบการ หรือคนต่างด้าวต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของสถานประกอบการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/9/2564

ราชกิจจาฯ ประกาศดอัตราจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ม.33 อีก 3 เดือน

27 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมพ.ศ. 2564 ความว่า

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 46 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกําหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564

ข้อ 3 ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ตามบัญชีอัตราเงินสมทบ ท้ายกฎกระทรวงนี้ ดังต่อไปนี้

(1) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ให้เป็นไปตามอัตราในบัญชี ก.

(2) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามอัตราในบัญชี ข.

ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

สุชาติ ชมกลิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 27/9/2564

ก.แรงงาน ออกมาตรการ 3 ระยะ ช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย

27 ก.ย. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปทุกคน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วน ทั้งการขนย้าย อพยพ เร่งระบายน้ำ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมถึงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

รมว.แรงงานกล่าวว่า ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดแต่ละจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เร่งบูรณาการสนับสนุนความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้างผู้ประกันตน และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนกับทางจังหวัดในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายประชาชนไปในสถานที่ที่ปลอดภัย จัดที่พักพิงชั่วคราว เร่งระบายน้ำ และสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคของใช้ที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1) ระยะก่อนเกิดภัย – เฝ้าระวังสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และมีแนวโน้มจะมีการเลิกจ้าง จัดเตรียม จัดหาแรงงานที่มีความรู้ทางเทคนิค จัดเตรียมวิทยากรฝึกอาชีพในสาขาที่มีความจำเป็น เพื่อระดมสรรพกำลังทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังคน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปยังสถานประกอบการผ่านสื่อต่าง ๆ จัดทำแผนรองรับและดำเนินการตามแผน สำรวจ จัดเตรียม จัดหา ความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร และยานพาหนะเพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือ จัดทำสุขาลอยน้ำ เป็นต้น ตรวจสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน

2) ระยะเกิดภัย – จัดเตรียมแผนการตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย เพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแก่ผู้ประกันตนกรณีนายจ้างหยุดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

3) ระยะฟื้นฟูภายหลังน้ำลด – การออกประกาศขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ให้บริการจัดหางานและส่งเสริมการประกอบอาชีพ โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ โดยสนับสนุนค่าตอบแทน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สามารถดำรงชีพได้หลังจากน้ำลดและรอการฟื้นฟู

จัดหน่วยให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เพื่อลดรายจ่ายของประชาชนที่อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของสายไฟภายในบ้าน ดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประสบภัย ทั้งในเรื่องสิทธิประกันสังคม สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานภายหลังน้ำลด จัดทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตรวจรักษาเบื้องต้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/9/2564

ธกส. จัดสินเชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 หมื่นล้าน รองรับแรงงานคืนถิ่น

วันที่ 27 ก.ย. 2564 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP ภายในประเทศที่ลดต่ำลง อันเนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนชะลอตัว ดังนั้น เพื่อให้องค์กรภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงลดปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานคืนถิ่น ให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองได้และยังเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคม

ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาต่าง ๆ อัตราดอกเบี้ย MLR – ไม่เกิน 2.25% ต่อปี (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร โดยนำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ การสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ โรงสีข้าวชุมชน ตลาดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพต่าง ๆ ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน การศึกษา อบรม สัมมนา ดูงานหรือฝึกงานในด้านการส่งเสริมอาชีพ หรือเพื่อการศึกษาของบุคคลในครอบครัวของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสนามกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์การแพทย์ชุมชน การเสริมสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงความต้องการทางด้านการแพทย์ การจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เป็นต้น

ทั้งนี้ อปท. จะต้องดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา อปท. และมีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้คืนแก่ธนาคาร วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงินกู้ โดยวิเคราะห์จากแผนการดำเนินงาน งบการเงิน ระดับขีดความสามารถในการก่อหนี้ของ อปท. แต่ละแห่ง ซึ่งกำหนดจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ และรายได้จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนกลาง

ในส่วนของการชำระคืน กรณีเป็นทุนหมุนเวียนหรือเป็นค่าใช้จ่าย ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือน กรณีเป็นค่าลงทุน ชำระคืนรายงวด ไม่เกิน 10 ปี (ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดทำงบประมาณรายจ่ายผูกพันของ อปท.) ทั้งนี้ อปท. ที่มีความสนใจและต้องการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 27/9/2564

ศธ.เร่งจ่ายเงินเยียวยาครูเสียชีวิตจากไฟใต้ รายละ 4 ล้านบาท

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผย การช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า มีครูถูกผู้ก่อเหตุรุนแรงทำร้ายจนเสียชีวิตคนแรก เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2547 และจนถึงวันที่ 31 ก.ค.2556 ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย มีครูเสียชีวิตรวม 162 ราย ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2556 ได้เห็นชอบสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึง วันที่ 1 ม.ค. 2547 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสรรงบประมาณเยียวยารายละไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยให้หักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว 5 แสนบาท เหลือ 3.5 ล้านบาท ในกลุ่มที่เคยได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว พร้อมทั้งให้ ศธ.จัดสวัสดิการด้านอื่นๆ ให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับส่วนราชการต่างๆด้วย ดังนั้น เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 ตนจึงได้ลงนามในประกาศ ศธ.เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากการติดตามความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับผลกระทบยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือต่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่อยู่ในภูมิลำเนาของผู้เสียหาย จำนวน 67 ราย จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 162 ราย ซึ่ง ศธจ.ได้ตรวจสอบสิทธิทายาทผู้มีสิทธิทุกรายและเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของผู้ได้รับความเสียหาย พบว่า คณะอนุกรรมการฯ รับรองจำนวน 62 ราย ประกอบด้วย ปัตตานี 30 ราย นราธิวาส 16 ราย ยะลา 15 ราย และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา 1 ราย ซึ่งทางศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ได้ตรวจสอบในรอบที่ 1 และเสนอให้คณะกรรมการบริหารฯ อนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาแล้ว จำนวน 14 ราย และ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับความสียหายและผู้ได้รับผลกระทบที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาในรอบแรก จำนวน 14 รายไปแล้ว

จนถึงขณะนี้ผู้เสียชีวิต 162 ราย ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วประมาณ 185 ล้านบาท และมีงบฯที่ ศธ.ต้องใช้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มติมประมาณ 463 ล้านบาท ทั้งนี้ การจ่ายเงินเยียวยา รอบที่ 1 จำนวน 14 ราย มีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วประมาณ 18 ล้านบาท เหลือเป็นเงินที่ต้องจ่ายตามมติ ครม.ประมาณ 37 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบฯ 2564 ภายในเดือน ก.ย.นี้ และ จะดำเนินการจ่ายเงินรอบแรกในเดือน ต.ค.2564 ส่วนรายที่เหลือที่ยื่นคำขอมาแล้วอีก 48 ราย ศปบ.จชต.จะเร่งตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะประชุมคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาทุกเดือนจนกว่าจะครบทุกราย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/9/2564

ศธ.เร่งแก้หนี้สินครูทั้งระบบ หวังให้มีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30%

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน ดังนี้

แผนงานที่ 1. โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ จำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ๆ ละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด ภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564เป็นต้นไป โดยรูปแบบการดำเนินงานได้ถอดบทเรียนจากสหกรณ์ตัวอย่าง 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด ซึ่งพบแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3% ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5% จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่า 30% ของผลกำไร

แผนงานที่ 2. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกัน และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด

แผนงานที่ 3. การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มอายุราชการ 1- 5 ปี ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี โดยเริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ออนไลน์ผ่านศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ข้อมูลภาพรวมปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา พบว่า ครูฯ ทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน หรือ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 64 % รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 25 % ของหนี้สินครูทั้งหมด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 25/9/2564

ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ ให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตรวจโควิด ด้วยวิธี RT- PCR ให้สถานประกอบการ หรือโรงงานที่เข้าร่วมในโครงการ Factory sandbox ใน 4 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลัก นำร่องพื้นที่ 7 จังหวัด ค่าตรวจ 1,500 บาท บวกค่าคำปรึกษาอีก 200 บาท รวมเป็น 1,700 บาท

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 เว็บไซต์ราขกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox ลงนามโดยศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณเหลือพร ปุณณกันต์ ประธานกรรมการการแพทย์

สำหรับสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ที่มีการระบาดใหม่อย่างรวดเร็ว

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุมครั้งที่ 11/ 2564 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดทำข้อเสนอโครงการนำร่องเกี่ยวกับแรงงานในสถานประกอบกิจการและโรงงานตามโครงการ Factory sandbox เพื่อจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่ดำเนินการควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการส่งออกขนาดใหญ่ อันประกอบด้วย 4 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนยานยนต์ ภาคส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคส่วนอาหาร และภาคส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

โดยมีหลักการสำคัญ คือ ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ผู้ประกันตนในสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าทั้ง 4 ภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่องที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ในระยะที่ 1 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดปทุมธานี ระยะที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ

ประกอบกับที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศปก.ศบค.) ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ คณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามแนวทางโครงการ Factory sandbox

โดยการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19” ด้วยเทคนิค Real time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction (Real time RT- PCR) เพื่อตรวจค้นหาผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ หากเป็นการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR แล้วมีผู้ติดเชื้อ ให้ประเมินศักยภาพในการดูแลรักษา และพิจารณาใช้วิธีสุ่มตรวจตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนด

และ ให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 และค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผลแก่สถานพยาบาล ดังนี้

1. ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT -PCRโดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 1,500 บาท

2. ค่าบริการให้คำแนะนำ คำปรึกษาเพื่อติดตามดูแลและประเมินผล ตั้งแต่เริ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี RT- PCR จนกระทั่งสถานประกอบการได้รับการรับรอง“โรงงานผ่านมาตรฐาน sandbox” โดยต้องจัดทำรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนรายบุคคล และข้อมูลสถานประกอบการให้สำนักงานทราบ เหมาจ่ายในอัตราคนละ 200 บาท

สำหรับประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/9/2564

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท